ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้สิ่งที่เป็นหลักประกันต่อชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะเหล่าแรงงานที่แทบไม่มีหลักประกันใด ๆ ในชีวิต นั่นก็คือการตั้งคำถามต่อ ‘สวัสดิการของแรงงาน’ โดยประเด็นนี้มักเป็นเรื่องที่เราพูดคุยอยู่กันอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงอยากร่วมสนทนากับเขาบ้างผ่านการ “อ่าน” และตีความวรรณกรรมไทยที่มีอายุมากว่า 50 ปี คือเรื่องสั้นในชื่อของ ‘แก้วหยดเดียว’

(ศรีดาวเรือง ภาพ: https://www.the101.world/sri-daoruang-interview/ )

เรื่องสั้นเรื่องนี้เขียนโดย ‘ศรีดาวเรือง’ หรือ วรรณา ทรรปนานนท์ (นามสกุลเดิม) เธอเกิดที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จบการศึกษาชั้นประถมการศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบางกระทุ่มศึกษาลัย เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงนักเขียนช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ฉายา “กรรมกรนักเขียน” (the people) มาจากปูมหลังในชีวิตของเธอ ก่อนจะมาเป็นนักเขียน อาทิ ลูกจ้างร้านข้าวแกง ร้านซักรัด เย็บเสื้อโหล กุลีบ้านฝรั่ง พนักงานเด็กเสิร์ฟ แคชเชียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรโรงงาน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวถึงศรีดาวเรืองไว้ว่า “ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีผู้ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกมองข้ามและได้รับการประเมินค่าโดยวงการวรรณกรรมศึกษาในเมืองไทยไว้ต่ำเกินจริงอย่างไม่น่าให้อภัย

เรื่องสั้นแก้วหยดเดียวเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ชื่อของศรีดาวเรืองยังเป็นปริศนา ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใคร ตีพิมพ์ครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประจำเดือนมกราคม-มีนาคมปี 2518 โดยมี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ ได้สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นเรื่องราวของชีวิตกรรมมาชีพและชะตากรรมรวมไปถึงความพยายามต่อรองและต่อสู้กับนายทุนได้อย่างถึงแก่น ศรีดาวเรืองให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ 101.word เมื่อปี 2565 ต่อเรื่องนี้ว่า 

“…แก้วหยดเดียวเป็นชีวิตของตนเอง เวลามีตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง รู้สึกว่าได้อารมณ์เข้าไปด้วย…

แก้วหยดเดียวจึงเป็นการบันทึกภาพแทนของกรรมมาชีพในช่วงครึ่งศตวรรษก่อน นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวถึงการเปรียบเทียบระหว่างวรรณกรรมกับประวัติศาสตร์ไว้ว่า “…ปัจจัยที่ร่วมกันระหว่างเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์กับนวนิยายได้แก่ การตีความ การสร้างชีวิต และพลังให้กับเรื่องราวนั้น ๆ จนกระทั่งผู้อ่านเรื่องราวไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์หรือนวนิยายก็มีความรู้สึกร่วมกับตัวละครและเนื้อเรื่องที่ดำเนินไปอย่างมีอารมณ์ความรู้สึก ได้ยิน ได้เห็น และเอนเอียงไปตามตัวละครที่ผู้อ่านมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นไปด้วยได้ ราวกับว่าเขาได้เข้าไปมีชีวิตร่วมกับตัวละครและฉากต่าง ๆ ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วยกันเอง” (นิธิ, 2545, น.4)    

แก้วหยดเดียวเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงชีวิตกรรมาชีพหญิงผู้หนึ่งที่ทำงานในโรงงานผลิตแก้วโดยมี ‘อนงค์’ เป็นแกนของเรื่อง มีเจ้าของโรงงานเป็นนายตำรวจใหญ่ และผู้จัดการเป็นคนจีน โรงงานแห่งนี้แม้เป็นเพียงโรงงานเล็ก ๆ มีเตาหลอมเพียงสองเตา แต่ก็ใช้ระบบสายพานการผลิตแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กล่าวคือ มีการกำหนดให้คนงานแต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะส่วนตามขั้นตอนการผลิต คนฝนแก้วฝนแต่แก้ว คนคัดแก้วคัดแต่แก้ว คนทำกล่องทำแต่กล่อง คนบรรจุแก้วก็บรรจุแต่แก้ว ฯลฯ

ระบบสายพานทางการผลิตนี้แม้จะช่วยลดต้นทุนทางการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต แต่ก็มีข้อเสียที่สำคัญคือมันเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนงาน และทำให้คนงานมีสถานะเสมือนหุ่นยนต์ที่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ ตลอดวัน คนงานจึงเกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่เพียงเพราะเขาถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกทำให้เป็นหุ่นยนต์ แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้สึกตนเองว่าเป็นเจ้าของการผลิตที่พวกเขาร่วมสร้างมันขึ้นมา ผิดกับช่างฝีมือยุคก่อนอุตสาหกรรม (ชูศักดิ์, 2558, น 232-233) ดังจะเห็นจากเพื่อนร่วมงานบ่นถึงอนงค์ที่ตั้งใจทำงานไว้ว่า “แหม… พี่นงค์คิดมากยังกะเป็นของตัวเอง ทำ ๆ ไปเถอะ ช่างหัวมันปะไร เงินเดือน 140 บาท ค่าเช่าเขาเอาไปคนล่ะเท่าไหร่ละ

ชีวิตของอนงค์นั้นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะอนงค์เป็นคนที่มีชีวิตมาจากสังคมเกษตรกรรมที่มีระบบคุณค่าคนละชุดกับสังคมอุตสาหกรรม เธอจึงเป็นบุคคลที่แปลกของทุกฝ่ายในสายตาสังคมโรงภงาน เพราะเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงต้องตั้งใจทำงานขนาดนั้น หลายคนจึงฉวยโอกาสนี้กินแรงเธอ “ลุงม่วนมายืนอยู่นี่แล้วกล่องจะพอใช้ได้ยังไง เดี๋ยวหนูคัดแก้วเข่งนี้เสร็จหมดแล้วจะไปช่วย

ความไม่พอใจของอนงค์เกิดจากการที่ผู้จัดการเข้ามาต่อว่าเธอ เหลียง และวิชัย เพื่อนร่วมงานทั้งสองคน ที่แวะกินข้าวช่วงพักกลางวันแทนที่จะรับกลับโรงงานหลังจากเดินทางออกไปส่งของให้กับลูกค้า “เกิดลื้อแล้วไปกินเหล้าแล้วขับรถไปชนเข้า… พวกลื้อตายน่ะไม่ใช่เรื่องของอั๊วหรอก แต่รถอั๊วมันจะพัง” เป็นฝางเส้นสุดท้ายสำหรับอนงค์ที่จะทนต่อนายทุนหน้าเลือดอีกต่อไป อีกแง่หนึ่งเราจะเห็นการปะทะกันระหว่างคุณค่าทางความคิด นั่นคือ ‘แอ๊ด’ ปัญญาชนนักศึกษาในเมืองที่เข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ช่วงปิดเทอม เขากล่าวต่อหน้าเพื่อนคนงานหลายคนว่า

“… มันจะทำไปไม่ได้ถ้าไม่มีราชการชั่วของเราให้ความสะดวก น่าเจ็บใจตรงนี้แหละ คิดดูสิครับเด็กในโรงงานอายุแค่ 9 ขวบ 10 ขวบ ต้องเดินเอาแก้วที่เป่าแล้วไปส่งหน้าเตาอบทีละใบ ๆ วันหนึ่ง ๆ ทำงาน 9 ชั่วโมง คิดเวลาที่มันเดินไปเดินมาดูสิว่าระยะทางเท่าไหร่ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีคนงานถูกแก้วเหลวหยดใส่มือ มือนี่บิดงอไปหมด แล้วผู้จัดการให้ค่าตอบแทนอะไรบ้างไหม มิหนำซ้ำยังพูดว่าซุ่มซ่าม ไม่ระวัง เขาช่วยอะไรไม่ได้ พวกพี่ ๆ ก็รู้ โรงงานนี้ไม่มีสวัดิการ อะไรเลย ค่ารักษาพยาบาล ค่าแรงที่เป็นธรรม ค่าชดเชยเมื่อพิการหรือถูกไล่ออกจากงาน อาหารก็แทบต้องแย่งกันกิน… นี่มันบ้านเมืองเรานะครับแล้วไอ้ที่มาบังคับเราอยู่นี่มันเป็นใคร มาจากไหนกัน..” (น.24-25.)

จะเห็นได้ว่าเสียงของแอ๊ดเป็นการกล่าวถึงสวัสดิการในการทำงานทั้งสิ้น จึงมีการปะทะกันของกรอบความเป็นสมัยใหม่ที่แตกต่างจากนายทุนที่เอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จะต่างกันแค่แอ๊ดมองถึงสวัสดิการที่เอาทุกคนเป็นที่ตั้ง ผิดกับอนงค์ที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความผูกพันส่วนตัวเหนือเรื่องอื่นใด ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จึงเสนอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฉายภาพของโลกสองโลกบนพื้นที่เดียวกัน ท่ามกลางน็อตและฟันเฟืองของเครื่องจักรในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่

แม้จะมีการปะทะกันของระบบความคิด แต่สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือการแสดงให้เห็นการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานผ่านการตั้งคำถามกับสิ่งที่แรงงานควรจะได้รับนั่นก็คือ “สวัสดิการ” ที่คนอย่างแอ๊ดพยายามส่งเสียงให้แรงงานทุกคนได้ทราบ การต่อต้านความไม่พอใจดันโหมเข้าไปใหญ่โดยเห็นจากฉากจบของเรื่องนี้ เมื่อผู้จัดการที่ทำการโบกมือไล่หลงจู๊อันเป็นที่รักของแรงงานออกไป ในขณะที่ผู้จัดการนั่งคุยกับเจ้าของโรงงานใกล้เคียงในห้องทำงานของเขา “...หลงจู๊..เล่าให้คนงานฟัง ช่วงสายขึ้นกรรมกรชายหญิง เด็ก คนแก่ และคนที่เดินมามุงเริ่มหนาตามากขึ้น และค่อย ๆ มากขึ้น เมื่อมีข่าวว่าหลงจู๊โดยไล่ออก เจ้าของโรงงานที่อยู่ใกล้เคียงเบิกตากว้าง เพราะคนงานค่อย ๆ เดินเข้ามารวมกลุ่มมากขึ้น ๆ นั้น มิได้มาจากโรงงานเพียงแห่งเดียว แต่หากยังมีคนงานของเขาเองที่มาจากโรงงานน้ำตาล โรงงานกระสอบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานแก้วแห่งนั้นด้วย” (หน้า 26)

หากมองในสายตาปัจจุบัน กล่าวคือในปี 2567 ผมกลับคิดว่าเรื่องนี้ตั้งคำถามต่อสวัสดิการของแรงงานผ่านการสะท้อนชีวิตตัวละครได้เป็นอย่างดี น่าสนใจที่ว่าเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่ประเด็นเรื่องสวัสดิการของแรงงานยังแทบไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐแม้แต่น้อย สุดท้าย บริบทปัจจุบันอาจจะต่างไปสักหน่อยเพราะเรามีทั้ง แรงงานนอกระบบ แรงงานชั่วคราว แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานอารมณ์ และอื่น ๆ อีกมาก แม้รูปแบบการขูดรีดในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากแรงงานในโรงงาน ไปเป็นแรงงานที่มีความหลากหลายมากกว่าเท่านั้น การขูดรีดแบบปัจจุบัน ในหนังสือ The Burnout Society ได้เสนอว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมวินัยที่ควบคุมจากอำนาจของการห้ามไปสู่สังคมแห่งความสำเร็จหากทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนล้มเหลวไปในที่สุด ดังนั้นการขูดรีดในปัจจุบันจึงมีลักษณะที่หลากหลายมากกว่าการควบคุมในโรงงานเหมือนดังอดีต

กระนั้น สิ่งที่แทบไม่เปลี่ยนไปเลยคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นหลักประกันของชีวิตแรงงานที่จะได้รับยังแทบไม่ได้รับการเยียวยา เรื่องสั้นเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องสวัสดิการที่ควรจะได้รับของแรงงานไว้เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วแต่ปัจจุบันนี้ก็ยังวนลูปอยู่อย่างนั้น ประหนึ่งว่าเป็นสังคมโรงงานขวดแก้วที่เปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปเป็นแบบอื่น สังคมแบบไหนกันที่ทำให้คนที่ทำงานหนักถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่หยุดหย่อน

   รายการอ้างอิง

  • ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. อ่านใหม่ เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อ่าน. 2558.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2545.
  • ปาณิต โพธิ์ศรีวังชัย. ระยิบทรงจำในระยับสวนอักษร “ศรีดาวเรือง”. The 101.world. https://www.the101.world/sri-daoruang-interview/.
  • ศรีดาวเรือง. แก้วหยดเดียว : รวมเรื่องสั้น. พิมพ์ครั้งที่ 2 . อยุธยา : สำนักพิมพ์ทานตะวัน. 2533.
  • จักรกฤษณ์ สิริริน. “ศรีดาวเรือง” เจ้าของฉายา “กรรมกรนักเขียน”ที่ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย. the people. https://www.thepeople.co/culture/literature/53275
  • Han, B. C. The Burnout Society. Stanford, California : Stanford Briefs. 2015.

ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง