น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

“คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 50 ปีให้หลังที่สร้างให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง แต่ภายใต้การพัฒนาเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่กลับไม่ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับกับการขยายตัวของเมืองส่งผลให้คลองแม่ข่าที่เป็นดังระบบระบายน้ำของเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียซึ่งส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน

ในวันนี้การพัฒนาคลองแม่ข่าระลอกใหม่ได้เดินหน้าตามแผนแม่บท (พ.ศ. 2561 – 2565) ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นดังร่มใหญ่ที่ก่อให้เกิดการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ที่หลายคนรู้จักในชื่อ โอตารุเมืองเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวระยะทาง 750 เมตรส่วนหนึ่งของคลองแม่ข่าที่มีความยาวถึง 11 กิโลเมตรที่พาดผ่านอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นดั่งอีกหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่คลองแม่ข่าจะกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง?

ที่นี่แม่ข่า ลำน้ำชัยมงคล 

คลองแม่ข่า หรือที่คนเชียงใหม่เรียกคลองสายนี้ว่า ‘น้ำแม่ข่า’ เป็นคลองโบราณของจังหวัดเชียงใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่เป็นหนึ่งในชัยมงคล 7 ประการที่พญามังรายทรงเลือกในการสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 ปีก่อนมีต้นกำเนิดมาจากดอยสุเทพ-ดอยปุย มีความยาวราว 31 กิโลเมตร ในอดีตมีหน้าที่เป็นเส้นทางในการสัญจร และเป็นเส้นทางระบายน้ำจากเขตตัวเมืองเชียงใหม่ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง และใช้ในการทำเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภค

มนวัธน์ พรหมรัตน์ อาจารย์จากสำนักวิชาพหุภาคและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เผยข้อมูลผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Manawat Promrat เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ว่า ชุมชนของราษฎรอยู่ในเขตริมกำแพงดิน ติดพื้นที่น้ำข่ามานานกว่า 130 ปีแล้ว (แผนที่ปี 2466 ของมิชชันนารียืนยันความคึกคักของแถบนี้ได้จากวัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ) มนวัธน์ยังเผยอีกว่า การกวาดต้อนผู้คนสมัยเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองของพระเจ้ากาวิละ ราว พ.ศ. 2339-2370 จะเห็นว่าเขตรอบกำแพงเมืองชั้นนอกหรือกำแพงดินริมน้ำข่านี้คือที่อยู่ของข้า (ไพร่พล) ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงแสน ไทเขิน หรือกลุ่มไทใหญ่ ปะโอที่เข้ามาพร้อมการค้าอาณานิคม และกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเป็นกำลังของบ้านเมืองและเศรษฐกิจ

มนวัธน์ กล่าวอีกว่า สามัญชนเหล่านี้ไม่ถูกนับเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของรัฐ ที่ดินจึงถูกบันทึกเพียงว่า “..มีบ้านเรือนราษฎรมาก ..” ไม่เหมือนที่ดินของชนชั้นนำ เจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ ที่ถูกจดจารด้วยชื่อนามอันแท้จริง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปักปันโฉนดในยุคแรก ๆ เมื่อสามัญชนไม่มีชื่อให้จดจารและจดจำ การขยับขยายเคลื่อนย้ายถิ่นที่ทำกินในยุคที่บ้านเมืองพัฒนาก็ไม่เคยถูกจดจำและบันทึกไว้เช่นกัน เมื่อยุคพัฒนาคลานคืบมาผู้คนจำนวนมากเข้ามาปักหลักทั้งถาวรและเวียนผ่าน รอบ ๆ เขตกำแพงเมืองชั้นนอกและริมแม่ข่า

จากข้อคิดเห็นของ มนวัธน์ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนริมน้ำแม่ข่านั้นอาศัยอยู่มานานและเป็นแรงงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีต ผนวกกับการเติบโตของเมืองผ่านแผนการพัฒนาเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บรรดาเหล่าห้างร้านต่าง ๆ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจรถทัวร์ ร้านอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวผุดเป็นดอกเห็ดในช่วงแผนการพัฒนาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีระบบและแผนรองรับในการพัฒนาดังกล่าว ส่งผลให้คลองแม่ข่าที่เป็นสายน้ำที่้เคยหล่อเลี้ยงคนในเมืองและพื้นที่ตอนใต้ กลายเป็นระบบรองรับน้ำเสียจาก อาคารบ้านเรือน ชุมชน โรงแรม ตลาด ห้างร้านต่าง ๆ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น และลำคลองที่แคบลง

โดยปัจจุบันพื้นที่รอบคลองแม่ข่าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากเอกสารประกอบการเสวนาการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแม่ข่า ในหัวข้อ “ความจริงสถานการณ์ที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่าและอนาคตของการร่วมพัฒนา” โดย สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 จากการสำรวจข้อมูล 1,865 ครัวเรือน เผยตัวเลข ชุมชนที่อยู่บริเวณคลองแม่ข่าทั้งหมด 21 ชุมชน มีบ้าน 2,169 หลังคาเรือน และมีประชากรรอบคลองแม่ข่า 4,361 คน เท่ากับ 3% ของประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีประชากรกลุ่มเปราะบางทั้งหมด 1,221 คน (ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ผู้ป่วยเรื้อรัง และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) 

ในเอกสารฯยังเผยข้อมูลประชาชนที่อาศัยบริเวณอยู่ในคลองแม่ข่ามีสิทธิในที่ดินแบ่งเป็น 2 กรณีคือ สัญญาเช่ากับหน่วยงานเจ้าของที่ดินระยะเวลาสัญญา 1-3 ปี ทั้งหมด 72% และไม่มีกรรมสิทธิ์ 28% ซึ่งมีหน่วยงานเจ้าของสัญญาเช่าที่ดิน แบ่งออกเป็น 2 เจ้าใหญ่ๆ ได้แก่ ราชพัสดุ 61% เทศบาลนครเชียงใหม่ 21% และที่ดินอื่นๆ อีก 18% โดยมีการใช้ประโยชน์อาคารส่วนใหญ่

โอตารุเชียงใหม่ หรือสายน้ำแห่งนี้ไม่ใช่ของเราทุกคน?  

ด้วยปัญหาน้ำเน่าเสียคลองอุดตันของคลองแม่ข่าที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน เหล่าผู้คนต่างถิ่นที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองแม่ข่า รวมไปถึงชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มากว่า 100 ปี ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียทั้ง ๆ เป็นจำเลยที่ต้องรับกรรมจากปัญหาน้ำเน่าเสีย มีชุมชนหลายร้อยหลังคาเรือนที่ถูกให้ออกจากพื้นที่อยู่อาศัย อาทิ ถูกให้ออกจากพื้นที่ของชุมชนคลองเงิน 57 หลัง เพื่อปรับภูมิทัศน์และแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561

การถูกให้ออกจากพื้นที่ พื้นที่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผนึกของหลายภาคส่วนกำลังที่ต้องการจะพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้ ใสสะอาด สว่างตา สงบเรียบร้อย ไร้สีดำบนน้ำสีใส จึงเกิดเป็น โครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดโครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า มี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ฯ เป็นประธาน ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาฟื้นฟูคลองแม่ข่า มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

โครงการพัฒนาฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองแม่ข่า เป็น 1 ใน 10 โครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงงานมอบให้หน่วยราชการในพระองค์บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตั้งแต่ปี 2561 เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด ได้เผยคลองที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานมอบให้หน่วยราชการในพระองค์ฯ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ประกอบด้วย คลองแม่ข่า, คลองบางลำพู, คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม, คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด), คลองวัดสังเวช, คลองแสนแสบ, คลองวัดตรีทศเทพ, คลองหลอดวัดราชบพิธ และ คลองหลอดวัดราชนัดดา

ภาพ: เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด 

เพจ สืบสาน รักษา ต่อยอด ยังเผยว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการนำสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงใต้ดิน และย้ายคนเร่ร่อนอาศัยในพื้นที่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ของภาครัฐ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ริม 2 ฝั่ง ให้เหมาะสมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสันทนาการ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่

จากโครงการฯ ดังกล่าวจังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดทำ ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2565)’ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘คลองสวย น้ำใส  ไหลดี  ชุมชนมีสุข’ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉบับที่ 1 (พ.ศ 2555-2560) จากการผลักดันของจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน โดยแผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 2 มีเป้าหมายเพื่อ 1.ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพดีขึ้น 2.มีน้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี 3.ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน และ 4.ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข็งขัน, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) มีประเด็นยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1: ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

มีกลยุทธ์ พัฒนาแหล่งน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคลองแม่ข่า, ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมตามฤดูกาล, พัฒนาและปรับปรุงลำน้ำคลองแม่ข่า และลำน้ำสาขา, ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและการบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดขอบเขตลำน้ำแม่ข่า

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาคุณภาพน้ำ

มีกลยุทธ์ ส่งเสริมมาตรการการป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา, ส่งเสริมระบบการบริหารจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือนและสถานประกอบการ, ส่งเสริมและให้ความรู้การจัดการน้ำเสียแก่แหล่งกำเนิดมลพิษ/ครัวเรือนให้รักษาน้ำไม่เกินค่ามาตรฐานและการปฏิบัติตามกฏหมาย

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3: ส่งเสริมการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม

มีกลยุทธ์ ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมตลอดสองฝั่งคลอง, พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

มีกลยุทธ์ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อพัฒนา แก้ไขปัญหา และใช้ประโยชน์จากคลองแม่ข่า, เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ คลองแม่ข่าแบบมีส่วนร่วมของชุมชน, ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สังคม มุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) นี้ในปี 2564 เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการดำเนินโครงก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่า พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ตั้งแต่บริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ถึงประตูก้อม ระยะทางประมาณ 750 เมตร ใช้งบประมาณ 22 ล้านบ้านเศษ แล้วเสร็จในปี 2565 ในสมัยของ อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่คนปัจจุบัน การปรับปรุงภูมิทัศน์นี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เรารู้จักกัน ‘โอตารุเชียงใหม่’ เป็นก้าวแรกในการดำเนินงานตามแผนแม่บทเพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาใสสะอาด และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน?

ทุนในน้ำ การท่องเที่ยวแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

โอตารุเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในปี 2565 ร้านรวงเล็ก ๆ จากชุมชนรายรอบเรียงรายขายสินค้าของที่ระลึก อาหารหลากชนิดและหลากหลายเชื้อชาติ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มดับกระหายคลายร้อนจากเดินบนคูน้ำตลอด 750 เมตร ถูกวางเรียงรายตามข้างทางเดินเลียบคลองขาวสะอาดตา ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้าถ่ายภาพเก็บบรรยากาศอันสวยงามคล้ายกับญี่ปุ่นอยู่แค่เอื้อม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในระยะ 750 เมตร จากการขายอาหาร ของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณดังกล่าว

“หากพบว่ามีนายทุนหรือบุคคลภายนอกเข้ามาซื้อสิทธิ เพื่อหาประโยชน์จากคลองแม่ข่าที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะและโบราณสถาน” นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ 

ภาพ: เชียงใหม่นิวส์

ประกาศจากผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร จากการประชุมติดตามการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า สร้างความเชื่อมั่นว่าคลอง 750 เมตรดังกล่าวที่ต้องการพัฒนาเพื่อปรับภูมิทัศน์ พัฒนาคุณภาพน้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จริง ๆ แต่หากมาดูในปี 2567 จะพบว่าร้านรวงเล็ก ๆ จากชุมชนนั้นถูกแทรกด้วยร้านผับบาร์ ร้านขายของชำขนาดใหญ่ จาก 1 ร้าน เป็น 2 ร้าน 3 ร้าน จนปัจจุบันพบร้านสะดวกซื้อชื่อดังเข้ามาเปิดบริเวณทางเข้าฝั่งขวาขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ว่าฯ ประกาศเมื่อ 2 ปีก่อน

กอปรกับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่เป็นสัญญาฯ กับชุมชนในระยะ 750 เมตร รวมถึงบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ริมคลองแม่ข่า พบว่า สัญญาเช่าดังกล่าวระบุว่าผู้เช่า ไม่สามารถนำที่ดินไปเช่าช่วง หรือให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์นอกจากเพื่ออยู่อาศัย 

ยกตัวอย่างพื้นที่ที่เกิดจากกรณีดังที่กล่าวไปข้างต้น 

ภาพถ่ายจากดาวเทียม

ข้อมูลจากราชพัสดุปี 2564 สัญญาเช่าจากราชพัสดุ พบว่าผู้เช่าพื้นที่ดังกล่าวใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัย และจากการลงพื้นที่สำรวจในปี 2565 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยบ้าน 2 หลัง จนกระทั่งในปี 2566 พื้นที่ดังกล่าวปรับเปลี่ยนเป็นบาร์

จากข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความงุนงงเป็นอย่างยิ่งจากการเกิดขึ้นของเหล่าร้านค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งตระง่านอยู่ที่คลองแม่ข่าระยะ 750 เมตรดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตไปว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการอยู่อาศัย แต่มีการสร้างเพื่อบาร์ขนาดใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ รวมไปถึงมีการเปลี่ยนสิทธิ์ในที่ดินซึ่งขัดแย้งกับประกาศของผู้ว่าฯเชียงใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นอกจากนี้พบอีกหลายกรณีที่มีการเช่าช่วง และเปลี่ยนสิทธิ์ ในที่ดิน-สัญญาเช่า ประเภทเดียวกัน โดยไร้การตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

โดยที่เสียงกระซิบจากชาวบ้านตั้งคำถามว่า การที่นายทุนเข้ามาหาประโยชน์ โดยขัดแย้งกับประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด และมีสิทธิพิเศษจากกรมธนารักษ์ ที่เหนือกว่าชาวบ้านแบบนี้ (ชาวบ้านได้สัญญาที่ระบุว่าเช่าเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น แต่นายทุนเปิดบาร์และร้านสะดวกซื้อได้) หรือจะเป็นการหาประโยชน์แอบแฝงของใครบางคนในหน่วยราชการเอง และถ้าหน่วยงานยังหลับตาข้างเดียวแบบนี้ต่อไป 

“คลองสวย น้ำใส ไหลดี … ชุมชน หรือ นายทุน กันแน่ที่จะมีความสุข” หนึ่งในชาวบ้านบริเวณคลองแม่ข่ากล่าวด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

จากอดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ายังคงปรากฏคำถาม และข้อสังเกตถึงหลักการ และรูปธรรมหลักฐานของ “การพัฒนาคลองแม่ข่าเพื่อความยั่งยืน หรือการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ชัดเจนตามแผนพัฒนาของรัฐ” รวมไปถึงแผนแม่บทคลองแม่ข่า ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) ที่ยังไม่เผยให้เห็นแนวทางการทำงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม หรือทิศทางการพัฒนาในอนาคตว่าสายน้ำอันทรงคุณค่า ซึ่งไหล่ผ่านกลางเมืองเชียงใหม่สายนี้จะถูกพลิกโฉมเปลี่ยนฉากไปสู่การพัฒนาที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริงได้อย่างไร 

รวมไปถึงการพัฒนาที่ยึดหลักกฏหมายการบังคับใช้ ที่ความเท่าเทียมเสมอภาค โปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นธรรมและมีมนุษยธรรม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยความรู้ และวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบด้าน สู่ลำน้ำที่ใสสะอาด เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ให้กับเมือง  และคิดถึงการอยู่อาศัยริมคลองที่ดีกว่า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนทุกกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนาคลองแม่ข่าเป็นทั้งสิ่งใหม่ และมรดกการพัฒนาที่เราทุกคนภาคภูมิใจ การพัฒนาคลองแม่ข่าในวันนี้และอนาคต จะอยู่ในสมการและคำตอบของการพัฒนาเช่นนี้หรือไม่ ขอเชิญชวนทุกท่านที่ห่วงใยคลองแม่ข่า และรักเมืองเชียงใหม่ ร่วมตั้งคำถาม จับตา และหาคำตอบร่วมกันต่อไป…

อ้างอิง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง