ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา |
อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน 1) สำรวจตรวจตราเบื้องต้น ความเป็นไปได้ “ซอฟต์พาวเวอร์พะเยา” https://www.lannernews.com/18032567-01/
จังหวัดพะเยา เต็มไปด้วยเสน่ห์ของประวัติศาสตร์อารยธรรมเก่าแก่ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม แต่หากเป็นคนต่างถิ่นแล้วละก็ เมื่อนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวในพะเยา หลายต่อหลายคนก็มักจะนึกถึงเพียงชื่อ “กว๊านพะเยา” เป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดพะเยายังคงมีมากกว่ากว๊านพะเยา ทั้งวัดดังเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา มีคาเฟ่และที่พักร่วมสมัย สถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีกิจกรรม ประเพณี และอีเวนต์ต่าง ๆ ที่สนใจอีกมากมาย
เมื่อภาครัฐส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ท่องเที่ยว
ดังที่กล่าวไปแล้วว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ซึ่ง “การท่องเที่ยว” ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ โดยร่างแรกของโรดแมปซอฟต์พาวเวอร์ จากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่มีรายละเอียดข้อเสนอโครงการ 54 โครงการ จากกรอบวงเงินทั้งหมด 5,164 ล้านบาท พบว่าสาขาท่องเที่ยวยื่นของบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 3 จำนวนงบประมาณ 749,000,000 บาท เลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาภาพกว้างว่าการท่องเที่ยวสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมานับเป็นความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ตัวเลข 254.4 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 8 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการประมาณการว่ามีถึง 28 ล้านคน สร้างเม็ดเงินราว 1.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมประเทศไทยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเดิมที่ 3 ล้านล้านบาทในปี 2562
ใครบ้างมาเที่ยวพะเยา
ในอดีตระหว่างปี 2552 – 2562 มีผู้มาเยี่ยมเยียนจังหวัดพะเยาเฉลี่ยต่อปี จำนวน 486,679 คน และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.15 ต่อปี แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ล่าสุดแตะที่ระดับหนึ่งล้านคนแล้ว
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่าในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดพะเยาทั้งหมด 1,009,648 คน รวมจำนวนรายได้ทั้งหมด 2,290 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 966,706 คน ชาวต่างชาติ 42,942 คน
รวมรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 2,158 ล้านบาท เดือนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยมากสุดคือธันวาคม เดือนที่น้อยสุดคือมิถุนายน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวจังวัดพะเยาทั้งหมด 42,942 คน รวมรายได้ 132 ล้านบาท เดือนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากสุดคือมกราคม เดือนที่น้อยสุดคือสิงหาคม
จากการประเมินโดยผู้อำนวยการภาคเหนือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้ว่านักท่องเที่ยวที่มาในภาคเหนือนั้น 85% เป็นคนไทย และใน 85% เกิน 60-70% เป็นคนเหนือเที่ยวเหนือด้วยกันเอง คือเที่ยวภายในภูมิภาคเดียวกัน และอีก 15% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องใช้เงินเยอะการเดินทางต่อคนต่อทริปใช้เงิน 4,000-5,000 บาท เมื่อพิจารณาเฉพาะจังหวัดพะเยา พบว่านักท่องเที่ยวประมาณ 60% เป็นแบบนักทัศนาจร คือไม่ค้างคืน อีกประมาณ 40% เป็นนักท่องเที่ยวที่ค้างคืน
ทั้งนี้หากพะเยามีสนามบินเป็นของตนเอง ก็อาจจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้อีก โดยปัจจุบันกำลังมีโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา มีพื้นที่โครงการขนาด 2,813 ไร่ ค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 1,700 ล้านบาท และประมาณการค่าก่อสร้างรวม 2,201.485 ล้านบาท มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานในช่วง 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีตามลำดับ โดยในระยะ 10 ปีแรกคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี 2577 ตามความต้องการใช้ท่าอากาศยานจำนวน 78,348 คนต่อปี และในปี พ.ศ. 2587 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 94,920 คนต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้เครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งเหมาะสมกับขนาดลานจอดเครื่องบินและรันเวย์ท่าอากาศยานพะเยา
ปี 2567 นี้ มีแคมเปญการส่งเสริมการท่องเที่ยวพะเยาอย่างไรบ้าง?
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าในปีงบประมาณ 2567 นี้ ททท. มีแผนที่จะดำเนินการจัดโครงการ “เที่ยวพะเยา…สุขทันใจสร้างได้ไม่ต้องรอ” ( Phayao Instant Happiness Moment) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาให้เป็นที่รู้จัก โดยนำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยว 4 เส้นทางแห่งความสุขในพื้นที่จังหวัดพะเยา (สุขกาย (Nature), สุขใจ (Faith), สุขในวิถี (Local), สุขในอาหารอร่อย (Tasty)) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านช่องทางในการสื่อสาร Online และจัดกิจกรรม Agent /Media FAM Trip นำผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาทดสอบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเพื่อออกแบบเส้นทางและนำไปเสนอขายเป็นแพ็คเก็จท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทาง กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดพะเยามากยิ่งขึ้น ในห้วงเดือนธันวาคม 2566 จึงถึงเดือนเมษายน 2567 อาทิเช่น กิจกรรม Phayao Road Trip Check-in เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเช็คอินท่องเที่ยว 4 เส้นทางแห่งความสุข รับของที่ระลึกและสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 – เมษายน 2567 อีกทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายศรัทธาร่วมกิจกรรม Rally ท่องเที่ยวค้นหาความสุขใจ และ เช็คอิน ชม แชร์ ชวน ในแอปพลิเคชัน Tripniceday รับแลกของที่ระลึก และสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย และกระตุ้นการท่องเที่ยวพะเยาในช่วงกรีนซีซั่นด้วยกิจกรรมพิเศษต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อมอบส่วนลดและสิทธิพิเศษ ในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 นี้ด้วย
สำหรับเป้าหมายของการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาปี 2567 ททท.จะลงมาบูรณาการอย่างเต็มที่ คาดว่าการเติบโต 15 % มีผู้เยี่ยมเยือนประมาณ 1,300,000 คน ขึ้นไป รายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่ 1. จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องมากขึ้น 2.ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันก็ต้องมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างไอเดียใหม่ซอฟต์พาวเวอร์หนุนการท่องเที่ยวพะเยา
เมื่อพูดถึงจังหวัดพะเยาในแผนที่การท่องเที่ยวของประเทศ จังหวัดพะเยาถือเป็นเพียงเมืองรอง ซึ่งจากข้อมูล 9 เดือนแรกของปี 2566 พบว่ามีการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองรอง โดยเฉพาะในเมืองรอง 55 จังหวัด มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวถึง 73.32 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 34.47% สร้างรายได้กว่า 169,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.86% ส่วนในปี 2567 นี้รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านการดึงศักยภาพ Soft Power ของแต่ละที่มาเป็นจุดขาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน
จังหวัดพะเยาถือเป็นหนึ่งในเมืองรองที่เต็มไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวแฝงเร้นรอการพัฒนาให้เป็นที่นิยม โดยตัวอย่างไอเดียใหม่ซอฟต์พาวเวอร์หนุนการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยามีอาทิเช่น
ไฮบริดจ์แนวคิด Micro Tourism + Religious Tourism – “การท่องเที่ยว Micro Tourism” คือการท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ระยะทางประมาณ 150 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชม. ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ ที่เข้ามาท่องเที่ยวรวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น ส่วน “การท่องเที่ยวเชิงศาสนา” (Religious Tourism) หมายถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางศาสนา
พะเยาเป็นเมืองรองที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวในจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงรายหรือเชียงใหม่ การผสมผสานแนวคิด “การท่องเที่ยว Micro Tourism” และ “การท่องเที่ยวเชิงศาสนา” เนื่องจากจังหวัดพะเยามีสถานที่สำคัญทางศาสนาจำนวนมาก การผสานการท่องเที่ยวทั้งสองแบบเข้าด้วยกันจะช่วยสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน ทั้งนี้วัดในจังหวัดพะเยามีถึง 368 แห่ง (อยู่ในอำเภอเมืองพะเยามากที่สุด 96 แห่ง) นอกจากนี้อาจยังผสมผสานด้านความเชื่อศรัทธา เครื่องรางของขลังเข้าไปกับการท่องเที่ยว Micro Tourism + The Religious Tourism นี้ด้วยก็ได้
การท่องเที่ยวแบบแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างถิ่น (Cultural Exchange) – จังหวัดพะเยามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย 11 กลุ่มชาติพันธุ์ (ไทยวน, เมี่ยน, ม้ง, ลีซู, ปะโอ, ไทลื้อ, ลั๊วะ, ลาวเวียง, ภูไท, จีน และอีสาน) ซึ่งพะเยามีเทศกาลประเพณีสำคัญ ๆ เกี่ยวกับกลุ่มชาติชาติพันธุ์ ที่สามารถผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดได้ หากมีการสนับสนุนอย่างจริงจังนำหลายภาคส่วนและดึงธุรกิจอีเวนต์ทั้งในระดับประเทศและโลกเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่การจัดแบบราชการแบบในอดีต ตัวอย่างอาทิเช่น
“งานมหกรรมวัฒนธรรมสานส้มพันธ์อิ้วเมียนโลก” จัดที่อำเภอเมืองพะเยา เพื่อสืบสานและรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม การเชื่อมความสัมพันธ์และเกิดความสามัคคีในกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน สร้างการรับรู้และความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนาวิชาการ นิทรรศการเครื่องเงิน กิจกรรมแสดงบนเวที การสาธิต วิถีชีวิตและการละเล่นของอิ้วเมี่ยนการร้องเพลงอิ้วเมี่ยนดั้งเดิมและร่วมสมัย การประกวดธิดาอิ้วเมี่ยน ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน ซึ่งเป็นการนำทุนทางวิถีอิ้วเมี่ยนมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผ้าปัก เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ของฝากอิวเมี่ยน เป็นต้น งานนี้ยังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ เป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม รวมทั้งผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F
“งานสืบสานตำนานไทลื้อ” จัดที่อำเภอเชียงคำ เป็นงานได้รับการยกย่องว่าเป็นอัตลักษณ์ด้านประเพณีที่สำคัญของจังหวัดพะเยา ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกปี 2538 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างเยาวชนรุ่นหลังกับบรรพชนไทลื้อ รวมทั้งฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ และเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทลื้อให้คนทั่วไปได้รู้จักกันมากขึ้น
“งานประเพณีบุญบั้งไฟรวมพลคนอีสานล้านนา” จัดที่ตำบลอ่างทองและตำบลปางมดแดง อำเภอเชียงคำ ทั้งนี้ตำบลอ่างทองและตำบลปางมดแดง มีชาวอีสานอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากหลายจังหวัดของภาคอีสานทั้ง กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และมหาสารคาม เป็นเวลานาน และเมื่อมีพ่อแม่พี่น้องชาวอิสานเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก ขยายเป็นหลายหมู่บ้านของตำบลอ่างทอง ต่างก็ร่วมกันสานต่อประเพณีบุญบั้งไฟอันดีงามนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
Film Tourism ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาพยนตร์-ละคร-ซีรีส์ – Film Tourism หรือ Film-Induced Tourism ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์ (ซึ่งปัจจุบันอาจรวมไปถึงละครและซีรีส์ต่าง ๆ) ไอเดียนี้ แทนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดโดยตรงแล้ว อาจส่งเสริมให้มีใช้เรื่องราวหรือโลเคชันในจังหวัดพะเยา บรรจุอยู่ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดพะเยาได้
โดยเฉพาะภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ที่มีเนื้อหา “อิงประวัติศาสตร์” เนื่องจากจังหวัดพะเยามีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ วัฒนธรรม ประเพณี และโบราณสถานมากมาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ทั้งเรื่องราวของกษัตริย์และวีรบุรุษผู้สร้างเมืองพะเยา เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีอันเก่าแก่ของพะเยา เรื่องราวชีวิตของผู้คนในอดีต เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าละครย้อนยุคได้ปลุกกระแสการท่องเที่ยวในเที่ยวพื้นที่ประวัติศาสตร์มากขึ้น
ตัวอย่างไอเดียที่นำเสนอนั้น ล้วนเป็นแนวทางที่น่าสนใจและสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาได้ ผู้เขียนหวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนในท้องถิ่นเกิดไอเดียและร่วมเสนอแนวทางเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาและผลักดันให้การท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาก้าวหน้าและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ข้อมูลประกอบการเขียน
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา
- โครงการแผนที่ทุนทางสังคมจังหวัดพะเยา
- Film Tourism ท่องไปในภาพยนตร์, โตมร ศุขปรีชา, TAT REVIEW MAGAZINE
- “ธรรมนัส” ร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 66 “รวมพลคนอิสานล้านนา สืบสานตำนานบุญบั้งไฟตำบลอ่างทอง”, สยามรัฐ, 27 พฤษภาคม 2566
- เดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ กำชับหน่วยงานรัฐและเอกชน เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว, เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 3 ตุลาคม 2566
- ททท.เชียงราย ผนึกทุกภาคส่วนเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ“สุขทันที…ที่เที่ยวพะเยา”คาดรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท, ฐานเศรษฐกิจ, 11 ธันวาคม 2566
- เปิดงบฯ Soft Power ทั้ง 11 สาขา 54 โครงการ กว่า 5 พันล้านบาท, Rocket Media Lab, 5 มกราคม 2567
- ประเมินรายได้การท่องเที่ยวปี 2567 ฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์, TCIJ, 27 มกราคม 2567
- ผลักดันวัฒนธรรม “อิ้วเมียน” เป็นซอฟท์พาวเวอร์จังหวัดพะเยา, สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 17 กุมภาพันธ์ 2567
- เปิดภาพรวมตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายัง ‘จังหวัดพะเยา’ ปี 2566, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว: Center of Tourism Research and Development, 28 กุมภาพันธ์ 2567
- นายกฯ เชื่อมั่น จ.พะเยา มีศักยภาพ พร้อมยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก รองรับความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบิน, เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 18 มีนาคม 2567
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก