เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2567 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลา รวมกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) ของโครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดโดยบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) คำขอประทานบัตรที่ 3/2565 หมายเลขหลักหมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32335 ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด
เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาได้นัดรวมตัวกันที่จุดนัดพบ โดยพบว่ามีชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองหินปูนออกมาร่วมปกป้องเขากะลาจำนวน 150 คน ในระหว่างเตรียมการก่อนเคลื่อนขบวนได้มีตัวแทนกลุ่มรักษ์เขากะลาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องถึงเหตุผลและความจำเป็นในการคัดค้านการขอประทานบัตร ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด โดยบางส่วนของการประชาสัมพันธ์เพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรได้ให้เหตุผลว่า “เขากะลาเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึม เป็นแหล่งอาหารที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือน เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล แต่ถ้าหากเกิดการสร้างเหมืองหินและระเบิดเขา จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง ผละกระทบต่อการทำเกษตรกรรมรวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของบึงบอระเพ็ด จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำความความเดือดร้อนมายังชาวบ้านในพื้นที่” โดยบรรยากาศขณะนั้นสะท้อนถึงการรวมใจของชุมชนเพื่อคัดค้านเหมืองแร่หินปูนอย่างเข้มแข็ง
ขณะขบวนเครือข่ายชุมชนกลุ่มรักษ์เขากะลาเคลื่อนไปยังสถานที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ได้มีตัวแทนชุมชนขึ้นปราศรัยแลกเปลี่ยนตลอดจนอธิบายให้ข้อมูลในประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน โดยสรุปใจความได้ว่า “การทำเหมืองแร่คือการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การพัฒนา เป็นการทำลายสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน เป็นการทำลายทรัพยากรส่วนรวมโดยที่กลุ่มคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์”
เมื่อเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาเคลื่อนไปถึงสถานที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ พบว่ามีการจัดสถานที่เตรียมการประชุมแต่ไม่พบตัวแทนของ บริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด และ บริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) และไม่พบชาวบ้านที่จะเข้าร่วมประชุม ทางเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาจึงแสดงเจตจำนงยืนยันในสิทธิชุมชนที่ต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยปิดสถานที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) เกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2567 หลังจากนั้นได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ต่อตัวแทนผู้ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวแทนจากสาขารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดนครสวรรค์ พรรคก้าวไกล หลังจากการยื่นหนังสือเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาได้เคลื่อนขบวนไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเขากะลา เมื่อขบวนเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาเคลื่อนไปถึง พบนายประจวบ หมีทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขากะลา ได้ลงมารอรับหนังหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตร ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกหนัก ทางเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขากะลาบางส่วนจึงเดินทางกลับไปยังจุดนัดพบ และบางส่วนได้ปักหลักอยู่ที่ศาลาประชาคม หมู่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบจัดเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA)
ทั้งนี้ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป