23 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายนักกฎหมาย ทนายความ และคณาจารย์นิติศาสตร์ ได้แถลงการณ์เรื่อง สิทธิประกันตัวคือหลักประกันความมั่นคงของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลัง บุ้ง เนติพร เสียชีวิตเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาในคดีการแสดงออกทางการเมือง และรักษาศักดิ์ศรีของกระบวนการยุติธรรมไทย โดยมีเนื้อหาในแถลงการดังนี้
การได้รับประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราว นอกจากจะเป็นสิทธิตามกฎหมายสากลที่ถูกรับรองไว้ในทุกระดับตั้งแต่ในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญทุกฉบับของทุกประเทศในโลกที่ยึดถือระบอบเสรีประชาธิปไตย ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระเบียบและแนวปฏิบัติของทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กว่าสามทศวรรษตั้งแต่มีการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในทศวรรษ 2540 ที่สิทธิประกันตัวถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ซึ่งย่อมคาดหมายได้ว่าประชาชนทั่วไปและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมย่อมเข้าใจความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวที่มีต่อศักดิ์ศรีและปัจเจกภาพของบุคคล
อย่างไรก็ตาม การมองข้าม ละเลย ความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวในสังคมไทยกลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ผลร้ายที่สุดเกิดขึ้น คือความตายของคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เราทุกคนทราบดีว่าชีวิตคือสิ่งที่ไม่อาจหวนกลับและควรค่าแก่ความหวนแหน โดยความตายของคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม นี้เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมตัวของรัฐในระหว่างการพิสูจน์ความรับผิดทางกฎหมาย
ในระบอบเสรีประชาธิปไตย สิทธิในการประกันตัว คือ หลักประกันความมั่นคงในชีวิตของปัจเจกบุคคล ว่าตนจะไม่ถูกคุกคามกลั่นแกล้งจากรัฐ โดยปราศจากการพิจารณาความผิดที่กำเนิดแต่กฎหมายตามเจตจำนงของประชาชน ด้วยกระบวนการยุติธรรมและกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้องค์กรตุลาการที่กล้าหาญและเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นรากเหง้าของรัฐเสรีประชาธิปไตยในการได้รับความเคารพนับถือและความร่วมมือจากประชาชนในการประกอบภารกิจเพื่อส่วนรวมของรัฐ
การไม่ยอมปล่อยตัวชั่วคราว แม้ปรากฏเงื่อนไขที่กระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตผู้ต้องหาที่ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์สะท้อนศีลธรรมแบบเจ้านายของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ละเลยการดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะเล็กน้อยอย่างการปรามการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง กับการคุ้มครองสิทธิในการประกันตัวซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ทั้งนี้ หากไร้ซึ่งความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ผลร้ายย่อมไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลอย่างคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม อย่างเฉพาะตัว แต่เป็นการทำลายรากฐานของความมั่นคงแห่งรัฐและ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยตรง
ความเสียหายนี้เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนคนไทยอย่างถาวร และคงไม่ใช่การกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใดว่า พฤติการณ์และความตายของคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม เป็นผลพวงจากความเสียหายทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากการที่กระบวนการยุติธรรมไทยถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ทั้งจากเนื้อร้ายในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สำนึกในหน้าที่ของตน และจากการแทรกแซงของบุคคลภายนอกที่เห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยน์สำหรับตนเอง
สิทธิในการได้รับการประกันตัวจึงไม่ได้ประกันแค่สิทธิของปัจเจก แต่ประกันความชอบธรรมและความมั่นคงของรัฐด้วย ทั้งรัฐแบบไทยและรัฐแบบเทศ
ความตายของคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม จึงมิใช่ความตายของปัจเจกบุคคล แต่เป็นแผลฉกรรจ์ในใจของประชาชนคนไทยจำนวนมากที่สลักไว้ตรงใจกลางของระบบยุติธรรมไทย และเป็นสัญญาณของเนื้อร้ายที่เกาะกุมในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
พวกเรา นักกฎหมาย ทนายความ คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ ขอแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดกับคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม และครอบครัว และขอเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาในคดีทั้งมวล โดยเฉพาะคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง เพื่อประกันการรักษาสิทธิของปัจเจกชน เพื่อเยียวยา และรักษาศักดิ์ศรีที่เหลืออยู่ของกระบวนการยุติธรรมไทย และเพื่อประกันเกียรติภูมิของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ด้วยความเชื่อมั่นในสังคมไทย
โดยมีนักกฎหมาย ทนายความ และคณาจารย์นิติศาสตร์ ร่วมลงชื่อดังนี้
1.กฤษพชรณ์ โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.กฤษฎา เอี่ยมละมัย อาจารย์นิติศาสตร์
4.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มธ.
5.กฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้
6.กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย
7.ขรรค์เพชร ชายทวีป อาจารย์ผู้สอนกฎหมาย
8.เขมชาติ ตนบุญ อาจารย์นิติศาสตร์
9.คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ
10.จินตนา ประลองผล นักกฎหมาย
11.จิรพงศ์ วงศ์ใหญ่ นักกฎหมาย
12.จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ
13.ชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ทนายความ
14.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความ
15.ณธกร อนุพันธุ์ ทนายความ
16.ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ –
17.ณัฐดนัย นาจันทร์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
18.ณัฐพล ต้นโสด นักกฎหมาย
19.ณัฐวรรธน์ แก้วจู ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
20.ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช มหาวิทยาลัยบูรพา
21.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
22.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
23.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
24.ธนรัตน์ มังคุด คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
25.ธวัช ดำสอาด นักกฎหมาย
26.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์นิติศาสตร์
27.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
28.นิฐิณี ทองแท้ นักวิชาการอิสระ
29.ประชา สุภสิทธิ์มงคล ทนายความ
30.ปารณ บุญช่วย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
31.ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ
32.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
33.พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ
34.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
35.พิฆเนศ ประวัง ทนายความ
36.แพรวพรรณ พิลาทอง ทนายความ
37.ไพโรจน์ พลเพชร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
38.ภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักกฎหมาย
39.ภาสกร ญี่นาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
40.มาริสา ปิดสายะ ทนายความ
41.มุนินทร์ พงศาปาน นักวิชาการ
42.รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ทนายความ
43.ลดาพร เผ่าเหลืองทอง นักกฎหมาย
44.วริยา เทพภูเวียง ทนายความ
45.วัชลาวลี คำบุญเรือง นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
46.วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
47.วิชัย ศรีรัตน์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
48.วิชิต ลีธรรมชโย นักกฎหมาย
49.ศรัณย์ จงรักษ์ นักกฎหมาย
50.ศราวุฒิ ประทุมราช สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน -สสส.
51.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
52.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ
53.ศุภกร ชมศิริ อาจารย์ด้านนิติศาสตร์
54.โศภิต ชีวะพานิชย์ นักกฎหมาย
55.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
56.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียใหม่
57.สมชาย หอมลออ ทนายความ
58.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียใหม่
59.สรชา สุเมธวานิชย์ อาจารย์นิติศาสตร์
60.สัญญา เอียดจงดี ทนายความ
61.สันติชัย ขายเกตุ ทนายความ
62.สิริลักษณ์ บุตรศรีทัศน์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
63.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ นักวิชาการกฎหมาย
64.สุนิดา ปิยกุลพานิชย์ ทนายความ
65.สุพรรษา มะเหร็ม ทนายความ
66.สุรชัย ตรงงาม ทนายความ
67.สุรพี โพธิสาราช นักกฎหมาย
68.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักกฎหมาย
69.โสภิดา สุขเจริญ ทนายความ
70.อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความ
71.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...