รถไฟรางคู่ผ่าน ‘แพร่’ เจอวัดร้างและสังคมก่อนมีเครื่องเสียง ‘ฆ้อง’ มีไว้ทำอะไร

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ขณะที่คนงานกำลังขับรถแทรกเตอร์ไถปรับผืนดิน ก่อนลงเสาตอม่อขนาดใหญ่เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟรางคู่จากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ไปยังจังหวัดเชียงราย พบอิฐจำนวนมากที่เคยอยู่ใต้ดิน ชิ้นส่วนโบราณวัตถุทั้งอิฐมีจารึกตัวอักษรโบราณ พระพิมพ์ เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องเคลือบเซรามิก และฆ้องสำริด คาดเคยเป็นวัดโบราณที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชื่อว่า ‘วัดป่าสูง’

ภาพ: สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ : APT

ในหน้าเพจ Facebook ของสมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ : APT เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567 ได้แจ้งว่า ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้มอบหมายให้นักโบราณคดีได้ทำงานสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อดำเนินการสำรวจขุดค้นตามหลักวิชาการต่อไป พร้อมทั้งบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อให้งานก่อสร้างทางรถไฟสามารถดำเนินไปได้ตามปกติ 

รวมถึงได้ถวาย ‘ฆ้องสำริด’ ที่พบในวัดป่าสูงให้กับพระครูสังฆรักษ์ ธีรบุณโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพันเชิง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นผู้เก็บรักษาดูแล 

ภาพ: สมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ : APT

เป็นที่น่าจับตากับการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าแห่งอนาคตสายนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีวิธีจัดการอนุรักษ์และพัฒนาไปพร้อมกันได้อย่างไร การก่อสร้างสถานีต่อไปจะมีผลกระทบต่อโบราณสถานตามรายทางอีกหรือไม่ ต้องติดตาม แต่ที่น่าสนใจในนาทีนี้คือการพบ ‘ฆ้อง’ 

‘ฆ้อง’ ที่พบเห็นในปัจจุบัน บ้างก็ว่าไว้ให้พ่อบ้าน นายเมืองตีเป็นสัญญาณบอกเวลาเปิดงานเท่านั้น บ้างก็ว่าใช้บรรเลงปะโคมแห่ในพิธีกรรมหรือวาระสำคัญประจำปีของชุมชนด้วย  น่าสงสัยว่าสังคมในอดีตนานกว่าที่เราอยู่ ก่อนจะมีลำโพง วิทยุกระจายเสียง Youtube Spotify ‘ฆ้อง’ พัฒนาการมาจากไหน และมีไว้ทำอะไร?

รู้จักใช้ไฟ ถลุงโลหะ ทำฆ้อง

นานมาแล้ว ผู้คนได้เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านเพื่อหลบหนีสัตว์และภัยจากธรรมชาติ เมื่อมีบ้านหลายหลังมากขึ้น ญาติพี่น้องออกลูกออกหลานใกล้ชิดกัน รวมตัวจนกลายเป็นชุมชน เมื่อมากคน พร้อมกับความซับซ้อนทางความคิด จึงยกย่องคนที่แข็งแรง มีพละกำลัง ความสามารถในการแก้ปัญหาขึ้นเป็น ‘หัวหน้า’ (chiefdom) เป็นผู้นำพิธีกรรมสื่อสารกับผี (อำนาจเหนือธรรมชาติ)  และพาคนออกสู้รบชิงปล้น นำพาทรัพยากร ข้าว ฝ้าย ไม้หอม เนื้อสัตว์ เกลือ เหล็ก เครื่องปั้นดินเผา กลองโลหะไปแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านอื่น ๆ 

หัวหน้าชุมชนจึงต้องแบ่งสรรจัดการคน ให้คนที่ชำนาญการใช้ไฟ ทำหน้าที่ควบคุมความร้อนได้ หาก้อนแร่ที่มีอยู่มากในหินในดิน มาทุบให้เป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วสุมไฟควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ถลุงไล่ขี้แร่ที่เป็นมลทินมัวหมองออกไป ให้เหลือเพียงแร่ที่บริสุทธิ์

จากนั้นนายช่างฝีมือดีในระดับตัวแทนหมู่บ้านจึงลงแรงตี ครั้งแล้ว ครั้งเล่า หล่อหลอมขึ้นรูปเป็นมีด หอก ขวาน กำไล เครื่องประดับ เครื่องดนตรีให้ได้ดั่งใจตามสไตล์ที่กำลังนิยม 

อันที่จริง ผู้คนแถบอุษาคเนย์ก็มีการนำโลหะ ทั้งทองแดง, ดีบุก, ตะกั่ว และเหล็กมาใช้เหมือนกัน แต่เป็นของมีค่ามาก จำกัดผู้ครอบครองเป็นเพียงคนมีอันจะกินในสังคม จะเห็นได้จากหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ได้รับการฝังร่าง และปรากฏของใช้ในตอนมีชีวิตอยู่ถูกจัดวางไว้อย่างดี มักจะเป็นผู้มีฐานะคนธรรมดาที่ไม่ได้มีฐานะ ร่างของเขาจึงถูกทิ้งตามแม่น้ำลำคลอง โคนต้นไม้  หรือให้แร้งกากิน เน่าเปื่อยสูญสลายหายไป

เท่าที่เข้าใจกันทั่วไปจากหลักฐานทางด้านโบราณคดี เมื่อหลายพันปีก่อน โลหะที่ต้องมีคนตีให้เกิดเสียงอย่างฆ้อง ทำมาจากสำริด เป็นโลหะผสมมีดีบุก ตะกั่ว และทองแดงเป็นองค์ประกอบหลัก 

หนังสือดนตรีอุษาคเนย์ในการค้นคว้ารวบรวมของเจนจิรา เบญจพงศ์ อธิบายว่า ฆ้องสำริดเมื่อราว 3,000 ปีก่อน รูปร่างคล้ายกลองหน้าเดียว มีเอวคอดคล้ายผลน้ำเต้า และมีหูระวิงไว้สำหรับร้อยเชือกแขวนตีเป็นสัญญาณประโคมในพิธีกรรมในศาสนาผี เพื่อต่อรอง ขอพร ขอความสำเร็จให้สำเร็จราบรื่นในพิธีกรรมหรือการบรรเลงนั้น ๆ พบแพร่หลายในอุษาคเนย์ เก่าแก่ที่สุดอยู่ในยูนนาน กวางสีทางตอนใต้ของจีน และด่งเซินในเวียดนาม สำหรับในไทยเป็นที่รู้จักมากที่สุดเรียกกันว่า ‘มโหระทึก’ 

กำเนิด‘ฆ้อง’ มาจากกลองทอง VS มโหระทึก 

ชื่อเสียงเรียงนามของมโหระทึกหรือกลองโลหะใบใหญ่ที่มีความสำคัญมากแบบที่เราเรียกกัน หลักฐานทางด้านมานุษยวิทยามีคนหลายกลุ่มใช้งาน แต่เรียกชื่อไม่เหมือนกัน

คนที่ใช้ภาษาตระกูลไต-ไทเรียกว่า ‘กลองทอง’ เพราะทำมาจากโลหะสำริด (ทอง ที่ไม่ใช่ทองคำ) 

คนบางกลุ่มเรียกว่า ‘ฆ้องกบ’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเรียกว่า ‘กลองกบ’ เพราะมีรูปกบอยู่บนหน้ากลอง 

ส่วนในภาษาลาวเรียกว่า ‘ฆ้องบั้ง’ เพราะข้างในกลวงเหมือนกระบอกหรือบ้อง

เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง นักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ  อธิบายคำว่า ‘มโหระทึก’ เป็นคำเก่าในสมัยอยุธยาตอนต้น พบอยู่ในกฎมณเฑียรบาล หมายถึง กลองขึงหนัง มีเอว ตีด้วยไม้ (Udekki ภาษาทมิฬ) เป็นเครื่องประโคมของพราหมณ์อินเดีย เข้ามาในช่วงผู้คนแถบนี้ติดต่อการค้ากับอินเดียแล้ว 

ภาพ: กลองมโหระทึกในประเทศไทย (กรุงเทพฯ:สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร,2546)

เมื่อมีคนเข้ามา ก็ได้เอาดนตรีมาด้วย ส่งอิทธิพลมาถึงราชสำนักในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทวาราวดีสืบเนื่องมาจนถึงอยุธยานำมาใช้ประโคมในพิธีกรรมของพราหมณ์ราชสำนัก   

อ้าว แสดงว่ากลองโลหะก็เป็นคนละอย่างกับมโหระทึกน่ะสิ

และ ‘มโหระทึก’ ถูกนำมาเรียก ‘กลองทอง’ ที่อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง ฟังดูผิดยุคผิดสมัย คุณสุจิตต์แกจึงเสนอว่าให้เรียกกลองโลหะสำริดเช่นนี้ว่า ‘กลองทอง’ ดูจะเหมาะสมกว่า

กลับมาที่เจ้ากลองทอง บนหน้าของกลองจะเห็นลายรูปดาวเป็นปุ่มนูน (ต่อมาปุ่มนูนจะพัฒนาการกลายเป็นปุ่มบนฆ้อง) นั้นก็คือ ขวัญ เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตายของคน 

(ในขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? อธิบายขวัญว่าเป็น สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ เคลื่อนไหวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของคน สัตว์ สิ่งของ ขวัญเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีชีวิต ไม่มีขวัญจึงไม่มีชีวิต)

เมื่อสังคมซับซ้อนมากขึ้น พัฒนาการจากบ้าน เป็นเมือง ใหญ่ขึ้นถึงขนาดเป็นรัฐ กลองทองใบใหญ่ต้องใช้โลหะมาก และใช้ไม้ตีเสียงดังไม่กังวานไกล นายช่างจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างให้ใช้โลหะน้อยลง ปรับเปลี่ยนวิธีการขึ้นรูป และออกแบบหน้าตาใหม่ให้เข้าถึงง่ายขึ้น เป็นฆ้องรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบมีปุ่ม และไม่มีปุ่ม 

แต่ความสำคัญของกลองทองและฆ้องในยุคสมัยแรกเริ่มรัฐ ยังถูกใช้พื้นฐานความคิดดั้งเดิมคือ มีความศักดิ์สิทธิ์ตีในพิธีกรรมศาสนาผีเพื่อความอุดมสมบูรณ์

ฆ้องแบบมีปุ่มและฆ้องไม่มีปุ่ม

ภายหลังฆ้องมีความเปลี่ยนแปลงตามความซับซ้อนของสังคม ได้กลายมาเป็นเครื่องมือให้สัญญาณต่าง ๆ เช่น สัญญาณเวลา (เสียงโมงเกิดจากเสียงตีฆ้อง เสียงทุ่มเกิดจากการตีกลอง ที่เป็นคำเรียกลงท้ายเวลากลางวันและกลางคืน) 

และเป็นเครื่องดนตรีประกอบการละเล่นต่าง ๆ ด้วยเป็นที่รู้จักทั้ง ฆ้องคู่ ฆ้องราว ฆ้องราง แต่จะยกข้อมูลจากหนังสือดนตรีอุษาคเนย์ ที่เป็นที่คุ้นเคยรู้จักกัน 2 ประเภท ดังนี้

1.ฆ้องเดี่ยว มีใบเดียว เสียงเดียว เรียกชื่อทั้ง โหม่ง หมุ่ย ฯลฯ ใช้ตีในวาระพิเศษสำคัญว่า ‘ฆ้องชัย’ จะเห็นประธานในพิธีต่าง ๆ ใช้ตีเปิดงาน หรือตีในวงดนตรี งานแห่ งานพิธีกรรมอยู่บ่อย ๆ

2.ฆ้องวงมีหลายใบหลายเสียง มีรูปเป็นครึ่งวงกลม มี 2 แบบ ทั้งแบบมอญมีโค้งตั้งขึ้นข้างบน และแบบไทย-ลาว-เขมร มีวงโค้งร้านโค้งรายรอบตัวคนนั่งตี ต่อมามีพัฒนาการเป็นฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก

ขณะเดียวกันก็ยังมีเครื่องดนตรีที่ทำจากโลหะสำริด ลักษณะคล้ายฆ้องแต่ไม่มีปุ่ม ในคีตล้านนาคดี: มานุษยวิทยาดนตรีและพิธีกรรมในล้านนาของสงกรานต์ สมจันทร์ ได้เล่าถึงเครื่องดนตรีในท้องถิ่นภาคเหนือที่เรียกว่า ‘ปาน’ ซึ่ง“ชาวบ้านพญาวัด จังหวัดน่าน หวงแหนเครื่องดนตรีดังกล่าวเป็นอย่างมาก และถูกใช้ตีเป็นสัญญาณแข่งเรือที่เรียกว่า ‘ปานเรือแข่ง’

นอกจากความนิยมในการละเล่นแล้ว ‘ปาน’ ถือเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์สะท้อนความเปลี่ยนผ่านสำคัญ อ.สงกรานต์ สมจันทร์ได้ยกตัวอย่างพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งตีปานครอบหม้อน้ำที่ฝังอยู่ในดินเป็นจังหวะ  เสียงดังผ่าง ๆ เหมือนเสียงฟ้าผ่าแทนความอุดมสมบูรณ์ เป็นจังหวะประกอบการฟ้อนเรียกว่า ‘ฟ้อนผีปาน’ 

แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาการถลุงโลหะในอดีตที่ต้องสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ยังมีตกทอดในบางสายตระกูลแถบอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และบ้านพวกแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

จะเห็นได้ว่า ‘ฆ้อง’ เพียงใบเดียวมีอดีตในระดับสังคมที่ซับซ้อนและเรื่องเล่าในพิธีกรรมสำคัญหลากหลายยุคสมัย ส่วนวัดร้างริมทางรถไฟที่แพร่จะเป็นอย่างไร ต้องรอฟังเสียงและติดตามแบบใกล้ชิดจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การรถไฟและท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดแพร่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง