ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาสุขภาพ ข้อแนะนำและวิธีการปกป้องสุขภาพจากวิกฤตการณ์ฝุ่น

ภาพปก: สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)

จากสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ช่วงระหว่างวันที่ 4 – 12 มีนาคม 2567) ปรากฏว่าจังหวัดในภาคเหนือตอนบนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน แนวโน้มการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างอ่อน สภาวะอากาศใกล้พื้นผิวโลกมีลักษณะปิด ส่งผลทำให้มีความเข้มข้นของฝุ่นควันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) และค่าฝุ่น PM 2.5 ต่างก็มีค่าสูงเกินกว่ามาตราฐาน

สภาพอากาศดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีฝุ่นควันหนาปกคลุมจนกระทั่งบดบังทัศนวิสัยทำให้ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้ตามปกติ และในวันที่ 6 มีนาคม 2567 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ออกประกาศเรื่อง คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานบริเวณภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ฉบับที่ 1 

โดยในประกาศระบุว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่น PM 2.5 ระหว่าง 42.5 – 156.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ” จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาทุกชนิด และงดใช้รถยนตร์ที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐาน

ด้วยสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเห็นสมควรว่าควรที่จะได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะฝุ่น PM 2.5 และวิธีการป้องกันสุขภาพในช่วงสภาวะฝุ่นควัน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงอันตรายของฝุ่นควัน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และวิธีการปกป้องสุขภาพของตนเองท่ามกลางสภาวะฝุ่นควัน

ภาพ: สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)

ฝุ่น PM 2.5 และสภาวะ “ฝาครอบ”

ฝุ่น PM 2.5 หรือชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละออง ขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และเป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งฝุ่นชนิดนี้จะแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ 

ตามปกติแล้วจะไม่สามารถมองเห็นฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วยตาเปล่า เพราะเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็ก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 2.5 ไมโครเมตร หากแต่เมื่อฝุ่นเหล่านี้ได้มารวมตัวกันในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่สูง ก็จะเกิดเป็นลักษณะหมอกควันอย่างที่สามารถมองเห็นได้ด้วยเปล่า

สำหรับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ (และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ) โดยมากมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว คือราว ๆ เดือนธันวาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือมีกำลังอ่อนลง มีลมสงบ ประกอบกับมีการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ ส่งผลทำให้ด้านบนชั้นบรรยากาศเกิดสภาพอากาศร้อนและได้กดทับอากาศเย็นที่ด้านล่าง เกิดเป็นสภาพอากาศที่มีลักษณะเหมือน “ฝาครอบ” 

สภาพอากาศแบบฝาครอบเป็นสภาวะที่ชั้นบรรยากาศมีการไหลเวียนและการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี หรือเรียกได้ง่าย ๆ ว่า “อากาศปิด” ซึ่งเป็นสภาวะที่ฝุ่นควันและฝุ่น PM 2.5 สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศได้มาก โดยเฉพาะในระดับชั้นที่ใกล้กับพื้นผิวโลก ขณะเดียวกันก็ยังทำให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้ง เอื้อต่อการเกิดไฟป่าด้วย และสำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ) ซึ่งมีลักษณะทางภูมิประเทศแบบ “แอ่งกระทะ” กล่าวคือ เป็นพื้นที่ราบซึ่งล้อมรอบไปด้วยภูเขา ทำให้การสะสมของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศมีความรุนแรงมากกว่าพื้นที่ในลักษณะภูมิประเทศแบบอื่น

ทั้งนี้ ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้เคยออกมาแจ้งเตือนให้เป็นรับรู้โดยทั่วกันว่าฝุ่นประเภทนี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมากถึง 20 เท่า และด้วยขนาดที่ยิ่งเล็กก็ยิ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้มาก เพราะสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดเลือดได้ง่าย ซึ่งเมื่อได้ผ่านเข้าไปแล้วก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

ภาพ: kmutt library

แหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5

ตามปกติแล้วฝุ่น PM 2.5 จะมีแหล่งที่มาที่หลากหลายขึ้นอยู่ภูมิประเทศ โดยแหล่งที่มาของฝุ่น pm 2.5 ในภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่นี้มี 3 แหล่งสำคัญ คือ

1.จากการเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

2.จากการเผาในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง

3.จากการเผาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเมียนมา

ฝุ่นควันจากการเผาในทั้งสามพื้นที่ ประกอบการสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีการระบายอากาศต่ำ ทำให้เกิดสภาวะฝาครอบและกักกันฝุ่นปริมาณมากเอาไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีลักณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะเช่นจังหวัดเชียงใหม่ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเผาจะเป็นแหล่งที่มาหลักของฝุ่นควัน แต่หากพิจารณาจากจุดความร้อนในวันที่ 8 มีนาคม 2567 จะพบว่ามีจุดความร้อนในจังหวัดเชียงใหม่ 278 จุด, จังหวัดแม่ฮ่องสอน 205 จุด, จังหวัดลำปาง 247 จุด ขณะที่ประเทศเมียนมามีจุดความร้อนมากถึง 6,252 จุด 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจำนวนจุดความร้อนตั้งแต่ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 7 มีนาคม ของปี 2567 จะพบว่ามีจุดความร้อนจำนวน 1,679 จุด ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 มีจุดความร้อนจำนวน 3,500 จุด เท่ากับว่าจุดความร้อนลดลงจากปี่ที่แล้วถึง 50%  

ปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5

ด้วยความที่ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมากทำให้ผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและสามารถเข้าไปได้ลึกถึงถุงลมปอด และบางส่วนยังสามารถผ่านผนังถุงลมเข้าเส้นสู่เลือดฝอยและไปล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดได้ ซึ่งเมื่อฝุ่น PM 2.5 กระจายตัวไปตามกระแสเลือดแล้ว ก็หมายความว่าได้กระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย

ทั้งนี้ เมื่อร่างกายมนุษย์ได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดปฏิกิริยาที่มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างน้อย 2 ประการ 

1) กระตุ้นการเกิดสารอนุมูลอิสระ และลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือระบบต่อต้านสารอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระ คือ สารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และสารที่ได้จากมลพิษต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เซลล์เสื่อมหรือพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ 

ในอีกทางหนึ่ง การรับเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากยังมีผลทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาลดประสิทธิการทำงานของระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือระบบต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ส่งผลให้มีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมากเกินไป ซึ่งเป็นผลเสียต่อเซลล์ต่าง ๆ กล่าวคือ ทำให้เซลล์ต่าง ๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำลายหรือพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง 

กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เมื่อได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งได้นั่นเอง

2) รบกวนสมดุลของร่างกาย และกระตุ้นยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ

เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นจำนวนมากแล้ว สมดุลต่าง ๆ ในการร่างกายจะก่อกวนเนื่องจากอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ในอีกทางหนึ่งฝุ่น PM 2.5 ยังจะเข้าไปกระตุ้นการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบด้วย ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกายเป็นอย่างมาก โดยส่งผลกระทบเป็นโรคต่าง ๆ ตามมา ดังนี้ 

– กระตุ้นให้ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (ไซนัสอักเสบ), โรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง

– กระตุ้นให้ผู้ที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

– ในระยะยาวจะมีส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย

นอกเหนือจากผลกระทบภายในร่างกายแล้ว ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบภายนอกร่างด้วย คือก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โดยเมื่อร่างกายได้สัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานหรือในปริมาณที่มาก จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น ตาแดง อึดอัดแน่นหน้าอก ไอจาม มีน้ำมูกใส ๆ และมีอาการภูมิแพ้ผิวหนัง คือมีการระคายเคืองผิว ผิวแห้ง เกิดผด ผื่น หรือตุ่มขึ้นตามร่างกาย ซึ่งในบางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย 

สำหรับในกรณีของเด็กเล็กพบว่ามักจะมีผื่นขึ้นตามร่างกาย เช่น บริเวณแก้ม ข้อเข่า ข้อศอก และก้น ขณะที่ในส่วนของเด็กโตพบว่ามักมีผื่นขึ้นตามข้อพับ ซึ่งหากมีการเกาในบริเวณที่มีผื่นคันก็อาจจะกลายเป็นแผลและมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

ภาพ: Air4Thai

วิธีการปกป้องสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 

1) หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาสุขภาพ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ควรอยู่ภายในห้องปิดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการสูดดมฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย 

สำหรับกลุ่มผู้มีอาการแพ้ทางผิวหนัง ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 โดยเมื่อกลับถึงที่พักแล้วก็ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า สระผม ชำระร่างกายที่อาจนำฝุ่นเข้ามาในอาคารด้วย

ส่วนในกรณีผู้ที่ป่วยในกลุ่มโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ควรสังเกตุอาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ ควรล้างจมูกและใช้ยาพ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อชำระล้างฝุ่นออกจากทางเดินหายใจและลดสารก่อภูมิแพ้ 

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาพ่นควรที่จะปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน เนื่องจากปัจจุบันมียาพ่นหลากหลายประเภท 

2) งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้ระบบหายใจอย่างหนัก และจะทำให้หายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลกระทบในระยะสั้น ได้แก่ มีการไอจามเรื้อรัง เนื่องมาจากอาการภูมิแพ้ ขณะที่ผลกระทบในระยะยาว เช่น อาจมีผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นหากต้องการออกกำลังกายในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงควรหันมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน

3) สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นหน้ากากอนามัยชนิดที่กันฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM 2.5 ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหน้ากากจำนวน 2 แบบที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ คือหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น หรือหน้ากากทางการแพทย์ ส่วนหน้ากากผ้าฝ้ายนั้นสามารถป้องฝุ่นละอองขนาด 3 ไมโครกรัมขึ้น คือไม่เหมาะสมการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นก็สามารถที่จะนำมาใช้ทดแทนกันได้

โดยการในสวมหน้ากากนั้นมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้ 

– ควรสวมให้หน้ากากครอบคลุมบริเวณตั้งแต่สันจมูก (ดั้ง) ไปจนถึงใต้คาง

– หากเป็นหน้ากากประเภทที่มีขอบลวด ให้สวมโดยนำขอบลวดขึ้นด้านบนเสมอ

– ควรรัดสายหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า ไม่ควรสวมหน้ากากที่หลวมเกินไป

– ควรสวมหน้ากากต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น และไม่ควรใส่หน้ากากซ้ำ 

4) ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินอี เพราะจะช่วยปรับสมดุลและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายที่ได้สัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน หรือได้สูดดมฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในปริมาณมาก

5) ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 และนำนวัตกรรมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เช่น นวัตกรรมการสร้างห้องปลอดฝุ่น และเครื่องกรองอากาศ เป็นต้น

ห้องปลอดฝุ่น หมายถึง ห้องหรือสถานที่ที่เตรียมไว้เพื่อลดการสัมผัสกับฝุ่นละอองในทุกขนาด เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหลักการของห้องปลอดฝุ่นก็คือ การป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาภายในห้อง ซึ่งสามารถทำได้โดยการปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ตรวจสอบรอยหรือรูรั่วและทำการอุดหรือปิดผนึกด้วยซีลหรือเทปกาว

หลักการต่อมาคือ การกรองอากาศภายในห้องให้สะอาด โดยอาจติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ภายในห้อง ซึ่งอาจใช้เครื่องกรองอากาศที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด หรือใช้เครื่องกรองอากาศที่ประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ ทั้งนี้ ในการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้องคำนึงถึงขนาดของห้องและประสิทธิภาพของเครื่องกรองด้วย

หลักการสุดท้ายคือ การดันฝุ่นออกจากห้อง ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูง แต่อย่างไรก็ตาม หลักการนี้อาจมีความยากลำบากในการดำเนินการ เพราะจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องได้รับคำแนะนำจากวิศกรหรือช่างที่มีความชำนาญด้วย

สำหรับเครื่องกรองอากาศ ทั้งที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปหรือที่ประดิษฐ์เองแบบ DIY นั้น มีหลักการในการติดตั้งคือ ควรติดตั้งไว้ในห้องปิด ไม่ควรวางเครื่องกรองอากาศในที่ชื้น เช่นบริเวณหน้าห้องน้ำ ควรวางเครื่องกรองอากาศให้ห่างจากผนังและวัสดุอื่น ๆ อย่างน้อย 10 เซนติเมตร และควรเปลี่ยนแผ่นกรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของฝุ่นและเพื่อให้เครื่องกรองอากาศสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง