หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

ภาพ: เพจวุฒิสภา

ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว. จากการแต่งตั้ง เมื่อปี 2562 ของคณะรัฐประหารหมดวาระลง นับเป็นช่วงเวลารอคอยมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี จากการเลือกตั้ง สว. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2543 และเป็นครั้งเดียวที่เกิดขึ้น การหมดวาระของ สว. ชุดแต่งตั้งสู่ สว. ชุดประชาชนถือเป็นความหวังครั้งใหม่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบของ กกต. สมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่ง สว. อีกทั้งยังเชิญชวนให้ว่าที่แคนดิเดต สว. แนะนำตัวเพื่อสื่อสารเจตนารมของตนเองออกสู่สังคม เพื่อให้ประชาชนได้ทำความรู้จักกับว่าที่ สว. ทำให้ผู้ประสงค์สมัครเข้ารับการรับเลือก สว. ออกมาแสดงตัวตนและแสดงวิสัยทัศน์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก

จนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตามที่กลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรที่จัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ ชี้ชวน หรือรวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม 20 กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ที่ปรากฏในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ปรากฏว่า มีบุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก กรอกข้อมูลส่วนตัว จุดยืน วิสัยทัศน์ และข้อมูลอื่นๆ ลงในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้จัดแคมเปญทำการรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการจัดตั้งบุคคลให้มาเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย กกต. จึงขอให้ยกเลิกและยุติการกระทำดังกล่าว  จนเกิดกระแสแตกตื่นและวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งจากประชาชนผู้ตั้งตารอการได้มาของ สว. ประชาชน และผู้ที่ตั้งใจสมัคร สว. เพื่อเข้าไปโหวตกฎหมายเพื่อประชาชน

 ภาพ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ด้าน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw  ได้ออกมาตอบโต้ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ไม่พบว่ามีข้อห้ามดังกล่าวอยู่ในมาตราใด หรือบทใด ส่วนข้อห้ามที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้ คือการวางเงื่อนไขเรื่องการ “แนะนำตัว” ผู้สมัคร สว. ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ กกต. กำหนดเงื่อนไขได้ ทางไอลอว์ยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. เจ้าหน้าที่ที่รับสายไม่เคยเห็นโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน และไม่เข้าใจว่าการกระทำที่โพสต์ถึงนี้จะผิดกฎหมายใด เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าการชี้ชวนให้ผู้อื่นลงสมัคร สว. เป็นความผิดหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่ามีพฤติการณ์อื่นหรือไม่ เช่น มีการให้ทรัพย์สิน หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเลี้ยง หรือหลอกลวง ข่มขู่หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

หน้าเว็บไซต์ senate67.com ระบุว่าไม่ใช้พื้นที่ของเว็บไซต์ในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. เนื่องจากความไม่ชัดเจนของ กกต.

ทั้งนี้ กกต. ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 โดยในข้อ 7 ที่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้เพียงบนกระดาษเอสี่ และการใช้ช่องทางออนไลน์ต้องส่งใบแนะนำตัวให้กับผู้สมัครเท่านั้นไม่ให้เปิดเผยต่อประชาชน และในข้อ 11 ที่ห้ามให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังมีพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการติดตามข้อมูลผู้สมัครและการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่

ย้อนวันวาน สว. ประชาชน

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเธอเคยเป็นผู้ช่วยของสมาชิกวุฒิสภา จอน อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2543-2549 ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ถึงประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้ช่วย สว. และอธิบายกลไกการเลือกผู้แทน สว. ในอดีต สุรีรัตน์ กล่าวว่าในตอนนั้น สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกคนดูภาคภูมิใจที่มาจากการเลือกตั้ง 

“โดยหลักการทำงาน สว. จะมีหน้าที่หนุนเสริมและถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในยุคนั้นเขาก็ทำได้ทั้งสองอย่าง แม้ว่าในยุคตอนปลายของวาระจะมีกระบวนการที่พรรคการเมืองบางพรรคมีอิทธิพลต่อ สว. แต่ว่าภาพรวมถือว่าทำหน้าที่ได้ดีและเข้าไปถึงกระบวนการทำงานแบบกรรมาธิการ ทำให้เข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่เป็นปัญหาและนำออกมาสื่อสารต่อประชาชน” สุรีรัตน์ กล่าว

บทบาทสำคัญของ สว. ในช่วงที่สุรีรัตน์เป็นผู้ช่วย สว. คือการผลักดันให้เกิด  พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อมาดำเนินงานในด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเก็บเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่จัดเก็บ เพื่อนำมาใช้สนับสนุน รณรงค์ และชี้ชวนให้ประชาชนสร้างเสริมสุขภาพตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติ 

“ภารกิจหลักของ สว. ในช่วงปี 44-45 มีการพิจารณากฎหมายกองทุนสุขภาพ (พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544) เข้าสู่ในรัฐสภา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สว. และผู้ช่วยของ สว. ต้องเอากฎหมายมาศึกษาก่อน เพื่อที่ตัว สว. จะได้อภิปรายได้หรือแปรญัตติได้ และในช่วงนั้นกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาก็ได้รับการสนับสนุนเสริมจาก สว. เพราะในตอนนั้น สส. ส่วนมากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ และทำให้ สว. ยุคนั้นมีการจัดเวที สว. พบประชาชน ก่อนหน้านั้นเราไม่รู้ว่า สว. ทำอะไร สส. ทำอะไร ซึ่งจัดในรูปแบบเวทีสารณะ ทำให้ สว. หรือ สส. ได้รายงานว่าตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไร และฟังเสียงจากประชาชนว่าอยากให้ทำอะไร อีกทั้งยังมี สว. เดินสายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คนในระบบรัฐสภาออกมาเจอคนที่เลือกตัวเอง” สุรีรัตน์ กล่าว

โดย สุรีรัตน์ ยังได้แสดงความไม่พอใจต่อการแต่งตั้ง สว. 250 คนในปี 2562 ที่ถูกคัดเลือกโดยคณะรัฐประหารปี 2557 อีกทั้ง สว. ชุดนี้ยังมีอำนาจพิเศษ คือการร่วมกับ สส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นก็ยังมี อำนาจลงมติร่วมกับ สส. เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ “ปฏิรูปประเทศ”, อำนาจการลงมติด้วยเสียง 1 ใน 3 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจแบบปกติเช่นเดียวกับ สว. ชุดปกติ เช่น การพิจารณากฎหมาย การพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ยังอยู่ในมือของ ส.ว. ชุดนี้ด้วยเช่นกัน

“แม้ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 สว. จะมีอำนาจที่มากขึ้น สว. ที่มาจาก คสช. เป็นการให้คนไม่กี่คนตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ทำให้ได้ สว. หน้าเดิม ๆ ถือว่าไม่แฟร์กับประชาชน เพราะประชาชนต้องเลือกผู้แทนของตัวเอง เพื่อที่ผู้แทนจะได้บริหารจัดการเลือกผู้บริหารประเทศ แต่การให้ สว. มาเลือกนายกด้วยเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วยในการให้อำนาจนี้” สุรีรัตน์ กล่าว

ระบบกินรวบ โปรยเงินซื้อ สว.

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว. อุบลราชธานี กล่าวในเวทีเสวนา “ส.ว.อุบลม่วนซื่น คืนอนาคตประเทศ” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไว้ว่า การที่จำกัดให้คนเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องอายุมากกว่า 40 ปี เคยทดลองมาแล้วเมื่อปี 2561 ในการเลือก ส.ว. 50 คน ของชุด 250 ส.ว. ปัจจุบัน ตอนนั้นทั่วประเทศมีคนสมัคร 7,000 กว่าคน ใช้เงิน 1,300 ล้านบาท บางจังหวัดมีคนสมัครไม่ถึง 100 คน โดยเฉพาะทางอีสาน พอเลือกเสร็จ คสช. ก็คัดอีกรอบ

“ครั้งนี้โชคดีที่ คสช. ไม่มีอำนาจในการคัดออก แต่ระบบที่ทำให้การเลือกเป็นระบบปิด ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เขาอาจจะภาคภูมิใจว่ากำลังทำลายประวัติศาสตร์ในโลก ก็คือเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่เลือกตั้งแบบนี้ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นวิธีการที่เป็นการทำลายหลักการของประชาธิปไตย คือละเมิดสิทธิความเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมือง” นพ.นิรันดร์ กล่าว

ด้าน พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนคณะก้าวหน้า กล่าวว่า กระบวนการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ทำให้ประชาชนคนไทยไม่ได้ ส.ว. ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ที่เรียกว่าเป็นสุดยอดในแต่ละสายอาชีพตามที่เขากำหนดมา 20 กลุ่มอาชีพ เพราะรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดมาแบบนี้

พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ยังได้รับข้อมูลว่า เมื่อถึงระดับประเทศก็อาจจะมี 2 อย่าง คือ การวัดดวงกับซื้อยกโหล ซื้อยกล็อต คือไปซื้อผู้สมัครที่เข้าไปถึงระดับประเทศยกล็อต ทีละ 20-30 ล้าน แล้วก็ให้เข้าไปโหวต ระบบนี้ถ้าจะให้ตอบประโยคเดียวก็คือ เอื้อกับ 1.คนที่มีเครือข่ายเส้นสาย นั่นก็คือราชการ ตำรวจ ทหาร  2.บ้านใหญ่ระดับชาติ คนที่ถือเงินรอไว้ปลายทาง 500-600 ล้านบาท ซื้อทีเดียวตอนที่ได้ 200 คน ไม่ได้เอื้อเฉพาะบ้านใหญ่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น

“ระบบนี้น่ากลัว เพราะกินรวบ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ประชาชน เพราะท่านเสียค่าสมัคร 2,500 บาทตั้งแต่ต้น แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือผู้ที่มีเงินในระดับ 600-1,000 ล้านบาทที่สามารถซื้อตัว 200 คนทีเดียวได้” ตัวแทนคณะก้าวหน้า กล่าว 

ด้าน สุรีรัตน์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า สังคมไทยติดล็อกหลายอย่าง ไม่ว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มันยังไม่เป็นประชาธิปไตยและยังไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงแบบยกระดับ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยาก การเข้าไปเป็น สว. ก็เสมือนประตูบานหนึ่งที่จะเข้าไปแก้ไข เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง สว. ตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเข้าไปเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีที่ต้องเสียเงิน แต่เราก็ควรแสดงจุดยืนตัวตนและเพื่อเลือกตัวแทนของกลุ่มอย่างชัดเจน

นับถอยหลังรับเลือก สว. 2567

ทางด้านภาคประชาชนต่างคึกคักกับการรับเลือก สว. ที่กำลังจะถึงนี้ โดยมีว่าที่ผู้สมัคร สว. จำนวนหลายคนรวมกันเปิดตัวกัน เพื่อแนะนำตัวและแสดงวิสัยทัศน์ของตน หลังจากที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง สว. โดยตรงครั้งแรกและครั้งเดียวในปี 2543 โดยรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหาร 2549 ยิ่งไปกว่านั้น คณะรัฐประหารก็ได้ทำการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 2 ที่ประชาชนได้เลือกตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ทิ้งไปด้วย และหลังจากนั้นก็ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดอีกเลย ด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดการรณรงค์ให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการรับคัดเลือก สว. ร่วมกันสมัครให้มีจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ทั้งสมัครเพื่อเป็น สมัครเพื่อเข้าไปโหวต และ สมัครเพื่อเข้าจับตาการคัดเลือก

สุรีรัตน์ ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้การเลือก สว. ครั้งนี้จะเป็นการจ่ายเงินเพื่อเข้าไปเลือก  แต่เราก็ควรแสดงจุดยืนตัวตนและเพื่อเลือกตัวแทนของกลุ่มอย่างชัดเจน เช่น เราจะสมัครเป็นตัวแทนของกลุ่มภาคประชาสังคม เราต้องอธิบายได้ว่าเราทำงานภาคประชาสังคมอย่างไร ซึ่งไม่ใช่การทำงานแบบ NGOs เพราะ NGOs คือองค์กรที่ทำงานด้านสังคม ตัวองค์กรอาจไม่ได้หมายถึงภาคประชาสังคม โดยภาคประชาสังคมคือขบวนการประชาชน

“ท้ายที่สุดเป้าหมายของ สว. 200 คน มันจะต้องประกอบกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และกลุ่มละ 10 คน ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นภาคประชาสังคมจริง ๆ ต้องเข้าไปร่วมในขบวนการ แม้ว่าอาจจะตกรอบแรก แต่จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อเลือกกันเอง” สุรีรัตน์ กล่าว

ช่วงเวลา สว. ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หลังดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 5 ปี จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ซึ่งเป็นชุดแรกที่ถูกแต่งตั้งมาใช้อำนาจเฉพาะกิจสานต่อช่วงรอยต่อของการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่มาของสว.ชุดใหม่ ก็ไม่เหมือน สว. ชุดพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลอีกต่อไป และมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 200 คน แตกต่างจาก สว. ชุดพิเศษตามบทเฉพาะกาลที่มีถึง 250 คน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า หากภาคประชาชนได้เก้าอี้ สว. จะช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น ความหวัง สว. ที่มาจากประชาชนอาจเกิดขึ้นในครั้งนี้

อ้างอิง

–    THEISAANRECORD, 2567, นพ.นิรันดร์ บอกโลกไม่ทำ เลือกตั้งระบบปิด ช่อ พรรณิการ์ ขอทำงานแบบหน้าด้าน ให้ ปชช. จ่าย 2,500 เพื่อเข้าไปเลือก ส.ว., เข้าถึงได้จาก https://theisaanrecord.co/2024/05/07/2024-senator-election/

–    iLaw, 2567, กกต. เผยแพร่ข้อมูลเท็จ การชี้ชวน การกรอกข้อมูล เผยแพร่ก่อนระเบียบแนะนำตัวบังคับใช้ ไม่ผิดกฎหมาย!, เข้าถึงได้จาก https://www.ilaw.or.th/articles/30335

–    ไทยรัฐ, 2567, กกต. สั่งหยุดแคมเปญชวนสมัครลงเลือก สว. ยันผิดกฎหมาย โทษจำคุกสูง 10 ปี, เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2781222

  • iLaw, 2567, สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67, เข้าถึงได้จาก https://www.ilaw.or.th/articles/22551
  • The Active, 2567, เปิดตัว 16 ว่าที่ผู้สมัครภาคประชาชนชิงเก้าอี้ สว., เข้าถึงได้จาก https://theactive.net/news/politics-20240428/
  • คณะก้าวหน้า, 2562, 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ส.ว., เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=204119034557700&set=a.204116524557951
  • คำอธิบายสาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/wp-content/uploads/02022/05/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2544.pdf

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง