‘สมชาย’ งง ‘เศรษฐา’ ใช้อะไรวัด “เชียงใหม่อากาศดี”

16 มี.ค.2567 สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี โดยเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ค “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” หลัง นายเศรษฐา โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบรรยายบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืนว่า “ปรากฏว่าอากาศช่วงกลางคืนเชียงใหม่คืนนี้ดีกว่าที่คิด” หลังจากการร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา

เนื้อความภายในจดหมายของ สมชาย บรรยายความผิดหวังของตนต่อ เศรษฐา พร้อมถามถึงเกณฑ์ที่ใช้วัดความ “อากาศดี” ในเมืองเชียงใหม่ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เทไปในทิศทางเดียวกัน ว่าสภาพอากาศในเมืองเชียงใหม่ตอนนี้ถือว่า “ไม่ถูกสุขภาพมาก”

นอกจากนี้ สมชาย ยังได้แนะนำ เศรษฐา ผ่านจดหมายดังกล่าว โดยแนะให้นายเศรษฐาออกไปรับฟังเสียงจากประชาชนบ้าง การใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงนั่งรับประทานอาหารก็ไม่ได้ทำให้สุขภาพต้องเสียจากผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 มากเท่าไรนัก ต่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาแล้วเป็นเวลาหลายปี รวมถึงต้องได้รับฝุ่นควันเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันเพื่อหาเลี้ยงชีพ

“ขอสารภาพว่าผมไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากนักกับคุณเศรษฐา ในฐานะของนายกรัฐมนตรี แต่การมาเยือนเชียงใหม่ในวันที่ 15 มีนาคม กลับสร้างความผิดหวังเป็นอย่างมากแก่ข้าพเจ้า ภายหลังจากที่ได้มีข่าวออกมาทางสื่อมวลชนว่า “เชียงใหม่คืนนี้อากาศดี” (ดูรายละเอียดhttps://www.facebook.com/photo/?fbid=835655748591175&set=a.648490497307702)

ความผิดหวังประการแรก คุณเศรษฐา ใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่าอากาศเชียงใหม่ดี ถ้าลองเปิดตาดูข้อมูลใน IQAir หรือแอฟอื่น ๆ ก็ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน เช้าวันที่ 15 และเช้าวันที่ 16 มีนาคม ปริมาณฝุ่นของเชียงใหม่ขึ้นไปอยู่ในระดับสีม่วง อันแปลว่า “ไม่ถูกสุขภาพมาก”

เพียงแค่การไปนั่งในร้านอาหารริมแม่น้ำแล้วบอกว่าอากาศดี มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันข้อความดังกล่าว อย่าลืมว่าคุณเศรษฐา ก็แค่โฉบมาวันสองวันแถมนอนในโรงแรมที่มีเครื่องปรับอากาศเป็นอย่างดี การสูดฝุ่นเข้าไปชั่วโมงสองชั่วโมงก็คงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ต้องมีชีวิตทั้ง 24 ชั่วโมง ทำมาหากิน นอนในบ้านที่อาจไม่มีเครื่องกรองอากาศ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ การสูดฝุ่นเข้าไปกำลังเป็นการตายผ่อนส่งมิใช่หรือ

ลองออกไปฟังเสียง ฟังความรู้สึก ฟังอารมณ์ ของคนในพื้นที่บ้างก็ดีนะครับ แทนที่จะใช้เวลาไปกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถ้าอยากเจอกลับไปกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ก็หาเวลาไปเจอกันเถอะครับ แทนที่มาถึงเชียงใหม่จะมารับฟังเสียงของประชาชนท่ามกลางวิกฤติฝุ่น กลับไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่กับบรรดาผู้มีอำนาจ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ถ้าจะทำแบบนี้ก็ไม่ต้องเชียงใหม่หรอก

ความผิดในเรื่องต่อมาก็คือ การทำหน้าที่ในฐานะของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสูงสุด พวกเราได้ฟ้องคดีฝุ่น PM 2.5 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ และศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยที่ ส 1/2567 ตัดสินว่านายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ละเลยและล่าช้าต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีคำตัดสินให้นายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้อุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว จึงทำให้ผลของคำพิพากษาต้องเลื่อนออกไปอีก

ทั้งที่คุณเศรษฐา ได้แสดงท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นมานับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในปีที่ผ่านมา แต่ทำไมจึงปล่อยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม อุทธรณ์ต่อคำตัดสินอันทำให้การแก้ไขปัญหานี้ยืดเยื้อออกไปอีก ทำไมนายกฯ ในฐานะที่มีอำนาจสูงสุดจึงไม่สั่งการให้ยุติการอุทธรณ์ แล้วดำเนินการสั่งการตามกฎหมายที่มีอย่างจริงจัง

ผมคาดเดาว่าหากมีการประกาศว่าเชียงใหม่มีมลพิษรุนแรงคงจะกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นกลไกขับดันทางเศรษฐกิจอันหนึ่งที่พอจะช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยไม่ล่มจมไปมากกว่านี้ ทำให้คุณเศรษฐา ต้องไปนั่งดมฝุ่นแล้วบอกว่า “เชียงใหม่อากาศดี” ทั้งที่ก็รู้อยู่เต็มตาเต็มจมูกว่าฝุ่นมันปกคลุมบ้านเมืองมากขนาดไหน

ความผิดหวังต่อคนที่เราไม่เคยคาดหวังไว้นี่มันเป็นเรื่องที่ชวนให้ละเหี่ยใจไม่น้อยนะครับ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
16 มีนาคม 2567”


ทางด้านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ก็ได้โพสต์รูปภาพตนเอง ปั่นจักรยาน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ พร้อมข้อความ “ไม่ได้จับจักรยานมาร่วม 10 ปีวันนี้เลยมาซ้อมปั่นพอให้ได้เหงื่อ 2 กม. ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ครับ” ในขณะที่ค่าฝุ่นเมืองเชียงใหม่วันนี้ (16 มี.ค.2567) วัดได้อยู่ที่ 281 AQI

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง