เมษายนช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ลำปางถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถิติอุณหภูมิร้อนแรงติดอับดับต้น ๆ ของรัฐไทย จากการติดตามข่าวผ่านสื่อในรอบสัปดาห์ คำว่า “ลำปางร้อนมาก” เป็นที่พูดถึงถกเถียงกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสโลแกนอันหนึ่งของจังหวัดลำปางที่ประชาชนทั่วไปจดจำขนานนามว่า “ลำปางหนาวมาก” ถือเป็นสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน เมื่ออากาศที่ร้อนแรงเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาควบคู่กับความร้อน คือ ฝุ่น PM 2.5 ที่ค่าของฝุ่นนั้นพุ่งทยานไม่แพ้สภาพอากาศที่ร้อนแรง รวมทั้งไฟป่าที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ
เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทัศนวิสัยการมองเห็นจากตัวเมืองไปยังดอยพระบาทที่อยู่ห่างจากตัวเมืองไม่มากนักกลายสภาพเป็นภูเขาที่หายไปในพริบตา เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่มีประชาชนร้องทุกข์ผ่านสื่อ เช่น ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่นำเสนอข่าวของประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งทะลุถึง 600 หรือกรณีที่ De lampang ประสบพบเจอจากข้อมูลสาธารณะผ่าน line OA : อากาศแม่เมาะวันนี้ ที่ระบุค่าฝุ่นสูงสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ว่ามีปริมาณค่าฝุ่นที่ 609 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว ส่งผลให้จังหวัดลำปางกลายเป็นแชมป์ของจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับหนึ่งของรัฐไทย ด้วยอัตราส่วน 45 : 100,000 คน
เมื่อปริมาณฝุ่นเป็นเช่นนี้ ประชาชนจังหวัดลำปาง มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หาย พร้อมกับตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต่อภารกิจที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา ผ่านจากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม lampang city เป็นช่องทางการสื่อสารที่จะส่งต่อผู้มีอำนาจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดมาตรการรองรับสถานการณ์อย่างจริงจัง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าสองเรื่องดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดไฟป่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั้น คือ หมอกควัน ที่เกิดจากการเผาไหม้ ส่งผลให้เกิดอนุภาคที่จะปนเปื้อนกับหมอกควัน เช่น คาร์บอร์มอนออกไศด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น ผนวกกับสภาพอากาศร้อนส่งผลให้อากาศแห้ง จะทำให้สารแขวนลอยในอากาศอยู่ได้นานมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมองว่าหากมีมาตรการควบคุมไฟป่าจะสามารถทำให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษ อย่างเช่น PM 2.5 ได้มากขึ้น De Lampang จะพาไปสำรวจข้อมูลของจังหวัดลำปางอย่างเข้มข้น
ลำปางกับการจัดการไฟป่า : อำนาจ กฎหมาย ปฎิบัติการ และการป้องกันปัญหา
“จังหวัดลำปาง” ถือเป็นจังหวัดที่ควรจะเกิดบทเรียนจากการปฎิบัติการด้านไฟป่า เนื่องจากเผชิญกับสภาพปัญหาลักษณะนี้ทุกปี ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์ มีความจำเป็นที่จะรับแนวทางหรือนโยบายที่จะต้องทำงานสอดรับกับคำสั่งจากส่วนกลาง ส่วนอำนาจหน้าที่การตัดสินใจจากประชาชนหรือข้อเรียกร้องของประชาชนอาจจะยังเกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 มีประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง กำหนดมาตรการขอความร่วมมือในการป้องกันควบคุมไฟป่าและการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด ยกเว้นพื้นที่ติดตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ลงนามโดย คุณชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีเนื้อหาใจความสำคัญต่อการเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการลักลอบเผาหรือการเผาในพื้นที่โล่ง มีการจัดตั้ง War Room ระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
สำหรับจังหวัดลำปาง ข้อมูลจาก Rocket Media Lab บ่งชี้ว่า งบประมาณจัดการไฟป่าจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 38,627,320 บาท รองลงมาจากจังหวัดเชียงใหม่และกระบี่ตามลำดับ
De Lampang มีโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามแผนงานบูรณาการเชิงพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง พบว่า มีการรายงานข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ในปี 2566 กว่า 31,670 ไร่ ขณะเป้าหมายของการดูแลรักษาพื้นที่ปี 2567 ต้องไม่เกิน 15,835 ไร่ อันถือเป็นเป้าหมายร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติงาน มีการวางแผนเชิงรับ ประกอบด้วย จัดตั้ง War room, ตั้งจุดเข้าออกพื้นที่ป่า, วิเคราะห์พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก รวมทั้งการทำแนวกันไฟ ส่วนการวางแผนเชิงรับประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้กับประชาชน, ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในการสร้างความร่วมมือกับประชาชนและการประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์ ขณะที่มีการร่วมงานกับหน่วยงาน เช่น สสส. ที่มาร่วมเป็นภาคีการทำงานสนับสนุนด้านทรัพยากร รวมทั้งเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมทำงานบูรณาการร่วมกัน
จากการเรียบเรียงข้อมูลและติดตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า พบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่า ประกอบด้วย พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 (มาตรา 54), พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 (มาตรา 63), พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (มาตรา 14), พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (มาตรา 19), พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 (มาตรา 55, มาตรา 67), พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (มาตรา 25, 26, 27, 28), ประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 217 218 219 220 224 225), พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (มาตรา 130) ถือว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากและมีบทกำหนดโทษที่มีความชัดเจน
วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีการเปิดเผยข้อมูลจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดลำปาง เรื่องผลการดำเนินงานโครงการกิจกรรมตามแผนปฎิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดลำปาง (งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน) ในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โครงการลำปางสุขภาพดีไม่มีหมอกควัน (Lampang healthy smog free : A wellness Lampang project) อันเป็นกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอ จังหวัดลำปาง มีการมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง, ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ มีการนำร่องโครงการตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนมีส่วนร่วมต่อการดูแลแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ด้วยการใช้งบประมาณ 2,857,150 บาท
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายทรัพยากร ให้พื้นที่ดูแลปัญหาไฟป่าด้วยตนเอง
แท้จริงแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (24) ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเด็นเกี่ยวกับการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำหนดแผนงานที่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมและป้องกันไฟป่าโดย อปท. กว่า 2,542 แห่ง จากกรมป่าไม้
แนวทางการใช้รายการเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดวางระดับไว้ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับเล็ก (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่เกิน 49,999 ไร่) ระดับกลาง (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 50,000 – 100,000 ไร่) และระดับใหญ่ (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเกิน 100,000 ไร่) การแบ่งระดับดังกล่าวจึงเป็นมาตรฐานที่จะเกี่ยวข้องต่อการจัดการด้านอาสาสมัครดับไฟ อุปกรณ์ ตลอดจนทั้งงบประมาณ สำหรับค่าตอบแทนชุดเฝ้าระวัง ลาดตระเวน และดับไฟป่า มีเบี้ยเลี้ยงตามแนวทางและหลักเกณฑ์ในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณี อปท. เป็นหน่วยรับงบประมาณ อยู่ที่ 240 บาทต่อวัน
จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เป็นจำนวนเงิน 272,655,350 บาท ผ่านกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท มีวัตถุประสงค์ในการจัดเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลด PM 2.5 จากการมีส่วนร่วมของชุมชน ขณะที่นายกรัฐมนตรีมี KPI ในการใช้งบประมาณจำนวนนี้เพื่อลดไฟป่า 50 % และให้มีการนำข้อมูลดาวเทียมและการระบุจุด Hot Spot มาใช้
ท้ายที่สุดปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทุกปี ลำพังจะรอคอยเพียงแต่ความเห็นใจจากเทวดาในการเกิดขึ้นของฝนที่ตกมาชะล้างฝุ่นและดับไฟคงไม่เป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนบทเรียนที่ยังถอดบทเรียนกันไม่แล้วเสร็จ หลายชีวิตที่ต้องมาเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น เครื่องฟอกอากาศหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อนาคตคงมีการสูญเสียชีวิตจากการป่วยด้วยมะเร็งปอดมากขึ้น ขณะที่มีประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัคร กำลังเผชิญหน้ากับไฟป่าในป่าลึกหรือป่าข้างทางที่โหมไหม้ทุกสรรพสิ่งที่ไฟกำลังพาดผ่านไป ท่ามกลางความไม่พร้อมในด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ที่ทำให้เกิดการจำกัดความสูญเสียให้ควบคุมได้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าการวางแผนการรับมือตลอดจนปฎิบัติการหน้างานมีความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกระดับเรื่องไฟป่าและ PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดต่อการรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกคน
อ้างอิง
- https://www.youtube.com/watch?v=KptzwPosRA8
- https://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2023/5/2365_6294.pdf
- https://www.agenda.co.th/social/lung-cancer-thailand/#google_vignette
- https://www.lampang.go.th/ita/Document/2567/O12_file67-2en.pdf
- https://rocketmedialab.co/forest-fire-budget/
- https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2023/1/28700_3_167357706680.pdf?time=1673579536176
- https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79910
- https://www.facebook.com/share/p/fdbsY2P725s1tMNq/?mibextid=qi2Omg
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง