Rocket Media Lab พาสำรวจ ‘ไฟป่า’ เกิดขึ้นที่ไหน กระจายงบกันอย่างไร

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ จนต้องประกาศเขตภัยพิบัติใน 317 หมู่บ้าน 5 อำเภอ พร้อมกับจุดความร้อนที่สูงขึ้นในประเทศเมียนมาที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจนทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายอันดับหนึ่งของโลก 

Rocket Media Lab ชวนทำความเข้าใจการดูแลรับผิดชอบไฟป่าผ่านการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าทั้งหมดจากงบประมาณปี 2566

พื้นที่ที่เกิดไฟป่าจังหวัดไหนประสบภัยมากที่สุด

จากข้อมูลสถิติการเกิดไฟไหม้ป่าทั่วประเทศของส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2566 ซึ่งมีการระบุว่า ได้รับข้อมูลอัปเดตจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เท่านั้น พบว่า หากพิจารณาเฉพาะขนาดพื้นที่ที่เกิดไฟป่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พื้นที่ป่าในเขตอนุรักษ์นั้นเกิดไฟป่ามากที่สุดเป็นจำนวน 43,265.91 ไร่ รองลงมาคือ ตาก 12,123 ไร่ ลำปาง 12,065 ไร่ กำแพงเพชร 10,580 ไร่ และนครศรีธรรมราช 10,346.81 ไร่ โดยมี 25 จังหวัดที่ไม่ปรากฏข้อมูล และพื้นที่ที่เกิดไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ในปี 2566 รวมทั้งประเทศอยู่ที่ 166,467 ไร่



นอกจากนี้ เชียงใหม่เองยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่ามากที่สุดในปี 2565 อีกด้วย และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่ามากที่สุดในประเทศมาตั้งแต่ปี 2556 โดยก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2541 มี 4 จังหวัดที่ผลัดกันเป็นอันดับหนึ่งนั่นคือ อุทัยธานี ชัยภูมิ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช โดยสถิติสูงสุดอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ในปี 2541 จำนวน 75,788 ไร่ 

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาพื้นที่ที่เกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในจังหวัดนั้นๆ ว่าเป็นสัดส่วนมากน้อยเท่าใด จะพบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุดคือ หนองคาย โดยหนองคายมีพื้นที่เกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์ 1,908 ไร่ จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 27,019.16 ไร่ หรือคิดเป็น 7.062% รองลงมาคือยโสธร คิดเป็น 1.164% ลำพูน 1.160% อุดรธานี 1.144% และกำแพงเพชร 1.109% ในขณะที่เชียงใหม่นั้นอยู่ในอันดับที่ 9 คิดเป็น 0.857% 

ไฟไหม้ป่า มีหน่วยงานไหนดูแลรับผิดชอบบ้าง 

กระทรวงที่มีการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าโดยคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลเรื่องป่าไม้โดยตรง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมี 3 หน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟป่าโดยตรง คือสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลแผนงานและการจัดการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลเรื่องการทำแนวกันไฟ และกรมป่าไม้ดูแลเรื่องการดับไฟ โดยจะมีการตั้งงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการไฟป่าทั้งส่วนกลางและรายจังหวัดไว้ โดยในงบประมาณ ปี 2566 สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งงบประมาณส่วนกลางของโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไว้ที่ 2,150,000 บาท ในขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งงบประมาณส่วนกลางไว้ที่ 37,850,300 บาท และกรมป่าไม้ 107,626,100 บาท 

นอกจากนั้น งบส่วนใหญ่จะเป็นงบที่ลงไปยังหน่วยงานในพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช งบประมาณก็จะไปยังส่วนควบคุมไฟป่าของจังหวัดนั้นๆ โดยมีภารกิจหลักคือการจัดทำแนวกันไฟ ซึ่งอาศัยความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ อาสาสมัคร และประชาชนในพื้นที่ หรือของกรมป่าไม้ก็จะไปยังส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในจังหวัดนั้นๆ โดยมีภารกิจหลักคือปฎิบัติการด้านการควบคุมไฟป่า และสร้างการมีส่วนร่วมในการควบคุมไฟป่าให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

งบอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าคืองบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นก็คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล โดยแต่ละหน่วยงานก็มีการตั้งโครงการหลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินอุดหนุนหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำงานด้านไฟป่าโดยตรง โครงการอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า โครงการทำแนวกันไฟ หรือจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการจัดการไฟป่า ฯลฯ ไม่ใช่ทุก อบจ. อบต. หรือเทศบาล ที่จะมีโครงการและงบประมาณที่เกี่ยวกับการจัดการไฟป่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือปีงบประมาณนั้นๆ 

จัดการไฟป่าใช้งบเท่าไร แต่ละจังหวัดได้งบจากที่ไหนไปบ้าง 

หากพิจารณาจากงบประมาณปี 2566 จะพบว่า งบประมาณของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในงบด้านควบคุมไฟป่า จังหวัดที่ได้งบประมาณไปมากที่สุดคือจังหวัดเชียงใหม่ 64,225,780 บาท โดยมีเป้าหมายในการทำแนวกันไฟยาว 5,552 กิโลเมตร รองลงมาคือเชียงราย 25,596,960 บาท แม่ฮ่องสอน 21,922,820 บาท ลำปาง 20,009,220 บาท และตาก 19,322,780 บาท จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 จังหวัดนั้นอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศทั้งหมด



ส่วนงบประมาณของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นงบป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า จังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุดคือ กระบี่ 39,526,400 บาท สาเหตุที่ในปี 2566 กระบี่ได้งบประมาณสูงเป็นอันดับหนึ่งเพราะมี “โครงการรื้อถอนทำลายต้นปาล์มน้ำมันออกจากพื้นที่ที่หมดอายุ การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและไม่มีการต่ออายุการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” จำนวน 5,000 ไร่ ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 38,950,000 บาท ในขณะที่งบพัฒนาศักยภาพการป้องกันรักษาป่า มีเพียง 576,400 บาท โดยจังหวัดกระบี่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนพื้นที่ไฟป่าในเขตอนุรักษ์ แต่มีแนวกันไฟ 52 กิโลเมตร 

รองลงมาคือ น่าน 17,945,200 บาท ลำปาง 16,090,800 บาท แม่ฮ่องสอน 14,988,400 และเชียงใหม่ 12,515,800 บาท ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มจังหวัดในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่เช่นเดิม

นอกจากนั้น ยังพบว่ายังมีงบประมาณในโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในส่วนของสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดที่ได้งบมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน 463,050 บาท รองลงมาคือ เชียงใหม่ 364,640 ลำปาง 307,700 บาท พิษณุโลก 270,000 บาท และลำพูน 231,620 บาท 

โดยหากพิจารณาเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงกระทรวงเดียว จากทั้ง 3 หน่วยงาน (ไม่รวมงบกลาง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการใช้งบประมาณในการทำแนวกันไฟ 479,526,800 บาท ใน 64 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ใน 12 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร) กรมป่าไม้ ใช้งบประมาณในการดับไฟป่า รวม 220,519,500 บาท ใน 59 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ 17 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร) สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้งบในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า รวม 4,147,300 บาท ใน 22 จังหวัด (ไม่มีงบส่วนนี้ 54 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร) รวมแล้วกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า ในปี 2566 จากทั้ง 3 หน่วยงาน 704,193,600 บาท

ส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หากพิจารณางบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไฟป่าจาก อบจ. โดยดูจากข้อบัญญัติงบประมาณปี 2566 ของแต่ละ อบจ. จะพบว่า อบจ. เชียงใหม่มีการตั้งงบไว้สูงที่สุด 10,870,000 บาท ภายใต้โครงการ “อุดหนุนมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน” รองลงมาคือ อบจ. อุบลราชธานี 500,000 บาท ใน “ค่าใช้จ่ายโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5” ตามด้วย อบจ. 3 จังหวัดคือ อบจ. เชียงราย 300,000 บาท ในโครงการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน” อบจ. ราชบุรี 300,000 บาท ใน “โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)” และ อบจ. ชุมพร 300,000 บาท ใน “โครงการทำแนวป้องกันไฟป่าและกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง” 

โดยงบ อบจ. ซึ่งดูจากข้อบัญญัติงบประมาณปี 2566 ของแต่ละ อบจ.  ที่เกี่ยวข้องกับโครงการป้องกันไฟป่าโดยตรง จะพบว่ามีเพียง 8  อบจ. เท่านั้นที่ปรากฏโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป้องกันไฟป่าโดยตรงในข้อบัญญัติงบประมาณปี 2566

จากนั้นเมื่อพิจารณางบที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าของ อบต. และเทศบาล จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพบว่า ทั้งหมดเป็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. และเทศบาลตำบล ภายใต้กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการจัดบริการสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม มี 66 จังหวัด รวม 49,181,000 บาท โดยจังหวัดเชียงใหม่มีการใช้งบส่วนนี้มากที่สุด รวม 3,066,800 บาท รองลงมาคือ ลำปาง 2,019,600 บาท อุบลราชธานี 1,982,200 บาท เชียงราย 1,963,500 บาท และเลย 1,870,000 บาท  

และเมื่อรวมเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจะพบว่า เชียงใหม่ มีงบประมาณมากที่สุด 13,936,800 บาท รองลงมาก็คือ อุบลราชธานี 2,482,200 บาท เชียงราย 2,263,500 บาท ลำปาง 2,219,600 และเลย 1,870,000 บาท

และหากพิจารณาจากงบประมาณทั้งหมดที่แต่ละจังหวัดใช้ในการจัดการไฟป่าจากทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกัน จะพบว่า จังหวัดเชียงใหม่ใช้งบประมาณสูงสุด 80,173,020 บาท รองลงมาคือ กระบี่ 41,640,500 บาท ลำปาง 38,627,320 บาท เชียงราย 38,551,540 บาท และแม่ฮ่องสอน 38,477,570 บาท โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคเหนือ

เชียงใหม่กับงบการจัดการไฟป่า 

หากพิจารณาการจัดการไฟป่าผ่านการใช้งบประมาณ ปี 2566 ของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกำลังประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันจนต้องประกาศเขตภัยพิบัติในบางพื้นที่อยู่ในขณะนี้ และเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์สูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่งยาวนานกว่า 10 ปี จะพบว่า เชียงใหม่ได้รับงบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องไฟป่าและหมอกควันโดยตรง ทั้ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 64,225,780 บาท โดยมีการกำหนดเป้าหมายการทำแนวกันไฟไว้ 5,552 กิโลเมตร กรมป่าไม้ 12,515,800 บาท โดยมีการกำหนดเป้าหมายไว้ 80 หมู่บ้าน และสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 364,640 บาท รวมทั้งหมด 190,106,220 หรือคิดเป็น 26.99% ของงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากทั้งประเทศ



ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณางบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะพบว่า เมื่อพิจารณาจากข้อบัญญัติงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2566 ไม่ปรากฏงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าในไฟล์งบประมาณปีนี้ แต่หากพิจารณาจากไฟล์งบประมาณปี 2567 มีการระบุว่าในงบประมาณปี 2564 มีโครงการ “อุดหนุนมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่” ในงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นงบประมาณ 13,656,300 บาท  และในปี 2565 ก็ปรากฏงบในโครงการเดียวกันนี้ แต่อยู่ในงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นงบประมาณ 13,670,000 บาท และปี 2566 ก็ปรากฏงบในโครงการเดียวกันนี้ในงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน มีงบประมาณ 10,870,000 บาท 

ในส่วนของงบ อบต. กับเทศบาลนั้น หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพบว่า เชียงใหม่มีการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบุรายละเอียดว่าเป็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยปรากฏเป็นจำนวน 111 รายการ แบ่งเป็น 42 เทศบาลตำบล และ 59 อบต. รวม 3,066,800 บาท ซึ่งมากที่สุดในประเทศเช่นเดียวกัน 

นอกจากนั้น ในวิกฤตไฟป่าที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งคาบเกี่ยวทั้งงบประมาณปี 2566 ที่ใช้ไปพลางก่อนและงบประมาณปี 2567 ที่สภาฯ เพิ่งจะลงมติผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567  เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครม. ยังได้อนุมัติงบกลางเป็นจำนวน 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2567 อีกด้วย  

ดูข้อมูลดิบที่ https://rocketmedialab.co/database-forest-fire-budget/ 


หมายเหตุ: 

ข้อมูลพื้นที่ไฟไหม้ป่าในเขตอนุรักษ์ จากสถิติการเกิดไฟไหม้ป่าทั่วประเทศของส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2566 (ข้อมูลสิ้นสุดถึงเดือน พ.ค. 2566) 

ข้อมูลงบประมาณ ประกอบด้วย งบกระทรวงทรัพยากรฯ ดูเฉพาะงบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าโดยตรง จากเอกสาร การจัดสรรงบประมาณ ประจำ ปี 2566 ที่ดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัด และงบประมาณในส่วนของ อบจ. ดูเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าโดยตรง จากเอกสาร ข้อบัญญัติงบประมาณประจำ ปี 2566 ของอบจ. ในแต่ละจังหวัด และงบประมาณของ อบต.+เทศบาล ดูเฉพาะงบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าโดยตรง จาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง