‘หล่มแล้ว หล่มอีก หล่มต่อ’ แสดงสดดันรัฐฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม 

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 เวลา 13.00-17.00 น. ศิลปิน 14 ชีวิต ได้แสดง Performance Art “หล่มแล้ว หล่มอีก หล่มต่อ / Collapse Time and Time Again” 2567 ณ เวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อต้องการให้เกิดการพัฒนาของรัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูชุมชน ระบบนิเวศของพื้นที่ชุมน้ำ สัตว์ตามธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยง ในพื้นที่เวียงหนองหล่ม

พื้นที่เวียงหนองหล่ม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด โดยโครงการศิลปะแสดงสด “หล่มแล้ว หล่มอีก หล่มต่อ / Collapse Time and Time Again” 2567 ต้องการให้เกิดการพัฒนาของรัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน ระบบนิเวศของพื้นที่ชุมน้ำ สัตว์ตามธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยง ที่ได้อาศัยพื้นที่สาธารณะที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ถูกทำลายอย่างรวดเร็วไม่สามารถหวนกลับคืนได้ โดยเชื่อว่าผลงานศิลปะจะเป็นเครืองมือที่จะส่งพลังเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และยุติการพัฒนาที่ทำลายล้างวิถีชีวิตทางธรรมชาติและการทำลายวิถีทางวัฒนธรรมลง ให้กลับฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสภาพเดิมอย่างเร่งด่วน ให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ วิถีชีวิตของผู้คน และรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ได้พึ่งพาอาศัยอยู่ในเวียงหนองหล่มแห่งนี้อย่างยั่งยืนต่อไป

โดยข้อมูลจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย และมีมติประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ปี พ.ศ. 2566 – 2570 จังหวัดเชียงรายได้รับอนุมัติโครงการจำนวน 65 โครงการ วงเงิน 3,880.85 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาเวียงหนองหล่ม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและโบราณคดี และด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จเวียงหนองหล่ม จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากภาคการเกษตรถึง 49,792 ไร่ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำเพิ่มเป็น 24.22 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่กว่า 35.00 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประชาชนได้รับประโยชน์ 14,531 ครอบครัว สามารถลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 13,300 ไร่ อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชน และเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ รวมถึงจะเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย

นอกจากการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 07.00-10.30 น. บริเวณอนุรักษ์ป่าอั้น เวียงหนองหล่ม บ้านป่าสักหลวง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยโครงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนาน: การขับเคลื่อนระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่แอ่งเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ เทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมฟื้นใจเวียงหนองด้วยศรัทธาสืบชะตาป่าต้นอั้น มีการกล่าวโองการฟื้นใจเวียงหนองและสืบชะตาป่าอั้น ตลอดจนประกาศให้เวียงหนองหล่มมีสถานะบุคคลทางวัฒนธรรม และจะร่วมกันปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมให้กับเวียงหนองหล่ม

โดยภายในงานมีการแสดง Performance Art จากศิลปินทั้งหมด 14 ชีวิต ได้แก่

1. จุมพล อภิสุข / Chumpon Apisuk

2. จันทวิภา อภิสุข / Chantawipa Apisuk

3. สมพงษ์ ทวี / Sompong Tawee

4. พดุงศักดิ์ คชสำโรง / Padungsak Kochsomrong

5. ภัทรี ฉิมนอก / Pattree Chimnok

6. จักรกริช ฉิมนอก / Chakkrit Chimnok

7. ชินดนัย ปวนคำ / Chindanai Phuankam

8. กอบพงษ์ ขันทพันธ์ / Gobpong Khanthapan

9.พงศธร นาใจ / Pongsaton Najai

10.วีรยุทธ นางแล / Veerayut Nanglae

11. จักรพันธ์ ศรีวิชัย / Jakkrapan Sriwichi

12. Kelvin Shine Ko

13. ณัฐกรณ์ สุรินธรรม / Nattakorn Surintham

14. กีรติ วุฒิสกุลชัย / Keerati Wuttiskulchai

ซึ่งเวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetlands ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความหมายของคำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (ในมาตรา 1.1 และมาตรา 2.1 ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ) กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ Wetlands หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเล และที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร โดยข้อมูลจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย กล่าวว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามตากการพัฒนาในหลายรูปแบบ อาทิ การขยายตัวของเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง