อยู่ระหว่างเหนือล่าง ‘เซ็นทรัลนครสวรรค์’ เมื่อ “ห้างใหญ่มีชื่อ” กลายเป็นมาตรวัดการพัฒนา

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครสวรรค์ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและตื่นตัวแกบรรดาผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงผู้คนในจังหวัดรอบข้างอย่างมาก ประกอบกับการโปรโมทห้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ที่เราจะพบเห็นได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ Tiktok ที่บรรดาผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต่างพาผู้ติดตามของพวกเขาไปสำรวจบรรยากาศของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว พร้อมกันนี้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครสวรรค์ยังเจาะจงเปิดทำการก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลที่สร้างชื่อให้กับจังหวัดนครสวรรค์ และยังออกแบบอาคารให้มีกลิ่นอายของความเป็นจีนเข้าไป ยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนที่พบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์

(ภาพจากประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/property/news-1478596)

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาเป็นเวลานานแล้วว่า จะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดนอกกรุงเทพฯ ที่มีเซ็นทรัลเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่านั้นกลับล่องลอยเป็นเพียงเสียงลืออยู่นานเกือบ 10 ปี กระทั่งปี 2566 นี้เองที่เสียงลือที่ว่านั้นได้ประกอบร่างกลายเป็นโครงเหล็กและปูน กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จังหวัดนครสวรรค์ก็ได้มีเซ็นทรัลเป็นของตนเองจนได้

เมื่อปี 2566 ผมมีโอกาสสนทนากับอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งในประเด็นที่จังหวัดนครสวรรค์ได้มีโครงการก่อสร้างเซ็นทรัล อาจารย์ท่านนี้ให้ความคิดเห็นว่าเขาเห็นด้วยกับการสร้างเซ็นทรัลที่นครสวรรค์ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ควรมีเซ็นทรัลนานแล้ว ทั้งจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่อำนวย พร้อมกับยังเล่าให้ผมฟังต่อว่า “ตอนที่เซ็นทรัลพิษณุโลกเปิดช่วงแรก ๆ มีการจ้างคนไปนับทะเบียนรถ ที่มาจอดซื้อของที่เซ็นทรัลพิษณุโลกว่ามาเป็นทะเบียนรถจากจังหวัดใดบ้าง ปรากฏว่ามีรถทะเบียนนครสวรรค์มากที่สุด มากกว่าทะเบียนรถพิษณุโลกอีก ตอนนั้นเซ็นทรัลคงรู้แล้วแหละว่ามาสร้างผิดจังหวัด (หัวเราะ)”

อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้มิได้ประสงค์จะกล่างถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของการตั้งเซ็นทรัลที่จังหวัดนครสวรรค์ หากประสงค์เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความตื่นตาตื่นใจของผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดรอบข้าง ต่อการสร้างและเปิดใช้งานห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัล เพราะหากพินิจดูให้ดีแล้ว ผู้คนในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลคงไม่ตื่นเต้นหากมีเซ็นทรัลเปิดเพิ่มอีกสัก 1 สาขา หรือกระทั่งผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ก็คงไม่ตื่นเต้นแต่อย่างใดถ้าจะมีเซ็นทรัลงอกขึ้นมาเพิ่ม แต่ความตื่นตาตื่นใจดังกล่าวกลับปรากฎขึ้นเมื่อนครสวรรค์มีเซ็นทรัล

ความตื่นตาตื่นใจของผู้คนในนครสวรรค์และจังหวัดโดยรอบจากการสร้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ เราจะเห็นความตื่นตาตื่นใจของผู้คนเหล่านี้ตั้งแต่การประกาศโครงการสร้างเซ็นทรัลนครสวรรค์อย่างเป็นทางการ ภาพและคลิปวิดีโอที่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงจำนวนคนที่เรียกได้ว่า “ล้น” ห้างในวันที่เซ็นทรัลนครสวรรค์เปิดทำการวันแรก

(ภาพจาก Tiktok ช่องโอเด็กรีวิว)

เมื่อเราย้อนกลับไปที่ประเด็นข่าวลือเรื่องที่ว่าเซ็นทรัลจะมาสร้างที่นครสวรรค์ ผมในฐานะคนจังหวัดรอบข้างจังหวัดนครสวรรค์ ผมได้ยินข่าวลือในประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน และรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินข่าวลือนี้ลอยมาให้ได้ยิน อาจเนื่องด้วยเหตุที่ว่าหากเซ็นทรัลนครสวรรค์เปิดทำการขึ้นมา ผมในฐานะคนจังหวัดใกล้เคียงคงได้ไปใช้บริการอย่างแน่นอน และแน่นอนคงแอบดีใจเล็ก ๆ แล้วพูดในใจว่า “แถวบ้านกูมีเซ็นทรัลกับเขาแล้ว เว้ย!” (แม้ในใจจะรู้ว่า ไม่ใช่เซ็นทรัลบ้านตัวเองจริง ๆ )

ความตื่นตาตาใจและความตื่นเต้นจากที่บ้านเราหรือใกล้ ๆ บ้านเรามีห้าง สำหรับผมเป็นประเด็นที่น่านำมามาคิดกันได้เลยนะครับ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปว่า คนกรุงเทพฯ หรือคนเชียงใหม่คงจะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากมายหากมีเซ็นทรัลเปิดขึ้นใหม่อีกสักหนึ่งสาขาในจังหวัดของพวกเขา แต่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างอย่างนครสวรรค์และจังหวัดรอบข้าง เซ็นทรัลกลับเสมือนจุดหมายหรือสัญญาลักษณ์ยืนยันความเจริญไปเสีย

ห้างกับการพัฒนา

ผมขอกล่าวเกรินเสียก่อนว่า ผมเคยเขียนบทความในชื่อ อุทัยธานีที่ไม่มีห้าง: สำรวจเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำผ่านการไม่มีห้าง โดยในบทความดังกล่าวผมประสงค์ที่จะสำรวจว่าเหตุใดจังหวัดอุทัยธานีถึงไม่มีห้าง และการไม่มีห้างสะท้อนถึงความเลื่อมล้ำของการพัฒนาหรือไม่ แต่สำหรับบทความชิ้นนี้ผมมุ่งจะพาทุกคนไปสำรวจความสัมพันธ์ของห้างกับการพัฒนาเมือง เพื่อหวังว่าจะฉายให้ทุกคนได้เห็นว่า เหตุใดห้างจึงเป็นสะท้อนของเมืองที่เจริญ

การพัฒนากลายเป็นเมืองกับห้างสรรพสินค้าดูเหมือนว่าจะกลายเป็นสิ่งที่เคียงคู่กัน เราจะเห็นยุคหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยโดยเริ่มต้นตั้งแต่ราวทศวรรษ 2490 ที่พื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นเมือง พื้นที่อำเภอหนึ่งของจังหวัดเริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้น เหตุจากการมีฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้นและการมีโอกาศในการทำงานสูงกว่าพื้นที่อื่น ผู้คนที่อาศัยในอำเภอที่กลายเป็นเมืองมิได้มีเพียงเจ้าของที่ดินเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร ในพื้นที่เมืองมีทั้งข้าราชการ พ่อค้า/นายทุน แรงงานภาคบริการ และอื่น ๆ อำเภอที่กลายเป็นเมืองเริ่มมีบริการไฟฟ้า/น้ำประปา ห้างสรรพสินค้าก็ได้เริ่มปรากฏขึ้นในพื้นที่เมือง โดยล้อไปกับห้างสรรพสินค้าที่มีในกรุงเทพฯ แรกเริ่มห้างสรรพสินค้าอาจปรากฏอยู่ในรูปห้องแถวหลายคูหา จากนั้นจึงค่อยพัฒนากลายเป็นห้างสรรพสินค้าในรูปแบบตึกที่เราเริ่มคุ้นตากัน ซึ่งการกลายเป็นเมืองจนปรากฏห้างในเมืองนี้เองที่สร้างความเข้าใจให้กับเราหลายคนว่าคือ “ภาพของการพัฒนา”

(ภาพจากไทยรัฐ ออนไลน์; https://www.thairath.co.th/news/local/north/2720417)

เมื่อการพัฒนาดำเนินมาสู่ “จุดพีค” ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ห้างสรรพสินค้าได้กำเนิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมไปถึงจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เรายังสามารถพบเห็นห้างที่เกิดขึ้นในยุคจุดพีคของการพัฒนาได้ในหลายจังหวัด อาทิ แฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2530 จังหวัดพิษณุโลกก็มีห้างสรรพสินค้าท็อปแลนด์พลาซ่า ซึ่งจดทะเบียนเป็นห้างสรรพสินค้าเมื่อปี 2532 หรือสร้างวงศ์ ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดอุทัยธานีที่จดทะเบียนในปี 2532 เป็นต้น ในปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นห้างเหล่านี้ได้อยู่ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (แม้จะมีบางแห่งที่ปิดให้บริการไปแล้ว)

เราจะเห็นว่าห้างในประเทศไทยกำเนิดและเติบโตมาพร้อมกับการกลายเป็นเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ผูกติดให้ห้างและการพัฒนากลายเป็นเนื้อเดียวกันในความเข้าใจของเราหลายคน ซึ่งอาจส่งผลให้ห้างเปรียบเสมือนหมุดหมายของการพัฒนา มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ของการพัฒนา

ห้างใหญ่ มีชื่อ ที่สุดของการพัฒนา

ก้าวเข้ามาสู่ช่วงปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ห้างสรรพสินค้าประจำจังหวัดต่าง ๆ เริ่มใช้บริการยากระตุ้นทางการเงินอย่างการกู้เงิน เพื่อหวังว่าจะนำมาใช้เป็นทุนขยายและต่อยอดกิจการของตน และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับห้างใหญ่มีชื่อได้ แต่ในเวลาต่อมากลับเกิดเหตุไม่คาดฝันทางเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 นั่นคือ วิกฤตต้มยํากุ้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การเติบโตของห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นต้องชะงักตัวลงเนื่องจากต้องแบกรับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

ในช่วงเวลาเดียวกับการชะงักตัวในการเติบโตของห้างสรรพสินค้าประจำท้องถิ่นหรืออาจเรียกว่า “ห้างภูธร” ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ตนเองเริ่มจะสู้ได้ยาก นั่นคือการที่เจ้าแห่งห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ อย่างเซ็นทรัลเริ่มกระโดดลงมาเล่นในสนามการแข่งขัน แย่งกลุ่มลูกค้าในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นห้างใหญ่มีชื่อจากกรุงเทพฯ ซึ่งในมิติของผู้บริโภคที่โดยทุนเดิมแล้วก็ถูกประกอบสร้างภาพของเมืองที่มีความเจริญขั้นสุดว่าคือกรุงเทพ “มหานคร” ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของห้างภูธรมิอาจสู้กับภาพลักษณ์ของ “ห้างมหานคร” อย่างเซ็นทรัล ประกอบกับทุนด้านการเงินที่มีน้อยกว่าห้างใหญ่มีชื่อ การแข่งขันจึงเปรียบได้กับการแข่งขันระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอนต้องแข่งกับนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ที่เห็นชัด ๆ ว่าใครมีสิทธิ์แพ้ชนะมากกว่ากัน

(ภาพจากผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/travel/detail/9670000010213)

เมื่อประกอบทั้งสองเงื่อนไขข้างต้นเข้าด้วยกัน เราอาจอนุมานได้ว่าตั้งแต่หลัง 2540 เป็นต้นมา ห้างใหญ่มีชื่ออย่างเซ็นทรัลกลายเป็นที่สุด/หนึ่งเดียวในการพัฒนาเมืองให้เป็นมหานครเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของการเป็นห้างมหานครอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญในมุมมองของผู้บริโภคที่ผลักดันในเซ็นทรัลกลายเป็นที่สุดของการพัฒนาเมือง เราจะเห็นว่าในหลายเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองที่เราเชื่อว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยก็มีห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัลไปเปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลมารีนาในเมืองพัทยา หรือเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ในเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ราวกับว่าการเปิดให้บริการของเซ็นทรัลในพื้นที่นั้น ๆ ก็เหมือนกับเป็น “ตราปั๊มการกลายมาเป็นมหานคร” ไปเสีย หรือกล่าวคือ เซ็นทรัลกลายเป็นเครื่องหมายยืนยันการเป็นเมืองที่เจริญนั่นเอง

(ภาพจากเพจ; รีวิว พิด’โลก)

ภาพด้านบนคือ โพสต์เฟสบุ๊คจากเพจรีวิว พิด’โลก เพจแนะนำสถานที่ในจังหวัดพิษณุโลกได้โพสต์ข้อความกล่าวถึง การที่จังหวัดพิษณุโลกมีเซ็นทรัลก่อนจังหวัดนครสวรรค์ถึง 12 ปี ข้อความดังกล่าวและความคิดเห็นใต้โพสต์น่าสนใจ ในแง่ที่เราจะเห็นความพยายามในการแสดงตนถึงความมาก่อนและความเจริญกว่าของผู้คนในสองจังหวัดของกลุ่มภาคเหนือล่างอย่างนครสวรรค์และพิษณุโลก ดังที่ผมได้กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้านี้ ว่าเซ็นทรัลกลายเป็นเครื่องหมายยืนยันความเจริญให้แก่จังหวัดที่เซ็นทรัลไปเปิดให้บริการ โพสต์ข้างต้นจึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของการอนุมานที่ว่ามาก่อนหน้า

(ภาพจากการแสดงความคิดเห็นในเพจ; รีวิว พิด’โลก)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโครงการสร้างเซ็นทรัลตั้งแต่หลังทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา เราจะสังเกตเห็นว่าเซ็นทรัลเริ่มกระจายการเปิดให้บริการในหลายจังหวัดมากขึ้น ไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯ หรือจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ แต่เริ่มเปิดให้บริการในจังหวัดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่กึ่งกลางภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี ลำปาง พิษณุโลก หรือนครสวรรค์ ผมอนุมานว่าการเปิดให้บริการในจังหวัดเหล่านี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่พอ ผู้คนมีความสามารถในการบริโภค และที่สำคัญคือสามารถดึงความสนใจจากผู้คนจากจังหวัดโดยรอบได้ เซ็นทรัลพิษณุโลกสามารถดึงดูดผู้คนจากจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิต กระทั่งนครสวรรค์ได้ ในส่วนเซ็นทรัลนครสวรรค์ก็สามารถดึงดูดผู้คนจากจังหวัดพิจิตร อุทัยธานี หรือชัยนาทได้ กล่าวสรุปคือการเปิดให้บริการเซ็นทรัลในจังหวัดหนึ่ง มุ่งหวังที่จะครอบคลุมลูกค้าจากจังหวัดอื่น ๆ ด้วย มิได้หวังพึ่งพากลุ่มลูกค้าในจังหวัดนั้น ๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งเสมือนว่าเป็นการสร้างโดยพิจารณาจากการมองลูกค้าในฐานกลุ่มจังหวัด มากกว่าจะเป็นมองฐานลูกค้าภายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพียงจังหวัดเดียว การพิจารณาโดยมองผู้คนในมิตินี้เซ็นทรัลจึงมิใช่มาตราวัดการพัฒนา หากเป็นเพียงการสร้างห้างให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น

พื้นที่สาธารณะและย่านที่หายไปในการพัฒนาเมือง

จากที่ผมได้กล่าวถึงการพัฒนาเมืองโดยมีห้างใหญ่มีชื่อเป็นมาตรวัดการพัฒนาไป ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่หายไปคือการสร้างพื้นที่สาธารณะ (public space) ในเมือง เนื่องจากการพัฒนาเมืองกลายเป็นเรื่องของการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่สอดคล้องวิถีชีวิตแบบคนเมืองอย่างห้างสรรพสินค้า

แม้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าห้างสรรพสินค้าไม่สอดคล้องหรือไม่มีประโยชน์อันใดกับผู้คนในเมือง หากแต่ว่าห้างสรรพสินค้าไม่ใช่สถานที่เดียวที่จะสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง และไม่ใช่สถานที่เดียวที่จะส่งเสริมชีวิตอันมีความสุขของผู้คนในเมือง ในทางตรงกันข้ามชีวิตที่มีแต่การเที่ยวห้างอาจจะขัดขว้างความสุขบางประการของผู้คนในเมืองด้วยซ้ำ เราลองจินตนาการเมืองที่เราทุกคนต้องไปหาความสุขแค่ที่ห้างเพียงที่เดียว ไม่มีสถานที่สาธารณะให้เราได้ไป (อาจไม่ต้องจินตนาการ เพราะความเป็นจริงก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่ได้กล่าวไป) เราจะหาความสุขได้เช่นไรหากเงินไม่มากพอ

ห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันเริ่มออกแบบให้มีพื้นที่อื่นนอกจากการจับจ่ายซื้อของ ยังมีการออกแบบให้มีพื้นที่ตั้งตลาดขนาดเล็กภายใน ลานกิจกรรม หรือกระทั่งสวนสาธารณะ อย่างไรก็ตามพื้นที่เหล่านี้ที่เหมือนจะเอื้อให้เกิดชีวิตทางสาธารณะของผู้คนในเมือง กรรมสิทธิ์ของพื้นที่ก็ยังเป็นของห้างอยู่มิใช่พื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด ซ้ำร้ายการกำกับดูแลก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองได้มีส่วนร่วมมากนัก

การสร้าง/พัฒนาพื้นที่สาธารณะได้หายไปจากแนวคิดในการพัฒนาของรัฐไปอยู่นาน จากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตเพียงทางเดียว ประกอบกับอำนาจในการพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นรัฐรวมศูนย์ ไม่เปิดโอกาสให้อำนาจการพัฒนามาอยู่ที่หน่วยงานท้องถิ่น พื้นที่สาธารณะในเมืองจึงยากที่จะเกิดขึ้นในเมือง ชีวิตของคนเมืองจึงกลายเป็นการผูกติดอยู่กับห้างสรรพสินค้าไปโดยปริยาย และพื้นที่สาธารณะก็ดูจะหาได้ยากยิ่ง

นอกจากนี้การพัฒนาห้างสรรพสินค้าประเภทครอบคลุมชีวิตในทุกรูปแบบของผู้คนในเมือง ก็ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ดินส่วนอื่น ๆ ของเมืองด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการหายไปของพื้นที่ที่เราขนานนามว่า “ย่าน” ต่าง ๆ เริ่มหายไปจากวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง จากเดิมที่เราจะสามารถเห็นการกระจายตัวของวิถีชีวิตและการกระจายตัวของเศรษฐกิจในเมือง กลับกลายเป็นว่าวิถีชีวิตและเศรษฐกิจกลับถูกดึงไปรวมอยู่เพียงพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเพียงเดียว และหน่วยงานของรัฐเองก็ลอยตัวจากการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ จนส่งผลให้การพัฒนาเมืองแลจะเป็นหน้าที่ของเอกชนเจ้าใหญ่เพียงเท่านั้น เอกชนขนาดย่อมในพื้นที่และผู้คนในพื้นที่เมืองกลับไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองไป

สุดท้ายจินตนาการของการพัฒนาเมืองของเราจึงอาจหยุดไว้ที่การมีห้างใหญ่มีชื่อมาเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดในการพัฒนาที่ตีบตันเสียจริง เมืองควรเป็นพื้นที่รองรับจินตนาการและวิถีชีวิตที่กว้างไกลไปกว่าการมีห้าง และพื้นที่สาธารณะอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่เราอาจนำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมือง

รายการอ้างอิง

  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2560). เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา. กรุงเทพ; สำนักพิมพ์ศยาม.
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2565). เมืองญี่ปุ่นจำลอง ไม่ใช่แค่ฉากถ่ายรูป แต่อาจเป็นปมในใจของประเทศด้อยพัฒนาเชิงพื้นที่. สืบค้น 25 มีนาคม 2567 จาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/ 101431
  • เทพพิทักษ์ มณีพงษ์. (2560). พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของใครกันแน่?. สืบค้น 25 มีนาคม 2567 จาก https://www.the101.world/whose-public-space/
  • R.Somboon. (2566). แฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ บทเรียนตลาดค้าปลีก ทำไมห้างภูธรจึงพ่ายศึก. สืบค้น 25 มีนาคม 2567 จาก https://www.brandage.com/article/36163

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง