ฟังเสียงสะท้อนผ่านมุมมองคนทำงาน ความท้าทายและความคาดหวังระหว่างเส้นทางกระบวนการการสร้างเยาวชนให้เป็นคนพัฒนาชุมชนในอนาคต
เมื่อช่วงวันที่ 8-10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มยุวธิปัตย์เพื่อสังคม (DYP) พร้อมความร่วมมือจาก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา จัดกิจกรรม ‘เวทีเติมเครื่องมือ เสริมพลัง ร่วมสื่อสารแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน และปฏิบัติการเครือข่ายพลังละอ่อนเชียงใหม่ ร่วมสร้างสรรค์เมือง จังหวัดเชียงใหม่’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นกิจกรรมการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนควรค่าม้า พร้อมด้วยการสร้างองค์ความรู้และทักษะในการศึกษาชุมชนให้กับเครือข่ายเยาวชน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเชื่อมร้อยเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชน มาเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคม และเสริมพลังสร้างสรรค์ในบทบาทความเป็นพลเมืองของตนเอง
แล้วการจะพัฒนา ส่งเสริม และผลักดันศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาชุมชนนั้น สามารถเริ่มเพียงแค่จากการลงพื้นที่ชุมชนและทำกิจกรรมได้จริงหรือ? มันจะตอบโจทย์เป้าหมายการนำพาเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร? มาฟังมุมมองจากฟากฝั่งคนทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน ตุ๊กตา – กนกวรรณ มีพรหม จากมูลนิธิโกมลคีมทอง หนึ่งในวิทยากรผู้ออกแบบกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้
“workshop ทำแผนที่เดินดิน จะให้น้อง ๆ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ (เฉลิมพระเกียรติ) และชุมชนหัวฝาย ไปลงพื้นที่ชุมชนควรค่าม้า แบ่งเป็น 3 โซน คือวัดราชมณเฑียร วัดหม้อคำตวง และวัดควรค่าม้า ที่ตัวเองออกแบบเป้าหมายก็คืออยากให้เขาได้ใช้เครื่องมือแผนที่เดินดินในการลงไปทำงานกับผู้คน ลองไปเดินไปดูว่าพื้นที่ชุมชนมันมีตรอกซอกซอย มีสถานที่ สิ่งที่มันเหมือนหรือแตกต่างจากแผนที่ตั้งต้นไว้มากเพียงใด เพราะว่ามันเป็นแผนที่ตั้งแต่ปี 2018 ที่ต้องผ่านช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19”
“กิจกรรมจะนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าการทำให้เขากลับไปสู่ การฝึกทักษะในการเรียนรู้ชุมชน ผ่านตัวเครื่องมือต่าง ๆ มันจะทำให้เขาออกมาจากนอกห้อง ออกมาจากสิ่งที่อยู่ในตำรา จริง ๆ เครื่องมือพวกนี้ข้อมูลต่าง ๆ มัน search มันค้นหาดูได้จากอินเทอร์เน็ตในหนังสืออยู่แล้วแต่มันไม่เท่ากับการลงมาเดินเอง การมาสำรวจเอง ค้นหาเอง พูดคุยกับผู้คนจริง ๆ มันเป็นจุดตั้งต้น เป็นสารตั้งต้นพอเขาเริ่มที่จะไปคุยไปสำรวจ เขาได้เรียนรู้ได้เห็นปัญหา หรือเห็นทรัพยากรเห็นต้นทุนของชุมชนแล้ว เชื่อว่ามันสามารถที่จะพัฒนาและต่อยอดให้เขาไปออกแบบงาน ออกแบบสิ่งที่เขาอยากจะทำกับชุมชนได้ เพราะอย่างกลุ่มน้อง ๆ ที่มาวันนี้ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นนักศึกษาสาขาการจัดการชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเครื่องมือพวกนี้มันจะไปต่อยอดให้เขาสามารถที่จะไปทำงานไปพัฒนาชุมชน อาจจะเป็นชุมชนที่เขาสนใจหรือชุมชนดั้งเดิมของเขาก็ได้”
กิจกรรมการลงพื้นที่ชุมชนเป็นการให้เครื่องมือ เหมือนกับเป็นการติดอาวุธ และเป็นแนวทางสำหรับเยาวชนในการศึกษาชุมชน ให้สามารถทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมชุมชมได้มากขึ้น แม้ว่าบางคนจะเรียนมาแล้วบ้างแต่กิจกรรมนี้จะมีการเสริมเติมแต่งจากผู้ที่ชำนาญ เด็กก็จะได้ฝึกมากขึ้น ได้มองชุมชนในสายตาที่แตกต่างออกไปและเริ่มฝึกตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม
“เมื่อมีเครื่องมืออยู่ในมือ คือเครื่องมือทั้งหลายที่วิทยากรเขาสอนภายในกิจกรรมเวิร์คชอปให้องค์ความรู้ สิ่งที่ต้องกระตุ้นต้องเติมเข้าไปก็คือทักษะการสังเกตและการฉุกคิด เพราะว่าก่อนที่จะตั้งคำถามได้ เด็กต้องคิดเป็นด้วย จะตั้งคำถามแต่ไม่รู้จะคิดจะถามอย่างไร ก็จะทำให้เกิดปัญหา เราจึงต้องตั้งคำถามเป็นโมเดลให้กับเขาก่อนเพื่อเป็นการกระตุ้น สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่คำตอบแต่คือคำถามที่ถูกต้องก่อน ถึงจะนำไปสู่คำตอบ เมื่อเราเจอปัญหาในพื้นที่ที่มีปัญหา บางทีที่เรายังหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นไม่ได้อาจเพราะว่าเราตั้งคำถามไม่ถูก เรามองเห็นแต่ปัญหาภาพรวมแต่เราไม่รู้ปัญหาจริง ๆ อยู่จุดไหน หลายครั้งเราอาจจะมองว่าบางอย่างไม่ใช่ปัญหาแต่มันเป็นผลมาจากปัญหา หรืออาจจะเป็นส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดปัญหา และบางครั้งสิ่งที่เรามองเห็นว่าเป็นปัญหา จริง ๆ อาจจะเป็นขุมทรัพย์ในชุมชนก็ได้” กนกวรรณกล่าว
ความท้าทายของคนทำงานด้านการพัฒนาเยาชนนั้นไม่ได้มีแต่เพียงการออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กเท่านั้น เพราะนั่นคือขั้นตอนในช่วงท้าย กนกวรรณ ได้เล่าเพิ่มเติมต่อว่า ก่อนจะสามารถสร้างสรรค์มอบความรู้ให้ใครได้ ผู้สอน ผู้ออกแบบเองก็จะเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่เพียงพอก่อน ต้องมีการอัพเดทความรู้ใหม่ ๆ และเครื่องมือการลงชุมชนที่ทั้งต้องเหมาะสมกับเยาวชนผู้เข้าร่วม สถานการณ์ และพื้นที่ชุมชนแต่ละแห่ง เคยมีการตั้งคำถามกับเครื่องมือเหล่านี้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ชุมชนชนบทอย่างเดียวหรือไม่ สามารถนำมาใช้กับสังคมเมืองได้จริงหรือ เพราะเรื่องระบบสุขภาพ ความเชื่อ ประเพณี ส่วนใหญ่จะเรียนรู้ได้ลึกในสังคมที่เป็นชนบท เนื่องจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนจะเห็นชัดมากกว่า แม้ตอนนี้ศาสตร์ของเครื่องมือการเรียนรู้ชุมชนจะไม่ได้ล้าสมัย แต่ใด ๆ แล้วก็ต้องมีการอัพเดทว่าสำหรับชุมชนที่มีความเป็นเมือง เราจะสามารถนำเอาเครื่องมือเหล่านี้ไปทำงานกับมันได้อย่างไร เพื่อให้เครื่องมือและองค์ความรู้สามารถนำไปประยุกต์เข้ากับพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างกันได้
เช่นเดียวกับฟากฝั่งคนทำงานที่ต้องคอยพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะในฐานะกระบวนกร สถานศึกษาและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความเป็นไปของระบบการศึกษาของเยาวชนนั้น ก็ควรจะต้องมีการจัดการภายใต้บทบาทที่สำคัญนี้อย่างเหมาะสม แต่จะเหมาะสมอย่างไร และบทบาทที่ว่านี้ควรเป็นอย่างไร ดวงพร เพิ่มสุวรรณ อาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตรการจัดการชุมชน และนวัตกรรมการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ (เฉลิมพระเกียรติ) ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า
“พูดถึงปัญหาก่อน ในฐานะที่เป็นคนในสถาบัน ปัจจัยที่เป็นปัญหาภายในก็คือ ตอนนี้แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาระดับใหญ่อย่างอุดมศึกษา เราถูกกรอบบังคับเยอะแยะมากมายจนกระทั่งจากเดิมที่เราเคยเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันเคยเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานมาแล้ว เช่นข่าวที่บอกว่าครูไม่ได้สอนแต่ถูกให้ไปทำอย่างอื่นแทน อุดมศึกษาตอนนี้ก็เหมือนกัน เกณฑ์ประเมิน กรอบเกณฑ์ต่าง ๆ สำหรับเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของบุคลากร มันมีทั้งข้อดีต่างที่จะไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านอื่น ๆ แต่ตัวเกณฑ์ประเมินก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายใต้กรอบอื่น ๆ ทำให้หลายครั้งที่จัดกระบวนการในการพัฒนาเยาวชน เราพยายามที่จะจัดการในเรื่องของทุน เช่น การนำเด็กออกมาศึกษานอกสถานที่ ในขณะเดียวกัน แม้กระทั่งถ้าเราจะจัดอย่างกิจกรรมภายในพื้นที่ ถ้านอกเหนือจากในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยก็จะมีเรื่องค่าใช้จ่าย นักศึกษาจะลงเองก็เป็นปัญหาอีก เพราะว่าจะต้องออกเงินเอง สถาบันไม่สามารถสนับสนุนตรงนี้ได้ แล้วยังมีเรื่องของเกณฑ์การประเมินอีก ที่ในบางข้อกำหนดมันไม่สามารถเป็นผลพลอยได้ที่จะสามารถประเมินในมหาวิทยาลัยได้”
ปัจจุบันการศึกษามุ่งหวังให้มีการพัฒนานักศึกษาหรือเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเกณฑ์ประเมินบางอย่างไม่สามารถที่จะทำได้ในจบแค่ในชั้นเรียน ควรจะต้องมีกิจกรรมข้างนอก กิจกรรมเสริมหลักสูตรและอื่น ๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเหล่านี้มีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อนั่นคือ สถาบันสนับสนุนเพียงใด แล้วในการสนับสนุนนั้นมีคลอบคลุมทั้งเงินทุนและเวลาหรือไม่ รวมถึงเกณฑ์และรูปแบบการประเมิน ที่ทั้งหมดควรจะต้องสอดคล้องกันกับความมุ่งหวังที่ต้องการจากนักศึกษาหรือเยาวชนด้วย
สำหรับความคาดหวังต่อปรับปรุงบทบาทของสถานศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ดีขึ้นในการช่วยพัฒนาเยาวชน ดวงพร ยังได้เพิ่มเติมต่ออีกว่า ตอนนี้นโยบายด้านการศึกษาต่าง ๆ แปรผันไปตามการเมือง ซึ่งต้องยอมรับในส่วนนี้ ถ้าหากนโยบายด้านการศึกษามีความนิ่งพอ สถาบันก็จะนิ่งตาม และเมื่อนั้นก็จะเห็นได้ชัดว่าทิศทางการพัฒนาชุมชนและเยาวชนจะไปในทิศทางไหน ถ้าต้องการเปลี่ยนทำให้มีความยั่งยืนต้องเปลี่ยนที่สถาบัน ส่วนที่ 2 สิ่งที่ภาคคนทำงานจะทำได้คือ การสร้างเครือข่าย จากการมาร่วมกิจกรรมกันลักษณะรวบรวมเครือข่ายเยาวชน มาเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคม และเสริมพลังสร้างสรรค์ในบทบาทความเป็นพลเมืองของตนเอง
“ถ้าจะแก้ไข อย่างแรกเลยค่อนข้างยากคือ นโยบายต้องชัด ต้องมีการผลักดันเชิงนโยบายขึ้นไปให้มีการใช้จริง ส่วนที่เราในฐานะคนทำงานพอทำได้คือ การสร้างเครือข่ายกันเอง ไม่ใช่แค่อาจารย์เป็นเครือข่ายแต่เราก็จะนำนักศึกษาไปเป็นเครือข่าย อย่างเช่นในตอนนี้ก็เป็นเครือข่ายกลุ่มพัฒนาเยาวชนของเอกชน ต่อไปก็จะเป็นอาจกลุ่มของสถาบัน จากเด็กที่เรียนด้านการพัฒนาชุมชน การจัดการชุมชน นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคม พยายามดึงคนเข้าเครือข่ายก่อน เมื่อจำนวนเสียงเยอะก็อาจพอจะเป็นพลังได้ ขยายขอบเขตการติดอาวุธให้กับเยาวชนได้ เช่นตอนนี้ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เฉพาะเด็กที่เรียนสาขาด้านการจัดการชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีการขยับขยายไปยังเด็กสาขาอื่นด้วย เช่น ถูกพัฒนาไปในด้านของสาธารณสุขชุมชน ที่ก็มีการใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนในการลงพื้นที่ชุมชน สายของสังคมก็ลงไปศึกษาสังคมชุมชนในพื้นที่ เมื่อทุกคนเริ่มใช้เครื่องมือศึกษาและมีความเข้าใจชุมชนมากขึ้น เราสามารถจะกลับมาแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนตัวเองได้”
นอกเหนือจากบทบาทของสถานศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของนโยบายภาครัฐ อีกหนึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญกับเส้นทางกระบวนการพัฒนาเยาวชนก็คือภาคเอกชน อันเป็นกำลังที่คอยขับเคลื่อนเส้นทางนี้อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเราจะเห็นได้ผ่านการสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นของบุคลากรในระบบการศึกษาแล้วว่าการจะจะเปลี่ยนแปลงบทบาทในด้านนโยบายให้มีแนวทางเเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ชัดเจนนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ขณะที่การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาก็ไม่อาจรอได้ แต่ในการจะดำเนินกิจกรรมใด ๆ ต้องย้อนกลับมาที่ปัจจัยพื้นฐานนั่นคือทุน ดวงดล รงค์เดชประทีป ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา คนทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนจากภาคองค์กรเอกชน ที่คอยเป็นแรงสนับสนุนด้านปัจจัยทุนให้กับการพัฒนาเยาวชน ได้ให้มุมมองความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า
“เรามองว่าการเรียนรู้สุดท้ายแล้วที่สำคัญเลยคือเขาต้องลงมือปฏิบัติจริง เวลาที่มีน้อง ๆ มาของบประมาณหรือมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ทำไมเราถึงให้งบเด็กทำงาน เพราะเราเชื่อว่าเขาจะเกิดการเรียนรู้ได้หลายแบบเมื่อเขาเป็นเจ้าของปัจจัยแล้ว เวลาที่เขาจะเรียนรู้ชุมชนหรือเขาจะเรียนรู้อะไรสักเรื่องหนึ่งเราเชื่อว่ามันมีต้นทุน มันมีค่าใช้จ่าย การให้การสนับสนุนเยาวชนผ่านการมอบเป็นปัจจัยทุน เขาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การบริหารจัดการเลย เป็นการผลักดันให้เขาเริ่มคิดว่าหากมีทุนเท่านี้ จะจัดสรรมันอย่างไรให้เขาไม่ลำบากจนเกินไปในขณะเดียวกันก็สามารถมอบประโยชน์คืนให้กับสังคมได้ด้วย ซึ่งจริง ๆ เรื่องเหล่านี้มันควรเป็นสวัสดิการ ไม่ว่าเรื่องของพื้นที่ปลอดภัยที่มันควรมีในชุมชน เรื่องของต้นทุนการศึกษาที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นอกสถานที่ มันควรจะมีการปรับรูปแบบใหม่ได้แล้ว เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ มีคุณภาพ เรื่องเงินมันไม่ควรจะเป็นเรื่องยากเลย เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดสรรค์ออกมาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนเป็นพื้นฐานการพิจารณา”
ในฐานะคนทำงานผู้ที่อยู่ร่วมตั้งแต่ส่วนต้นน้ำไปจนถึงปลายสายธารในการพัฒนาเยาวชน ซึ่งรวมไปถึงองค์กรภาคเอกชนที่สังกัดอยู่อย่างมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ดวงดล เห็นว่าจุดประสงค์ของการพัฒนาเยาวชน ผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์ที่จะสะท้อนถึงความสำเร็จนั้นจะฉายชัดออกมาจากตัวเยาวชนเอง จริงอยู่ที่ว่าทุกการทำงานที่ต้องลงทุนต้องมีปัจจัยและมีความเสี่ยง แต่หากต้องการคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่มีความยั่งยืน การลงทุนกับเด็กและเยาวชนคือการลงทุนที่คุ้มค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเติมองค์ความรู้ ที่ต้องมาพร้อมกับการเสริมทักษะและลงมือปฎิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้ใช้ความรู้จริง ๆ
องค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการทำงานกับเยาวชนโดยเฉพาะเรื่องปัจจัยงบประมาณเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการสนับสนุนนี้ควรจะมีการให้ความสำคัญมาตั้งแต่ระดับนโยบาย กระจายมาสู่องค์กรในส่วนการพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชน ทั้งส่วนการทำงานในภาพรวมอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ จนไปถึงหน่วยงานดูแลที่มีความจำเพาะมากขึ้นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องโดยวัตถุประสงค์ หน้าที่ พันธกิจของหน่วยงาน เช่น สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
เสียงสะท้อนจากมุมมองคนทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชน แม้ในครั้งนี้จะมาจากการพูดคุยท่ามกลางการจัดกิจกรรมเล็ก ๆ เพียงหนึ่งกิจกรรม แต่ทั้งปัญหาแวดล้อมทั้งเชิงนโยบายและปัจจัยการสนับสนุนที่ควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจากภาครัฐ ความท้าทายในการทำงานของผู้เป็นฟันเฟืองในการผลักดันเยาวชนเองก็ต้องมีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ให้สามารถเติมทักษะผู้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป้าหมายที่มีต่อเส้นทางกระบวนการนี้ สามารถส่งประโยชน์ไปถึงเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...