1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’ Day) โดยในปีนี้เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรมเดินขบวน เริ่มจากลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จนถึงบริเวณลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยการปราศัย เสวนา การแสดงจากแรงงานในเครือข่าย พร้อมโดยแถลงการณ์ 29 ข้อเรียกร้องเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานให้เท่าเทียมเสมอภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
Lanner ได้พูดคุยกับแรงงาน 6 คน ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ถึงสภาพความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ และการเรียกร้องสิทธิของแรงงานทำไมถึงสำคัญ เพื่อตอกย้ำว่า “คนงานทุกคนคือคนทำงาน”
ริงโกะ มิโมซ่า แรงงานฟรีแลนซ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เรามีสถานะเป็นหญิงข้ามเพศ ในการทำงานผู้หญิงข้ามเพศจะถูกกีดกัน ถูกเลือกปฏิบัติ อย่างเช่นถูกสั่งให้ใส่ชุดที่ไม่ใช่เพศสภาพเป็นของตัวเอง และก็มีกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงข้ามเพศ และมักจะเงียบหายไป เพราะผู้หญิงข้ามเพศมักจะไม่ถูกมองว่าเป็นผู้หญิง
เราอยากเรียกร้องให้ค่าแรงของคนที่ทำงานเป็น Freelancer นั้นดีขึ้นกว่านี้ และก็อยากให้มีสวัสดิการที่ครอบคลุมคนทำงานอิสระ Informal sector ทั้งหลาย และมีการรวมกลุ่มของแรงงาน Freelance
เราก็มางานนี้หลายปี ก็รู้สึกว่ามันมีพลังอยู่ทุกปี แต่ถ้าจะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง มันต้องทำในหลาย ๆ แง่ หลาย ๆ มุม แต่อยากได้พลังที่มีอำนาจคัดง้างกับนายจ้าง หรือนายทุนระดับสูง ๆ ถ้าจะให้ถึงระดับนั้นยังต้องไปอีกไกล เหมือนเป็นการประกาศตัวเอง
Recognition การยอมรับรับรู้ คนข้ามเพศผู้หญิงข้ามเพศ ไม่ได้ถูกยอมรับเป็นผู้หญิง ก็เลยถูกจำกัดสวัสดิการที่จะเข้าถึงบางอย่าง เช่น คนขับ Grab ก็ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นงาน เขาเลยไม่ได้รับสิทธิบางอย่าง โดนกดเยอะมาก คนทำงานบริการทางเพศ ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นงาน ก็ถูกจำกัดเยอะมาก Recognition จึงเป็นอย่างหนึ่งที่สำคัญกับแรงงานว่าเรามีตัวตนนะ เราอยู่ตรงนี้นะ ยอมรับเราในฐานะคนทำงานส่วนหนึ่งได้ไหม
พุธิตา ชัยอนันต์ สส. เชียงใหม่เขต 4 พรรคก้าวไกล
วันนี้ประชาชนได้รวมตัวกันเรียกร้องของสิทธิแรงงาน ดังนั้นเราจึงต้องมาร่วมรับฟัง และในฐานะที่เราเป็นผู้แทนประชาชนเราต้องผลักดันตรงไหนบ้าง
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล มีฉบับที่ผ่านและมีฉบับที่ถูกปัดตก ที่ผ่านมาเรื่องของวันลาคลอด 180 วัน ผ่านแล้วในวาระแรก ตอนนี้กำลังเก็บตัวกฎหมายที่ถูกปัดตกอยู่ ถ้าเปิดประชุมเราก็จะผลักดันต่อไป อาจจะมีการปรับปรุงจากการฟังเสียงของผู้ประกอบการและรัฐบาล อาจจะมีการเพิ่มกฎหมายเข้าไปด้วยอีก อย่างเช่นเรื่องของ สวัสดิการการคุ้มครองเรื่องของการให้สิทธิสตรีผู้หญิงที่มีประจำเดือน สามารถมีวันลาประจำเดือนได้
กฎหมายสหภาพแรงงาน เป็นกฎหมายที่ต้องจับตาดู พรรคก้าวไกลก็จะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน เราคาดหวังว่าในครั้งนี้รัฐบาลจะช่วยกันโหวตให้ผ่าน ในวาระแรกเพื่อจะให้ผ่านเข้าสู้การพิจารณาวาระที่สอง ในส่วนตัวเราก็ได้รับบทเรียนมากแล้วว่าการปลักดันกฎหมายแรงงานทั้งสองฉบับเมื่อครั้งที่แล้ว ฝั่งรัฐบาลส่วนใหญ่มีความเห็นด้วย แต่ก็มองว่าทำไม่ได้จริงและเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการ แต่อย่าลืมว่าหน้าที่ของการคุ้มครองผู้ประกอบการคือหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ทำไมเราไม่ช่วยกันคุ้มครองประชาชนของเราที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ให้เขามีศักยภาพและมีแรงในการทำงานที่ดี
กัญญ์วรา หมื่นแก้ว แรงงานประชาสังคม
เราทำงานพัฒนา เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคม เรากำลังทำให้สังคมมีความเป็นธรรมก็จริง แต่ในวันที่สังคมมันเป็นธรรมแล้ว คนทำงานแบบเรา NGOs จะอยู่ตรงไหนของสังคมที่เป็นธรรม ในเมื่อระหว่างทางเราโดนกดขี่ โดนขูดรีดแรงงาน “ด้วยคำที่ว่าเราต้องทำงานหนัก เราต้องได้รับค่าตอบแทนเท่านี้”
เชื่อว่าทุกคน (คนทำงาน NGOs) เข้ามาด้วยความหวังที่จะอยากเปลี่ยนแปลงสังคมจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสังคมให้มันดีขึ้น แต่ว่าเราก็อย่าลืมว่าสังคมที่มันจะดีขึ้นเราก็ต้องอยู่ในสังคมนั้นด้วย หมายถึงว่าคนทำงาน ‘NGOs’ เอง ก็อย่าหลงลืมตัวเองว่า คุณภาพชีวิตเราก็ต้องดีขึ้นด้วยเหมือนกัน…
เราอยากให้คุณลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือพูดอะไรสักอย่างกับสภาพแวดล้อมกับวัฒนธรรมการทำงานที่มันเป็นอยู่ ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะเรียกร้องถึงสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตคนทำงานแบบเรา เพราะถ้าคุณเชื่อว่าวันหนึ่งสังคมมันจะเปลี่ยน วันหนึ่งทุกคนจะเท่ากัน คุณก็ต้องเชื่อมั่นด้วยว่าตัวเราเองก็ต้องเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่จะอยู่อย่างเสมอภาคและเสมอกันจริงๆ
ปภาดา ทองนาค แรงงานนักศึกษา
เราต้องการเรียกร้องเรื่องเงินค่าฝึกงาน คือเราฝึกงานเหนื่อยมากแต่กลับไม่ได้ค่าแรงซักบาทเลย
รัฐไม่ได้สนใจคนตัวเล็กตัวน้อย สนใจแต่การดีลการค้า ควรสนใจคนที่เป็นฟันเฟืองที่ทำให้ประเทศนั้นมันเดินหน้าต่อไปมากกว่านี้มั้ย ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีค่าแรงมีสวัสดีที่เป็นธรรมมากขึ้น ทำให้ประเทศมันเดินหน้าได้มากกว่านี้
หญิง (นามสมมุติ) กลุ่มแรงงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
วันแรงงานเป็นวันที่เราเหล่าแรงงานสามารถพูดถึงเรื่องของเราได้ก็มีเฉพาะวันนี้เท่านั้นแหละ พวกเราได้ส่งเสียงก็ตอนนี้แหละ ถ้าเราไปทำวันอื่น ๆ เขาก็จะหาว่าเราเป็นผีบ้า เขาจะไม่รับฟัง และอยากให้สังคมรับรู้ว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย พวกเราก็เดือดร้อนเหมือนกันนะ อยากได้ค่าแรงขั้นต่ำเหมือนกัน
เราอยากให้ภาครัฐออกกฎหมายมาแหละ แต่ก็ไม่สามารถทำได้จริง อย่างค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท บางคนก็ยังไม่ได้ อย่างค่าทำบัตรประจำผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) มันแพงก็อยากให้ลดราคาลง หรือในช่วงโควิด-19 เรามีประกันสังคม แต่เรากลับไม่ได้รับเงินในช่วงนั้น เพราะว่าเราไม่มีเลข 13 หลัก
เห็นใจพวกเราหน่อย เรามาอยู่ประเทศไทย เราทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างค่าทำบัตรก็แพงอยู่แล้ว ภาษีเราก็เสียเท่ากับคนไทย ค่าแรงก็อยากให้ปรับเพราะตอนนี้ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเลย
ศุภเกียรติ เมืองแก้ว แรงงานประชาสังคม
วันนี้ตั้งใจมาเดินขบวนเพราะว่าเราอยากแสดงจุดยืนให้ทุกคนเห็นว่าเราก็คือแรงงานคนหนึ่ง เราอยากแสดงพลัง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิสวัสดิการที่เป็นธรรมกับแรงงานอย่างพวกเรา
เห็นเครือข่ายพี่น้องแรงงานหลายภาคส่วน ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ลุกขึ้นมาแสดงพลังว่าเราคือแรงงาน เห็นแล้วมันดีใจ แต่บางทีเราก็แอบเสียใจว่ามันเป็นระบบของสังคมหากโครงสร้างมันดี มันไม่มีการขูดรีดเกิดขึ้นพวกเราก็ไม่ต้องออกมาเดิน ไม่ต้องออกมาส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงาน หรือสวัสดิการด้านสุขภาพที่มันควรเกิดขึ้นและเป็นธรรม
อย่างเรื่องวันหยุดลาคลอด มันก็เกิดจากพี่น้องแรงงานอย่างพวกเราที่เรียกร้องกันมา เราไม่ได้มาเดินขบวนเพื่อสร้างความเดือดร้อน แต่เรามาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเราที่เราควรจะได้รับ และมันควรจะเป็นของเรา
คนทำงานจิตอาสามันก็ต้องกินต้องใช้ คนทำงานภาคประชาสังคมถูกปลูกฝังมาตลอดว่า “เราทำงานแบบจิตอาสานะ” แต่มันไม่ใช่ มันคือพวกเขาเหล่านั้นมีอันจะกินแล้ว แต่เขาเอาความเป็นจิตอาสามาขูดรีดเรา มากดทับเรา คุณเป็นจิตอาสาคุณจะเรียกร้องค่าแรงไม่ได้ สุดท้ายมันกลายเป็นมาตรฐานของ NGOs ไปได้ยังไงไม่รู้ ซึ่งมันแย่มาก
ผมคิดว่ามันต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างของการทำงานภาคประชาสังคม เราก็ต้องกินต้องใช้ เราไม่ใช่จิตอาสา แต่เราคือคนทำงานเพื่อสังคมเพื่อส่วนรวม เราเป็นแรงงานส่วนหนึ่งที่ทำเพื่อสังคม เราก็ควรได้ค่าแรงที่เป็นธรรม แม้องค์กรจะหาค่าตอบแทนให้คนเหล่านี้ได้ แต่รัฐก็ควรมีกองทุนเพื่อที่จะนำมาจ้างคนทำงานเพื่อสังคม จ้างคนทำงานภาคประชาสังคม ที่รัฐไม่สามารถทำได้ รัฐก็ควรจัดค่าตอบแทนที่เหมาะสม