เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่สารจาก ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชน โดยมีเนื้อหามีดังนี้
จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน(PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนานโดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ
ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน ขอให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม สังเกตอาการ หากมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีการควบคุมโรคแย่ลง มีอาการกำเริบรุนแรง ขอให้รีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที
บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองไม่เผาทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM2.5 หากระดับฝุ่น PM2.5มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใส่อุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน PM2.5 ชนิด N95 โดยให้อยู่นอกอาคารให้สั้นที่สุด ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยในช่วงค่ำของวันที่ 19 มีนาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่มีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ค่าฝุ่น PM2.5 กลับลดลงเพียงน้อยนิดหากเทียบกับปริมาณฝนที่ตกลงมา นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ผ่าน Facebook ส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ไว้ว่า
หลายคนสงสัย ฝนอุตส่าห์ตกเป็น ชั่วโมง ทำไมตื่นมาเช้านี้ คุณภาพอากาศดีขึ้นนิดเดียว (คืออยากให้ สีเหลือง สี เขียวเลย นี่จากแดงจาก ม่วง ลงมาเป็น ส้ม) ฝน ชำระล้าง PM2.5 ในอากาศได้น้อยครับ เพราะ ขนาดเม็ดฝน กับ ฝุ่น 2.5 ไมครอน มันต่างกันมากกกกก ขณะที่เม็ดฝน แหวกอากาศลงมา ฝุ่นจิ๋ว จะถูกผลักให้กระเด็นออกจากพื้นผิว หยดน้ำเป็นส่วนใหญ่ ฝนชะล้างได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ การศึกษา PM2.5 scavenging rates พบว่า ฝนเบาๆ ตก 1 ชม ลดปริมาณ PM2.5 ได้ 2.03% (เรียกได้ว่า แทบไม่มีผลเลย) ฝนหนัก ลดได้ 26.75% (อ้างอิง https://rmets.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/asl.1088) แต่ถ้าฝนตกบริเวณกว้าง จุดความร้อนไฟป่า จะลดลง 2-3 วัน คุณภาพอากาศจะดีขึ้นครับ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...