เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดการประกาศข้อเสนอในเวที ‘วาระเชียงใหม่’ : วาระสุขภาพ ขึ้น สถานที่จัดงานคือ โรงแรมดิเอมเพรส จ.เชียงใหม่ ภายในงานเริ่มตั้งแต่เวลา 8.30-13.00น. ประกอบไปด้วยเวทีวาระเชียงใหม่ บูธการให้คำปรึกษาสำหรับคุณสมบัติผู่สมัคร สว. บูธลดฝุ่นไม่ได้ก็ลดค่าใช้จ่ายให้กันก่อน และบูธร่วมลงชื่อรณรงค์ให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพ
วาระที่ 1 วาระยกระดับ รพ.สต. ผลความร่วมมือระหว่าง อบจ.เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ทิศทางและอนาคตบริการสุขภาพปฐมภูมิ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้เข้าร่วมรายงานประกอบไปด้วย 1.เสรี เพ็งสารท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ 2.โสดาบัณ อุตมาแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านแม่ข่า 3.ไพโรจน์ จุลมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านร่มเกล้า 4.พัชรี เล็นป่าน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอำเภอสันทราย 5.ปรานอม โอสาร หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ6.อรชร แซ่จาง หัวหน้าศูนย์วิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กองเลขานุการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่
ภายในเวทีเริ่มโดย เสรี เพ็งสารท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานถึงการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ว่ามีขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย แต่ก่อนที่ อบจ. จะรับถ่ายโอน ต้องผ่านการประเมินจากคณะกรรการจากส่วนกลาง ซึ่ง อบจ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 49 อบจ. แรก ที่รับถ่ายโอนเมื่อปี พ.ศ.2565 ซึ่งด่านแรกของ อบจ. คือการประเมินสมรรถณะของตัวเอง 4 ด้าน ซึ่ง อบจ. เชียงใหม่ประเมิณแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลิศ หมายถึงสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งจังหวัด เบื่องต้นในปี 2566 ถ่ายโอน รพ.สต.มาแล้ว 62 แห่งจาก 12 อำเภอ และในปี 2567 เพิ่มอีก 7 แห่ง และในปี 2568 จะเพิ่มไปอีก 13 แห่ง ซึ่ง รพ.สต. ในเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 267 แห่ง ถ่ายโอนมาแล้ว 69 แห่ง นับเป็น 23% ของทั้งหมด การโอนถ่ายล้วนเป็นความสมัครใจของแต่ละแห่งและกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอน โดยในแต่ละปีจะมีการถามหน่วยงานในแต่ละอำเภอถึงความต้องการย้ายเข้าสู่ อบจ.เชียงใหม่ และเมื่อหลังจากย้ายเข้ามาแล้วแนวทางของการทำงานของ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งนโยบาย “สุขภาพดีใกล้บ้าน” จากเดิมที่ประชาชนในท้องถิ่นเมื่อเจ็บป่วยจะต้องไปโรงพยาบาล แต่ตอนนี้ อบจ.เชียงใหม่ เรามีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และนักกายภาพ ซึ่งบุคลากรจะอยู่ประจำที่ 10 CUP (Contracted unit of primary care) ใน 10 อำเภอ มีการสอบและบรรจุบุคคลาการเหล่านี้โดยใช้งบประมาณของทาง อบจ.เชียงใหม่ การส่งต่อผู้ป่วย จากเดิมผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่หลักที่ตนมีสิทธิการรักษาถึงจะสามารถส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่ปัจจุบันนโยบายของนายก อบจ.เชียงใหม่ มีการอนุญาตให้ผ่านไปรักษายังโรงพยาบาลใกล้บ้านผู้ป่วยได้เลย โดยที่ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทาง อบจ.เชียงใหม่ จะตามออกค่าใช้จ่ายให้ โดยบัตรประชาชนใบเดียวสามารถรักษาได้ทุกโรคตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
โสดาบัณ อุตมาแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านแม่ข่า รายงานถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา รพ.สต.บ้านแม่ข่า ว่ามีการพัฒนาศักยภาพในการเข้าถึง โดยมีแพทย์ประจำอยู่ทุกวัน การขอใบรับรองแพทย์สามารถทำโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่ง 12 รพ.สต. นี้แยกการบริหารออกจากกัน ใครทำได้ให้ทำไป โอนแผนให้กันได้ ซึ่งในตอนนี้ทำมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ประชาชนรู้สึกชอบ รู้สึกว่ามาถูกทางตอนนี้มีโครงการที่ต้องดำเนินการ ประกอบไปด้วย การศึกษาผู้ป่วย NCDs (Non-Communicable Diseases) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ว่าต้องทำอย่างไรในผู้ป่วย และการทำเรื่องนักวิชาการที่จะมาเป็นไลฟ์โค้ชเพื่อพูดคุยอาการกับคนไข้
ไพโรจน์ จุลมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านร่มเกล้า รายงานถึงการได้ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน พบว่าคนไข้กินยาเหลือจากที่แพทย์ให้มา ซึ่งปกติแพทย์จะนัด 2 เดือน 1 ครั้ง แต่ตอนนั้นภายไปแล้ว 2 เดือนกว่า แต่ยายังไม่หมด จึงเกิดการทำเรื่องยาขึ้น โดยทำการจัดอบรมอาสาสมัครเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน จำนวน 60 คน ซึ่งมีผู้ป่วยมากถึงเกือบพันคน สิ่งที่ทำคือการลงสำรวจผู้ป่วยและได้พบว่าผู้ป่วยจะเหลือยาไว้เป็นจำนวนมาก บางคนปล่อยให้ยาหมดอายุ หรือนำยาใหม่ผสมกับยาเก่า สิ่งที่ รพ.สต.ร่มเกล้า ได้รับก็คือการได้รู้พฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วย รู้ถึงประวัติส่วนตัวของผู้ป่วย แต่โครงการนี้ยังไม่ได้รับการสรุปภาพรวม ต้องกลับมาคุยกันเพื่อหาแนวทางการดำเนินการต่ออีกครั้ง
พัชรี เล็นป่าน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอำเภอสันทราย รายงานถึงการทำงานของ อสม. ที่เดินไปพร้อมกับ รพ.สต. พร้อมกับนโยบายของ อบจ. แต่ละโครงการ ซึ่ง อสม. ทำงานร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ และทำได้ทุกอย่าง เพื่อสุขภาพของประชาชน ส่วนการเข้ารับบริการของประชาชนในเรื่องการย้ายสิทธิ ซึ่ง อสม. เป็นผู้ที่ชักชวนให้ประชาชนย้ายสิทธิการรักษามายัง รพ.สต. ใกล้ตนเอง ในช่วงแรกเกิดการสับสนของประชาชนในการย้ายสิทธิการรักษา โรงพยาบาลไม่มีการประสานไปยัง รพ.สต. ทำให้ประชาชนต้องเสียเงินรักษาหลังจากที่ย้ายสิทธิมาแล้ว ส่วน อสม. ก็ต้องเข้าไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจใหม่ การคลีคลายปัญหาคือให้ อสม. ไปแจ้งให้กับประชาชนว่าการรักษากับโรงพยาบาลต้องแนบใบส่งตัวไปก่อน ให้แนบกับใบนัดทุกครั้ง รอให้ทางข้างบนประสานงานกันเสร็จ ทำให้เห็นว่าการที่มี อสม. เป็นคนประสานงานภาคประชาชน ทำให้เกิดคลี่คลายและความสบายใจแก่ประชาชน
ด้าน กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองเครือข่ายชาติพันธุ์ ได้ตั้งคำถามหารือถึงการจัดบริการสุขภาพให้กลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในอำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจเคยได้การรับบริการจาก รพ.สต. แต่เมื่อในวันนี้ รพ.สต. ได้โอนย้ายเข้า อบจ.เชียงใหม่ คนกลุ่มนี้ต้องเปลี่ยนการเข้ารับบริการหรือไม่ เข้าถึงนโยบายที่นำเสนอมาอยู่หรือเปล่า ซึ่ง เสรี เพ็งสารท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า เดิมทีประชากรที่ไม่มีสิทธิ ผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างแรงงานจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายการรักษาให้ในการมารักษาที่ รพ.สต. ซึ่งในพื้นที่ที่ กิ่งแก้ว กล่าวมามีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มาก แต่งบประมาณของสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคมีเพียงพอสำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิเท่านั้น ในเบื่องต้นจะนำไปปรึกษาผู้บริหารว่าจะมีงบประมาณเพิ่มมาในส่วนนี้มั้ย
วาระที่ 2 วาระสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพที่ดีกว่า ตอบโจทย์คนเชียงใหม่
ผู้เข้าร่วมรายงานประกอบไปด้วย 1.สุรเชษฐ์ บุญเทพ ที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ 2.นิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย 3.อนันต์ แสงบุญ ผู้จัดการธนาคารเวลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 4.รัฐวิทย์ อภิพุฒิพันธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส 5.กิ่งแก้ว จั๋นติ๋บ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองเครือข่ายชาติพันธุ์ 6.นันท์นภัส ก่องแก้ว ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบเชียงใหม่ และ7.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาเวอร์ ดำเนินรายการโดย นันท์นภัส ลำดวนมหาวัน มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพภาคเหนือ
ภายในเวทีเริ่มโดย สุรเชษฐ์ บุญเทพ ที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ รายงานปัญหาที่ผู้สูงอายุเจอในการเข้าใช้การบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการต้องตื่นแต่เช้าในการไปใช้บริการ การบริการที่ล่าช้าและหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก อีกทั้งผู้สูงอายุยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 รวมถึงความกังวลต่อนโยบายของ อบจ.เชียงใหม่ ว่าหากไม่ใช้นายกคนเดิมในวาระต่อไป นโยบายที่เคยมีจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยนายกคนใหม่หรือไม่ ซึ่งอีกไม่กี่เดือนจะเกิดการเลือกตั้งขึ้น
นิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย รายงานถึงประเด็นเรื่องเด็ก ซึ่งภายในภาคเหนือพบว่ามีอัตราการเกิดน้อย แต่ถึงแม้จะน้อยกลับพบว่าเด็กที่เกิดจากลุ่มชาติพันธุ์มีอัตราสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเรื่องการคุมกำเนิดยังเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้ ซึ่งได้มีความพยายามในผลักดันเรื่องนี้ อีกทั้งหาก รพ.สต. โอนย้ายหน่วยงานไปอยู่กับ อบจ. แล้วจะสามารถลงทุนในด้านเด็กได้จริงไหม และจากการสำรวจพบว่าเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงถุงยางอนามัยไม่ได้ เนื่องจากระบบบริการยังไม่เป็นมิตรแก่เยาวชนไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน สุดท้ายยังเสนอว่า การทำงานกับเยาวชนที่ดีที่สุดคือให้เยาวชนมีส่วนร่วม
ด้าน อนันต์ แสงบุญ ผู้จัดการธนาคารเวลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งคำถาม ถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุว่าทาง อบจ. นำร่องจัดหาและบริการฉีดให้ผู้สูงอายุตาม รพ.สต. แต่ละแห่งได้หรือไม่ อีกทั้งต้องให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปอดด้วย
รัฐวิทย์ อภิพุฒิพันธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส รายงานถึงประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเปราะบางและควรส่งเสริมให้ได้รับการบริการสุขภาพในการตรวจหาเชื้อ HIV ซึ่งทางมูลนิธิเอ็มพลัสมองหาถึงความยั่งยืนในการให้บริการด้านสุขภาพ จึงเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสุขภาพในชุมชนที่สามารถตรวจหา HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากตรวจพบว่าผลเลือดเป็นลบ จะทำการส่งเริมเรื่องของการป้องกัน การแจกถุงยางอนามัย บริการยาป้องกัน แต่ถ้าหากได้รับผลเลือดเป็นบวก จะพยายามให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด และให้ทานยาให้เร็วที่สุด มูลนิธิเอ็มพลัส ยังมีความพัฒนาอยากให้เป็นศูนย์บริการชุมชนแบบ One Stop Service ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ตรวจ และรักษาได้ในที่เดียว อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต มีบริการให้คำปรึกษาและจ่ายยาเบื้องต้น ท้ายที่สุดในประเด็นเรื่องฝุ่นควันทางมูลนิธิเอ็มพลัสได้มองเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สังเกตจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการกับมูลนิธิว่ามีอาการไอ เจ็บคอ จึงขอสนับสนุนให้คนภาคเหนือได้รับการตรวจปอดที่รวดเร็ว
กิ่งแก้ว จั๋นติ๋บ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองเครือข่ายชาติพันธุ์ รายงานถึงประเด็นความสำคัญและความสัมพันธ์ของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองว่าสำคัญสัมพันธ์กับทุกคนอย่างไร ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์พบประเด็นมากกว่ากลุ่มอื่น อีกประเด็นคือการกล่าวถึงเรื่องฝุ่นควัน กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในเมืองมองว่าทำการเผาไร่ทำให้เกิดฝุ่นนั้น ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองเครือข่ายชาติพันธุ์ไม่ได้นิ่งดูดาย เราได้เปลี่ยนแปลงความรู้ทางการเกษตรเป็นแบบที่เรียกว่า ชันโรง โดยต้องทดแทนการทำเกษตรแบบเดิมและชาวบ้านอยู่ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ได้เปลี่ยนมาทำแบบนี้เพื่อให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์สามารถอยู่กับธรรมชาติได้
นันท์นภัส ก่องแก้ว ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบเชียงใหม่ เสนอถึงสิทธิการรักษาที่เข้าไปอยู่ใน รพ.สต. เล็งเห็นการรักษาและคัดกรองโรคที่เกิดจากอาชีพของแรงงานนอกระบบ ซึ่งสิทธิของแรงงานนอกระบบจะมีอยู่ 2 สิทธิ คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพ และสิทธิประกันสังคม มาตรา 39 ซึ่งพบว่ามีความเลื่อมล้ำในนการเข้าถึงสิทธิ ระบบสุขภาพควรเป็นมาตรฐานเดียว อีกทั้งยังเสนอให้มีการตรวจสุขภาพแบบคัดกรองอาชีพ ซึ่งต้องลงลึกถามถึงอาชีพของผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการป้องกันและหาทางออกอย่างเหมาะสม
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาเวอร์ เสนอถึงปัญหาในปัจจุบันที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นในตอนนี้มีการรณรงค์ให้ทุกคนควรได้รับการตรวจปอด ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน อีกเรื่องคือสิทธิของ Sex Worker ที่ควรได้รับการเข้าถึงถุงยางอนามัยในสถานบริการ โดยเป็นอุปกรณ์ช่วยในการป้องกัน แต่ในปัจจุบันถุงยางอนามัยกลับเป็นสิ่งที่เอาไว้อ้างถึงการค้าประเวณี
ก่อนจบเวที สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กองเลขานุการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประกาศวาระสำคัญ จากที่ประชุมวาระเชียงใหม่ : วาระสุขภาพ ขอเชิญร่วมลงชื่อ “ผลักดัน” ให้คนเหนือในพื้นที่เสี่ยงสูงจากผลกระทบปัญหาฝุ่นควัน ได้รับ “การคัดกรองมะเร็งปอด” ในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรายชื่อจะนำส่งให้- สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ในการขับเคลื่อนเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ต่อไปโดย Scan Qr-Code หรือเข้าไปที่ Link https://forms.gle/Hhz7tLQeuPCgzvi36
“สุขภาพทุกคนมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติพันธุ์ไหน เพศอะไร ทุกคนต้องได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าไปรับผิดชอบและจัดการระบบให้ทุกคนได้รับอย่างได้เท่าเทียมกัน ในท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นควัน เราต้องได้รับการตรวจมะเร็งปอด ประชาชนต้องลุกขึ้นมาพูดเพื่อให้ทุกคนได้รับการคัดกรองมะเร็งปอด เราจะประกาศร่วมกันในการรณรงค์ และการลงชื่อร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการตรวจมะเร็งปอด”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...