‘สกน.ลำปาง-กรรมการสิทธิฯ’ จำลอง เวทีฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท หลังพบละเมิดสิทธิในกระบวนการ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดลำปาง พร้อมด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในระดับชุมชน ณ ศาลาเอนกประสงค์ ชุมชนบ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หลังมีการร้องเรียนไปยังกสม.ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงาและอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ทับที่ดินทำกินและขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกสม.มีมติวินิจฉัยว่า “การกำหนดพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงาและอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ไม่มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” 

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีข้อเสนอให้อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในกระบวนการเตรียมประกาศเขตอุทยานฯ 22 แห่งทั่วประเทศ จัดรับฟังความเห็นในทุกหมู่บ้านที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านทุกคนเข้าร่วม ก่อนจัดประชุมรับฟังความเห็นในระดับตำบล และอำเภอต่อไป ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งการไปยังหัวหน้าป่าอนุรักษ์ในสังกัดนำแนวทางการจัดฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปเป็นแนวปฏิบัติในการกำหนดพื้นที่ การขยาย หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จึงนำมาสู่การจำลองเวทีรับฟังความเห็นฯ ระดับชุมชนในครั้งนี้ เพื่อให้ทางชุมชนได้สะท้อนความเห็น และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงในกระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ระดับชุมชน ก่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ในระดับชุมชนจริง ๆ 

‘อุทยานฯ ถ้ำผาไท’ แจง ‘พ.ร.บ.อุทยานฯ 62’ เน้นชุมชนมีส่วนร่วม 

พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กล่าวว่า กรอบคิดของนักวิชาการป่าไม้สมัยก่อนมีความเชื่อว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ และต้องอพยพคนออกจากป่าให้หมด แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว อย่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยในกรณีอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในช่วงปี 2557 ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ในการเตรียมการฯ กว่า770,000 ไร่ โดยใช้หลักฐานภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 เป็นหลัก หากบริเวณใดมีร่องรอยการทำกินจะได้รับสิทธิในการทำกิน 100% หากตรวจสอบแล้วทำกินหลังปี 2557 จะยึดคืนทุกกรณี

“หลักการของอุทยานฯ คือ พื้นที่ไหนที่คงสภาพป่าสมบูรณ์ ให้ประกาศอุทยานฯได้ เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำแล้ง น้ำแห้ง ทางผมไม่ใช่จะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างกรณีชุมชนบ้านกลาง ปี 2541 เคยขอกันพื้นที่ออก 1,388 ไร่ ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 4,083 ไร่ ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 20,269 ไร่ ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 20,2069 ไร่ ทำไมมันถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” พีระเมศร์กล่าว

ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ส้านกล่าวว่า กรณีร่องรอยปี 2545 ไม่สอดคล้องกับวิถีการหมุนเวียนการใช้พื้นที่ในกรณีการทำไร่หมุนเวียน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางอุทยานฯ ได้ประกาศปิดป่า ไม่ให้เข้าออกเขตพื้นที่อุทยานฯ (เตรียมการ) หากกล่าวว่า จะทำให้คนอยู่กับป่าได้ แต่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าป่า คนอยู่กับป่าจะทำกินอย่างไร ขนาดเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศเขตอุทยานฯ ยังมีท่าทีปิดกั้นชุมชน หากประกาศเป็นเขตอุทยานฯ แล้ว ทางชุมชนยิ่งกังวลว่าจะถูกละเมิดสิทธิขนาดไหน

“ที่บอกว่าไม่มีการอพยพคนออกจากป่าแล้ว แต่กฎหมายอุทยานฯ มันยังไม่สอดคล้อง โทษหนักมาก คนก็ยังกังวล ทั้งเรื่องโครงการปลูกป่าของหน่วยงานที่พยายามจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ที่ชุมชนดูแล แต่ชุมชนปฏิเสธ เพราะพื้นที่เดิมก็เป็นป่าที่สมบูรณ์อยู่แล้ว หน่วยงานจะมาประกาศเพิ่มอีกทำไม” ณัฐนนท์กล่าว

ชาตรี ปินตา ชาวบ้านชุมชนบ้านกลาง ชี้แจงเรื่องกรณีพื้นที่ในการสำรวจที่เพิ่มขึ้นว่า ในการสำรวจช่วงแรก ๆ หน่วยงานแจ้งว่า ให้แจ้งขอบเขตเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ทำกินตามที่จำเป็น ทางชุมชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้นับรวม ‘ไร่เหล่า’ หรือไร่หมุนเวียนที่กำลังพักฟื้นในรอบ 5-7 ปี เมื่อสำรวจครั้งถัดมาจนถึงครั้งล่าสุด ทางชุมชนเห็นว่า ควรแจ้งจำนวนพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้ประโยชน์จริง  ๆ 

“เดิมเราพักฟื้นไร่หมุนเวียน 5-7 ปี แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายนโยบาย ทำให้รอบการหมุนเวียนลดลง หนำซ้ำวิถีการแผ้วถางไร่หมุนเวียนก็ถูกบีบจากเอกสารเพียงฉบับเดียวจากผู้ว่า คือมาตรการห้ามเผา ผลผลิตก็ลดลง ตอนนี้หลายคนที่หยุดทำไร่หมุนเวียน เพราะกลัวถูกจับ ต้องปรับมาทำนา” ชาตรีกล่าว

ถาวร หลักแหลม ชาวบ้านชุมชนบ้านกลางกล่าวว่า การทำไร่หมุนเวียนมีขอบเขตชัดเจน ไม่ได้ขยายเพิ่มไปมากกว่าที่ทำอยู่มาหลายสิบปีแล้ว พื้นที่ที่ทำไร่หมุนเวียนทั้งหมดคือ 1,600 กว่าไร่ แต่ละปีทำไม่เกิน 300 ไร่ส่วนแปลงพักฟื้น นอกจากการให้ดินฟื้นฟูแล้ว ธรรมชาติฟื้นฟู ระหว่างต้นไม้โต ก็เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ป่าด้วย ส่วนพื้นที่ที่เหลือ คือ ป่าชุมชน ป่าจิตวิญญาณ

“ถ้าอุทยานฯ บอกว่าการมีป่าอยู่เป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ เราไม่เห็นว่ามันจะเป็นอุปสรรคในการประกาศอุทยานฯ ตรงไหนเลย เพราะที่เราดูแลรักษาอยู่ก็เป็นป่าของคนทั้งประเทศเหมือนกัน ไม่ได้เป็นป่าที่เรามองว่าป่าเป็นของชุมชนเราคนเดียว แล้วจะต้องมาแบ่งเค้กเหมือนที่ท่านทั้งหลายทำ“ ถาวรกล่าว

‘ชุมชน’ ซัด อุทยานฯ ถ้ำผาไท ไม่จริงใจ รับฟังความเห็นตกหล่น

ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ส้านกล่าวว่า ในกระบวนการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ยังมีชาวบ้านอีกหลายชุมชนในพื้นที่เตรียมการฯ ที่ไม่ทราบกระบวนการเตรียมประกาศอุทยานฯ เห็นได้จากการประชาสัมพันธ์เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เมื่อวันที่ 4-8 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีหลายชุมชนที่ไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมรับฟังความเห็น และเมื่อแต่ละชุมชนขอดูแผนที่แนวเขตที่อุทยานฯ เดินสำรวจร่วมกับชุมชน แต่ทางอุทยานฯ แจ้งว่าไม่สามารถให้ดูได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วน

สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลางกล่าวว่า ความต้องการของชุมชนคือ อยากได้ความชัดเจนว่า แผนที่แนวเขตที่ชุมชนเคยสำรวจร่วมกับอุทยานฯ เป็นแผนที่เดียวกันกับที่ทางอุทยานฯ จะแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศอุทยานแห่งชาติหรือไม่ แล้วทางชุมชนจะติดตามได้อย่างไรว่า แผนที่ที่ใช้ตลอดกระบวนการเตรียมการประกาศฯ จะเป็นแผนที่เดียวกัน

จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวถึงกรณีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีมติว่าไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิค่อนข้างโหดร้าย ส่วนตัวมองว่าการละเมิดสิทธิเริ่มขึ้นตั้งแต่แผนการเตรียมประกาศอุทยานแล้ว เพราะข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทางหน่วยงานไม่เคยแจ้งให้ประชาชนทราบ ดังนั้น กสม.ควรต้องทบทวนคำวินิจฉัยใหม่

“การที่ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้หรือ?  ทั้งสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการ ต้องมาคุยกันให้ชัดว่าร่วมแบบไหน? ชาวบ้านได้ร่วมจริง ๆ ไหม หรือพวกท่านกำหนดมาแล้ว ให้เรารับทราบเฉย ๆ” จรัสศรีกล่ว

ปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า กรณีแผนที่ที่ทางชุมชนยืนยันแล้ว สามารถส่งมาให้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนช่วยตรวจสอบร่วมได้ว่า เป็นแผนที่เดียวกันหรือไม่

“กสม. มีอำนาจตรวจสอบ และเสนอแนะความเห็น ถ้าใช้ให้เป็นผลมันก็เป็นผล หากมีข้อมูลใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ก็ยื่นมาใหม่ได้ ขออภัยว่าเราไม่สามารถติตตามทุกอุทยานได้ การรวมกลุ่มของชาวบ้านจึงยังมีผลเป็นหลัก เราจะพยายามทำตามอำนาจหน้าที่ที่เราทำได้ ยืนยันว่าเราจะติดตามเรื่องแผนที่ให้” ปรีดากล่าว

พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เสนอให้มีกลไกในการติดตามกระบวนการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ เมื่อดำเนินถึงขั้นตอนคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโดยปกติจะไม่มีสัดส่วนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมอยู่ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาจมีส่วนช่วยเชื่อมกลไกนี้ให้มีสัดส่วนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

‘ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ – พื้นที่ป่า’ ขวางการพัฒนาสาธารณูปโภค

เธียรชัย สกุลกระวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา กล่าวถามถึงกรณีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ในพื้นที่ป่าถึงติดขัด ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณได้ เพราะติดเขตพื้นที่ป่าสงวน แต่เมื่อเป็นโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น ขยายทางรถไฟเพิ่มในพื้นที่ กลับสามารถทำได้ง่ายดาย ซึ่งทางพีระเมศร์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ชี้แจงว่า เป็นนโยบายในการพัฒนาของรัฐ จึงอนุมัติได้ตามขั้นตอน ส่วนถนนเข้าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ จะมีสถานะจะอยู่ในความดูแลของป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าหากอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ อย่างเป็นทางการ สามารถอนุมัติเรื่องในการดำเนินการได้

ในช่วงท้ายการประชุม ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และตัวแทนชุมชนบ้านขวัญคีรีนอก ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบกระบวนการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และชุมชนในอ.งาว จ.ลำปาง และให้ตรวจสอบกระบวนการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไททับพื้นที่ชุมชนบ้านแม่สาบและบ้านทรายมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง