“ตะคุแต้ ๆ”
เสียงสะท้อนจากไร่มะเขือเทศ ท่ามกลางหุบเขาชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ประโยคดังกล่าวแสดงถึงความนัยต่อสภาพภูมิอากาศในการทำงานว่า “ร้อนมาก ๆ ” ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงเกือบ 40 องศา พวกเขายังคงเก็บผลผลิตอย่างขะมักเขม้น เด็กน้อยวัยประถมกลุ่มใหญ่ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเก็บมะเขือเทศใส่กระบุงบนหลังของตัวเอง กับเสื้อทำงานแขนยาวผืนใหญ่ไม่พอดีตัว ผู้ปกครองที่พาลูกหลานตัวเองมาช่วยทำงานในช่วงปิดเทอม หรือแม้แต่หญิงชราผู้สูงอายุในซิ่นพื้นเมืองและต่างหูอันเป็นเอกลักษณ์ ไร่มะเขือเทศแห่งนี้เปรียบเหมือนพื้นที่ที่เต็มเต็มไปด้วยความหลากหลายของช่วงอายุที่กำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด
หากไม่นับการทำไร่หมุนเวียนที่เป็นวิถีดั้งเดิม มะเขือเทศและฟักทองเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านกะเบอะดิน ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เกษตรกรปลูกมะเขือเทศส่งขายมานานกว่า 20 ปี หัวใจของการปลูกพืชเหล่านี้ก็คือน้ำสะอาด การเกษตรกรรมที่นี่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำเพื่อปลูกพืชผลเป็นหลัก อย่างเช่น มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และ ข้าว เป็นต้น ทั้งน้ำฝนตามธรรมชาติและน้ำจากลำห้วยที่เป็นน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรมและใช้อุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน เมื่อมีพื้นที่ มีแหล่งน้ำ ก็สามารถลงทุนทำไร่เพื่อปลูกพืชผล มะเขือเทศและฟักทองที่ปลูกได้นั้นจะมีพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลิตผลเพื่อนำไปกระจายต่อยังตลาดพื้นที่ต่าง ๆ โดยอ้างอิงจากบทความของ สุภางค์ จตุจินดา เรื่อง “แหล่งอาหารในอมก๋อยอาจได้รับผลกระทบจากถ่านหิน”
มะเขือเทศเหล่านี้หากปลูกในพื้นที่ราบ หรือแปลงนา จะใช้น้ำจากลำห้วยเป็นหลัก ส่วนไร่ที่ปลูกบนพื้นที่สูงที่เป็นภูเขาจะใช้น้ำฝน ในบางปีที่น้ำฝนมีไม่เพียงพอเกษตรกรจำเป็นต้องบรรทุกน้ำใส่รถกระบะ เพื่อรดน้ำมะเขือเทศ ซึ่งผลผลิตที่ได้มาจะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางมารับซื้อเพื่อกระจายต่อตามตลาดค้าส่งต่างๆ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดผักค้าส่งที่เรารู้จักกันดีในจังหวัดปทุมธานี ตลาดค้าส่งในอำเภอแม่สอด ไปยังตลาดเวียง และยังถูกส่งไปทำเป็นซอสมะเขือเทศสำหรับปลากระป๋องในโรงงานผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ได้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยไม่ใช้เพียงแค่อากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงปัจจัยด้านผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย
ถึงเวลาโลกเดือด กะเบอะดินจะอยู่อย่างไร
“เมื่อก่อนบนดอย (กะเบอะดิน) อากาศดีและเย็นกว่านี้ แต่ในปัจจุบันอากาศและสภาพภูมิอากาศในชุมชนก็เริ่มร้อนขึ้น ร้อนเหมือนตอนลงไปในเมืองเลย” เสียงของ ดวงแก้ว-พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนในกะเบอะดินเล่าถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นในหมู่บ้านกะเบอะดิน
เมื่อกลางปี 2566 เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลง และโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ นั้นก็คือ ‘ยุคโลกเดือด (Global Boiling) สถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมีสาเหตุมาจากน้ำมือของมนุษย์ อย่างการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งทะยานสูงมากเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้คาดการถึงสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นสืบเนื่องมาจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เรารู้จักกันในชื่อ “เอลนีโญ” ที่ทำให้ระบบอากาศในซีกโลกใต้เอลนีโญเกิดความผันแปรส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกในเขตร้อนสูงกว่าปกติ
มะเขือเทศและฟักทองที่เป็นพืชเศรษฐกิจของชาวกะเบอะดินอาจจะกำลังละลายหายไปเมื่อสภาพภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างสภาวะของโลกที่กำลังเดือดอยู่ หลังในปี 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประเมินไว้ว่า ในปีอีก 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีโอกาส 98% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้านี้ โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรืออาจจะเป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น โดยคาดว่าระหว่างปี 2566 – 2570 ผนวกข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเผยอีกว่าในเดือนเมษายน 2567 อุณหภูมิสูงสุดของภาคเหนืออยู่ที่ 40-42 องศาเซลเซียส
ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ผลกระทบที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชมีสองส่วนหลัก คือผลกระทบโดยตรงจากการที่อุณหภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสามารถวัดผลกระทบในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน และผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวัดและคาดการณ์ได้ยากกว่าทั้งเรื่องเวลา และระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นความเสียหายจะรุนแรงกว่ากรณีแรก
ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม นักวิชาการด้านพืชได้ให้ความเห็นว่าแม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีจะไม่ได้สูงขึ้นมาก แต่สำหรับพืชนั้นความผันผวนของอุณหภูมิเพียงไม่กี่นาที ที่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเจริญเติบโตจะทำให้ผลผลิตลดลงได้ เช่น ข้าว ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปในช่วงดอกบาน แม้ในเวลาสั้นๆ ภายใน 10 นาที ทำให้การผสมเกสรล้มเหลวในระหว่างฤดูปลูก โดยเฉพาะอุณหภูมิกลางคืน ทำให้ระบบสังเคราะห์แสงรวน มีรวงน้อย จำนวนดอก/รวงต่ำ และข้าวลีบ และในช่วงสร้างเมล็ด 30 วันก่อนเก็บเกี่ยว จะมีผลต่อคุณภาพของเมล็ด เป็นต้นดังนั้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช
เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน
หากเราเดินตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นมะเขือเทศจาก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตมะเขือเทศใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เพ็ญ ด่วย เกษตรที่รับจ้างเก็บมะเขือเทศเล่าว่า เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ระแวกหมู่บ้านกะเบอะดิน มาที่นี่เป็นประจำทุกปี แน่นอนว่าในช่วงเดือนเมษายนมีสภาพอากาศที่ร้อน เพ็ญยังเล่าอีกว่า แต่ในบางปีก็มีลูกเห็บตกบ้าง ฝนตกหนักบ้าง ในแต่ละปีก็จะเจอสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป ไม่อาจคาดการณ์ได้
“ร้อน มันก็ร้อนทุกปีแหละ แต่ต้องทนเอา”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มข้อจำกัดในการผลิตภาคเกษตรมากขึ้น ทั้งในเรื่องของความแห้งแล้ง โรคและแมลง ปัญหาเรื่องดินและวัชพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแปรปรวนของน้ำฝนและการกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอได้สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร วันชัย มุธิสินวัฒน์ เกษตรผู้ปลูกไร่มะเขือเทศ เผยว่า การทำการเกษตรในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในช่วงฤดูร้อน ด้วยอุณหภูที่เพิ่มขึ้นสูง ตามมาด้วยปัญหาต่อการทำการเกษตรทั้ง 2 ด้าน อันได้แก่ ความเหนื่อยล้าของร่างกายจากการทำงานสู้แดดมาทั้งวัน เขาต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปเก็บมะเขือเทศจากไร่ และแบกตระกร้าอันหนักอึ้งยกขึ้นรถกะบะหลายกิโล เพื่อนำไปขายในเมือง ปัญหาอีกด้านหนึ่งคือ ค่าตอบแทนจากผลผลิตทางการเกษตร เพราะอากาศที่การเปลี่ยนแปลง เขาไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในแต่ละปี เขาจะได้รับค่าตอบแทนคุ้มต้นทุนหรือไม่ บางปีก็แล้ง บางปีก็ฝนไม่ตกลงมา ยิ่งไปกว่านั้นบางปีก็มีพายุฝนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
สภาวะอันหนักอึ้งของเกษตร
เกษตรกร หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้ยังคงหมุนต่อไปได้ แต่ฟันเฟืองชิ้นใหญ่นี้กลับเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกเดือดที่กำลังแผดเผาเหมือนไฟลามทุ่ง วิจิตรา ดวงดี ผู้จัดการโครงการ Outreach Southeast Asia Pulitzer Center ได้พูดถึงปัญหาของแรงงานที่ต้องเป็นด่านหน้าในเผชิญกับสภาวะโลกเดือด ในกิจกรรม Workshop สะท้อนปัญหาของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโดย Pulitzer Center ร่วมกับ LUKKID และเครือข่ายสหภาพแรงงาน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรสื่อ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 วิจิตรระบุว่า แรงงานรากฐานนั้นต้องกลายเป็น ‘ด่านหน้า’ ในการเผชิญกับภาวะโลกเดือด หนึ่งในกลุ่มแรงงานที่วิจิตรากล่าวนั้นก็คือกลุ่ม เกษตรกรที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ในด้านผลผลิตที่ลดลง หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพืชเกษตรกรรม รวมไปถึงลมมรสุมที่แปรปรวนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนไป ผลจากการที่ฤดูร้อนที่มาถึงเร็วมากขึ้นเนื่องจากปัญหาโลกเดือด
ผนวกกับข้อมูลจาก บทความ โลกร้อนกับเกษตรบนดอย โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เผยว่า สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงนั้นมีผลมาจาก สภาวะจากสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic stress) ที่ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 50-80%ความร้อน คือหนึ่งในสภาวะหลักของสิ่งไม่มีชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อพืช นอกจากนี้ในบทความยังเผยว่าภาวะโลกร้อนทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ทั้งสภาวะแห้งแล้งรุนแรงยาวนาน ปริมาณฝนที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ความต้องการใช้น้ำของพืช ความชื้นในดิน คุณภาพของดินที่ใช้เพาะปลูก รวมถึงการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของสภาวะจากสิ่งมีชีวิต 5-20% ซึ่ง (Biotic stress) ที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง
จากรายงานปี 2566 ของธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เบื้องต้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของไทย ลดลงมากถึง 10-20% ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยครัวเรือนที่ยากจนสุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือคิดเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงปีละประมาณ 0.6% ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2593 เมื่อเวลาผ่านไป อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ผลิตภาพทางการเกษตรและพื้นที่เพาะปลูกลดลง ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงขึ้น ทำลายความมั่นคงด้านอาหาร บีบให้เกิดการอพยพ และผลิตภาพแรงงานลดลง ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงแผนสภาพอากาศ จะยิ่งเร่งให้เกิดการกัดเซาะของชายฝั่ง และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ
ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี พ.ศ.2580 แม้ยังไม่มีการศึกษาต้นทุนด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันต่อประเทศไทยอย่างครบถ้วน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความเสียหายต่อทุนทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้การผลิตลดลง ผลิตภาพแรงงานอาจลดลงจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออุบัติการณ์ของโรคระบาด หรือความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น ชาวเกษตรในพื้นที่กะเบอะดิน อำเภอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หรือพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ในประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าความเสียหายอาจจะเกิดจากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะฤดูที่ผิดแปลกไป บางปีก็ฝนตกหนัก บางปีก็ภัยแล้ง แต่ความแปรปรวนของอุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต มะเขือเทศฉ่ำ ๆ ฟังทองหวาน ๆ อาจจะหดหายเหลือเพียงใบที่แห้งผาก เหมือนความร้อนของภาวะโลกเดือดที่กำลังแผดเผาคนกะเบอะดินอยู่
อ้างอิง
- “สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ เร่งรับมือผลกระทบโลกร้อน” ค้นจาก https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-26
- “แหล่งอาหารในอมก๋อยอาจได้รับผลกระทบจากถ่านหิน” ค้นจาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/18016/climate-coal-omkoi-resources/
- “เกษตรกรรม และความมั่นคงอาหารโลกจะเป็นอย่างไรในสภาวะโลกร้อน” ค้นจาก https://thaipublica.org/2021/07/thai-climate-justice-for-all05/
- “สภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิจเกษตร” ค้นจาก https://caacademy.tgo.or.th/สภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิ/