รายวิชาการสื่อสารเพื่อเสริมพลังทางสังคม คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการ ‘การศึกษาไร่หมุนเวียนในแง่มุมด้านวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอคติเรื่องชาวเขาทำลายป่า‘
“ชาวเขาทำลายป่า”
“เวลามีปัญหาอะไร คนอยู่กับป่าอย่างเรา ก็จะเป็นแพะรับบาปตลอด”
วาทกรรมชาวเขาทำลายป่าเป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษและกดทับพวกเขาให้ตัวเล็กลงเรื่อย ๆ จนกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกวางไว้ในบริบทจำเลยของสังคมว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศและป่าไม้ที่หายไปในภาคเหนือ
วาทกรรมนี้เท็จจริงมากแค่ไหน? หรือเป็นเพียงอคติของสังคมต่อคนชายขอบอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยผู้สร้างวาทกรรมเองก็ไม่ได้มีความเข้าใจในพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกับป่า…
ก่อนฤดูฝุ่นจะมาเยือน เราได้มีโอกาสเดินทางไปพบ ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ หรือที่คนในชุมชน เรียกว่า ‘พะตีตาแยะ‘ (พะตี ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่า ลุง) ชาวปกาเกอะญอ วัย 75 ปี จากหมู่บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปี ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเคลื่อนไหวต่อรองอำนาจรัฐจากนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยป่า รวมถึงเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมปกาเกอะญอแก่สาธารณะ
พะตีตาแยะ พาเราเดินมุ่งหน้าสู่ท้องไร่ อันเป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนในหมู่บ้าน พลางชี้นิ้วและอธิบายตามจุดต่าง ๆ พร้อมสอดแทรกวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวปกาเกอะญอที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่จะหยุดนั่งพักตรงน้ำตกและพูดคุยเกี่ยวกับการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’
ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย
“เกษตรไร่หมุนเวียนไม่ใช่เกษตรทำลายป่า เป็นการใช้ป่าซ้ำ เราทำไร่หมุนเวียน เราทำมาเรื่อย ๆ จนกลับมาที่เดิม และทิ้งพื้นที่นั้นเอาไว้ 7 ปี”
เมื่อพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์และการทำไร่หมุนเวียนในสังคมไทยนั้น อาจมีความเข้าใจที่ค่อนข้างคลุมเครือและผิดเพี้ยนจากมายาคติที่ส่งต่อกันมานานแสนนาน
ไร่หมุนเวียน เป็นภูมิปัญญากะเหรี่ยงในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ด้วยการทำการผลิตในระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาวจนผืนดินคืนความสมบูรณ์แล้วจึงวนกลับมาทำที่เดิม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำกินของชุมชน ไม่ใช่พื้นที่ป่า
พื้นที่พักฟื้นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ไร่เหล่า’ โดยปกติแล้ววงจรในการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี ตลอดระยะเวลา 7 ปี ธรรมชาติจะเยียวยารักษาผืนดิน มอบความอุดมสมบูรณ์และพืชพรรณ จนพื้นที่ไร่เหล่าซึ่งเคยราบเตียนกลับมาเขียวชอุ่มชุ่มชื้นเป็นผืนป่าอีกครั้ง ต่างจาก ไร่เลื่อนลอย ที่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และพืชไร่อื่น ๆ ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามรอบการผลิต (2 – 3 ครั้งต่อปี) และหลังจากปลูกพืชได้ 2 – 3 ปี ดินจะเสื่อมคุณภาพลง ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ชาวบ้านก็จะย้ายไปบุกรุกแล้วถางพื้นที่ใหม่เพื่อเพราะปลูกใหม่ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทิศทางที่แน่นอน
การที่เราได้ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านในช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะไม่นานนัก แต่ก็ทำให้เราเข้าใจ ‘ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและมนุษย์’ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไร่หมุนเวียนไม่เพียงเป็นระบบการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่แฝงไว้ด้วยองค์ความรู้ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อการยังชีพอย่างมั่นคง
คนกับป่า
“ก่อนที่เราจะลงไปทำไร่หมุนเวียน เราต้องผูกมือก่อนในปีใหม่ จะผูกทั้งหมู่บ้าน และถวายเจ้าที่เจ้าทาง ว่าจะลงมือทำไร่แล้วนะ ให้สิ่งไม่ดีไม่ร้ายอย่ามาใกล้ หลังจากนั้นเขาจะเอาน้ำส้มป่อยมาอาบและดำหัว เพื่อล้างสิ่งไม่ดีจากในตัวเรา พอผ่านไปอีกวันก็จะไปดูไร่ว่าบริเวณป่าผืนนี้เหมาะจะไปทำมั้ย ถ้าเหมาะก็จะไปตัดต้นไม้ต้นสองต้น แล้วบอกผีหรือสิ่งศักด์สิทธิ์”
พิธีกรรมไหว้ผีไร่ผีนา อยู่คู่กับวิถีทำไร่หมุนเวียนของชาวปาเกอะญอมาช้านาน ก่อนเขาจะเข้าไปทำการผลิตใน ‘ไร่หมุนเวียน’ ต้องกราบไหว้ผีปู่ย่าตายายและเทพเจ้าทั้งหลาย โดยขออนุญาตว่าปีหนึ่งจะทำแค่แปลงหนึ่ง แปลงเดียว แล้วทิ้งไร่หมุนเวียนแปลงนั้นไว้ 7-8 ปี รวมทั้งขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดูแลพื้นที่ป่าแห่งนั้น
สิ่งหนึ่งที่พะตีย้ำอยู่เสมอคือ เมื่อเราอยู่กับธรรมชาติก็ต้องดูแลธรรมชาติให้ดี และสิ่งนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาผ่านประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อต่าง ๆ ของชาวปกาเกอะญอที่มองว่าธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงที่สุด ทุกสรรพสิ่งมีเจ้าของ เพราะฉะนั้นเราจะไม่สามารถไปทำลายหรือใช้ประโยชน์อย่างล่วงเกินไม่ได้
‘ทวงคืนผืนป่า’ จากผู้รักษาป่า
อย่างไรก็ตาม ไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นระบบการผลิตที่ล้าหลัง ไม่มีประสิทธิภาพ และส่งกระทบต่อป่าไม้ที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าของรัฐ นำมาซึ่งการทวงคืนผืนป่าหรือการรุกล้ำทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย โดยประกาศเขตป่าอนุรักษ์ครอบทับพื้นที่ทำกินของคนกะเหรี่ยง ไร่หมุนเวียนจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมายและถูกห้ามทำไร่หมุนเวียน ซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่เป็นวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง
“เมื่อก่อนคนเมืองก็ทำไร่หมุนเวียน แต่ช่วงหลังหลังมีการพัฒนานโยบาย คนเมืองก็ทิ้งไร่หมุนเวียนไปเลย เราไปถามคนเฒ่าคนแก่ เขาบอกว่ารัฐไม่ให้ทำ เราจะโดนจับ โดนยึดพื้นที่ จึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำอย่างอื่น ไปทำนาเยอะขึ้น ทำเกษตรเชิงเดี่ยวเยอะขึ้น แต่ที่ดินเราไม่มีใบทำกิน เขาจะยึดเมื่อไหร่ก็ได้”
ต้นตอปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานใจกลางผืนป่า ส่วนหนึ่งนั้นมีสาเหตุจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะชุมชนชาวปกาเกอะญอ กลุ่มชาติพันธ์ุที่มีวิถีผูกพันแน่นแฟ้นกับป่าและเป็นผู้รักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่อดีต
ชาวเขาเผาป่า
“จริง ๆ แล้วปัญหาฝุ่นควัน มันปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนทำให้เกิดเหมือนกัน แต่ทำให้เกิดไม่เท่ากัน อย่างคนตัวเล็กตัวน้อยแบบเราเทียบกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็ปล่อยไม่เท่ากัน แล้วทำไมเขาถึงไม่ถูกควบคุมเลย”
จากสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่รุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ผู้คนที่มีวิถีการทำไร่หมุนเวียนเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเผาหรือการใช้ไฟในช่วงดับเพลิง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของฝุ่นควันจากไร่หมุนเวียนกับปริมาณฝุ่นควันภาคเหนือทั้งหมดนั้น ถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อยมากเสียด้วยซ้ำ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน การทำอุตสาหกรรม และฝุ่นควันจากการคมนาคมที่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขด้วยเช่นกัน
แม้การเผากำจัดวัชพืชหลังฤดูเก็บเกี่ยวนั้นจะมาพร้อมกับฝุ่นควัน แต่การเผานั้นเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อคืนปุ๋ยและแร่ธาตุสู่ผืนดิน ซึ่งโดยปกติแล้วชาวบ้านจะทำแนวกั้นไฟรอบ ๆ พื้นที่ไร่ เพื่อป้องกันการเผาไหม้ลุกลาม แต่ด้วยความเข้าใจผิดหลักที่มองว่าฝุ่นภาคเหนือเกิดจากการเผาป่า จึงนำไปสู่นโยบายการห้ามเผาของรัฐในช่วงฤดูแล้งเดือนมกราคม-เมษายน
“ช่วงเผาไร่หมุนเวียน ถ้าเราจะเผาต้องไปขออนุญาตจากเทศบาล แจ้งพิกัดให้เขาว่าตรงนี้จะเผาไร่ เขาบอกว่าจะเผาไร่ ต้องลงชื่อไว้ ถ้าไม่ได้ลงชื่อไว้ จะเผาไม่ได้ ถ้าเผาเราจะโดนจับ ทุกครั้งที่เผาเราก็อยู่ด้วย ไปกับชาวบ้านด้วยกัน แต่ที่หมอกควันเยอะ ๆ เราไม่ได้เผานะ บางครั้งฝนตกลงมาก็เผาไม่ได้ละ”
มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านทำมาหากินยากขึ้นและปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะหากเผาได้หลังเดือนเมษายนก็จะทำให้ชาวบ้านต้องรีบเผาพร้อม ๆ กันก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง หากการเตรียมไร่เป็นไปไม่ทันตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้ปีนั้นพวกเขาไม่สามารถทำกินได้เลย
แม้ระบบการจัดการ ‘ไร่หมุนเวียน’ จะเป็นระบบที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการยอมรับและกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ชุมชนพยายามรักษาตลอดคือ ป่า และไม่มีวันที่จะทำลายมัน ดังวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น
“ชาวเขาไม่ได้ทำลายป่า”
“ไร่หมุนเวียนไม่ควรเป็นแพะของการทำลายป่า”
แหล่งที่มา
ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ, การสื่อสารส่วนบุคคล, 24 มกราคม 2567
BEDO Thailand. (2565). “ไร่หมุนเวียน” Supermarket จากภูมิปัญญากะเหรี่ยง EP 1. สืบค้นจาก https://bedo.or.th/pr HYPERLINK “https://bedo.or.th/project/articledetail?id=2988″o HYPERLINK “https://bedo.or.th/project/articledetail?id=2988″ject/articledetail?id=2988
Facebook ; Environman. (2565). ECOTALK: คุยกับ ‘พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ’ ผู้นำชุมชนหมู่บ้านสบลาน ชาวปกาเกอะญอ ในวันที่ไร่หมุนเวียนกำลังจะหายและกลายเป็นจำเลยของสังคม. สืบค้นจาก https://www.facebook. HYPERLINK “https://www.facebook.com/100069969091464/posts/4889244107870664/”c HYPERLINK “https://www.facebook.com/100069969091464/posts/4889244107870664/”om/100069969091464/p HYPERLINK “https://www.facebook.com/100069969091464/posts/4889244107870664/”o HYPERLINK “https://www.facebook.com/100069969091464/posts/4889244107870664/”sts/4889244107870664/
คุณากร. (2564). ชีวิตนี้สอนให้รู้ว่า “ถ้ามีนา มีวัวควาย หรือมีป่า ก็มีกินมีใช้” – ตาเเยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ. สืบค้นจาก https://adaymagazin HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”e HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”. HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”c HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”om/pat HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”e HYPERLINK “https://adaymagazine.com/patee-tayae/”e-tayae/
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). (2021). ไร่หมุนเวียน สิทธิทางวัฒนธรรมเพื่อความเป็นธรรมทางนิเวศและสังคม. สืบค้นจาก https://www.ldi.or.th/2021 HYPERLINK “https://www.ldi.or.th/2021/02/swidden/”/ HYPERLINK “https://www.ldi.or.th/2021/02/swidden/”02/swidden/
องศาเหนือ. (2020). ไร่หมุนเวียน บทพิสูจน์ภูมิปัญญาการเผาชาวบ้าน. สืบค้นจาก https://thecitizen.plus/node/30 HYPERLINK “https://thecitizen.plus/node/30712″7 HYPERLINK “https://thecitizen.plus/node/30712″12