บ่ายแก่ ๆ ส่งท้ายฤดูร้อนในเดือนพฤษภาคม เมื่อเราเดินลัดเลาะเข้าไปในคูเมืองเชียงใหม่โซนวัดพระสิงห์ เข้าไปยังพื้นที่บ้านสวน มีต้นไม้สีเขียว มีชิงช้า และเสียงแจ้ว ๆ ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมในรั้วใกล้เคียงคลุ้งอยู่ในบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน เราจะได้พบกับ Pa Rang cafe & Art stay ที่ซึ่งเป็นทั้งคาเฟ่ พื้นที่พำนักของศิลปินที่แวะเวียนมายังเมืองแห่งนี้ และพื้นที่กิจกรรมรวมตัวของคอมมูนิตี้หลากหลายศาสตร์แขนง ทั้งศิลปะ ดนตรี และแม้กระทั่งการทดลองของ “นักวิทยาศาสตร์บ้า ๆ” ตามที่ “เวฟ” วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ Visual Artist เพื่อนเรา ได้นิยามไว้อย่างติดตลก มารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ประหลาดหลุดโลกอยู่ในที่เดียว
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา บ้านหลังนี้เคยเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่เรียกว่า LLL CoLaboratory (เหลู้าบ แลบ) อ่านว่า ‘ลาบหลู้เหล้า’ เป็นกิจกรรมที่รวมตัวชาว Biohackers ผู้ที่สนใจด้าน Bioart หรือเรียกตามคำนิยามของผู้จัดคือ “มนุษย์เพี้ยน ๆ จากทั่วโลก” ใช้พื้นที่เป็นห้องทดลองของผู้คนด้วยองค์ความรู้และพลังของ Opensource
เราเลยอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเพื่อนนักหาทำ ผู้ผสานศาสตร์ ด้วยโลกที่เปิดกว้างแบบ “เวฟ” หนึ่งในผู้ริเริ่มเทศกาลวัฒนธรรมร่วมสมัย คนข้าวยาคู้.ช้างม่อย และผู้ร่วมก่อตั้ง tomorrow.Lab กลุ่มมนุษย์ที่สุมหัวกันในเชียงใหม่ทำอะไรก็ได้ที่หวังจะผสานสองศาสตร์หลักของโลก ได้แก่ศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อจินตนาการของ “วันพรุ่งนี้” ร่วมกันกับทุกคนในสังคม
เวฟเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด เขาใช้ชีวิตวัยเด็กเติบโตในย่านช้างม่อยและเคยมีความทรงจำร่วมในสมัยที่เด็กน้อยยังสามารถลงเล่นน้ำในคลองแม่ข่าได้ เขาเป็นเพื่อนคนแรก ๆ ของเราที่มีความสนใจร่วมตั้งแต่ตัวเราเองยังไม่ได้ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ในช่วงเวลาหกปีกว่าที่ได้รู้จักเวฟ เราเจอกันผ่าน Tech Meetup ในแวดวงโปรแกรมเมอร์และนักคิดค้นแห่ง Chiang Mai Maker Club และสนทนาประสาเพื่อนที่ร้านสุดสะแนน เวฟเป็นหนึ่งในมนุษย์ที่ไม่อยู่นิ่ง เป็นนักหาทำที่ขยันทำมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยรู้จัก มีจริตของการ “เล่น” โน่น “เล่น” นี่ตลอดเวลา ราวกับว่าโลกใบนี้เป็นห้องทดลองของเขา
ถ้า “ความอยากรู้อยากเห็น” มีเผ่าอยู่จริง เวฟคือหน่ึงในหัวหน้าเผ่า Curiosity แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถึงแม้เขาจะเติบโตมากับการเป็นเด็กเนิร์ด เรียนสายวิทย์ฯ จบเตรียมอุดมฯ มีดีกรีจบวิศวะฯ นาโนจุฬาฯ ก็ตามที แต่ในปีหลัง ๆ เขาเดินทางข้ามศาสตร์มาในฐานะศิลปิน Visual Artist ได้อีกด้วย และถึงแม้เราจะคิดว่ารู้จักเขาดีในระดับหนึ่ง เมื่อได้สนทนากับเวฟทีไรก็มีมุมมองหลุดโลกมาแบ่งปันเสียทุกครั้งไป
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ อยากให้ผู้อ่าน Lanner ทุกคนเตรียมตัวเข้าสู่โลกใหม่ สลับกับคำศัพท์ที่อาจไม่ชินหูนัก อย่างเช่นคำว่า Biohackers, DIY Biology, BioArt, Residency, Camp, และ Tech แล้วมาสนุกกับห้องทดลองนี้ไปด้วยกันผ่านชีวิตและมุมมองแบบเวฟๆ
ไม่ได้คุยกันนาน เล่าเรื่อง Open Lab เหล้าบ (ลาบหลู้เหล้า) แลบ ให้ฟังหน่อย
“มันเกิดจากการที่เรามีเพื่อนของเพื่อนคนนึงชื่อมาร์ค dusagr เขาทำเว็บชื่อ hackteria.org มันคือแพล็ตฟอร์ม opensource สำหรับคนที่มาร่วมแชร์เรื่อง DIY Bio ในยุคแรกเริ่มของอินเตอร์เน็ต สมัยที่เว็บไซต์ยังบูม ๆ ถ้าเข้าไปดูเราจะเห็น Aesthetic เว็บไซต์แบบรุ่นเก่า นึกภาพว่าเหมือนสมัยเว็บบอร์ด เว็บประมูล อะไรพวกนี้ มันเป็นคอมมูนิตี้อันหนึ่งที่ค่อนข้าง well-known เลยแหละ นอกจากนี้เขาเองก็ทำพวก Hardware พวกอุปกรณ์ที่ใช้ในแล็ปจากกระบวนการแบบ DIY”
“เขาก็เหมือนมนุษย์ Geek อ่ะ ที่หิ้วกระเป๋ามาแล้วในนั้นแม่งมีแบบพวกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ มีเซ็นเซอร์ มีอะไรเต็มไปหมด”
“ทีนี้มาร์คเขาก็มาทำรีเสิร์ชที่เชียงใหม่เนอะ เราก็พาเขาไปรีเสิร์ชที่ต่าง ๆ เขามาพักที่บ้านโบร่า (Pa Rang cafe & Art stay) ในช่วงแรกเขาก็รีเควสมาว่าอยากทำเวิร์คช็อปกับทอล์ค เราก็เลยจัดให้ แล้วก็ชวนคนในเชียงใหม่มาแจม”
“อยู่ ๆ ไป เขาก็เริ่มชอบเชียงใหม่ เขาก็เลยมีไอเดียอยากจะจัดแคมป์ คำว่า Camp คือรูปแบบคล้าย ๆ Mini Residency ที่ศิลปินหรือกลุ่มคนมาอยู่ด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน เซ็ทโปรเจคอะไรด้วยกัน มาเป็นไอเดียไฟไหม้เลย”
“ทีนี้ช่วงเวลาก่อนกุมภา ณ ตอนนั้น มันเป็น Winter จ๋า ๆ ที่ฝั่งยุโรปพอดี ก็เลยมีพวกเครือข่ายเขาที่เป็นศิลปินที่คุ้นเคยกับแคมป์พวกนี้เขามาเที่ยวที่ไทย มาภูมิภาคนี้กัน งานนี้ก็เลยมีทั้งคนโลคอลและต่างชาติแวะเวียนมาด้วย มีผมกับเจ้าบอสแล้วก็แก๊ง tomorrow.Lab ที่แวะเวียนมา”
“ก็สนุกดี วันที่เราเริ่มต้นเราก็ลองมา Discuss ว่าเราจะมา Hack อะไรกัน อย่างมาร์คเอง Agenda เขาคืออยากเล่นกับเลเซอร์ เขาจบเอกด้าน Nano มา เขาอยากลองเอาเลเซอร์มาปรับเล่นเพื่อสร้าง Nano Particles อะไรแบบนี้ ส่งเปเปอร์มาเต็มเลย”
“มีศิลปินอีกคนจากเวียนนาเขาสนใจกล้องรูเข็ม เขาก็เลยไปหาพวกอุปกร์กระดาษโฟโต้ แล้วก็ทำรูเข็มจากกล่องกระดาษ วิ่งไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองแล้วก็ไปถ่ายรูป แล้วก็มีเล่นกล้องจุลทรรศน์กันด้วย เอา LED ใส่กล้องจุลทรรศน์ มีทำ BIO VJ เยอะพอสมควร ศิลปินอีกคนสนใจเรื่อง Bubble เขาก็เอา Bubble มาส่องใต้ Microscope พอดีผมมีโปรเจคหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับ Vibration เราก็เลยลองว่าเอา Bubble มา Vibrate บนลำโพงไหม ก็เลยได้ลอง Collab กัน”
“โบร่า (เจ้าบ้าน Pa Rang) โฮสต์ของเราก็รู้สึกอินกับโครงการลักษณะนี้ เขาก็ Contribute หลายอย่าง เขาก็ทำโต๊ะกิมจิ โต๊ะยาวแบบเนี้ย แล้วก็มี Bimimbap เหมือนให้เอากาละมังหนึ่งอันต่อสองคน แล้วก็ให้ตักด้วยกัน มีกาละมังแยกสำหรับชาววีแก้น เลยกลายเป็น Eating Together Workshop ไป”
“เรื่องอาหารเราก็ได้ลอง Bimimbap ของโบร่าแล้วก็เอาหมูย่างกับหมูกะทะมาชนกัน ลองหมักสาโทเอง เราใส่เหี้ยอะไรไม่รู้ไปเยอะแยะมาก ไม่รู้กินได้หรือเปล่า ฮ่า ๆ”
“บรรยากาศของงาน ทีแรกนึกว่ามันจะกร่อย ๆ อาจจะเพราะได้ส่วนผสมของแต่ละคน แต่ละคนก็หาเรื่องทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา แล้วก็เซอร์ไพรส์ที่มีคนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่มาแจมเยอะ มีทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในเชียงใหม่ แล้วก็คนเชียงใหม่เลย”
“บางคนเราก็ไม่คิดว่าเขาจะอยู่นานขนาดนั้น คิดว่าเขาอาจจะแค่มาแว๊บ ๆ มารับรู้ว่ามีพวกกลุ่ม Biohacker มีนักวิทยาศาสตร์บ้า ๆ สี่ห้าคนกำลังวิ่งไปวิ่งมา แค่นี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่กลายเป็นว่าเขาก็ได้ Engage ได้มาเห็นมากกว่านั้น”
เวฟแชร์เรื่องราวในมุมมองของผู้จัดที่มีความตั้งใจอยากจะทำการแนะนำกิจกรรมในรูปแบบ Open Lab ที่คาดหวังการสร้างบรรยากาศที่เปิดและสนุกมากพอที่คนจากทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือวิทยาศาสตร์สามารถมาแลกเปลี่ยนและ “เล่น” ร่วมกันได้
แนวคิดที่เคลื่อนไหว จาก Humanist สู่ tomorrow.Lab
ด้วยความที่เราเองนั้นคลุกคลีกับเวฟมาหลายปี ก็ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวทางความคิดของเจ้าตัวอยู่พอสมควร หลายปีก่อนจะเกิดกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า tomorrow.Lab เวฟเคยออกท่องโลกของศิลปะในฐานะผู้ร่วมสร้างงานและผู้สังเกตการณ์ในนาม Humanist
“คือเราก็สนใจในเรื่อง Creativity อะไรต่าง ๆ ในช่วงใกล้เรียนจบมหาลัยเนอะ ช่วงนั้นมันมี Social Entreprise อันนึงที่ทำเรื่องพลังงาน เราจำได้ว่าไปฟังของเรื่องราวของเขา ที่เอาพลังงานทดแทนอย่าง Solar Cell พลังงานลม พลังงานน้ำ ไปไว้ในชุมชนต่าง ๆ มีอันหน่ึงที่ Inspire เรามาก คือเขาเข้าไปทำงานกับชุมชน ๆ นึง แล้วโดนชุมชนนั้นไล่ออกมาเพราะว่าเขาเอากังหันลมไปตั้งไว้ ในช่วงปีนั้นมันมีปรากฎการณ์ลานีญ่าพอดี ลมไม่มาฝนไม่มาตามฤดูกาล ชาวบ้านเลยบอกว่าการที่มึงเอาไอ้เสากังหันลมเวรนี่ไปตั้ง แม่งทำให้ลบหลู่ โน่นนี่ ก็เลยต้องเอาออก ซึ่งมันเป็นเคส Failure ของเขา แต่ตรงนั้นมันทำให้เราฉุกคิดว่า เออว่ะ ถึงมันจะเป็นประเด็นพลังงาน ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม แต่มันมีเรื่อง Culture เข้ามาเกี่ยวด้วย” เวฟเล่าถึงมุมมองที่เริ่มเคลื่อนไหวในช่วงที่ยังเรียนวิศวะฯ
“หลังจากนั้นมา เวลาเรามองเคสเทคโนโลยีต่าง ๆ เราก็เลยเริ่มมองในมุม Human มากขึ้น”
“ตอนแรกเราใช้ชื่อกลุ่มก้อนของงานศิลปะกึ่ง Tech ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า Humanist เพราะเรามาจากฝั่ง Tech แล้วเรามีความอยากให้ฝั่ง Tech มัน Humanize มากขึ้น พอ Observe มาเรื่อย ๆ คำนี้มันใหญ่ไป คำมันไม่ค่อยเฟรนลี่ มันดูเป็น Cult”
“อีกอย่างคือเราได้มุมมองจากการคลุกคลีกับฝั่ง Art หรือ Culture มากขึ้น ได้เห็นว่าเขามองอะไรอยู่ จากเดิมที่เราต้องการทำเทคโนโลยีที่มัน Human-friendly มากขึ้น ก็พบว่าจริง ๆ เราสามารถใช้กระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะ Art, Culture, หรือ Science พูดถึงอนาคตได้ ก็เลยกลายเป็น tomorrow.Lab”
พื้นที่ของอนาคตคือพื้นที่เชิงการเมือง
“คือเราเติบโตมาในยุคที่ทุก Touchpoint ของชีวิต มันคือวิกฤตการณ์ทางการเมือง เรียนจบม.3 ขึ้นม.ปลายตอนปี‘49 เสร็จปุ๊ปเข้ามหาลัยตอนปี‘53 มันมีช่วงที่หยุดเรียน เห็นบังเกอร์กลางสยามสแควร์ เราเห็นข่าวสลายการชุมนุมตรงนั้นตรงนี้ พอจะจบมหาลัยก็ปี‘57”
“ช่วงปี‘56 มหาลัยชั้นนำที่หนึ่งกลางสยามไม่ขอเอ่ยชื่อ ช่วงปี‘53 ปิดมหาลัยปิดแล้วปิดอีก แต่ช่วง ‘56-’57 ไม่ปิดเลยมั้ง แถมมา Encourage เราด้วยว่ามันเป็นสิทธิของเราที่จะออกไปแสดงออก ไปชุมนุม ต่าง ๆ ช่วงนั้นอยู่ยากนิดนึง” เวฟกล่าวพลางหัวเราะหึ ๆ
“ในสมัยนั้น มันเป็นช่วงที่เราเจอวิกฤตการณ์จากสายอนุรักษ์นิยม เราเจอวาทกรรมจากอดีตเยอะมาก ถ้าเขาไม่ทำแบบนี้ ประเทศไทยจะอยู่ได้ยังไง ทุกอย่างพูดถึงเรื่องในอดีตหมด ทุกอย่างเป็นบุญคุณ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถละทิ้งได้ อะไรแบบนี้ เราเหมือนถูกความ Conservative กดทับ”
“แต่เราคิดว่าพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่เชิงการเมืองอีกอันหนึ่งก็คือเรื่องของอนาคต คือผมมีมุมมองหนึ่ง ไม่รู้ว่ามันถูกหรือเปล่านะ แต่ผมคิดว่าทั้งอดีตทั้งอนาคต มันเป็นเรื่อง Fictional หมด เราอาจจะเอาอดีตมาแต่งเรื่องราวมากระทบปัจจุบัน อนาคตก็ทำงานคล้าย ๆ กัน เพียงแต่กลไกอาจจะอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าเรา Promise ว่าอนาคตมันจะเป็นแบบนี้ หรือร่วมกันคิดว่ามันสามารถจะเป็นแบบไหนได้ เราเชื่อว่ามันก็จะสามารถ Shape สังคมในรูปแบบต่าง ๆ ได้”
“เราก็เลยอยากชวนทุกคนมาคุยกันว่าหน้าตาของอนาคตมันควรจะเป็นยังไง”
เวฟทบทวนถึงการพัฒนาต่อยอดความคิดจนกลายร่างสิ่งที่ทำทั้งงานศิลปะของตน กิจกรรมเวิร์คช็อปต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบที่ทำงานกับกลุ่ม Biohackers ไปจนถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน จนพัฒนามาเป็น tomorrow.Lab อย่างทุกวันนี้
“ซึ่งสื่อกลางในการพูดถึงอนาคตอันหนึ่งก็คือเรื่องของเทคโนโลยี ที่มันเห็นได้ชัดเจน ว่าสิ่งที่มันจะเปลี่ยนแน่นอนคือเทคโนโลยีนะ มันจะแอดวานซ์ขึ้นแน่นอน แต่ส่วนสังคมจะเป็นยังไงคุณก็สามารถ Explore ได้ผ่านเทคโนโลยีตรงนี้ต่อไป”
“ถ้าเราจำได้ ในช่วงเทรนด์ Metaverse มาแรง ๆ ช่วงที่โควิดใกล้ ๆ ซา ทุกบริษัทบอกว่าฉันจะเข้า Metaverse แต่ตอนนี้เราเห็น Metaverse สักอันไหม? ตอนนี้เราก็ไม่ได้เห็นว่ามันมี Metaverse ที่เราได้ใช้จริงเหมือนที่ Tech Company แห่ประโคมกัน มันเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครสามารถทำนายได้”
“จากเหตุการณ์นั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า เออ ถ้าสมมุติพวก Big Firm แม่งสามารถประโคมอะไรมั่ว ๆ แบบนั้นได้ ทำไมเราจะเชิญชวนทุกคนมาสร้างเทรนด์อนาคตร่วมกันไม่ได้ละ?”
“บางครั้งเด็กในชุมชนสักคนมันอาจจะคิดอะไรออกมาประมาณว่าในอนาคตเราจะอยู่ในโลกของซาวด์ ของออดิโอกันหมด แล้วมันถูก Adopt จากคนในสังคม จนมันกลายเป็นความจริงได้ มันก็อาจจะเป็นภาพมุมมองที่เกิดขึ้นจริงได้ ก็ได้นะ” เวฟกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่อยากเห็นคนตัวเล็กทุกคนสามารถจินตนาการ-สร้างอนาคตเองได้
เป็นยังไงบ้างช่วงนี้
เราถามเวฟเพื่ออัพเดทความเป็นไปของเพื่อน ที่ถึงแม้จะได้ร่วมงานและกิจกรรมกันมาตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ภายหลังเทศกาลร่วมสมัยคน.ข้าว.ยาคู้.ช้างม่อย เวฟผ่านทั้งเวที TEDxChiangmai ในฐานะ Speaker การลงเลือกตั้งกลุ่มประธานชุมชนช้างม่อย ได้เข้าร่วมเป็นศิลปินใน Artist Residency ของ Micro Galleries โดยรวมแล้วเราแทบจะไม่มีเวลาไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกันเท่าไรเลย
“งานที่ผ่านมาในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาก็คือได้ไปร่วม Camp ที่กรีซ ช่วงนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ได้เริ่มเขียน Proposal พวกงาน Tech-Art ที่เราสนใจ พอมันไม่ใช่หน้าวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ก็ได้กลับไป Revisit งานพวก Sci-Art ที่เราสนใจ พวก Deeper issue มากขึ้น”
เวฟอธิบายถึงช่วงเวลาหลังฤดูเทศกาลของเชียงใหม่ ที่ได้พักจากงานเชิงวัฒนธรรมเมืองกลับมาตอบโจทย์ความสนใจของตนเองมากขึ้นในช่วงนี้
Residency ที่กรีซเป็นยังไงบ้าง?
“มันจะมีคำเรียกอยู่เนอะ กิจกรรมที่เราไปมาเขาเรียกว่า Camp มันก็จะมีแก๊ง Camp Goers หรือ Campers กลุ่มคนที่เขาชอบไปงานพวกนี้อยู่”
Camp ที่ว่าก็คือ TTTlabs BioFeral.BeachCamp (BFBC) ที่ประเทศกรีซ
“ถ้าถามว่ามันเหมือน Residency ไหม ก็ใช่ แต่ส่วนใหญ่มันจะเป็นระยะสั้น มันจะไม่เน้น Educate อะไรมาก เขาจะใช้คำว่า Learn together หรือว่า Do-It-With-Others (DIWO) หรือ Learn-It-With-Others (LIWO)”
“มันจะเน้นเป็น Action Camp ที่ไปจอยกัน ไปเรียนรู้ ไปทำอะไรด้วยกัน สร้างอะไรด้วยกัน”
“เราคิดว่ากลุ่มคนที่จะสามารถจัด Residency ระยะยาวได้มักจะเป็นองค์กรใหญ่ ๆ ที่หาทุนมาทำได้ แต่พวกองค์กรเล็ก ๆ ที่คล้าย ๆ เรา [tomorrow.Lab] มันก็จะมีกลไกพวกนี้ ทำ Camp ระยะสั้น ๆ ไปดึงคนจากที่โน่นที่นี่มา มี Funding จาก EU บ้างหรือจากประเทศต้นทาง”
“ในยุโรปมันก็มี Camp แบบนี้เรื่อย ๆ”
“แต่ปัจจัยเรื่อง Location มันก็มีส่วนเหมือนกัน พอเราไปในที่ที่หนึ่งที่ไม่ใช่บ้านเรา เราก็สามารถโฟกัสกับงานและสิ่งที่เราสนใจได้เต็มที่ อย่างตอนที่เราไปกรีซเราก็มีเวลา Come up ไอเดียมาสองสามอัน ที่น่าจะได้มาทำงานต่อ”
“การที่เราได้ไป Camp ที่กรีซแล้วได้สัมผัสแคมป์ในมุมที่ไม่ได้จัดเอง ก็เป็นความรู้สึกที่เหมือนได้เริ่มใหม่มาก ๆ”
เวฟสะท้อนถึงข้อจำกัดที่ผ่านมา ที่นอกเหนือจากการเป็นศิลปินที่สร้างผลงาน ในฐานะ tomorrow.Lab เขาต้องสวมหมวกเป็นผู้จัดเองอยู่บ่อยครั้ง
คนที่เวฟเจอที่แคมป์ [Camp Goers] เป็นคนกลุ่มไหน?
“เป็นคนที่มีความสนใจในด้าน BioArt เป็นหลัก คนที่ทำงานกับ Tech ก็หลากหลาย มีหลายรุ่น หลายช่วงวัย มีนักศึกษาที่มา Intern กับทาง Lab แล้วก็มีพวกอายุประมาณ 30 แล้วก็มีคน Senior ไปเลย อายุเกือบ 60”
“เราได้ไปเจอคนที่เขาเป็น Pioneer ด้าน DIY Biology เขาชื่อ Natalie Jeremijenko เขาคือคนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Bio Hobbyist ในยุค 90 คือเขาก็อยู่ในซีนของ Art ทำงานศิลปะเนี่ยแหละ เช่นเพาะเลี้ยงเซลล์จากมนุษย์ที่โดนไฟไหม้ เอาไปตั้งที่แกลลอรี่แล้วให้คนไปจับ เขาเองก็เป็นฟีลนักวิทยาศาสตร์ จบวิศวะด้วย”
“มีคนที่เป็น Lead ของแคมป์ ชื่อ Adam Zaretsky คนนี้เป็น Artist”
“เวลาเราพูดถึง BioArt เราอาจจะนึกถึงภาพอะไรเท่ ๆ Setting คล้าย ๆ Lab เหมือนงานของ ศิลปินสิงคโปร์ที่เราเห็นในงาน Chiang Rai Biennale แต่งานของ Adam เนี่ย Aesthetic ของเขามันจะเป็น Punk มาก เป็น BioHack ทำในแบบวิทยาศาสตร์จาก Garage หรือจากห้องครัว อะไรแบบนี้ concept ของเขาคือทำอะไรที่หลักการมันถูกหลักวิทยาศาสตร์ แต่ เพียงแต่ Instrument อาจจะไม่ใช่”
“งานก่อน ๆ ที่เขาเคยทำคือ Gene Gun ปืนยิงยีน โลกนี้มันมีสิ่งนี้ด้วย หลักการก็คือเอายีนต้นทางที่เราอยากใส่เข้าไป มาเคลือบกับพวกผงในระดับนาโน (Nano Particles) แล้วก็ใช้แรงดันจากแม่เหล็กหรืออะไรสักอย่างเพื่อให้มันสามารถยิงเข้าไปในเซลล์โดยตรง มันก็คือเหมือนการแลกเปลี่ยน DNA การใส่ DNA เข้าไปในเซลล์จริง ๆ มันมีหลายเทคนิค ถ้าทั่ว ๆ ไปก็อาจจะเอายีนใส่ไปในแบคทีเรียหรือในยีสต์เพื่อให้มันไปใส่กับเซลล์ปลายทาง”
“เทคนิคของ Adam ก็คือเขาเอาสิ่งนี้มาเล่นกับคน คือสร้าง Gene gun ขึ้นมาเพียงแต่ว่าวัสดุที่ใช้จะเป็นปืนเป่า ปืนท่อลม แล้วก็เอามายิงใส่คน ยิงใส่ปลา ใส่ไข่อะไรพวกนี้”
“ถามว่า ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์มันถูกต้องไหม มันก็ถูกต้อง แต่อุปกรณ์มันไม่ใช่ มันจะไม่ได้อยู่ใน Setting ของ Lab”
“คือพอไปที่ Camp เนี่ยเราก็ไปเจอประตูรถยนต์วางอยู่กลางพื้นที่ที่เป็น Common Space ถามว่าเขาเอาไปทำอะไร เขาเอากระจกจากประตูรถมาทำเป็น Incubator (ตู้อบเลี้ยงเซลล์) เอากระจก เอากล่องโฟมมาทำให้มันเกิดความอบอุ่น รับแสงเข้ามาแล้วความร้อนไม่ออกไป”
การเรียนรู้ที่มีจริตของความ “โง่ ง่าย และ สนุก”
“แล้วเขาก็บอกมาคำหนึ่งว่า ไอ้พวกวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ศิลปะก็ตาม มันต้องดูโง่ เพื่อให้คนทั้งสนใจและเข้าถึงได้”
“ลองจินตนาการว่าเราเห็นเครื่องโลหะมันวาว มีสายนู่นสายนี่ คนก็จะกลัว ไม่กล้าเล่น ไม่กล้า Engage แต่พอมันดูโง่ ๆ ปุ๊ป คนมันก็สนใจ”
“เหมือนเขาใช้ความตลก ความสนุก หรือ ความโง่ เพื่อทำให้คนมาสนใจ Engage กับ Topic อะไรพวกนี้ได้ง่ายขึ้น”
“เราเองก็ได้เรียนรู้อะไรที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้อยู่ใน Context ที่มันยาก ซึ่งความเป็นจริงมันใช้ในการวิจัยหรือใช้ไม่ได้จริง แต่สุดท้ายมันอยู่ในรูปแบบที่ทำให้เราได้เรียนรู้”
คนพวกนี้เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Artist ไหม
“ใช่ ส่วนใหญ่ Define ตัวเองเป็น Artist เราเห็นเลยว่าเมืองอย่างเวียนนาหรือปารีสจะมีคนที่พูดได้เต็มปากเลยว่าตัวเองเป็น Full-time Artist ได้ เพราะมันจะมีซีน มี Budget คอยซัพพอร์ตจากรัฐบาล หรือรัฐบาลท้องถิ่น มีการสนับสนุนตลอด”
“เราได้เจอกับคนจากต่างที่ ส่วนใหญ่ก็ในยุโรปเพราะความใกล้”
“ส่วนฝั่ง Asia ก็ต้องวิ่งหาทำกันไปเรื่อย ๆ ในแคมป์มีคน Asia แค่สามคน”
เขาได้แชร์ไหมว่ารัฐใช้ตรรกะอะไร ถึงได้ซัพพอร์ตสิ่งนี้ได้
“ไม่ค่อยได้คุยนะ แต่เราคิดว่าอย่างเวียนนาเขาก็ Position ตัวเองเป็น Artist city หรือปารีสเองมันก็ Art-based มาก ๆ อยู่แล้ว เขาก็เลยคิดว่าเพื่อที่จะทำให้ Movement ตรงนี้มันเกิดขึ้นได้เขาก็จำเป็นต้องซัพพอร์ต แต่เชียงใหม่ ก็อยากเป็น Artist city เหมือนกันนะ หึ ๆ”
ศิลปะของเขาดูล้ำไปมากกว่า Aesthetic เนอะ ดูพ่วงไปกับพื้นที่ทดลอง ในโลกของเราตรงนี้มันยังดูมีแบ่งแย่งโลกของ Art, Science, Bio Art, Tech เยอะอยู่นะ
“จริง ๆ หลังจากเราได้สัมผัสกับ Art World ช่วงสองปีที่ผ่านมาเนอะ เราว่าในเชิงคอมมูนิตี้ สิ่งที่มันต่างกันระหว่าง Art กับ Science คือมันไม่มีใครมาดีเบตว่า Science คืออะไร มันไม่ใช่ Norm ที่เขาทำกัน แต่ใน Art World คนกลับมาดีเบตกันตลอดว่า Art คืออะไร”
“ในมุมของผมที่ไม่ได้จบ Art School มา เราก็เห็นว่ามันดูจะมี Politics of Meaning อยู่ ไม่รู้ใช้คำถูกไหม ผมมองจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์เข้าไปใน Art World เนอะ ทุกคนดูพยายามจะนิยามมันจาก Ideal ของตัวเอง”
“เราเองก็พยายามจะใช้ Art ในการสื่อสารของเรา ลองเข้าไปดูว่าความหมายมันไดนามิก ยังสามารถเล่นอะไรยังไงได้บ้าง”
“ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะเห็นว่าผู้คนจำนวนมากมองว่า Art คือเรื่องของ Aesthetic ไปแล้ว 50% คนอีก 20% อาจจะมองว่าศิลปะมันคือการต่อต้าน หรืออีก 10% มันอาจจะเป็นอะไรก็ได้ อะไรประมาณนี้ เราเองก็ลอง Observe ดู วิธีการมองความหมายของ Art มันจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลา”
แต่ไม่มีคนมาถามว่า Science คืออะไร
“ใช่ มันไม่ค่อยมีใครมาถามขนาดนั้น แต่พอถามมันก็เป็นสิ่งที่ดีเบตได้”
Art เป็น Science ไหม แล้ว Science เป็น Art ไหม?
“เออ ส่วนใหญ่เวลามันมีการถามว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร ก็มักจะถูกนิยามว่าอะไรก็ตามที่มันสามารถอธิบายธรรมชาติได้ตายตัว หรืออธิบายออกมาเป็นตัวเลขได้ สามารถมองอย่าง Objective ได้ มันใช้คำว่าอะไรวะ ภาวะวิสัย อัตวิสัยเหรอ”
“ผมว่าความเป็น Science มันผูกติดกับความ Objective ซึ่งถ้ามาคุยกันจริง ๆ มันก็ไม่มีอะไรที่จะ Objective ไปหมด เพราะทุกคนก็สัมผัสทุกอย่างผ่านผัสสะตัวเอง อันนี้ก็เป็นอีกดีเบตหนึ่ง แต่ในความวิทยาศาสตร์ ก็ยังต้องพยายาม Maintain ให้ทุกสิ่งที่ทำมัน Objective ที่สุด”
“คิดว่าเรื่องของสหศาสตร์ มันก็เป็นเทรนด์ด้วย”
สหศาสตร์แปลว่าหลากหลายศาสตร์มารวมกัน?
“ใช่ หลายศาสตร์มารวมกัน ประเทศโลกที่หนึ่งเขาก็จะมองตรงนี้มากกว่า มันเป็นเหมือนพื้นที่ Compromise พอมามองในฝั่งวิทยาศาสตร์มันก็แปลว่าคุณอาจจะไม่ต้องจำเป็นทำอะไรที่มีเป้าหมายที่วัดผลได้ หรืออยู่ใน Setting วิจัย เสมอไป มันก็เป็น Ideation รูปแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้”
“ก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงพื้นที่ของ Sci-Art เราเคยมองว่า Science มันเป็นเทคนิคที่ใช้สื่อสารประเด็นในเชิง Art แต่พอเราได้เข้าไปคุยกับคนที่เขาเป็น Engineer ในซีนของ Biohackers จริง ๆ มันก็ต้องแสดงงานในรูปแบบ Engineering Work [การคิดค้นใหม่] ด้วย”
“แต่คำนี้มันมี Impact กับเรานะ ถ้าเราต้อง Exhibit Engineering Work จริง ๆ เนี่ย หมายความว่าเราไม่สามารถเอากลไกที่คนอื่นคิดมาก่อนหน้าแล้วมา Exhibit ได้ ไม่งั้นมันก็จะเหมือนแค่เอาโปรดักส์ที่มีอยู่แล้วมาตั้งโชว์ แสดงว่าเราต้อง Hack อะไรใหม่ ๆ ให้ได้ ให้มันพูดออกมาด้วยตัวมันเองให้ได้”
“ก่อนเราจะมาสนใจเรื่อง Creativity ในภาพรวม เราเคยไปเรียน Design Course จาก U Penn ใน Coursera ชื่อคอร์สว่า Creation of Artifacts in Society เราชอบคำว่า Artifacts นะ เขา define ทุกอย่างไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่า Art, Products, หรือระบบสังคมอะไรก็ตาม ทุกสิ่งคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมด คือ Artefacts เป็นสิ่งที่เรา Perceive แล้วสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง”
“เราค่อนข้างยึดหลักตรงนั้นในการทำงานของเรา”
คือเวฟไม่ได้สนใจว่าอะไรคือ Art หรือ Tech มากนัก?
“ทั้งนี้คือใช่ เรามองว่าทุกสิ่งมันคือ Creation คือมันมีโจทย์บางอย่าง งานบางงานเราอาจจะต้องการสังเกตประเด็น ๆ หนึ่ง เราก็อาจจะมองถัว ๆ ดูว่าในมุมมอง Art มันสามารถพูดเรื่องนี้ได้ หรือในมุมมอง Tech ทำให้คนมันว้าวขนาดนี้ มันทำให้ Experience มันลื่นไหลขนาดไหน”
“ทั้ง Art และ Tech มันมีคอมมูนิติ้ทั้งคู่”
หลังจากที่ได้สัมผัสมาแล้วทั้งสองฝั่ง รู้สึกว่าตัวเวฟอยู่ในคอมมูนิตี้ไหน?
“จริง ๆ เราว่าเราอยู่ Tech มากกว่า หมายถึงที่ ๆ อยู่แล้วรู้สึก Comfort นะ อาจจะเพราะ Practice ของเรา แต่เราเองก็รู้ว่ามันมีธรรมเนียมของ Art World อยู่ อย่างการไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ อะไรพวกนี้”
“อย่างคนใน Collective เราอย่าง tomorrow.Lab ก็มีคนที่มาจาก Art World เราก็มองดู เห็นเขาในแง่มุมต่าง ๆ”
เมื่อกล่าวถึงศิลปะและวิทยาศาสตร์ คนทั่วไปก็ยังพอแยกแยะเข้าใจได้ว่าคืออะไร แต่ลึกลงไปในโลกที่ผสานสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันแล้ว อย่างในซีนของ DIY Biology, Biohackers, BioArt ก็ชวนให้ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่าในมุมมองของเวฟแล้ว เขานิยามสิ่งเหล่านี้อย่างไร
Biohack และ Bioart คืออะไร?
“จริง ๆ อยากพูดถึงเรื่องของ Science Community หรือ Sci-Hack ในภาพรวม มันคือการพยายามทำให้วิทยาศาสตร์ที่มันอยู่ไกลตัว มันเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น พยายามจะรื้อถอน Manner (ธรรมเนียม) ของความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่มันเต็มไปด้วย Protocol (ขั้นตอน) ซึ่งบางทีมันถูกสร้างมาให้เป็น Best Practice สมมุติเราเข้าใจสิ่งพวกนี้ เราก็สามารถพยายามจะเล่นกับมันได้มากขึ้น โดยสรุปก็คือพยายามทำให้วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีมันเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น”
“เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของการตอบโจทย์ Curiosity ถ้าอยากจะเข้าใจว่าสิ่งนี้มันทำงานยังไง ให้ทุกอย่างมันเป็น Blackbox เหมือนเราทำ DIY Camera เพื่อเข้าใจว่ากลไกของกล้องมันทำงานยังไง”
“ถ้ามองแบบ Hope For The Best มี YouTuber บางคนเขาพูดว่านักวิทยาศาสตร์น่ะ เขาแค่ Push The Button And Hope For The Best คือแค่ได้ลองทำอะไรที่เราคิดว่ามันโอเคแล้วก็ Hope For The Best”
“ถ้าคนมันสามารถทำงาน Creative บนเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้ยาก มันอาจจะสร้างหน้าของสังคมรูปแบบใหม่ได้”
“คือเราเองก็ยังติดอยู่ในยุคหนึ่ง ที่เราโตมา ยุค 2000s โตมาพร้อม ๆ กับ opensource พวก Silicon Valley Dream เราก็ยังมีความฝันตรงนั้นอยู่ว่าถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นใน Lab (freshly new from the lab) แล้วกระจายให้ทุกคนได้เร็วเท่าไหร่ เราคิดว่ามันน่าจะสร้างอิมแพคให้กับโลกได้มากกว่าการที่มันจะต้องมี Hierachy ของการใช้งาน”
โลก Biohack / BioArt ถือเป็นฝ่ายซ้ายของวงการวิทยาศาสตร์?
“ใช่นะ มันก็คือการที่เราพยายามเอาอะไรที่มันถูกซ่อนไว้มาทำให้มันเข้าถึงได้มากขึ้น”
“แต่ในวิถีของ BioArt / Sci-Art / TechArt บางทีเราก็จะเห็นว่ามันมีวิธีการใช้ Aesthetic ของวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้งานมันดูซับซ้อนเพราะเขาต้องการสื่อสารประเด็นรูปแบบหนึ่ง อันนั้นก็แล้วแต่เคสไป แต่แน่นอน เราคิดว่าพวก Movement DIY ทั้งหลายเช่น BioHack, Maker Space หรือวงการ Hacker ทั้งหลายเนี่ย มันเริ่มต้นมาจากพวกฝ่ายซ้ายในวงการ Tech”
“สมัยก่อนมันมีชื่อคนกลุ่มประมาณนี้ในยุคบุกเบิก เรียกว่า Chaos Computer Club เป็นกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่มาจอยกัน แลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนโปรเจค มันก็จะมีมุมมอง Hacking ในสมัยนั้นด้วย”
“ไอ้พวกแนวคิด Opensource / Open technology เนี่ย มันก็กระจายมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นแนวคิดเบื้องหลัง Maker Space ส่วนพวกนี้ที่ต้องมีการขยายสาขา มันก็มีความ American Capitalism (ทุนนิยม) ผสมอยู่เหมือนกัน ถึงแม้ในแนวคิดนั้นจะมีความ Decentralize (กระจายอำนาจ) อยู่ในระดับหนึ่งด้วยก็ตาม”
“แต่ซีนที่มันค่อนข้างดู Punk จ๋าเลย ก็จะอยู่ในฝั่งยุโรปมากกว่า ที่มี Sub culture เยอะ ๆ หลากหลาย”
ซีนพวกนี้ในไทยมันยังไม่ได้โตเท่าในยุโรปหรือในอเมริกา เวฟว่ามันจะเติบโตไปในทิศทางไหน
“ถ้าซีนพวกนี้มันจะเกิด มันก็จะต้องเกิดผ่านคอมมูนิตี้ เราคิดว่าโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นได้คือเพราะเรามีบุคลากรทั้ง Science และ Art เยอะมาก มันจะต้องเกิดงานที่เป็นเชิงคอมมูนิตี้จริง ๆ การรวมตัวกันของคนทั้งสองฝั่ง เช่นมีวีคเอนด์หนึ่งเรามารวมตัวกันทำเวิร์คช็อปอะไรบ้า ๆ ให้คนอื่นหรือกับชุมชน”
“ตราบใดที่การศึกษามันยังค่อนข้างยัดเยียดนะ มันก็ยังจะเป็น Barrier หนึ่งที่ทำให้ซีนมันเติบโตได้ยาก เมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ ใน โลก”
“ถ้าสมมุติเรารู้มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว วันที่เรายังอยู่ในระบบการศึกษา ว่า วันนี้ 20 ปีข้างหน้าเราจะมานั่ง Relearn ความรู้ Bio ใหม่อีกครั้ง เราคงไม่มานั่งเรียนเพียงเพื่อที่จะไปสอบอะไรมากมายขนาดนั้น”
“มันน่าจะต้องเริ่มจากการทำการเรียนให้มันสนุก จากภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านเวิร์คช็อปอะไรแบบนี้ มันอาจจะ Inspire คนใน Generation หน้าได้”
แล้วอะไรที่ Inspire เวฟนะ? เพราะความจริงเวฟก็ถือว่าผ่านระบบการศึกษาแบบ “ยัดเยียด” ในแบบที่เราคุยกันเลย จากมงฟอร์ต ไปเรียนเตรียมฯ สายวิทย์ด้วย จนถึงไปเรียนจุฬา การที่อยู่ดี ๆ มา Demystify ความรู้ตัวเองนี่มันเริ่มจากตรงไหน
“จริง ๆ มันเป็นความรู้สึกที่เริ่มตั้งแต่สมัยที่เรียนเตรียมฯ แล้ว ประสบการณ์ที่อยู่เตรียมฯ มันทำให้เรารู้สึกว่าเด็กกรุงเทพมันคิดเหมือน ๆ กันหมดเลย บางครั้งอย่างเช่นในคลาสgiupo เราอาจจะคิดว่ามันไป Way นี้ได้ แต่ว่าทุกคนก็เหมือนจะคิดแบบเดียวกันหมด ไปกระจุกกันอยู่ในทิศทางเดียวกัน ไม่มี Diversity”
Biohacker, Bio Artist มี DNA มั้ย? อะไรที่เป็นจุดร่วม?
“เราว่ามันคือ Curiosity (ความอยากรู้อยากเห็น) ถ้าพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Curiosity หรือ Anger หรืออะไรก็ตามมันเป็นอารมณ์ของคน แล้วเวลาเราพูดเรื่องการขับเคลื่อนคน ขับเคลื่อนชุมชน ขับเคลื่อนสังคม มันก็ใช้อารมณ์ขับเคลื่อนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ หรืออะไรต่าง ๆ”
“แต่ว่าความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เนี่ยมันมีความ Underdog คนไม่ค่อยไปจับหรือ Explore มัน เราก็คิดว่ามันค่อนข้างมีพลังพอสมควร การที่เราตั้งคำถามว่าไอ้สิ่งนี้มันทำงานยังไง ไอ้สิ่งนี้มันเป็นยังไง อะไรแบบนี้ มันมีพลังอยู่”
เวฟคิดว่า Curiosity เป็นสิ่งที่อยู่กับเวฟมาตั้งแต่ตอนไหน?
“มันอยู่กับเรามานานนะ ไม่รู้เหมือนกัน คิดว่ามันอาจจะมาจากพื้นฐานที่คุณย่าเราเป็นมนุษย์ที่ DIY ตั้งแต่เด็กเราเห็นเขาทำโน่นทำนี่เอง มันคงซึมซับมา”
DNA ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) เป็นสิ่งที่บ่มเพาะ (Cultivate) ได้ไหม?
“เราว่ามัน Cultivate ได้ มันก็ยากที่เราจะ Take Credit นะ แต่เราเห็นอยู่กับคนที่มาเล่นมาสิงกับ tomorrow.Lab เขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่เราอาจจะเกาถูกในที่ที่มันคัน มันอยากรู้อยากเห็นมั้ง”
บรรยากาศที่จะบ่มเพาะ DNA ความอยากรู้อยากเห็นนี้ได้อาจเป็นบรรยาศของแคมป์ที่เวฟพูดถึงก็เป็นได้
อะไรที่ทำให้เวฟรู้สึกปลอดภัย กล้าที่จะอยากรู้อยากเห็น เล่นสนุก ในบรรยากาศของ Camp?
“ใน Mechanism ที่สำคัญก็คือ Organizer หลักของงานด้วย เขามีการจัดการที่เป็นระบบที่ตั้งใจให้บรรยากาศมัน Safe ด้วย”
“ส่วนหนึ่งเราเป็นคนระวังในการพูดการคิดอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวลาที่เรารู้ว่าเราต้องไปเจอผู้คนต่างวัฒนธรรม ในอีกแง่หนึ่งมันเป็นบรรยากาศของผู้จัดที่พร้อม Facilitate การสนทนาด้วยมั้ง เขาพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ทุกคนได้พูด แล้วก็ Message ในพวกแคมป์ที่มักจะเหมือนกันคือว่า Everything Is Possible ทุกอย่างเป็น Experiment ต่อให้มันไม่ Possible ไม่เกิดอะไรที่เป็นรูปธรรมก็ไม่เป็นไร มันไม่ได้เรียกหาความ Success จากเรา Curiosity มันเลยเกิดขึ้นจากตรงนั้นได้ในรูปแบบกิจกรรมแบบนี้”
เอาแค่ในระยะไม่กี่เดือนนี้ ในปีนี้ก่อนนะ ตื่นเต้นกับอะไร
“แปปนะ ขอคิดก่อน ขอคิดเป็นคำพูดแปปนึงนะ” มีอะไรในหัวเยอะตลอดจริง ๆ !
“ช่วงต้นปีเราลงการเมืองท้องถิ่นไปด้วยเนอะ แบบงง ๆ ก็รู้สึกไม่ค่อยใช่เราเท่าไหร่”
“คิดว่าก็อยากกลับมาทำพวก Tech-Art มากขึ้น เพราะช่วงท้ายปีที่ผ่านมาเน้นงานวัฒนธรรมซะเยอะ จริง ๆ ก็ไม่ได้แบ่งแยกหรอก สุดท้ายมันก็จะมาหลอมรวมกันได้อยู่ดี”
“ช่วงที่ผ่านมาก็ตั้งใจสมัคร Residency เขียนโครงการต่าง ๆ เยอะ คิดว่าปีนี้คงเป็นเรื่องของ Exploration มากพอสมควร ก็ยังไม่รู้นะว่ามันจะออกมาเป็นหน้าไหน จะพยายามลองดูว่าตัวเรากับคอมมูนิตี้ของโลกมันมีอะไรที่ Align กันยังไงได้บ้าง มีโอกาสตรงไหนบ้าง”
มีที่ไหนในใจที่ปักหมุดไว้ในโลกไหม
“อยากเข้า MIT Media Lab อันนั้นในเชิง Education คิดว่าสเตจป.โท เป็นทางที่ปูไปทางนั้นอยู่ แต่ก็ยังเปิด ๆ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปีสองปีนี้”
“ส่วนปีนี้ก็อยากทำ tomorrow.Lab ให้เปิดกว้างขึ้น มันดีตรงที่ว่าเราเริ่มเห็นมีคนหลายคนสนใจ เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่แบรนด์ของเราอย่างเดียวแล้ว มันคือทุก ๆ มามีส่วนร่วม เพื่อนหลายคนก็อยากพัฒนาตรงนี้ มีความเป็น Collective มากขึ้น เราก็อยากรับผิดชอบงานของเรา ในเชิงการ Organize ก็อยากให้มัน Sustain มากขึ้น มีโอกาสมาให้คนใน Collective มากขึ้น ในมุมของ Topic เราอยากลงลึกในด้าน Science มากขึ้น เพราะตอนนี้เราคิดว่าเรารู้ว่าเราจะ Align ตัวของเรากับสิ่งที่เรียกว่า Art ยังไงได้แล้ว เราจะใช้ Art ในเรื่องของ Presentation หรือ Exploration ยังไงได้บ้าง”
ภาพจากเพจ คน.ข้าว.ยาคู้.ช้างม่อย
อยากเห็นอะไรในเชียงใหม่
“เราก็อยากให้ซีนนี้ [Biohackers] มันเกิดขึ้นเหมือนกัน ด้วยความที่ Aesthetic ของวิทยาศาสตร์แบบนี้ ทุกคนไม่ได้ต้องใส่ชุดแล็ป ชุดกราวมา ถุงมืออาจจะมีบ้างเรื่องเซฟตี้ แต่ไม่ต้องเว่อวัง ก็ทำให้มันเฟรนลี่มากขึ้น”
“ในมุมของที่เราทำเนอะ เราอยากทำให้คนในเชียงใหม่มันมีภาพของ tomorrow คิดถึงอนาคตของตัวเองว่าหน้าตาเป็นยังไง อาจจะเป็นในเชิง Fictional ก็ได้ คือเหมือนมีความหวังทั้งในเมืองและในชีวิตตัวเอง เราคิดว่าจาก Hope ตรงนั้นมันอาจจะรวมกันและสร้างอิมแพคอะไรต่าง ๆ ได้”
และความหวังในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สนุก “เล่น” ร่วมกันได้ในการเรียนรู้รูปแบบที่พูดคุยกันนี้เอง ที่อาจเป็นพื้นที่ร่วมของทุกศาสตร์ ทุกคน ที่จะหลอมรวมกันสร้างสรรค์จินตนาการแห่งอนาคตของวันพรุ่งนี้
ดังที่เวฟเคยกล่าวไว้ว่า ”I don’t want to change the world. I just want to build mine.”
“ผมไม่ได้อยากเปลี่ยนโลก
ผมแค่อยากสร้างโลกใหม่ของผมเอง”
'นนทบุเรี่ยน' ที่มาเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นนักรณรงค์เมืองดนตรีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อได้ลองทำจึงปิติเป็นอย่างมาก เล่นดนตรีบ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่จิตใจ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองแนวราบและการกระจายอำนาจเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย