1 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานสากล หลายประเทศทั่วโลกมักจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงในวันนี้ แต่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤติการณ์โควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะชะงักงัน จนกระทั่งปี 2022-2023 ที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายประเทศไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ Rocket Media Lab ชวนสำรวจค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในช่วง 2023 และ 2024 ที่แม้ทั่วโลกจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ว่ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกันบ้างไหม
ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤติการณ์โควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะชะงักงัน จนกระทั่งปี 2022-2023 ที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งจากปัญหาสงครามและการเมือง ส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่ปี 2023 ที่เติบโตเพียง 2.6% ตามมาด้วยปี 2024 ซึ่งเติบโตเพียง 2.4% ทั้งนี้ ในอนาคตปี 2025 ก็อาจเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% โดยประเทศที่กำลังพัฒนาประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจมากที่สุด ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียกลาง และเอเชียแปซิฟิก
Rocket Media Lab ชวนสำรวจค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในช่วง 2023 และ 2024 ที่แม้ทั่วโลกจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกันบ้างไหม
โควิดผ่านไปแล้ว ค่าแรงขึ้นบ้างหรือยัง?
จากการเก็บข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ประเทศ/ดินแดน ที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งในปี 2023 และ 2024 มีจำนวน 110 ประเทศ จาก 199 ประเทศ/ดินแดนที่สำรวจ แบ่งเป็นประเทศที่ประกาศขึ้นเฉพาะในปี 2024 (นับถึง 1 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันแรงงาน) จำนวน 13 ประเทศ เฉพาะปี 2023 จำนวน 36 ประเทศ และประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งในปี 2023 และในปี 2024 จำนวน 61 ประเทศ
หากพิจารณาประเทศที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในปี 2023 มีจำนวน 36 ประเทศ พบว่ากระจายตัวอยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุด 12 ประเทศ ตามมาด้วยทวีปแอฟริกา 10 ประเทศ ยุโรป 5 ประเทศ อเมริกาเหนือ 3 ประเทศ อเมริกาใต้ 3 ประเทศ และโอเชียเนีย 3 ประเทศ เช่น ประเทศอาร์เมเนีย ค่าแรงรายชั่วโมงอยู่ที่ 468.75 ดรัมอาร์มีเนียหรือ 44.85 บาท ซึ่งในปี 2024 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Armenian News ว่าจะไม่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ หรือญี่ปุ่น ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยสูงสุดอยู่ที่โตเกียว 1,113 เยนต่อชั่วโมง คิดเป็น 263.19 บาท ตามมาด้วยจังหวัดคานางาวะ 1,112 เยน ขณะที่จังหวัดทตโตริได้ต่ำสุด อยู่ที่ 790 เยนต่อชั่วโมง
หากพิจารณาประเทศที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งในปี 2023 และ 2024 จำนวน 61 ประเทศ จะพบว่ากระจายตัวกันไปในทุกทวีป และส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป 28 ประเทศ ตามมาด้วยทวีปเอเชีย 19 ประเทศ อเมริกาเหนือ 13 ประเทศ แอฟริกา 7 ประเทศ อเมริกาใต้ 6 ประเทศ และโอเชียเนีย 1 ประเทศ
โดยประเทศในทวีปยุโรป ที่มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2023 และ 2024 เช่น อันเดอร์รา เบลเยียม โครเอเชีย ลัตเวีย มอลต้า รัสเซีย เซอร์เบีย ยูเครน ฯลฯ อย่างเช่น โครเอเชีย รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 840 ยูโรต่อเดือนโดยเป็นยอดสุทธิก่อนหักภาษี คิดเป็น 5.25 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 208.33 บาท จากเดิมในปี 2023 ที่มีค่าแรงรายชั่วโมงอยู่ที่ 4.375 ยูโร หรือ 173.49 บาท อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 21 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นกฎหมายนั้น ค่าแรงขั้นต่ำของโครเอเชียนั้นอยู่ต่ำที่สุดเป็นอันดับห้า
ฝรั่งเศสเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปี 2024 เป็น 11.65 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 462.26 บาท จากเดิมในปี 2023 มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 11.52 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 457.07 บาท เพิ่มขึ้น 1.13% ประเทศโปรตุเกส ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 760 ยูโรต่อเดือน เป็น 820 ยูโร ชั่วโมงละ 5.125 ยูโร หรือ 188.32 บาท เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดไว้อยู่ที่ 2.9% ขณะที่รัฐบาลกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าเงินเฟ้อถึง 7.9%
ในสหราชอาณาจักร เรียกค่าแรงขั้นต่ำว่าเป็น National Living Wage ค่าแรงขั้นต่ำพื้นฐานที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยอยู่ที่ 11.44 ปอนด์ต่อชั่วโมง หรือ 531.9 บาท จากเดิม 10.42 ปอนด์ต่อชั่วโมง หรือ 484.5 บาทในปี 2023 คิดอัตราการเพิ่มเป็น 9.79%
ด้านทวีปเอเชียก็มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2024 เช่นเดียวกัน อย่าง จีน อินโดนีเซีย อิหร่าน อิสราเอล เลบานอน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ โดยค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียแบ่งย่อยตามภูมิภาค ในปี 2024 ภูมิภาคที่มีค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุดคือ กรุงจาการ์ตา 5,067,381 รูเปียห์อินโดนีเซียต่อเดือน หรือ 26,392 รูเปียห์อินโดนีเซียต่อชั่วโมง หรือ 60.02 บาท และได้น้อยที่สุดในชวากลาง ได้ค่าแรงต่อเดือนคือ 2,036,947 รูเปียห์อินโดนีเซีย
ในจีน ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่กับเขตการปกครองระดับมณฑล โดยมณฑลที่ได้รับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดคือปักกิ่ง จำนวน 26.40 หยวนต่อชั่วโมง หรือ 137.91 บาท ต่ำสุดคือทิเบต 16 หยวนต่อชั่วโมง หรือ 83.58 บาท ทั้งนี้เดิมในปี 2023 ปักกิ่งมีค่าแรงขั้นต่ำที่ 25.40 หยวนต่อชั่วโมง หรือ 130.05 บาท
ส่วนประเทศที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในปี 2024 (นับถึงวันที่ 1 พ.ค. วันแรงงาน) มีจำนวน 13 ประเทศ คือ กัมพูชา เยอรมนี เกรนาดา อินเดีย มาลาวี ไนเจอร์ ปานามา ไทย เอลซาวาดอร์ เซนต์คิตส์แอนด์เนวิส ศรีลังกา ตุรกี และเวียดนาม อย่างเช่น เยอรมนี เดิมค่าแรงรายชั่วโมงอยู่ที่ 12 ยูโร หรือ 475.8 บาท เพิ่มเป็น 12.41 ยูโรต่อชั่วโมงหรือ 492.5 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าปี 2025 จะประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงให้เป็น 12.82 ยูโรด้วย ขณะที่ประเทศไทยขึ้นค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการโรงแรมและที่พัก ในพื้นที่ 10 จังหวัดเท่านั้น
เมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จากการประเมินของ IMF พบว่าเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะเติบโตเพียง 3.0% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่เท่าเทียม (slow and uneven) โดยสหรัฐอเมริกามีสภาวะเศรษฐกิจที่กลับไปโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่และมีรายได้น้อย เศรษฐกิจต่ำกว่าระดับก่อนโควิดประมาณ 5-6% อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ หลายประเทศก็ยังเลือกที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ว่าในปี 2023 หรือ 2024 โดยมีมากถึง 110 ประเทศ
ในส่วนของประเทศที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน 100 ประเทศจาก 199 ประเทศที่สำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาจำนวน 39 ประเทศ ตามมาด้วยเอเชีย 26 ประเทศ อเมริกาเหนือ 10 ประเทศ โอเชียเนีย 10 ประเทศ ยุโรป 8 ประเทศ อเมริกาใต้ 6 ประเทศ และอเมริกา 1 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โดยค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 219 ฟรังก์เซฟาธนาคารรัฐแอฟริกากลางต่อชั่วโมง หรือ 13.25 บาท หรือบอตสวานาที่ยังคงตรึงค่าแรงไว้ตั้งแต่ปี 2022 ที่ 7.34 ปูลาบอตสวานาต่อชั่วโมง หรือ 19.82 บาท โดยส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ประสบปัญหาความอดอยาก และปัญหาอาชญากรรม
นอกจากนี้ มีบางประเทศที่เพิ่งจะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เช่น ไซปรัส ซึ่งเดิมไซปรัสกำหนดค่าแรงบนการเจรจาต่อรองร่วมกัน สำหรับผู้ช่วยร้านค้า ผู้ช่วยพยาบาล เสมียน ช่างทำผม และผู้ช่วยดูแลเด็ก ได้ค่าจ้าง 870 ยูโร หรือ 32,702 บาทต่อเดือน โดยไซปรัสกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและบังคับใช้ครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2023 ที่ 940 ยูโรต่อเดือน คิดเป็น 4.8 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 194 บาท และในปี 2024 ก็ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องเป็น 1,000 ยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็น 5.2 ยูโรต่อชั่วโมง หรือ 296 บาท นอกจากนี้ไซปรัสยังเคยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของผู้ลี้ภัยไว้ด้วย พบว่าสำหรับผู้ขอลี้ภัยที่ทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือในภาคเกษตร ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนคือ 425 ยูโร หรือ 15,975 บาท พร้อมที่พักและอาหาร หรือหากไม่ต้องการที่พักและอาหาร ค่าแรงก็เพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 767 ยูโร ต่อเดือน หรือ 28,816 บาท
ในส่วนของประเทศที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 25 ประเทศ เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน อิตาลี ลิกเทนสไตน์ สิงคโปร์ เกาหลีเหนือ บรูไน ซูดานใต้ เอริเทรีย เยเมน ตูวาลู ฯลฯ ทั้งนี้บางประเทศแม้ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ แต่ก็ถือหลักเกณฑ์การกำหนดกันเองบนความเสมอภาคระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรืออย่างในกรณีของสิงคโปร์ แม้จะไม่ได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่มีการประกันราคาสำหรับบางอาชีพ และพนักงานพาร์ทไทม์ในสิงคโปร์ยังกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในปี 2024 ที่ 10.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อชั่วโมง หรือ 285.90 บาท
ปี 2024 ประเทศไหนขึ้นค่าแรงมากที่สุดในโลก?
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของการขึ้นค่าแรงของปี 2023 และ 2024 พบว่าประเทศที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นมากที่สุดในโลก คือ อิหร่าน เพิ่มขึ้นมาจากเดิมในปี 2020 ถึง 116.6% โดยปี 2024 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 653,409.09 เรียลอิหร่านต่อชั่วโมง หรือ 575.47 บาท จากเดิม 301,552.8 เรียลอิหร่าน หรือ 265.57 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าอิหร่านจะพยายามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ แต่จากรายงานพบว่าเงินเฟ้อในอิหร่านยังคงพุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้รายรับของประเทศที่น้อยลงและค่าครองชีพสูงขึ้น
รองลงมาได้แก่เลบานอน ที่เพิ่มค่าแรงจากเดิมในปี 2023 สูงถึง 101.92% โดยปี 2024 ค่าแรงของเลบานอนอยู่ที่ 93,750 ปอนด์เลบานอนต่อชั่วโมง หรือ 38.91 บาท จากเดิม 46,875 ปอนด์เลบานอน หรือ 19.27 บาท
ตามมาด้วยอียิปต์ ซึ่งขึ้นค่าแรง 2 ครั้งในปี 2024 โดยขึ้นมาจากเดือนมกราคม ถึง 71.05% เดิมค่าแรงในเดือนมกราคมอยู่ที่ 18.229 ปอนด์อียิปต์ต่อชั่วโมง หรือ 14.08 บาทไทย ต่อมามีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ในเดือนพฤษภาคม โดยมีผลบังคับใช้ทันที อยู่ที่ 31.25 ปอนด์อียิปต์ต่อชั่วโมงหรือ 24.09 บาทไทย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้ในบางประเทศมีส่วนต่างการขึ้นค่าแรงที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพ กลับพบว่าส่วนต่างที่เพิ่มมาดังกล่าวอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อที่มากขึ้น อย่างอิหร่านที่แม้ว่าจะพยายามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อก็ตาม
หรือประเทศไทยที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 400 บาทในพื้นที่นำร่อง แต่ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจ พบว่าภาคเอกชนสัดส่วน 64.7% จะปรับขึ้นราคาสินค้า-บริการสุทธิที่ 15% ภายใน 1-3 เดือน ดังนั้น การจะพิจารณาว่าค่าแรงขั้นต่ำประเทศใดขึ้นมากหรือน้อย จึงไม่อาจพิจารณาเพียงสัดส่วนของการเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องพิจารณาค่าครองชีพในประเทศนั้นด้วย
หมายเหตุ: อัปเดตข้อมูลล่าสุด เมื่อ 30 เมษายน 2024 และสำรวจใน 199 ประเทศ/ดินแดน โดยพิจารณาจากค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชนเป็นหลักและนับรวมประเทศที่ขึ้นเป็นบางรัฐ/แคว้น
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของแต่ละประเทศและรายงานข่าว
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-minimum-wage
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...