ประเด็นปัญหาของการเสนอชื่อครูบาศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาลครูบาศรีวิชัยซึ่งจะครบในปี พ.ศ. 2571 ทางมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ริเริ่มกระบวนการเสนอชื่อครูบาศรีวิชัยให้องค์กรยูเนสโกรับรองให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งต้องเริ่มจากการจัดทำเอกสารที่แสดงถึงความโดดเด่นของครูบาศรีวิชัย ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าครูบาฯ มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ นั้นถือเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นที่เคยหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก่อนหน้า ในขณะที่ลักษณะพิเศษที่โดดเด่นของครูบาศรีวิชัยตามที่ผู้เขียนเข้าใจ ก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นหลักฐานที่ทางยูเนสโกถือว่าเข้าเกณฑ์การพิจารณาได้หรือไม่ ผู้เขียนบรรยายลักษณะพิเศษที่โดดเด่นของครูบาศรีวิชัยในบทความนี้ ห้าประการที่สำคัญ ประการแรกได้แก่ การยืนหยัดแนวทางตามจารีตล้านนาดั้งเดิมที่แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร ประการที่สอง การธำรงรักษาแนวทางการปฏิบัติทางศาสนาตามจารีตประเพณีในท้องถิ่น ประการที่สาม การเป็นผู้นำในการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถานตามที่ศรัทธาญาติโยมนิมนต์ ประการที่สี่ การเผยแพร่คำสอนและคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมพื้นเมือง และประการสุดท้าย การสร้างลูกศิษย์และผู้สืบทอดแนวทางปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันแพร่หลายในงานเขียนที่มีมากขึ้น แต่นำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้ากรอบการเสนอต่อยูเนสโกให้ครูบาฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลกหรือไม่ และจะทำอย่างไรต่อไป  

บริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตของครูบาศรีวิชัย

ครูบาศรีวิชัยเกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 โดยมีชื่อว่าอินทร์เฟือน ซึ่งหมายถึงการเกิดในคืนฟ้าร้อง ครูบาบวชเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2439 และเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2442  ปี พ.ศ. 2421 ถือเป็นช่วงที่เชียงใหม่ ลำพูนและเมืองในภาคเหนือของประเทศไทยมีสถานะเป็นเมืองประเทศราชของสยามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2442 เมื่อเชียงใหม่เริ่มเข้าสู่การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลภายใต้การปกครองโดยตรงของสยาม ช่วงเวลาที่ครูบาเกิดจนกระทั่งบวชเป็นภิกษุ ยังเป็นช่วงเวลาที่โครงสร้างและระบบการปกครองคณะสงฆ์ยังเป็นแบบดั้งเดิม ที่มีการจัดโครงสร้างรวมวัดต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นหมวดวัด โดยมีวัดที่เป็นหัวหมวดและมีเจ้าหัวหมวดซึ่งเป็นผู้ปกครองวัดต่าง ๆ ในหมวด สำหรับวัดบ้านปางของครูบาศรีวิชัยถือว่าสังกัดวัดบ้านโฮ่ง โดยครูบาสมณะซึ่งเป็นผู้ที่บวชให้ครูบาศรีวิชัยเป็นเจ้าหัวหมวด และเมื่อก่อนที่ครูบาสมณะจะมรณภาพในปีพ.ศ. 2453 ก็ได้แต่งตั้งครูบาศรีวิชัยเป็นเจ้าหัวหมวดปกครองแทนท่าน (เพ็ญสุภา สุขคตะ บก. 2561: 1-83)[1]

ภาพ: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

การปฏิรูปศาสนาเพื่อการจัดโครงสร้างคณะสงฆ์ที่รวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางของรัฐสยาม รวมทั้งการทำให้แนวทางการปฏิบัติเป็นแบบแผ่นเดียวกัน เพื่อความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของรัฐ เริ่มด้วยการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2445 ในขณะนั้นครูบาศรีวิชัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหัวหมวดวัดตามโครงสร้างแบบดั้งเดิม[2] ในขณะที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปางด้วย  การประกาศใช้พระราชบัญญัติ ทำไปพร้อมกับการเริ่มสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่ด้วยการส่งให้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ จากนั้นมีการถวายสมณศักดิ์เพื่อกลับมารับตำแหน่งในโครงสร้างคณะสงฆ์ใหม่  ดังกรณีของพระมหาคำปิง คนธสาโร วัดหัวข่วง ที่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ให้อุปสมบทใหม่เปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุติกนิกาย ต่อมาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯในพ.ศ. 2427 จนจบเปรียญ 4 ประโยคและกลับมาประจำอยู่วัดหอธรรม (ส่วนหนึ่งของวัดเจดีย์หลวง) ที่เชียงใหม่ในปี 2439 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระนพีสีพิศาลคุณ” มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ให้เป็นไปตามระเบียบส่วนกลาง (เพ็ญสุภา สุขคตะ บก. 2561: 1-51) เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสวัดลี้หลวง (จังหวัดลำพูน) ที่ถูกส่งไปเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อกลับมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เห็นเจ้าคณะแขวงเมืองลี้ในปีพ.ศ. 2451 และโดยตำแหน่งจะเป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ทำการบวชให้พระเณร

ตั้งแต่ปีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ 2445 จนถึงปี 2481 ที่ครูบาฯ มรณภาพ ครูบาฯ ต้องอธิกรณ์ อยู่ทั้งหมด 6 ครั้ง อันเนื่องจากการขัดขืนไม่ทำตามระเบียบปฏิบัติแบบใหม่ แต่เลือกที่จะทำตามแนวทางที่เคยทำมาแต่ดั้งเดิม การต้องอธิกรณ์หมายถึงการต้องโทษและถูกไต่สวนเนื่องจากการกระทำผิดทางศาสนา โดยได้สรุปข้อหาและวิธีการลงโทษตามที่แสดงในตารางที่ 1 การต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 1-5 เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในขณะที่ครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2478-79 ซึ่งเป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้อหาที่ครูบาฯ ถูกจับไปไต่สวนและคุมขังส่วนใหญ่เป็นข้อหาการฝ่าฝืนกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และการไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าคณะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองในโครงสร้างคณะสงฆ์ใหม่

ตารางที่ 1 แสดงข้อหาและการลงโทษครูบาศรีวิชัยในการต้องอธิกรณ์ทั้ง 6 ครั้ง[3]

ปีที่ต้องอธิกรณ์ข้อหาการลงโทษ
ครั้งที่ 1ปี 2453การตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ทำการบรรพชาภิกษุสามเณรทั้งหมด 8 รูป โดยไม่ได้รับอนุญาตนายอำเภอและตำรวจคุมตัวไปสอบสวน ให้เข้าอบรมระเบียบใหม่ที่วัดลี้หลวง 4 วัน (วัดเจ้าคณะแขวง) และที่วัดบ้านยู้ 1 คืน(วัดเจ้าคณะเมือง)
ครั้งที่ 2ปี 2453ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวงลี้ ไม่ไปรับฟังระเบียบการคณะสงฆ์ซึ่งได้ประกาศเพิ่มเติมนายสิบตำรวจจากเมืองลำพูนเป็นผู้จับกุมครูบาฯ ไปคุมขังที่วัดชัย ลำพูน 23 วัน ก่อนจะส่งไปไต่สวนที่วัดพระยืน ลำพูน
ครั้งที่ 3ปี 2453เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมสงฆ์ท้องที่อำเภอลี้ ชี้แจงระเบียบเพิ่มเติมและเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนนักธรรม ครูบาฯไม่ไปและไม่ชี้แจงเหตุผลนายร้อยตำรวจนำหนังสือเจ้าคณะเมืองนครลำพูน เข้าทำการจับกุมและคุมขังครูบาฯเป็นเวลา 2 ปี (จนถึงปี 2455) ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยปัจจุบัน รวมทั้งปลดออกจากเจ้าหัวหมวดบ้านปาง
ครั้งที่ 4ปี 2455ทางราชการประกาศให้วัดทั้งหลายทำซุ้มประตูป่าเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6 แต่ทางครูบาฯ ไม่ทำตาม อีกทั้งไม่ทำการสำรวจบัญชีรายชื่อพระสงฆ์สามเณรตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวงลี้ไม่มีการลงโทษ แต่ข้อหานำไปรวมกับการต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 5
ครั้งที่ 5ปี 2462-63ถ้าคณะสงฆ์ลำพูนและเจ้าเมืองลำพูน ได้ยินเสียงร่ำลือว่าครูบาฯ จะเป็นกบฏ “ผีบุญ”  มีคาถาและดาบศรีกัญไชยของพระอินทร์   เจ้าคณะจังหวัดลำพูนมีหนังสือสั่งให้ขับครูบาฯออกจากเขตจังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน ครูบาฯ ออกเดินทางจากวัดบ้านปางไปพร้อมพระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ 1500 รูป ไปรายงานตัวที่วัดพระธาตุหริภุญชัย จากนั้นถูกย้ายไปกักขังที่วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่รวม 3 เดือน 8 วัน จึงย้ายไปกักขังที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ อีก 2 เดือน 9 วัน
ครั้งที่ 6ปี 2478-2479ข้อหาได้แก่ 1) การตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ดำเนินการบรรพชาอุปสมบทให้พระภิกษุสามเณรรวมทั้งหนานปี 2) วัดต่าง ๆ ในแขวงเชียงใหม่ ออกจากการปกครองคณะสงฆ์มาขึ้นต่อครูบาฯ 3) ครูบาฯทำใบสุทธิรับรองการอุปสมบทเอง 4) บูรณะวัดวาอารามโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบเดิม 5) ปฏิสังขรณ์โบราณสถานโดยไม่ได้ขออนุญาตจากกรมศิลปากร 6) ตัดต้นไม้ทำถนนโดยไม่ขออนุญาตจากกรมป่าไม้ทำการไต่สวนครูบาศรีวิชัยโดยเจ้าคณะและรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะให้กระทรวงธรรมการทำหนังสือถึงมหาเถรสมาคม เพื่อออกคำสั่งให้ครูบาฯ ไปรับฟังข้อกล่าวหาและรับการอบรมที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ในช่วง 1 พ.ย. 2478-13 พ.ศ. 2479 จนกระทั่งครูบาศรีวิชัยยอมลงนามว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งคณะสงฆ์ จึงถูกส่งตัวกลับมาจังหวัดลำพูน

การทำตามจารีตล้านนาและการไม่ขึ้นต่ออาณาจักร    

จากชีวประวัติครูบาศรีวิชัยที่ต้องอธิกรณ์ทั้ง 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เมื่อครูบาฯ อายุได้ 32 ปี จนถึงอายุ 58 ปี แสดงให้เห็นถึงการไม่ทำตามกฎระเบียบใหม่ ขัดขืนคำสั่ง ยึดเอาจารีตล้านนาที่เจ้าหัวหมวดวัดที่ได้รับการสืบทอดกันตามประเพณีมีฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ ครูบาฯ ทำการบรรพชาให้สามเณรและภิกษุ ซึ่งนำไปสู่การต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 1 แม้หลังการถูกทำโทษและถูกปลดจากการเป็นเจ้าหัวหมวด ครูบาฯก็ยังฝ่าฝืนทำการบวชให้ดังกรณีที่ชัดเจนของครูบาขาวปีซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดที่ครูบาฯ เคยบวชให้ตั้งแต่เป็นสามเณรจนกระทั่งเป็นพระภิกษุ  เมื่อครูบาขาวปีถูกจับสึกในข้อหาการหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัย ได้บวชให้ใหม่เป็นครั้งที่สอง และหลังจากที่ครูบาขาวปีถูกจับสึกอีกครั้งในข้อหาการเรี่ยไรเงินไปสร้างวัดในปี พ.ศ.2474 ครูบาฯ ได้บวชให้ใหม่อีกครั้งในช่วงฉลองการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพสำเร็จในปี พ.ศ.2478 (ภิกษุอานันท์ พุทธธมโม (2558) อ้างใน ขวัญชีวัน บัวแดง 2561)

ภาพ: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

การต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 5 นำไปสู่การวินิจฉัยโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2463 ข้อหาว่าด้วยการอุปสมบทโดยไม่มีใบอนุญาต, การไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าคณะเมือง, การไม่ไปประชุมฟังคำชี้แจงเรื่องกฎระเบียบ และการไม่ดำเนินการตกแต่งประดับประดาวัดนั้น เกิดขึ้นจากการที่ครูบาศรีวิชัยไม่รู้ธรรมวินัย ไม่รู้เรื่องประกาศ แต่ความผิดเหล่านี้ก็ได้รับโทษไปแล้วด้วยการกักขังตัวครูบาศรีวิชัยนานพอสมควร จึงควรปล่อยให้ครูบาฯ กลับไปสู่ภูมิลำเนา ในช่วงปี พ.ศ. 2463 ถึงปี พ.ศ. 2478 ครูบาศรีวิชัยได้กลับมาจำพรรษาในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงเวลานี้ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ได้นิมนต์ให้ครูบาฯ ย้ายมาจากพะเยา เพื่อปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดพระสิงห์ ซ่อมแซมหอธรรม สร้างศาลาทานและศาลาบาตร และขณะที่จำพรรษาที่วัดพระสิงห์นี้ ครูบายังได้จัดการรวบรวมคัมภีร์ใบลาน สังคายนาและจ้างเขียนขึ้นใหม่จำนวนมาก  

การเดินทางไปในหลายเมืองหลายพื้นที่เพื่อปฏิสังขรณ์วัดสำคัญในประวัติศาสตร์และสร้างวัดใหม่ ทำให้ ประชาชนจำนวนมากมาร่วมทำบุญ เสียงร่ำลือเรื่องการที่ครูบาศรีวิชัยถือเป็นต๋นบุญที่มาโปรดมนุษย์เริ่มกระจายไปอย่างกว้างขวาง เมื่อแนวทางการปฏิบัติของครูบาศรีวิชัยเป็นสิ่งที่ประชาชนในวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิมคุ้นเคยและมองว่าถูกต้อง การขัดขวางและการออกกฎระเบียบใหม่ที่ห้ามทำแบบเดิมในสายตาของประชาชนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ในกรอบคิดแบบพุทธศาสนาดั้งเดิมก็คือการเกิดมารมาขัดขวางเส้นทางสะสมบุญบำเพ็ญบารมี และการต่อสู้กับมาร ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ลูกศิษย์ครูบาฯ มักอธิบายการขัดขวางและจับสึกของคณะสงฆ์ว่าเป็นการกระทำของ “มาร” ที่เป็นธรรมดาที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้า “มารไม่มี-บารมีก็จะไม่เกิด” 

การขยายตัวของความศรัทธาที่มีต่อครูบาศรีวิชัย นอกจากเกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของครูบาฯ เอง ที่มุ่งมั่นการบำเพ็ญภาวนา การเผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านการจารใบลาน การฉันมังสวิรัติเพียงมื้อเดียว แล้ว ครูบาศรีวิชัยยังเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างวัดวาอาราม ให้กับวัดทั้งที่เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่ปรากฏเป็นพระบาท พระธาตุ จำนวนมากในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย

เหตุการณ์ในช่วงการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2477 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความศรัทธาที่ภิกษุสามเณรและประชาชนมีต่อครูบาศรีวิชัยที่มีมากขึ้น เริ่มสั่นคลอนความมั่นคงของโครงสร้างคณะสงฆ์ภายใต้การกำกับของรัฐ และความมั่นคงของรัฐภายใต้ระบอบใหม่ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลง 2475 มาได้เพียง 2 ปี  จากข้อมูลที่รวบรวมโดยเพ็ญสุภา สุขคตะ บก. (2561, 1-146) พบว่าในช่วงนี้ มีวัดและพระภิกษุสามเณรจำนวนไม่น้อยขอออกจากคณะสงฆ์ มาขึ้นต่อครูบาศรีวิชัย และตัดขาดไม่ทำสังฆกรรมกับคณะสงฆ์  จำนวนวัดที่ขอออกจากการปกครองคณะสงฆ์มีประมาณ 60-90 วัด อยู่ในหลายแขวง (ปัจจุบันเป็นอำเภอ) ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น แขวงสันทราย แขวงเมือง แขวงพร้าว แขวงดอยสะเก็ด แขวงแม่ริม แขวงสะเมิง แขวงฮอด แขวงสันป่าตอง แขวงฝาง แขวงสันกำแพง ครูบาศรีวิชัยเองในช่วงนี้ก็ยังจัดอุปสมบทให้พระภิกษุและสามเณร รวมทั้งมีการทำใบสุทธิของครูบาฯ เอง การนิยมมาอุปสมบทกับครูบาฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระเบียบใหม่ของคณะสงฆ์ที่กำหนดให้ผู้ที่จะอุปสมบทต้องมีความรู้ อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ การไม่นิยม เรียนภาษาไทยทำให้มาอุปสมบทกับครูบาฯ ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนเรียนภาษาไทยน้อยลง

ทางคณะสงฆ์ตั้งอธิกรณ์กับครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งที่ 6 ด้วยข้อหาหลายข้อหารวมทั้งการบวชครูบาขาวปี ซึ่งเป็นกรณีที่ทางคณะสงฆ์สั่งห้ามเป็นกรณีพิเศษ ทางคณะสงฆ์ยังดำเนินการไต่สวนเจ้าอาวาสที่ไปขึ้นต่อครูบาศรีวิชัย บังคับให้ยอมกลับมาอยู่ในความปกครองคณะสงฆ์ ถ้าไม่ยอมจะถูกสั่งให้สึก เจ้าอาวาสบางองค์ไม่สีกและหนีไปอยู่ในเขตประเทศพม่า ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ปลายปีพ.ศ. 2478

แนวคิดเรื่อง ต๋นบุญ ในโลกกลียุค

แนวคิดเรื่อง ตนบุญ (ออกเสียงเป็นภาษาล้านนาว่า ต๋นบุญ) เป็นแนวคิดตามจารีตทางพระพุทธศาสนาในล้านนาที่มีการยึดถือกันแพร่หลายในหมู่ประชาชน ตามการอธิบายของทานาเบ (2555) ตนบุญเป็นลักษณะศักดิ์สิทธิ์ส่วนบุคคล (Personal Charisma) ที่ถูกสร้างขึ้นทางวัฒนธรรม หมายถึงพระ เณรหรือบุคคลที่ได้สั่งสมบุญอย่างมากมายในชาติก่อนและทำอย่างต่อเนื่องในชาตินี้ เป็นผู้มีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด  ด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐาน บูรณะปฏิสังขรณ์บำรุงพระศาสนา ซึ่งล้วนเป็นที่มาของอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของตนบุญ ซึ่งเป็นอำนาจที่เหนือธรรมดา (อภิญญา) ดังกรณีที่ชาวบ้านเริ่มเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของครูบาฯ เช่น การเดินตัวลอยเหนือพื้นดินฝนตกไม่เปียก และการได้ครอบครองดาบศรีกัญชัยซึ่งเป็นดาบประจำกายของพระอินทร์ เป็นต้น จากกรอบคิดเดิม โลกจะอยู่ในยุคที่เริ่มเสื่อม ซึ่งเห็นได้จากการที่รัฐเริ่มเข้ามาควบคุมบงการชีวิตผู้คน และเก็บภาษีเป็นตัวเงินมากขึ้น ในยุคที่สับสนวุ่นวายหรือกลียุคนี้  ตนบุญจะมาเกิด เพื่อมา “โผด” หรือโปรดมนุษย์ด้วยการสั่งสอนและนำพาประชาชนให้ทำบุญทำทาน อยู่ในศีลในธรรม เป็นการเตรียมสร้างชุมชนศีลธรรมเพื่อการมาเกิดของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ซึ่งก็คือพระศรีอาริย์ ที่จะมาพร้อมกับสังคมที่อุดมสมบูรณ์ มีศีลธรรมและดีงาม คำเรียกว่า ตนบุญ อาจจะถูกเรียกแทนได้ด้วยคำอื่น ในความหมายที่เชื่อมโยงกัน ดังเช่นที่ชาวบ้านเรียกครูบาศรีวิชัยว่า  ครูบาศีลธรรม หรือเรียกว่า หน่อพระพุทธเจ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวล้านนายังเชื่อว่าตนบุญสามารถถ่ายทอดหรือแบ่งปันบุญที่ตนสะสมไว้ให้กับคนอื่นได้ โดยผ่านพิธีทำบุญ  การบริจาคและเข้าร่วมลงแรงในงานการก่อสร้างและซ่อมแซมวัด เจดีย์ และสิ่งก่อสร้างเพื่อสาธารณะอื่น ๆ ที่ตนบุญเป็นผู้นำในการดำเนินการ ดังจะเห็นได้ว่า การก่อสร้าง บูรณปฏิสังขรณ์ที่มีตนบุญเป็นผู้นำ จะมีผู้ปรารถนาเข้ามาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมากกว่าการเข้าร่วมทำบุญในงานที่นำโดยพระทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียงว่าเป็นตนบุญ ในกรณีของครูบาศรีวิชัย ความสำเร็จของการก่อสร้างแต่ละครั้ง นำไปสู่การนิมนต์หรือร้องขอให้ครูบาฯนำการก่อสร้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่รวบรวมโดยเพ็ญสุภา สุขคตะ บก. เล่มที่ 2 (2561) มีวัดสำคัญที่ครูบาอำนวยการสร้างและปฏิสังขรณ์จำนวนกว่า 200 วัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2444 แต่มีจำนวนมากขึ้นและพื้นที่การก่อสร้างแผ่กระจายออกไปจากเขตจังหวัดลำพูนเชียงใหม่ มากขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2462 ซึ่งเป็นปีที่ครูบาต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 5 ในช่วงที่คำร่ำลือเรื่องการเป็นตนบุญของครูบาดังขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพ: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

การเป็นผู้นำในการสร้างทางรถยนต์ขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพในปี พ.ศ.2477 ก็เป็นการตัดสินใจของครูบาฯ ในช่วงที่ความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยอยู่ในจุดที่สูงสุด ความจริงแต่เริ่มต้น หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุคคลแรก ๆ ที่ไปปรึกษาครูบาศรีวิชัย ในเรื่องการนำไฟฟ้าไปติดบนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยแนะนำว่าสร้างถนนก่อนดีกว่า ถ้าถนนเสร็จการติดไฟฟ้าก็จะไม่ยาก ครูบาศรีวิชัยตั้งอธิษฐานจิตและกำหนดวันทำพิธีบุกเบิกทางในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477

ความศรัทธาของประชาชนชายหญิงที่มีต่อตนบุญครูบาฯ เห็นได้จากจำนวนแรงงานที่มาช่วยทำงาน ในยุคที่แทบจะไม่มีเทคโนโลยีทุ่นแรงอะไรมาช่วยนอกจากระเบิดที่ใช้ระเบิดหินเป็นช่วง ๆ จำนวนแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ พบว่าแรงงานมีทั้งพระภิกษุสามเณร กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ประชาชนทั่วไป และการสนับสนุนจากกลุ่มคหบดี เจ้านายและข้าราชการ ในช่วงที่คนมากที่สุดมีไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน แบ่งพื้นที่รับผิดชอบการขุดและปรับหน้าดิน ทั้งนี้ครูบาศรีวิชัยจะทำหน้าที่ “นั่งหนัก” คือนั่งประจำที่ รับการทำบุญอยู่ที่หน้าวัดศรีโสดาในปัจจุบัน ครูบาศรีวิชัย (ส.สุภาภา อ้างใน เพ็ญสุภา สุขคตะ บก. 2561: 1-178) ยังได้สร้างยุ้งฉางไว้ 2 หลัง หลังหนึ่งสำหรับใส่ซองบริจาค ข้าวสาร อาหารแห้ง อีกหลังหนึ่งเป็นอาหารสด ซึ่งมีผู้ทยอยเอามาทำบุญอย่างไม่ขาด เพื่อให้ผู้มาช่วยงานไว้บริโภค

แรงงานจำนวนหลายพันคนนั้น นอกจากมาเองจากที่ได้ทราบข่าวแล้ว ยังมาเป็นกลุ่มตามการนำของลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัยที่อยู่ประจำตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรณีครูบาขาวปี และครูบาวงศ์ ซึ่งจำพรรษาและเดินทางไปสร้างวัด ในเขตพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และอำเภอชายแดนจังหวัดตาก จะมีคนกะเหรี่ยงมาช่วยจำนวนมาก โดยผู้ที่ติดตามครูบาขาวปีและครูบาวงศ์แต่ละองค์มีไม่น้อยกว่า 500 คน ชาวบ้านหลายพื้นที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันจากหมู่บ้านจึงมาถึงบริเวณสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ทั้งด้วยวิธีการนั่งรถโดยสาร และการเดิน  นอกจากคนกะเหรี่ยงที่ถือว่าเป็นผู้อุทิศตนทำงานในส่วนที่หนักที่สุด เช่น การเจาะหินระเบิดหินแล้ว ยังมีคนอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคนจีน ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ยอง แขก และพม่าด้วย ในเอกสารจดหมายเหตุของสำนักราชเลขานุการในพระองค์ เลขที่ ร. 8 26/21 แผนกที่ 22/22 เรื่องพระศรีวิชัยถวายพระราชกุศล (8-16 ตุลาคม 2478) (เพ็ญสุภา สุขคตะ บก. 2561, 1-187) ได้ระบุตารางจำนวนผู้ที่ช่วยกันขุดและบุกเบิกดินในการทำถนนขึ้นบนดอยสุเทพ พ.ศ. 2478 รวมจำนวนทั้งสิ้น 118,304 คน แยกเป็นชาย 67,818 คน และหญิง 50,486 คน การสร้างถนนเสร็จสิ้นลงภายในเวลา 5 เดือนกับ 22 วัน โดยทำพิธีฉลองเปิดทางให้รถยนต์ทดลองวิ่งในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2478

บทสรุป

เมื่อพิจารณาคุณูปการของครูบาศรีวิชัยในประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านจากล้านนาที่เป็นประเทศราช กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยสมัยใหม่ จะเห็นความโดดเด่นของครูบาฯ สามประการ ประการแรก ได้แก่ การได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนอย่างแพร่หลายในอาณาบริเวณทางวัฒนธรรมที่กว้างขวาง และต่อเนื่องมาอย่างไม่เสื่อมคลาย ในฐานะ “ตนบุญแห่งล้านนา” ซึ่งคำนี้ ได้ผนวกรวม การเป็นครูบาศีลธรรม ที่มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และอุทิศตัวเองเพื่อการเผยแพร่ การโปรดสัตว์ และการทะนุบำรุงพระศาสนา การปฏิสังขรณ์และก่อสร้างศาสนสถานและวัตถุ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการบุญบารมีที่สั่งสมมาในชาติก่อนและการสั่งสมต่อไปในภายภาคหน้า ขบวนการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมศีลธรรมที่ดีงามให้เกิดในโลกปัจจุบัน โดยหลีกเลี่ยงการเมือง ของการรวมพลัง ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการปะทะด้วยความรุนแรง นี้เองที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยครูบาศรีวิชัย มีความแตกต่างจาก กบฏผีบุญอื่น ๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวด้วยกำลังอาวุธ เพื่อต่อต้านหรือล้มล้างอำนาจที่กดขี่ ดังที่ ทานาเบ (2555) เสนอให้เรียกขบวนการครูบานี้ว่าเป็นขบวนการฟื้นฟูศาสนา ที่เน้นการฟื้นฟูการปฏิบัติตามประเพณีที่คณะสงฆ์ล้านนาเคยทำ และแม้จะมีการเผชิญหน้า การแยกตัว การต้องอธิกรณ์และการลงโทษ แต่ทางครูบาศรีวิชัยและลูกศิษย์ ก็ไม่ได้ใช้วิธีการอื่นใดที่จะทำให้เกิดการปะทะกันด้วยความรุนแรง

ความโดดเด่นประการที่สอง ได้แก่การที่ครูบาศรีวิชัยยืนหยัดจารีตล้านนาดั้งเดิม ไม่ทำตามคำสั่งหรือกฎระเบียบของทางราชการ เช่นการบวชโดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่อ้างอิงถึงการเป็นเจ้าหัวหมวดอุโบสถที่ได้รับการแต่งตั้งตามประเพณี อีกทั้งยึดหลักดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่กับการเห็นชอบของพ่อแม่ของผู้ที่จะอุปสมบท ก็เพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าคณะแขวงหรือกรมการปกครองอีก แม้ครูบาฯ จะต้องอธิกรณ์ครั้งที่ 1 ในข้อหาการบวชโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้รับโทษโดยการนำไปอบรมเรื่องกฎระเบียบใหม่หลายครั้ง แต่ครูบาฯ ก็ยังยืนหยัดขัดขืน และดำเนินการบวชให้ผู้คนอีกจำนวนมากรวมทั้งลูกศิษย์ใกล้ชิดเช่น ครูบาขาวปี ด้วยเหตุที่ถือว่าเป็นจารีตดั้งเดิมที่ยึดถือ  การยืนหยัดในสิ่งที่ครูบาฯ คิดว่าถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมาก ทำให้สถานภาพการเป็น ตนบุญของครูบาฯ ก็จะยิ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุที่ชาวบ้านมองว่าอุปสรรคจากรัฐและคณะสงฆ์นั้นเป็นเหมือนมารที่มาขัดขวางการสร้างบุญบารมี

ความโดดเด่นประการที่สาม คือการเผยแพร่ศาสนาในชุมชนผู้ยากไร้ชายขอบ ผ่านการทำหน้าที่เป็นประธานหรือ “นั่งหนัก” เพื่อระดมเงินทุนก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่อยู่ห่างไกล ส่วนใหญ่จะเป็นการนิมนต์ผ่าน เครือข่าย “ตุ๊ปี้ ตุ๊น้อง” ของครูบาศรีวิชัย หรือ ลูกศิษย์ที่ครูบาฯ บวชให้ หรือพระที่ปวารณาฝากตัวกับครูบาศรีวิชัยอีกจำนวนมาก การสืบทอดอุดมการณ์ครูบาศรีวิชัยของลูกศิษย์และสหธรรมิกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความศรัทธาที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกศิษย์ที่ดำเนินการตามแบบครูบาศรีวิชัยทุกประการทั้งเรื่องวัตรปฏิบัติ การครองผ้า การถือศีลกินเจ การมีฝีมือและทักษะในการก่อสร้าง ดังกรณี  ครูบาขาวปี ครูบาวงศ์ ซึ่งเดินทางเผยแผ่และสร้างวัดในบริเวณพื้นที่ป่าเขาบริเวณชายแดนไทย พม่า ทำให้ชุมชนที่ศรัทธามีทั้งคนลัวะ กะเหรี่ยง และกลุ่มไทใหญ่ ไทยอง ไทเขิน และมีการสืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน

อันที่จริงแล้วความโดดเด่นของครูบาศรีวิชัยดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ในปัจจุบันก็สอดคล้องกับหลักการสากลว่าด้วย การส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นรวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัตถุและภูมิปัญญา การแยกการดำเนินการด้านศาสนาออกจากการเมือง การเสริมพลังอำนาจให้ชุมชนสามารถจัดการตนเอง และการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมที่เน้นความเท่าเทียมและสันติ แต่การเสนอให้ครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก จะผ่านเกณฑ์ที่ยูเนสโกตั้งไว้หรือไม่ ด้วยเหตุที่ยูเนสโกเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐ ที่เน้นส่งเสริมความร่วมมือกันและสันติภาพในหมู่สมาชิก อีกทั้งกำหนดไว้ว่าต้องเป็นบุคคลสำคัญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ระหว่าง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และการสื่อสาร ในขณะที่ความโดดเด่นของครูบาฯ ถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคตั้งแต่ก่อนการผนวกรวมรัฐชาติ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาและผลกระทบของการสร้างรัฐชาติเอง และการเป็นบุคคลที่มีความคิดความเชื่อและการปฏิบัติที่ยืนหยัดในแนวทางพระพุทธศาสนาแบบล้านนาดั้งเดิม ที่ไม่อาจลดทอนให้เป็นความโดดเด่นในสาขาใดสาขาหนึ่ง ดังตัวตนและความปรารถนาของครูบาศรีวิชัย ที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด จากข้อความที่ครูบาฯจารลงในไม้บัญชักที่ผูกติดไว้หน้าห่อคัมภีร์หลายฉบับที่เก็บไว้ที่วัดพระสิงห์ เช่น คัมภีร์ใบลานเรื่องสุวัณณสังข์ ที่จารในปี พ.ศ. 2470 ที่ว่า

…ข้าพระสีวิชัยยาภิกขุอยู่วัดจอมสรีซายมูรบ้านพาง ได้สร้างปางเมื่ออยู่วัดพระสิงหลวงนพบุรีเชียงใหม่วันนั้นแล ปนิธาน ผาถนาขอหื้อข้าได้ตรัสประยาสัพพัญญูโพธิญาณในนิพพานเจ้าจิ่มเทอะ…

เอกสารอ้างอิง

  • ขวัญชีวัน บัวแดง. 2561. “ตามรอยครูบาขาวปี (2432-2520) ศาสนสถานและความทรงจำของผู้ศรัทธาในชุมชนภาคเหนือของประเทศไทย,” ใน วสันต์ ปัญญาแก้ว และชัยพงษ์ สำเนียง บก. รำลึก 140 ปี ชาตกาล ครูบาศรีวิชัย. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 210-232.
  • เพ็ญสุภา สุขคตะ. 2562. “ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโก,” วารสาร มจร. หริภุญชัยปริทรรศน์. 3(2) หน้า 106-118.
  • เพ็ญสุภา สุขคตะ. บก. 2561. ครูบาเจ้าศรีวิชัย. เล่มที่ 1, 2, 3. ปทุมธานี: สมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพมหานคร).
  • ทานาเบ, ชิเกฮารุ. 2553. พิธีกรรมและปฏิบัติการในสังคมชาวนาภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[1] ข้อมูลที่ใช้ในบทความนี้ส่วนใหญ่อ้างอิงจากหนังสือชุดครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่มีเพ็ญสุภา สุขคตะเป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดยสมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพมหานคร) โดยมีทั้งหมด 3 เล่ม ในการอ้างอิงนี้ ระบุเล่มที่ก่อนเลขหน้า

[2] อ่านรายละเอียด ระบบการปกครองคณะสงฆ์ล้านนาแบบดั้งเดิมได้ใน เพ็ญสุภา สุขคตะ บก. (2561: 1-49)

[3] รายละเอียดการต้องอธิกรณ์แต่ละครั้ง สรุปจากเพ็ญสุภา สุขคตะ บก. (2561: 1-115-166)


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมสัมมนาวิชาการล้านนาศึกษา Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” วันที่ 4 มีนาคม 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง