21 กุมภาพันธ์ 2567 ครบรอบ 86 ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพ นักบุญแห่งล้านนาที่ประชาชนให้ความเลื่อมใส ศรัทธาในตัวนักบุญล้านนาผู้นี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สร้างคุณูปการต่อวงการสงฆ์ของล้านนาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการต่อต้านอำนาจของรัฐไทยในห้วงของรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางภายก่อนและหลังการปฏิวัติ 2475
ครูบาเจ้าศรีวิชัย นั้นเกิดในปีขาล เดือน 9 ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ.1240 เวลาพลบค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน ปัจจุบันคือ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย และนางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ในขณะทำคลอดมีฟ้าพายุสายฝนกระหน่ำรุนแรงแต่เมื่อคลอดเด็กทารกออกมาพายุฟ้าฝนกลับสงบลงนายควายและครอบครัวจึงตั้งชื่อเด็กน้อยที่คลอดออกมาว่า “เด็กชายอินท์เฟือน” ที่แปลว่ากระเทือนหรือกัมปนาทในภาษาล้านนา
เด็กชายอินท์เฟือนได้เดินทางเข้าสู่ทางธรรมเมื่ออายุ 17 ปี บวชเป็นเณรที่วัดบ้านปาง โดยมี ครูบาขัตติยะ เป็นอาจารย์สอนวิชาต่างๆ โดย ได้อุปสมบทเป็นพระเมื่ออายุย่าง 21 ปี ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน มีนามบัญญัติว่า “พระศรีวิชัย”
เป็นที่ร่ำลือกันว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย นั้นงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ และเนื้อสัตว์ ตั้งแต่อายุเมื่อ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ให้ความสำคัญกับการถือสันโดษและศีลวินัย สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องการกำเนิดตนบุญหรือพญาธรรมิกราช ที่เชื่อกันว่าจะลงมาช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา
ด้วยจริยวัตรอันเคร่งครัดของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้เกิดแรงศรัทธาแก่เหล่าพุทธศาสนิกชน กระทั่งรวบรวมเหล่าพุทธศาสนิกชนทำการสร้างทางเดินขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และพลังของผู้มีจิตศรัทธา ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจของการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนั้น ไม่มีการใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย แต่อุดมไปด้วยแรงศรัทธาของประชาชนแทบทั้งสิ้น นอกจากที่ท่านจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับล้านนาไทย รวมทั้งการสร้าง และบูรณวัดต่างๆ หลายวัด ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้ทรงศีล จนได้รับขนานนามว่า “พระครูบาศีลธรรมเจ้า”
นอกจากบทบาททางศาสนา ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีบทบาทในทางการเมืองด้วย แรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยจำนวนมาก เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนของอำนาจรัฐ ที่พยายามผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และคณะสงฆ์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 โดยกำหนดให้พระสงฆ์ฝ่ายปกครองต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ท้องถิ่นใหม่ พระอุปัชฌาย์ที่สามารถบวชให้กับผู้คนได้ต้องแต่งตั้งจากส่วนกลาง นั่นทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอุปัชฌาย์เถื่อนในทันที เพราะสยามเองก็ว่าด้วยบารมีของท่านจะทำให้เกิดการซ่องสุมผู้คน ตั้งตนเป็นผีบุญต่อสู้กับอำนาจรัฐเช่นที่เกิดในพื้นที่อีสาน และด้วยลักษณะของการเป็นตนบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงทำให้ท่านถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสยาม จนต้องอธิกรณ์ข้อกล่าวหาว่า อ้างตนเป็นผู้วิเศษด้วยมนต์คาถา พยายามตั้งตนเป็นผีบุญ ซ่องสุมผู้คน และไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์
จากข้อกล่าวหาเหล่านี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกส่งตัวมาไต่สวนที่กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2463 แต่มีวินิจฉัยว่าการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ เป็นเพราะความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเอาความผิดได้ จึงกลายเป็นการหาความผิดในทางคณะสงฆ์แทน ซึ่งมีวินิจฉัยว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความรู้ในทางพระธรรมวินัยยังไม่ค่อยดี การทำความผิดในครั้งนี้ เกิดจากความไม่รู้ ไม่ใช่เพราะดื้อดึง จึงไม่ทรงเอาผิด และทรงเห็นว่าอธิกรณ์ต่างๆ ทั้ง 8 ข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายในทางการเมืองมากกว่า
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียง 3 ปี ได้เกิดเหตุการณ์ที่พระสงฆ์จำนวนมากในเชียงใหม่ขอไปขึ้นตรงกับครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยขอออกจากเจ้าคณะปกครองของตน ทำให้เกิดความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ขึ้น จนทางรัฐบาลเห็นว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับคณะสงฆ์ หากแต่เป็นภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงได้ควบคุมตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยมาไว้ที่กรุงเทพฯ และกักบริเวณไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ทำให้ประชาชนในเชียงใหม่เกิดความไม่พอใจ และกดดันให้หลวงศรีประกาศ ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นเรื่องให้คณะรัฐมนตรีปล่อยตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยเสนอว่าให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยลงนามรับรองว่าจะเชื่อฟังและไม่ขัดขืนคณะสงฆ์ ซึ่งกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะยอมรับเงื่อนไข ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ถูกกักบริเวณอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาปีกว่า
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ของเชียงใหม่ ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ถูกคณะสงฆ์จ้องจับผิดอยู่ โดยที่ชนชั้นนำในเชียงใหม่ที่ศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ไม่อาจช่วยเหลือท่านได้ ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ที่มาของอมตะวาจาของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ว่า
‘ถ้าน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจักไม่ขอมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก’
ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ปลุกเร้ามวลชนล้านนาให้ต่อต้านสยามผ่านศาสนาพุทธ
พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ได้ให้ความเห็นว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมีกลยุทธ์การใช้ศาสนาเพื่อปลุกเร้ามวลชนล้านนาลุกขึ้นคัดง้างกับอำนาจรัฐสยาม ไว้ดังนี้ เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยประพฤติตนตามพระวินัยและความคาดหวังของสังคมต่อภิกษุสงฆ์อย่างเคร่งครัด เป็นผู้มักน้อย รักสันโดษ และถือธุดงควัตรซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางศาสนาที่เข้มข้นขึ้นพิเศษ ส่งผลให้ญาติโยมมีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างมากจนครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครูบาศีลธรรม” ความเคร่งครัดสำรวมในการครองตนเช่นนี้ย่อมเป็นที่มาของอิทธิพลบารมีที่ช่วยให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถควบคุมบริหารขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างรัดกุม
นอกจากนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แสดงความปรารถนาพุทธภูมิเป็นประจักษ์ คือได้ปวารณาตนว่าต้องการสั่งสมบุญบารมีเพื่อจะได้สำเร็จเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยในภายภาคหน้า อันเป็นการแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์โดยปริยายไปด้วย
ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินกลยุทธ์เข้าหามวลชนด้วยการเดินทางออกบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วล้านนาที่กำลังทรุดโทรมลงท่ามกลางความระส่ำระส่ายทางการเมือง (กระทั่งในปัจจุบันนี้เมืองเชียงใหม่ก็ยังมีวัดร้างอยู่เกือบหนึ่งพันวัดได้)
ครูบาเจ้าศรีวิชัยพยายามเข้าถึงมวลชนทุกชั้นชนไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย พ่อค้า ชาวบ้าน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคม ดังที่ตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยเองก็เป็นคนชายขอบมาก่อนเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ของการเคลื่อนไหว กลุ่มกะเหรี่ยงแดงซึ่งมักถูก “คนเมือง” มองเป็น “คนดอย” และเป็นคนนอกศาสนาที่ “บ่รู้จักกระทำบุญทาน” เป็นมวลชนกลุ่มแรก ๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าหาโดยใช้สายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ครูบาเจ้าสามารถเผยแผ่ศาสนาพุทธในหมู่ชาวกะเหรี่ยงแดงได้สำเร็จ กลุ่มกะเหรี่ยงแดงมีความนับถือในตัวครูบาเจ้าเป็นอันมากเนื่องจากกล่าวกันว่าครูบาเจ้าสามารถเรียกฝนและแก้ปัญหาชลประทานให้หมู่บ้านกะเหรี่ยงแดงที่ประสบภัยแล้งเรื้อรังได้ และกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เองเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ยกย่องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็น “ตนบุญ” ผู้มีอิทธิฤทธิวิเศษ กลุ่มเจ้านายและพ่อค้าชนชั้นกลางในเมืองก็ให้ความยอมรับและปวารณาตนเป็นศรัทธาสนับสนุนทุนทรัพย์ให้กับครูบาเจ้าศรีวิชัยเนื่องจากเห็นว่าครูบาเจ้ามีความสามารถในการบริหารโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่าง ๆ ให้ลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีเครือข่ายสหธรรมที่กว้างขวางไปถึงเมืองยองและเมืองเชียงตุงในรัฐฉานของพม่า ดังจะเห็นว่าในการบูรณะวิหารวัดพระเจ้าตนหลวงที่พะเยา ได้มี “สมเด็จอรัญวาสีพระพี่หลวงป่าบง” ซึ่งเป็นตนบุญจากเมืองยองมาร่วมแรงสร้างด้วย ด้วยเหตุนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงสามารถนั่งอยู๋ในใจและระดมการสนับสนุนได้จากคนล้านนาทุกชั้นชน กล่าวกันว่าผู้ศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ ขณะนั้นคิดเป็นถึง 80% ของประชากรล้านนาเลยทีเดียว
และ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เสนอตนเป็นที่พึ่งพาทางเลือกให้กับคนล้านนาที่ไม่พอใจหรือรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพารัฐสยามได้ ในการเข้าหามวลชนระหว่างออกบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะแต่ละครั้ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะรับบรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตรที่สนใจศึกษาพระศาสนาแบบล้านนาอยู่เป็นนิจ ในหมู่ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระเณรในอาณัติของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีทั้งผู้ที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์ทหารตามระบบแบบใหม่
การผลิตซ้ำและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของครูบาเจ้าศรีวิชัย
“ก่อนจะมาเป็น อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยในตอนนี้ ที่นี่เคยถูกสร้างและผ่านการทิ้งให้รกร้างมาก่อน สมัยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ด้วยความที่บ้านลุงอยู่ที่นี่ใกล้กับอนุสาวรีย์ ลุงเห็นผู้คนที่ยังคงเทียวมาสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ตั้งจุดขายไม่เป็นที่ทาง” จรัฐ คำซอน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านห้วยแก้ว ชุมชนบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในปัจจุบันครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นกลายเป็นศูนย์รวมของจิตใจในการสักการะบูชาและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ จรัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่าจากการที่ในอดีตบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย รกร้าง ตนในฐานะผู้นำชุมชนเลยประสานกับทางการเพื่อให้มีการจัดระเบียบสถานที่ทั้งการบูรณะพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ ติดตั้งเสาไฟฟ้าให้ความสว่างเพิ่มความปลอดภัยของผู้คนที่มาสักการะบูชา
จากการสอบถาม แม่ค้า พ่อค้า และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ว่าเหตุใดถึงมีรูปบาเจ้าศรีวิชัย ประดับตกแต่งและบูชาอยู่บนหิ้งพระ ได้ความว่า รูปภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเป็นรูปที่ประดับทุกบ้าน เนื่องจากช่วยส่งเสริมในเรื่องโชคลาภ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วภาคเหนือ เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้สร้างถนนทางขึ้นไปดอยสุเทพฯ ทุกปีมีการเดินขึ้นดอยสุเทพเพื่อไปสักการะขึ้นดอยสุเทพ เลยเป็นที่มาของเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หากใครมาเชียงใหม่แล้วไม่ได้ไปไหว้ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะถือว่ามาไม่ถึงเชียงใหม่
“ท่านสร้างถนนหนทางขึ้นดอยสุเทพ นู่นยาวไปถึงทางดอยปุย ทุกปีเขาต้องเดินขึ้นไปสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย แล้วเดินขึ้นดอยสุเทพ มันเลยเป็นที่มาที่ชาวเชียงใหม่เคารพศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัยมาจนบัดนี้ แล้วทุกบ้านนี่ต้องมีรูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ทุกบ้านเลย เพราะเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกบ้านต้องมี บางบ้านไม่ใช่แค่รูปเดียวด้วยนะ มีเป็นสิบกว่ารูปเลย ไม่ซ้ำกันด้วย” ธีระ วงค์ทิพย์ ชาวบ้านที่อำศัยอยู่บริเวณวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ วัย 64 ปี
จะเห็นได้ว่าภาพแทนของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเปลี่ยนไปจากนักบุญผู้ต่อสู้กับอำนาจจากรัฐส่วนกลางกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ เช่นเดียวกับ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสือ ครูบาคติใหม่ ได้ค้นคว้าในในวิทยานิพนธ์ “การศึกษากระแส ‘ครูบาคติใหม่’ ในภาคเหนือของไทย พุทธทศวรรษ 2530-2550” ระบุบางช่วงตอนไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2530 มีการก่อตัวของการผลิตซ้ำและสร้างภาพลักษณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยใหม่ขึ้นมา ผ่าน ภาพถ่าย อนุสาวรีย์งานเขียนชีวประวัติ เพลงซอ พระเครื่อง วัตถุมงคล เครื่องราง รวมไปถึง ตำนานมุขปาฐะ ส่งผลให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่ในภาคเหนือ รวมไปถึงเปลี่ยนการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในแง่ของตนบุญ และพระนักพัฒนา
ถึงแม้ภาพลักษณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยจะเปลี่ยนไปผ่านการผลิตซ้ำในช่วง 30 ปีให้หลัง แต่ก็เป็นการตอกย้ำความคงอยู่ถึงชื่อเสียงที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของประชาชนล้านนาผู้เลื่อมใสต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ไม่เคยหายไปตั้งแต่การจากไปกว่า 86 ปี
อ้างอิง
- เปิดประวัติ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ไทยเตรียมเสนอเป็นบุคคลสำคัญของโลก https://www.matichon.co.th/local/news_3880117
- ตนบุญครูบาเจ้าศรีวิชัย: นักสันติวิธีคนแรกในประวัติศาสตร์ล้านนา https://www.lannernews.com/25102566-02/
- การศึกษากระแส “ครูบาคติใหม่” ในภาคเหนือของไทย พุทธทศวรรษ 2530-2550 https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5606030137_6855_5135.pdf
- 11 มิถุนายน 2421 วันเกิดครูบาศรีวิชัย เปิดประวัตินักบุญล้านนาผู้สร้างแรงศรัทธา จนนำไปสู่การต้องอธิกรณ์ ถึง 6 ครั้ง https://www.lannernews.com/11062566-1/
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...