บ่ายวันหนึ่งในเดือนมีนาคม เราเดินเข้าไปในคาเฟ่ไซส์จิ๋วแนวสตรีทย่านเจ็ดยอดเพื่อพบกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ที่ ๆ เจ้าของบทสนทนาแนะนำว่าเปรียบเสมือน “Comfort Zone” เป็นพื้นที่ปลอดภัยใกล้บ้านที่เขามักมาใช้เวลาว่างอยู่บ่อยครั้ง และเราก็ไม่แปลกใจเลยที่ผู้คนในร้านแทบทุกคนรู้จักเขา เพราะเขาคนนี้เป็นคนที่มีเพื่อนไม่น้อยเลยในแวดวงผู้ประกอบการขนาดเล็กในเชียงใหม่
หากคุณเคยสัมผัสหรือมีโอกาสทำงานในแวดวงอีเว้นท์ศิลปะวัฒนธรรมขนาดย่อมในเชียงใหม่มาบ้าง ก็อาจคุ้นหน้าคุ้นตากับ “เค้ก” นราวิชญ์ เครือประเสริฐ ซัพพลายเออร์เครื่องเสียงให้งานดนตรี งานศิลปะวัฒนธรรมในเมืองแห่งเทศกาลอย่างเชียงใหม่
และเนื่องจากเค้กมักทำงานอยู่ในฐานะ “คนเบื้องหลัง” หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่าหนุ่มมาดเฟรนลี่วัย 29 ปีคนนี้ เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจข้ามอุตสาหกรรมถึง 3 ไลน์ด้วยกันในช่วงเวลาสิบกว่าที่ผ่านมา ในนาม Chubby [ชับบี้] จากธุรกิจเลนส์และกล้องฟิล์มมือสองอันดับต้น ๆ บาร์และผู้จัดงานคอนเสิร์ตอินดี้ Chubby Cafe จนไปถึงแบรนด์ซัพพลายเออร์เครื่องเสียงและผู้จัดอีเว้นท์อย่าง Chubby Chubwoofer
เราเลยถือโอกาสฉายแสงคนเบื้องหลังแบบเค้กให้ได้มีพื้นที่แสดงตัวตนกับเขาบ้าง ว่าเส้นทางของเค้กและจักรวาลชับบี้กับการพัฒนาธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการรายเล็กในเชียงใหม่ มันเป็นยังไง
เริ่มสนใจการทำธุรกิจตั้งแต่เมื่อไหร่
“ตั้งแต่สมัยมัธยมแล้วแหละ ผมอยู่ประมาณม. 1 สมัยก่อนในยุคที่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาใหม่ ๆ ถ้าบ้านไหนจะมีก็ต้องจ่ายเดือนละ 500-600 บาท ในสมัยนั้นถือว่าแพงนะ ทุก ๆ บ้านแถวนั้นจะต้องซื้อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ดู แต่เรามีอินเตอร์เน็ตก่อนคนอื่น มีช่องทางธรรมชาติ พ่อก็ถามว่าถ้าติดให้แล้วจะทำอะไรกับมันบ้าง เราก็เลยไรท์แผ่นซีดีขายเลย ไรท์หนังขาย” เค้กทบทวนถึงวัยเด็กในลำปางก่อนที่จะย้ายมาอยู่เชียงใหม่
“ผมก็เริ่มมีรายได้ มีเงินทบไปทบมา จากนั้นอีกยุคหนึ่งที่เริ่มมีมือถือ Blackberry ออกมา สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์กัน แต่เราก็เริ่มซื้อของออนไลน์เป็น ดูของเป็น เราก็ซื้อมาขายให้มือต่อมือ เด็กอะไรไม่รู้มีมือถือ Blackberry มาโรงเรียนสามเครื่อง” เค้กเล่าถึงช่วงเวลาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย กับบรรยากาศในโรงเรียนรัฐประจำจังหวัด ที่ซึ่งเขาอธิบายถึงการมีผู้คนหลากหลายชนชั้นอยู่ร่วมกัน
“เริ่มขายของเพราะอยากมีของ มีเงิน เหมือนคนอื่น ๆ คนอื่นเขาถือกล้องมาโรงเรียน เราก็อยากรู้ อยากเล่น อยากลอง ก็ซื้อ“
อะไรทำให้ทำสิ่งนี้ต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ
“ความสนุก เราเลิกเล่นเกมตั้งแต่ปี 1 เลยมั้ง เพราะเราเอาเวลาไปขายของ มันก็มีความสนุกเหมือนเกมอีกแบบหนึ่งนะ”
เมื่อสังเกตดูดี ๆ แววตาของเขาเป็นประกายทุกครั้งเวลาที่เล่าถึงความสนุกในแบบนี้ เราจึงเริ่มชวนคุยต่อ ว่าจากจุดนั้น #จักรวาลชับบี้ เริ่มต้นมาได้อย่างไร
ทำไมต้อง Chubby
“ผมอยู่กับกลุ่มเพื่อนต่างคณะในมช. รู้จักกันตั้งแต่ปี 1 เรากินหมูจุ่มกันเก่งมาก จนถึงประมาณปี 2 ปี 3 [ไซส์] ตัวเราเปลี่ยนกันทุกคน กลายเป็นชับบี้แฟมมิลี่ ก็เลยได้ชื่อชับบี้ [ที่แปลว่าตัวท้วม] ตั้งแต่นั้นมา” เค้กเล่าถึงที่มาของชื่อชับบี้ด้วยรอยยิ้ม
หลังจากวันนั้นชับบี้ก็ได้แปลงร่างเป็นรูปโลโก้แมวสองสีที่ผู้คนในแวดวงศิลปะวัฒนธรรม คาเฟ่ ร้านเหล้าต่าง ๆ ในเชียงใหม่ น่าจะเคยเห็นและได้ยินชื่อมาอย่างยาวนาน เหตุเพราะชื่อของแบรนด์นั้นเริ่มต้นกว่าสิบปีก่อน ตั้งแต่เค้กใช้ชีวิตเป็น “เด็กมีเดีย” (หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มช.) นั่นเอง
เริ่มต้นจากการขายเลนส์และพบที่ปรึกษาที่ดี
“พอเข้าปี 1 ผมก็ถือกล้องที่ซื้อมาเล่นจากม. ปลาย ตอนนั้นก็เริ่มซื้อขายกล้องดิจิตอล เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าจากที่ซื้อมาเล่น ๆ เรามีช่องทางทำเงินได้ มันคือธุรกิจซื้อขายของมือสอง”
“ในตอนนั้นกระแสอัลเทอร์เนทีฟเรื่องกล้องมันกำลังมา ช่วงผมปี 2 ปี 3 เป็นยุคฮิปสเตอร์ เราก็ทดลองเอาเลนส์กล้องฟิล์มมาใส่กล้องดิจิตอล ลองซื้อเลนส์จากในอินเตอร์เน็ตมา ซื้อมา 3 ตัวเลย เป็นเลนส์ระยะเดียวกันหมดด้วย ก็ไม่รู้เป็นบ้าอะไร แต่อยากทดลอง อยากรู้ว่ามันต่างกันยังไง”
“ผมก็เริ่มถ่ายเล่นลงโซเชียล คนอื่นเห็นก็ว้าว ก็ช่วยเราผลักดัน จากนั้นก็เลยแบ่งขาย ลูกค้าคนแรกถ้าจำไม่ผิดคือเพื่อนเราเองเลย”
“ผมได้อาจารย์ดีด้วย เพราะเหตุการณ์นั้นที่จะขายเลนส์ให้เพื่อน แล้วผมเห็นเลนส์มันฝืด ผมก็เลยโทรไปติดต่อพี่คนหนึ่ง เพราะเรารู้ว่าเขาคือคนที่ขายของประเภทนี้มาก่อนเรา เขาคิดค่าซ่อมให้เราถูกมาก จากนั้นก็สนิทกันมา เป็นที่ปรึกษา อยู่ด้วยกันมาตลอด เขาเป็นคนเรียนไม่จบนะ เป็นคนที่ลองทำธุรกิจมาหลายอย่าง แต่เป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ไม่ใช่เพราะบ้านรวย แต่เขารู้จักเก็บ เขาเป็นอาจารย์ที่ดีของผมเลย พี่เขาอยู่แม่ริมนี่เอง”
“แต่เราเป็นตรงกันข้ามกับพี่เขาเลย เรามีเท่าไหร่เราใส่หมด เอาเงินไปลงในธนาคารเงินมันไม่งอก แต่ใส่กับของในสมัยนั้น ยังไงมันก็งอก”
“จากที่เราเริ่มขายเลนส์ ก็เริ่มมาขายกล้องฟิล์ม ผมเรียนรู้จากพี่เขาเยอะมาก”
Chubby Cafe กล้องฟิล์ม เลนส์มือหมุน เชียงใหม่
นับแต่นั้นเมื่อกระแสกล้องฟิล์มเริ่มกลับมาคึกคัก เค้กกลายเป็น “The Picker” ผู้ค้ากล้องฟิล์มมือสองเต็มตัว เข้าออกโกดังมือสองญี่ปุ่นเป็นประจำ และแล้ว Chubby Cafe ก็เดินทางมาสู่ยุคที่มีหน้าร้าน ส่งของให้ลูกค้าทั่วประเทศ จนกลายเป็นร้านขายกล้องฟิล์มอันดับต้น ๆ ของเชียงใหม่
จากร้านกล้องฟิล์มสู่ธุรกิจบันเทิง
และแล้วความสำเร็จของร้านกล้องฟิล์ม Chubby Cafe ก็ได้เปิดทางให้เค้กได้ริเริ่มสิ่งใหม่อีกครั้ง
“ไปเที่ยวร้านอื่นก็เสียตังค์ให้ร้านอื่น อยากดู [ฟังวง] อะไรก็เอามาลงเลย”
ด้วยความที่มีเพื่อนฝูงมากมาย บวกกับแรงบันดาลใจที่ได้เคยไปสัมผัสร้านดนตรีในตำนานอย่าง Play Yard ที่กรุงเทพฯ เขาจึงตัดสินใจเปิดบาร์ในละแวกคันคลองในชื่อเดิมว่า Chubby Cafe
“อยู่ดี ๆ ไอ้เพจร้านกล้องก็กลายเป็นเพจร้านเหล้าไปด้วยเลย ผมก็เห็นคนติดตามเยอะก็เลยคิดว่าน่าจะทำให้ดึงลูกค้าได้ง่าย ซึ่งผลออกมาก็ถือว่าดีเลย”
“ถึงในรายวันเราขาดทุน แต่ทุกครั้งที่จัดคอนเสิร์ตเราเป็นสปอตไลท์ทุกครั้ง เพราะในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนได้พาวงอินดี้มาเล่นในเชียงใหม่เท่าไหร่”
“จริง ๆ การจัดคอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะเท่าทุน บางครั้งก็ขาดทุน”
“เราเอาเงินฝั่งกล้องมาถม เพราะใจรัก”
จากวันนั้น ไม่น่าเชื่อว่าจากการนำรายได้ส่วนเกินของธุรกิจกล้องฟิล์มมาค้ำจุนธุรกิจบาร์และการจัดงานคอนเสิร์ตอินดี้ ทุกวันนี้เค้กกลับบอกว่าเหตุการณ์มันกลับกัน เพราะธุรกิจฝั่งเครื่องเสียงกำลังไปได้สวยขึ้นเรื่อย ๆ
Chubwoofer ธุรกิจเครื่องเสียงให้เช่าเติบโตได้ด้วยความใจถึงและเพื่อนฝูง
“เราทำคอนเสิร์ต ปกติแล้วแทนที่จะเช่าเครื่องเสียงมา เราไม่เช่า เราซื้อเองตั้งแต่งานแรกเลย” เค้กย้อนนึกถึงความกล้าตัดสินใจลงทุนในเวลานั้น
ภายหลัง Chubby Cafe เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการดนตรีในฐานะผู้จัด เค้กจึงเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้งในชื่อ Chubwoofer ที่มาจากคำว่า Chubby ผสมกับ Subwoofer คำที่ในภาษาเครื่องเสียงใช้เรียกลำโพงเฉพาะประเภทหนึ่งนั่นเอง
Chubby Chubwoofer เกิดขึ้นได้จากกำไรของธุรกิจกล้องฟิล์มและการร่วมมือร่วมใจของเพื่อน ๆ ที่มีความรู้เรื่องการควบคุมเครื่องเสียงและแวดวงศิลปินนักดนตรีอินดี้เชียงใหม่อย่างวง Vuniyerse
“ผมโชคดีมากที่มีพวกพ้องที่พร้อมซัพพอร์ตเรา โตมาได้ทุกวันนี้เพราะคอนเนคชั่นนักดนตรีซะส่วนใหญ่”
นอกจากนี้ คอนเนคชั่นที่ได้จากเพื่อนผู้ประกอบการในเชียงใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Chubwoofer มีโอกาสเติบโตและพัฒนาคุณภาพของบริการอย่างต่อเนื่อง
“มีอยู่ช่วงหนึ่งเราเอากล้องฟิล์มไปวางโชว์ที่ร้านด้วย เจ้าของ Woods Bar ก็ชอบแวะมาที่ร้าน มาดูกล้อง กินเหล้า อะไรแบบนี้ ผมก็บอกเขาว่าเคยไปดูคอนเสิร์ตที่ร้านเขานะ แต่ซาวด์มันไม่ได้ ก็เลยถามเขาว่าใช้เครื่องผมมั้ย ผมขอลองไปจัดดู อันนี้คือจุดเริ่มต้น ผมก็เสนอราคาผูกขาดพิเศษให้พี่เขา ก็อยู่กับเขาทุกงานจนร้านเขาปิดไป ทุกงานมีความผิดพลาดบ้างในตอนเริ่มต้น แต่มันกลายเป็นที่ฝึกงานของเรา เราแฮปปี้ที่อยู่กับเขาเพราะเขาให้โอกาสเรา ยังไว้ใจเรา เราได้ทดลอง ฝึกฝนจนมีมาตรฐานวันนี้ได้ เขายื่นมือมาให้เรา เราก็เต็มที่ให้เขา”
“Woods Bar ไม่ได้ทำกำไรให้เรา แต่ทำให้เรามีงาน ได้ลองมือ ได้ช่วยเขาคิดและแนะนำศิลปินด้วย ผมต้องให้เครดิตเขาเต็ม ๆ เลย ถ้าไม่มี Woods Bar ก็ไม่มี Chubwoofer ในวันนี้”
จากการทดลอง คิดว่ามาตรฐานที่เราสร้างไว้คืออะไร
“อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เราละเอียดกับมาตรฐานระบบไฟความปลอดภัย ติดตั้งสายดิน ใส่ใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“ความใส่ใจเราให้เท่ากันทุกคน ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกปฏิบัติ เราให้ราคาเท่ากัน ราคาที่เป็นธรรม สมเหตุสมผลทุกเจ้า ไม่มีว่าใครเป็นหลานนายกเราจะใส่แพง ค่าขนส่งมีมาตรฐานนี้ก็คือเท่านี้ ถ้าเดือนไหนขยับราคาก็ขยับในมาตรฐานเดียวกันสำหรับลูกค้าทุกคน ไม่มีรักใครมากกว่า เว้นแต่ว่าลูกค้าเจ้าเล็กหรือลูกค้าประจำ ก็มีส่วนลด แถมก็ส่วนแถม แต่ทุกไอเท็มทุกแรงงานจะมีเรทมาตรฐานอยู่ จะจ่ายน้อยจ่ายแพงขึ้นก็ไม่เกี่ยว เราเต็มที่กับทุกคน”
มีวิธีการเลือกรับงานยังไง
“จ่ายถึงก็ไป”
“งานที่เราไม่คุ้มเราก็ไม่ไปเหมือนกัน การทำงานทุกอย่างมันมีต้นทุนหมด ไม่ว่าจะร่างกาย อุปกรณ์ หลาย ๆ อย่าง”
“คนหนึ่งคนที่เขามาทำงานกับเรา งานเครื่องเสียง มันไม่ใช่แค่สามชั่วโมงกลับ ไม่มีหรอก สมมุติพี่ทำงานกับผม เราเซ็ทอัพของขึ้นรถ 11 โมง หมายความว่าพี่จะต้องตื่นตั้งแต่เก้าโมงครึ่ง สิบโมง ผมตีว่าเวลาของพี่เริ่มตั้งแต่ออกจากบ้านแล้ว งานคอนเสิร์ตส่วนใหญ่กว่าจะจบก็เที่ยงคืน ส่วนใหญ่งานในเชียงใหม่เป็นแบบนี้ หลังจากนั้นต้องเก็บของต่ออีก อย่างน้อยก็ 1 ชั่วโมง ต้องเดินทางเอาของมาเก็บที่บ้าน [คลังอุปกรณ์] อีก คิดดูว่าระยะเวลาตั้งแต่ 10.30 น. – 02:00 น. พี่ทิ้งเวลาให้นายจ้างกี่ชั่วโมง”
พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ เรารับรู้ได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดของเค้ก กระบวนการในการทำงานที่เขาพยายามอธิบายผ่านการคิดบวกลบคูณหารมาพอสมควรทีเดียว
มันคือวิธีคิด มาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าของชีวิตคน
“กับค่าแรงทุกวันนี้ ผมก็ยังรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ขนาดนั้น แต่ผมก็พยายามเต็มที่ให้มันแฟร์กับทุกคน หลาย ๆ เจ้าก็ยังจ่ายไม่เท่าผม ผมไม่นับว่ามันคือการช่วย ถ้าเรียกมาทำงาน ต้องได้เงิน ต้องแฟร์”
“ทุกวันนี้ก็ยังทำได้ไม่รอบด้าน จริง ๆ เราควรจะมีสวัสดิการมากกว่านี้นะ อย่างเวลาผมไปทำงานเชียงดาว 5 วัน สิ่งแรกที่ผมเตรียมก็คือกล่องปฐมพยาบาล ชา กาแฟ น้ำ ทุกอย่าง ผมเตรียมให้หมด”
“งาน Sound engineer [วิศวกรเสียง] เป็นงานที่ใช้ knowhow เราเคยลองควบรวมงานนี้กับตำแหน่งการติดตั้งเครื่องเสียง [Sound installation] ด้วย แต่หลังจากเราลองลงไปทำงานเองก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เลยจับสองส่วนนี้แยกจากกัน ซึ่งทำให้ภาพรวมมันก็มีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น”
“มันก็ไม่ใช่ว่านายจ้างคือพระเจ้าทุกครั้ง บางทีเราพยายามสร้างสรรค์มาตรฐานอย่างดีที่สุดของเรามาแล้ว เราก็ต้องชน” เค้กเสริมถึงวิธีการในการสื่อสารกับผู้ว่าจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องปรับราคาขึ้น
“ถ้าเราต้องมาทำนาบนหลังคนอื่น เราจะสบายใจเหรอ ถ้านับเป็นงานจ้างแล้ว ทุกคนก็ต้องได้ค่าแรงที่เป็นธรรม ถ้าผมจะลด ผมลดค่าอุปกรณ์ ไม่ใช่ค่าบุคลากรคน”
คิดยังไงกับการที่คนอาจจะยังมองวิธีคิดแบบธุรกิจ [ทุนนิยม] ในแง่ลบ
หลังจากคำถามนี้เค้กตอบได้อย่างชัดเจนอย่างไม่ลังเลว่า
“ผมคิดว่าคนไทยเราขาด Know how และขาดการมองเห็นคุณค่าของ Know how มันขาดการมองเห็นตรงนี้ ถ้าเห็นตรงนี้เราจะรู้เลยว่าทุกอย่างมันมีมูลค่าหมดนะ”
“ถ้าไม่อยากจ้างก็ต้องทำเองให้เป็น ถ้าผมไม่อยากจ้างนักดนตรี ผมก็ต้องเล่นดนตรีเองให้เป็น บางอย่างมันเกิดขึ้นเพราะพรสวรรค์ มันเกิดจาก Know how ทั้งนั้น เพราะงั้นสิ่งที่ทุกคนมีมันจึงมีมูลค่า ซึ่งมันก็ต้องใช้เงิน”
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเงิน ๆ และต้นทุนชีวิต เค้กเองคิดว่าตัวเองค่อนข้างมีพื้นฐานที่ดีในระดับปานกลาง แม้ครอบครัวจะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ก็สะสมเงินเก่งและเป็น “เบาะนุ่ม ๆ” ที่ทำให้เขาเองมีโอกาสเลือกที่จะลงทุนทำอะไรได้อย่างมั่นใจมากกว่าคนทั่วไป หรือกระทั่งมีโอกาสที่จะเลือกกลับบ้านที่ลำปาง
ทำไมถึงยัง [ทำธุรกิจ] อยู่เชียงใหม่ ทั้ง ๆ ที่เลือกกลับบ้านได้
“เพราะเชียงใหม่มันโอกาสให้เราไม่น้อยนะ อืม ไม่ได้มีโอกาสรอบตัวเท่ากรุงเทพ แต่มีโอกาสให้เราไม่น้อย”
“ลำปางเป็นเมืองเงินเฟ้อ มันจะคล้าย ๆ เชียงราย คนมีเงินก็จ่ายทีจ่ายเป็นก้อน แต่มันจะบ่อยแค่ไหนที่เขาจะจ่ายอีก ปริมาณประชากรมันอาจจะยังไม่พอสำหรับธุรกิจบางประเภท ผมก็นึกไม่ออกว่าจะกลับไปทำอะไรดี” เค้กเอ่ยถึงภาพรวมเศรษฐกิจในละแวกบ้านเกิด
ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพในมุมมองของเค้กควรเป็นยังไง
“โอกาสมันมีรอบตัว ยุคอินเตอร์เน็ตอะ แต่โอกาสนอกอินเตอร์เน็ตหนะ ต่างจังหวัดมันยังขาด ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เชียงใหม่นะ”
“สุดท้ายรู้แค่ว่าเรียนจบมา เราแค่อยากเป็นตัวเรา อยากเป็นนายตัวเอง”
“การที่เราเลือกทำธุรกิจส่วนตัวเพราะเราอยากได้ชีวิตที่เก้ากระโดด เรามีชีวิตแบบขั้นบันได งานทุกรูปแบบไม่ว่าจะทำงานประจำหรือธุรกิจส่วนตัว มีแต่ขั้นบันไดทั้งนั้น ไม่มีหรอกคนที่มีชีวิตแบบเดินบนถนนเฉย ๆ ทุกคนมีการเติบโต มีพัฒนาการทั้งนั้น แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจไงที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เราเติบโตได้ไม่เต็มที่”
“ถ้าต้นทางกด [ราคา] มา ปลายทางก็จะถูกกด” เขาพูดถึงสถานะการณ์ของการเป็นผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจที่เอ่ยถึง
ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพ ควรมีระบบเศรษฐกิจที่แฟร์และเท่าเทียม
“ถ้าวันนึงมันถึงจุดที่ว่าเราแฟร์กับทุกคนแล้วแต่ว่ามันไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องหยุด หรือว่าจะมาปรับในส่วนของค่าเช่าอุปกรณ์ไหม แต่สำคัญที่สุดคือค่าแรงคนจะต้องไม่ลด เราจะต้องแฟร์ก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไปต่อไม่ได้ก็ต้องเลิก ก็บอกไปแล้วว่า เราจะไม่ยอมทำนาบนหลังคน” เค้กย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของมูลค่าชีวิตในมุมมองของธุรกิจเช่าเครื่องเสียง
“เราต้องหลีกเลี่ยง ต้องแฟร์ที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกวันนี้ทุกคน ทุกอาชีพ มันก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนกันหมด”
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ยังทำงานต่อในระบบเศรษฐกิจแบบนี้
“ตอบคำเดียวเลย สนุก”
“สมัยก่อนที่เราจัดคอนเสิร์ตบ่อย ๆ ที่ร้าน พี่ข้างบ้านเคยบอกว่าเขาหนีออกไปกินเหล้าที่อื่นเลย เพราะเสียงดัง และเขาไม่รู้จักเพลง แต่ความพีคคือหลังจากที่ปิดร้านเหล้าไปปีสองปี แล้วบังเอิญไปเจอพี่คนนี้ เขาไม่ได้เข้ามาทักว่าสบายดีไหมด้วยซ้ำ เขาบอกว่า ”โฮ้เนี่ย ฮู้ก่อ ตอนนั้นตี้เฮาจัดคอนสงคอนเสิร์ตหนาอ้ายฮ้องบ่าได้สักเพลง แต่ว่าตอนนี้ไอวงที่เอามาฮู้จักแล้วทุกวง”“
“ผมแทบจะยืนร้องไห้ มันฮีลผมมาก มันทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันไม่ได้ไร้ค่า”
“ทุกวันนี้ก็ยังเสียดายร้านนั้นอยู่ สมัยนั้นมันยังไม่ค่อยมีคำว่า livehouse เนอะ ถ้าเป็นไปได้ผมก็ยังอยากขยายสิ่งนั้นต่อไป”
อยากเห็นอะไรในเชียงใหม่
“อยากเห็นทุกคนอยู่ดีกินดี ได้ค่าแรงที่สมเหตุสมผล ได้ค่าแรงคุ้มค่ากับการที่เอาชีวิตมาแลกกับงาน”
ฟังแบบนี้แล้วเราก็ใจชื้นขึ้นมา ถ้าผู้ประกอบการรายเล็กให้ความสำคัญกับมูลค่าของชีวิต ความหวังที่เราจะมีระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมมากขึ้นคงอยู่ไม่ไกลนัก
แม้เค้กอาจไม่ได้ตอบข้อสงสัยว่าเราจะสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมมากขึ้นได้อย่างไร ในมุมหนึ่งของคำตอบนั้น การศึกษาอาจเป็นกุญแจสำคัญ
“ถ้าย้อนเวลากลับไปเรียนได้ ผมอยากกลับไปเรียนป.ตรีมากกว่า อยากกลับไปเรียนป.ตรี สังคมฯ สมัยอยู่ Media Arts เขาประโคมเรื่องสังคมฯ มาก ๆ”
ทำไม
“อยากเข้าใจคน”
แล้วทุกวันนี้ไม่เข้าใจเหรอ
“คิดว่าอยากเข้าใจมากกว่านี้ สมัยก่อนก็ไม่เคยเข้าใจ แต่ผมว่าความเข้าใจเรื่องมนุษย์กันเองนี่แหละมันควรจะอยู่ทุกที่”
“ผมว่าความเข้าใจเรื่องมนุษย์กันเองนี่แหละมันควรจะอยู่ทุกที่”
การทำธุรกิจที่ละเอียดละออกับการคำนึงถึงมูลค่าชีวิตมนุษย์ดูจะเป็นสิ่งที่เค้กทำอยู่ในจักรวาลชับบี้ เราเองก็หวังว่าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรายเล็กในแวดวง “คนเบื้องหลัง” รายนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์บรรยากาศเศรษฐกิจที่แฟร์ เป็นมิตร และเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพต่อไป
'นนทบุเรี่ยน' ที่มาเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นนักรณรงค์เมืองดนตรีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อได้ลองทำจึงปิติเป็นอย่างมาก เล่นดนตรีบ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่จิตใจ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองแนวราบและการกระจายอำนาจเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย