เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “เหนือตะวัน Fest” ตลาดงานคราฟท์สินค้าคุณภาพจากชุมชน ณ Get Family เกษตรกรในสวนเพื่อน ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ Public Forum เพื่อแลกเปลี่ยนระดมไอเดีย หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการชาติพันธุ์ ณ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ภายในวันงานเริ่มต้นด้วยเวทีแลกเปลี่ยนระดมไอเดีย หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการชาติพันธุ์ นำโดย ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ จาก วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.สมคิด แก้วทรัพย์ จาก กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา และผู้แทนจากภาคีเครือข่าย อาทิเช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร มูลฟรีดริช เนามัน มาร่วมกันระดมไอเดีย แนะนำการเป็นผู้ประกอบการ และช่วยหาทางออกสำหรับปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์พบเจอในการทำธุรกิจ
สำหรับบริบททางพื้นที่ของพี่น้องชาติพันธุ์นับว่ามีความแตกต่างอย่างหลากหลาย ทั้งแตกต่างจากสังคมวัฒนธรรมแบบไทย และยังมีความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเองที่อาศัยคนละพื้นที่ ในปัจจุบันการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคแบบเดิมตามวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์อาจไม่สามารถทำให้ชุมชนอยู่รอดได้ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจออกสู่สังคมภายนอกอย่างกว้างขวาง “เราต้องการให้สาธารณะชนและคนที่สนใจงาน ให้ไปชม ให้ไปชิม ให้ไปใช้ เพื่อให้รู้ว่าทุนและศักยภาพของเรามีมากขนาดไหน อยากทำให้งานของคนชาติพันธุ์เป็นงานของทุกคน” สุวิชาน กล่าว
ด้าน เอกราช วิมานตระการ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะยอ บ้านแม่หาด อ.ขุนยอม จ.แม่ฮ่องสอน ได้แสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนถึงปัญหาถึงทักษะการชงกาแฟของคนในชุมชนของตน โดยต้องการให้เยาชนในหมู่บ้านมีทักษะการชงกาแฟที่หลากหลาย เพื่อต่อยอดธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวยังชุมชนของตน “ผมคิดว่าเครือข่ายที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น กสศ. เกษตรบนพื้นที่สูง และ อบจ. หรือ อบต. ที่เข้ามาหนุนเสริม ผมคิดว่ามีไม่เพียงพอ ผมอยากจะเห็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเข้ามาเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายในชุมชนผมด้วย และตอนนี้ยังขาดตัวแทนเยาวชนที่จะเข้ามาส่งเสริมการชงกาแฟภายในชุมชน” เอกราช กล่าว
ในช่วงหลังของเวทีเสวนาเป็นการเล่าประสบการณ์และแนะนำแนวทาง สำหรับผู้ที่สนใจในการเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้จะเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วก็ได้มีการแนะนำเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดธุรกิจของตนเองออกสู่ทั่วภูมิภาค โดยมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่าง อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟ “อาข่าอาม่า” และ นครินทร์ ยาโน ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า “Yano” มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการของตนเอง
ข้ามไปยังตลาดงานคราฟท์สินค้าคุณภาพจากชุมชน ภายในงานมีผู้ประกอบการจากพี่น้องชาติพันธุ์หลากหลายแหล่ง นำสินค้าที่เป็นจุดเด่นของชุมชนตนเองมาตั้งขายและถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลไล่โว่ Workshop การทำสบู่จากพืชทางการเกษตร การชงกาแฟจากเมล็ดท้องถิ่น หรือจะเป็นการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นภายในงานนี้ก็มีให้ได้ชมและร่วมสนุกไปพร้อมกับพี่น้องชาติพันธุ์ หากสนุกจนเหนื่อยและเกิดหิวขึ้นมา ภายในงานมีอาหารบุฟเฟต์ให้บริการ สำหรับงาน “เหนือตะวัน Fest” นับว่าเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์ี่สนใจเป็นผู้ประกอบการให้สามารถนำสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนต่อยอดออกสู่สังคม
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...