ในวาระครบรอบ 20 ปีของการบังคับให้สูญหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทางการไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม ความจริง หรือการเยียวยาต่อทนายสมชายและครอบครัวของเขา กรณีนี้และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใหสูญหายเน้นย้ำให้เห็นวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึกในประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพยายามที่จะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“20 ปีผ่านไป ตั้งแต่ทนายสมชายหายตัวไปที่กรุงเทพฯ เรายังได้รับคำตอบไม่มากนัก และมีความหวังที่เลือนลาง ในขณะยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปิดปาก จูงใจหรือข่มขู่สมาชิกในครอบครัวของเขา ไม่ให้เรียกร้องความยุติธรรม
“จากความล้มเหลวที่จะนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการรับผิดทางอาญา และจากการเพิกเฉยสิทธิในการเยียวยาอย่างเต็มที่ของครอบครัวของเขา อีกทั้งการยกเลิกโครงการคุ้มครองพยาน เป็นที่ชัดเจนว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่สามารถพึ่งพาทางการไทยได้อย่างเต็มที่ และผู้กระทำความผิดอาจไม่ต้องรับโทษตามความผิดที่ก่อขึ้น
“เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อเอาผิดทางอาญากับการบังคับให้สูญหาย แต่เนื่องจากยังไม่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในชั้นศาล ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
“หากประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างมีเกียรติ ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอีกหลายประการที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้การมีกฎหมายในเรื่องนี้เป็นก้าวย่างแรกที่ดี แต่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดรับชอบและการเยียวยาต่อผู้เสียหายทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งประเทศไทยต้องให้สัตยาบันรับรองโดยไม่ประกาศข้อสงวนใดๆ ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) และยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับให้หายสาบสูญ ที่จะรับฟังและพิจารณาข้อมูลจากผู้เสียหายและคู่กรณีที่เป็นรัฐอื่นๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่จะต่อต้านอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้”
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน อดีตรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และอดีตประธานชมรมนักฎหมายมุสลิม ได้หายตัวไปในย่านรามคำแหงของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยังคงหายตัวไปจนถึงทุกวันนี้
มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านาย ไม่นานหลังการหายตัวไปของทนายสมชาย โดยถูกกล่าวหาว่าบังคับขืนใจให้เขาเข้าไปในรถยนต์ แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องคดีเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เนื่องจากทางครอบครัวไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่อยู่ของทนายสมชาย ทำให้ไม่สามารถเป็นโจทกแทนทนายสมชายในคดีนี้ได้ และมีคำพิพากษาที่ปฏิเสธสิทธิที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาล
ทนายสมชายเป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง รณรงค์เพื่อสิทธิของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู รวมทั้งผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น ระหว่างถูกทหารควบคุมตัวในสามจังหวัดชายแดนของไทย เขาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาเจ็ดวันในค่ายทหารโดยไม่ต้องมีข้อหา
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ในฐานะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังคงรณรงค์ในประเด็นการบังคับให้สูญหาย ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ และก่อนหน้านั้นเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
จากการเคลื่อนไหวของเธอ ทำให้เธอถูกข่มขูที่จะใช้ความรุนแรง ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ ศาลอาญามีคำสั่งระงับการให้ความคุ้มครองพยานต่ออังคณา เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่าคดีเกี่ยวกับหายตัวไปของทนายสมชายได้รับการพิจารณาจนเสร็จสิ้นไปนานแล้ว
อ่านบทสัมภาษณ์คุณอังคณาในวาระครบรอบ 20 ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย: ผู้หญิงธรรมดา-กฎหมาย-รัฐบาล บนเส้นทาง 20 ปี คดีอุ้มหาย “สมชาย นีละไพจิตร”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...