สายชล สัตยานุรักษ์: ปฏิบัติการนำคนไทยและสังคมกลับสู่อดีตหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557

สรุปเนื้อหาการบรรยาย “หนึ่งทศวรรษรัฐประหาร” โดย สายชล สัตยานุรักษ์ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2567

สายชล สัตยานุรักษ์ เริ่มต้นการบรรยายด้วยกล่าวถึงบริบทของปฏิบัติการของรัฐและชนชั้นนำไทยในการนำคนไทยและสังคมกลับไปสู่อดีตหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 โดยอ้างถึงผลงานของ ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่วิเคราะห์ว่ารัฐไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แตกต่างจากรัฐไทยในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นอย่างมาก กล่าวคือ หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 นายทหารระดับสูงได้เข้าไปควบคุมองค์กรสำคัญทุกองค์กร รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ  ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนใหญ่ก็เป็นพันธมิตรกับรัฐอย่างแนบแน่น กลุ่มทุนใหญ่หลายกลุ่มไม่เพียงแต่จะอาศัยเงินทุนและเครือข่ายที่ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันในระบบตลาดจนสามารถผูกขาดธุรกิจสำคัญ ๆ เท่านั้น แต่ยังได้ร่วมมือกับรัฐผ่านโครงการต่าง ๆ รวมทั้งโครงการ “ประชารัฐรักสามัคคี” ซึ่งมุ่งจะทำให้ชาวบ้านตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐและกลุ่มทุน และลดทอนความเข้มแข็งทางการเมืองของชุมชนและประชาสังคมทั้งหลาย 

ในด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประชาชนนั้น ชนชั้นนำไม่เพียงแต่พยายามหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ยังต้องการนำเอาคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีต หรือพยายามทำให้สังคมไทยเหมือนกับสังคมในอดีตก่อนหน้าการปฏิวัติ พ.ศ.2475 นั่นคือ เป็นสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคแต่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ชนชั้นนำผูกขาดอำนาจในการปกครองและการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และประชาชนยอมอยู่ใต้อำนาจของชนชั้นนำโดยดุษณี

ปฏิบัติการต่างๆ ของรัฐและชนชั้นนำเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นนี้ที่จริงแล้วดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ แต่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 และยิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปอีกหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองที่อ้างอิงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เอื้อให้ปฏิบัติการในการนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีตยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มข้นโดยใช้ทั้งอำนาจ บุคลากร และงบประมาณของรัฐ

อาจกล่าวได้ว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐและชนชั้นนำมีปฏิบัติการทางศิลปวัฒนธรรมอย่าง จริงจังเพื่อ “ตกแต่งนิสัยใจคอ” ของคนไทย ทั้งความคิด ระบบคุณณค่า และอารมณ์ความรู้สึก เช่น การใช้ระบบการศึกษารวมทั้งแบบเรียนในการปลูกฝังระบบคุณค่าแบบไทย พยายามควบคุมจิตใจนักเรียน (ที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต) ลงไปจนถึงระดับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้นักเรียนยอมรับการแบ่งชนชั้นและปฏิบัติตนอยู่ภายใต้แบบแผนทางอารมณ์ความรู้สึกที่รัฐและชนชั้นนำกำหนด เช่น ในวิชาวรรณคดีไทย นักเรียนต้องอ่านเรื่อง อิเหนา  ซึ่งทำให้เห็นว่าการแบ่งชนชั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงามและผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้คือผู้อยู่ในสถานะที่ต่ำ   ดังกรณี จรกา ซึ่งสิ้นสติสมประดีเมื่อเห็นความงามของ บุษบา แตกต่างจาก อิเหนา ที่สามารถแปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นบทเพลงอันสุนทรีย์ วรรณคดีเรื่องนี้เน้นด้วยว่า อิเหนา ควรจะรัก บุษบา มากกว่า จินตหรา  แม้ว่าจะพบรักกับ จินตหรา ก่อนก็ตาม  เพราะ บุษบา เป็น “วงศ์เทวา” เช่นเดียวกัน วรรณคดีเรื่องอื่นๆ ก็ปลูกฝังแบบแผนทางอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนให้อยู่ในกรอบที่รัฐและชนชั้นนำต้องการ เช่น เรื่องเงาะป่า สอนให้ควบคุมอารมณ์รักและอารมณ์โกรธ  เรื่องพระอภัยมณี สอนให้อดทนต่ออารมณ์ทุกข์ เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ระบบการศึกษาเพื่อนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีต คือการสอนเรื่อง “ประชาธิปไตย” เห็นได้จาก  คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยสำหรับครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คู่มือฯ นี้ ทำให้ความหมายของมโนทัศน์ต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยเป็นความหมายแบบอนุรักษ์นิยม เช่น สิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วม ฯลฯ ซึ่งจะเน้นเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น สิทธิในการประกอบอาชีพ เสรีภาพในการนับถือศาสนา การมีส่วนร่วมในการทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ เป็นต้น แม้ว่าจะกล่าวถึงการเลือกตั้งไว้ด้วยแต่ก็ระบุว่าควรเลือกผู้นำเป็น “คนดี” คือ “มีอัธยาศัยใจคอที่ดีงาม มีศีลธรรม”

การปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ต่าง ๆ เพื่อควบคุมจิตใจประชาชน เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองบริบทที่เปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อชนชั้นนำไม่อาจปฏิเสธการเลือกตั้งโดยที่การเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้นในระบบการเมืองไทยนั้น ชนชั้นนำก็ได้เปลี่ยนความหมายของ “ธรรมาธิปไตย”  ไม่เน้นเฉพาะเรื่องการปกครองโดย “คนดี” เท่านั้น หากแต่เน้นด้วยว่าประชาชนควรจะเป็น “คนดี” ด้วยเช่นกัน นับเป็นความพยายามในการลดความปรารถนาแบบทุนนิยมของประชาชน ไม่ให้โลภมากจนไปเลือกพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยม  หรือไปเรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาค  และใช้เสรีภาพเกินขอบเขต

ปฏิบัติการนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีตเกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน แม้แต่ กปปส. ก็พยายามทำให้ชนชั้นกลางร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยการเสนอเรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งสะท้อนว่าชนชั้นกลางต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดังนี้

1. ปฏิรูปความจน ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ 

2. ปฏิรูปปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ 

3. ปฏิรูปท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 

4. ปฏิรูปตำรวจ ให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ที่เรียกร้องเอาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว)

5. ปฏิรูปการเลือกตั้งและพรรคการเมือง  ให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งใน สภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน

6. ปฏิรูประบบราชการ  โดย ฐิติกร สังข์แก้ว และ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ในขณะที่ประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ชนชั้นนำกลับต้องการนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีต ความตึงเครียดและความขัดแย้งจึงสูงขึ้น นอกจากชนชั้นนำจะใช้กฎหมายและการปราบปรามแล้ว หลังการรัฐประหารทั้งใน พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557 ได้เกิดการปฏิบัติการทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง เช่น การจัดตั้ง “ศูนย์คุณธรรม” (2554) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนยึดมั่นในคุณธรรมประจำชาติ อันได้แก่ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู”

มีการประกาศใช้ “ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550” ต่อมามี “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2554” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) ส่งเสริม…การรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ…เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย 

(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย… เผยแพร่องค์ความรู้ด้านคุณธรรมความดี และเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฏิบัติดีของบุคคลและการเป็นคนดีของสังคม 

(3)…ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน…ดําเนินการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดี…

(4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ …ในการพัฒนาคุณธรรมความดี

หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 มี “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562” กำหนดให้ศูนย์คุณธรรมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ 

(1) ขับเคลื่อนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม 

(2) สนับสนุนการรวมพลังของเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคุณธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย 

(3) ดำเนินการและสนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาความรู้และนวัตกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริม และการปลูกฝังคุณธรรม เผยแผ่ความรู้ รณรงค์ ปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมให้แก่เครือข่ายทางสังคม และเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรมในสังคมไทย 

(4) ส่งเสริมการสร้างและพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม รวมทั้งพัฒนากระบวนการรับรอง การเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม

มีการจัดงาน “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี เช่น “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ครั้งที่ 13 จัดขึ้นใน พ.ศ.2566 โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย เป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด “Moral Touchable : คุณธรรมสัมผัสได้ สังคมไทยเป็นสุขอย่างยั่งยืน” มีการเชื่อมโยงหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนด้านคุณธรรม ผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านคุณธรรมของประเทศ และขับเคลื่อนด้านคุณธรรมให้เป็นวิถีที่มุ่งสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดหลัก Moral Touchable คุณธรรมสัมผัสได้ หรือการแสดงพฤตินิสัยเชิงรูปธรรม เป็นความดีที่วัดได้ ขยายผลได้ และนำผลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม หรือมติสมัชชาคุณธรรมของแต่ละเครือข่าย ส่งมอบนโยบายให้กับรัฐบาลและคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

ระบบคุณค่าสำคัญที่รัฐและชนชั้นนำพยายามปลูกฝังแก่ประชาชนหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ปรากฏใน “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” เพื่อ “สร้างคนดี สังคมดี มีคุณธรรมจริยธรรม”  

อุดมการณ์ “อนุรักษ์นิยมใหม่” เช่น มโนทัศน์ “แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” “วัฒนธรรมชุมชน” และ “ประชาสังคม” ที่แต่เดิมให้ความสำคัญแก่มิติทางจิตใจควบคู่กับมิติทางเศรษฐกิจ ล้วนแต่ได้รับการปรับเปลี่ยนมาเน้นมิติทางจิตใจ หรือ “คุณธรรมไทย” มากขึ้น เช่น “ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” “ความพอเพียง” “ความสมานฉันท์” ฯลฯ

ในกรณีมโนทัศน์ “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางนั้นได้รับการปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับคุณธรรมของคนในชุมชน โดยที่แนวคิดเดิมที่เคยเน้นลักษณะ “อนาธิปัตย์นิยม” “ความเสมอภาค” และ “การเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างไม่เต็มใจ” หรือ “การต่อต้านทุนนิยม” ในชุมชนชาวบ้านนั้น กลับถูกลืมเลือนจนหายไปจากมโนทัศน์นี้อย่างสิ้นเชิง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชนชั้นนำมีปฏิบัติการนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีตอย่างเข้มข้น ก็เพราะพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ต้องการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจ จึงอาจจะเป็นอันตรายต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุน ทำให้ชนชั้นนำต้องหาทางลด ”ความเป็นการเมือง” ของประชาชน (เช่น ความต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค) และลด “ความปรารถนาแบบทุนนิยม” โดยพยายามทำให้ประชาชนมี “จิตใจแบบไทย” เพื่อให้ยอมรับโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นและยอมรับโครงสร้างการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ

ผู้ที่มี “จิตใจแบบไทย” จะเชื่อว่า “ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี” โดยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาซึ่งถือเป็นหัวใจของ “ความเป็นไทย” มีชีวิตอยู่อย่างสงบ พอเพียง ไม่โลภมาก ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด “ไม่เอิบเอื้อมก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น” อดทนต่อความทุกข์ยาก ไม่ทะเยอทะยาน ไม่โกรธหรือเกลียดชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ต่อต้าน ไม่ต่อสู้ ไม่ต่อรองกับรัฐและกลุ่มทุน มีน้ำใจ รักสามัคคี และเสียสละ โดยมีความหวังด้วยว่า “บุญรักษา พระคุ้มครอง” เชื่อเรื่องดวง (ดวงชะตา ดวงเมือง) และเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยดลบันดาลให้ชีวิตดีขึ้นหรือได้สิ่งต่าง ๆ ตามที่ปรารถนาในวันใดวันหนึ่ง (ไม่ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ จากรัฐและนายทุน) 

ตัวอย่างปฏิบัติการต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557

การลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมานอกจากชนชั้นนำจะให้ความสำคัญกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญใน พ.ศ.2475 แล้ว หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ยังเกิดปรากฏการณ์ลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เช่น การหายไปของหมุดคณะราษฎร การหายไปของอนุสาวรีย์หลักสี่หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช) การเปลี่ยนชื่อสถานที่หลายแห่งที่เคยเป็นชื่อของบุคคลสำคัญในคณะราษฎร  ฯลฯ 

การลบความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ พ.ศ.2475 สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2564  คดีล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นได้ชัดว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนี้เน้นความสืบเนื่องจากอดีต “โดยตลอดหลายร้อยปี…ต่อเนื่อง” ละเลยส่วนที่เป็น “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” อันเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ระบุว่า

“โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2475 เห็นได้ชัดว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์…พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดหลายร้อยปี แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการ และประชาชนชาวไทยเห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักคงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย โดยเรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรคงไว้ซึ่งระบอบนี้ต่อเนื่อง”

ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มีความเห็นว่า “คำวินิจฉัยครั้งนี้เป็นการยืนยันความเปลี่ยนแปลงในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังการรัฐประหารปี 2557…ผลคือพื้นที่ประชาธิปไตยหดแคบลง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขยายตัวมากขึ้น” 

ในขณะที่ลบความทางจำเกี่ยวกับการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ก็มีปฏิบัติการที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นไทย” ดังที่มีข่าวว่า ปีงบประมาณ 2567-2568: เลขาธิการ กพฐ. สั่งการ ผอ.เขต ผอ.โรงเรียน ทบทวนวิธีสอนประวัติศาสตร์ โดย 4 กระทรวง MOU ช่วยปลูกฝังนักเรียนรักชาติ ภูมิใจประวัติศาสตร์ไทย ยึดมั่นสถาบันหลัก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน…จุดเน้นและนโยบายของ สพฐ. ปีงบฯ 2567-2568 นี้

“ข้อแรก ให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นไทย ภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลัก โดยข้อที่ 1 การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีกิจกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา…และการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันในโรงเรียน

ข้อที่ 2 การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองคุณภาพ รู้จักรากเหง้าตัวตน ประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย…” 

การควบคุมประชาสังคม (civil society) 

ใน พ.ศ.2565 รัฐบาลเสนอ “ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร”  ซึ่งไอลอว์เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ เปิดทาง “สอดส่อง-สั่งปิด” องค์กรภาคประชาชน จนทำให้นักพัฒนาเอกชน (NGOs) จำนวน 1867 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้าน เพราะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ “ใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหารในการกำกับควบคุมภาคประชาชน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

นอกจากให้งบประมาณและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุม “ประชาสังคม” แล้ว ชนชั้นนำยังมีปฏิบัติการทางอุดมการณ์ที่พยายามทำให้ประชาสังคมต่างๆ กลายเป็น  “ประชาสังคมแบบไทย” ที่ทำงานด้วย “จิตอาสา” หรือทำงานด้วยใจที่เมตตากรุณา เสียสละ บริจาค สงเคราะห์คนที่เดือดร้อนด้วยความเห็นอกเห็นใจ (มิใช่เป็นองค์กรหรือ “ประชาสังคม” ที่เป็นอิสระจากรัฐ มีบทบาทในการต่อสู้/ต่อรองกับรัฐ หรือผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง กฎหมาย วัฒนธรรม ที่จะนำไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม)

ตัวอย่างสำคัญของโครงการที่มีการดำเนินการอย่างกว้างขวางตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เพื่อควบคุมและผนวก “ประชาสังคม” ทั่วประเทศ พร้อมกับทำให้ “ประชาสังคม” ทั้งหลายมี  “คุณธรรมไทย” ก็คือ “จิตอาสาประชารัฐ: ปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0” ทมีการออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558” และ “โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐระดับจังหวัด เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ  พ.ศ. 2560-2562” โดยที่ “เล็งเห็นว่างานจิตอาสา  คือรูปธรรมที่ดีที่สุดประการหนึ่ง ในการเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่สังคม 4.0 เพราะสามารถสะท้อนคุณลักษณะของสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่เข้มแข็ง และสังคมคุณธรรมไปพร้อมกัน”  ในช่วง 2 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2560 มีผู้นำในระดับจังหวัดทั่วประเทศเข้ามาร่วมเป็น “คณะทำงานจิตอาสาประชารัฐจังหวัด” จำนวน 2,305 คน เป็นภาคประชาสังคมร้อยละ 43 ภาครัฐร้อยละ 27 ภาคธุรกิจร้อยละ 16 และภาควิชาการร้อยละ 14 “ผู้นำ” เหล่านี้ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการโดยขยายเครือข่ายออกไปให้กว้างขวาง  และส่งเสริมให้สมาชิกของ “ชุมชน” และ “ประชาสังคม” มี “คุณธรรม” เช่น ความพอเพียง ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และมี “จิตอาสา”  คือมีจิตใจที่เสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผลประโยชน์ต่าง ๆ

หลังรัฐประหาร 2557 มีการออกกฎหมาย การให้งบประมาณสนับสนุน การจัดทำโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น โครงการ “พลังบวร” อันได้แก่ “บ้าน วัด โรงเรียน”  เพื่อให้ร่วมกันสร้าง “ชุมชนคุณธรรม” ขึ้นมาหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ ใน พ.ศ. 2563 กระทรวงวัฒนธรรมอ้างว่ามี “ชุมชนคุณธรรม” จำนวนถึง 22,540 แห่งที่ได้นำนโยบายของรัฐบาลในการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยมาสร้างความเข้มแข็งด้านคุณธรรมและสร้างรายได้ โดยเริ่มจากคุณธรรมในครอบครัว สู่วัฒนธรรมประเพณีที่วัดหรือมัสยิดและโรงเรียน  ขยายไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบโล่รางวัลให้แก่ 100 ชุมชน และ 150 หน่วยงานทั่วประเทศที่มีส่วนขับเคลื่อน “พลังบวร” ตามนโยบายของรัฐบาลและตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” 

ในชนบท องค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้น อาทิ อสม. อปพร. และ กม. ล้วนแต่มีเครื่องแบบและมีพิธีกรรมกล่อมเกลาจิตใจ บางองค์กรมีเพลง เช่น “คิดถึง อปพร. คนดี”  เนื้อเพลงตอนหนึ่งกล่าวถึง “จิตอาสาที่แสนยิ่งใหญ่” กิจกรรมต่าง ๆ เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างหลายฝ่าย เช่น กระทรวงมหาดไทย ทหาร อปท. อปพร. อสม. กม.

วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับการมีชีวิตเหมือนในอดีต คือ ทำให้ประชาชน “เป็นเด็ก” ที่ไม่ดื้อ หรือเป็น ”เด็กดี” ของรัฐ

โรงเรียนผู้สูงอายุสร้างสุขสมวัย ณ ลานกิจกรรมสำนักงานเทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

(ที่มา: อรวรรณ จ่ากุญชร “ผู้หญิงเสื้อแดง’ ในหมู่บ้านชานเมืองจังหวัดอุดรธานี: การศึกษาประวัติชีวิต ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง พ.ศ.2548 – 2564” วิทยานิพนธศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2567)

เมื่อเรียนครบ 1 ปี ก็จะมีพิธีมอบปริญญาบัตร  ณ ลานกิจกรรมสำนักงานเทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 

โครงการ “จิตอาสา” ทั่วประเทศที่ดำเนินการโดยองค์กรและกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับตำบล เทศบาล จังหวัด

คำถามคือ “ปฏิบัติการของรัฐและชนชั้นนำในการนำคนไทยและสังคมไทยกลับไปสู่อดีต” ประสบความสำเร็จหรือไม่?

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการวิจัยอย่างเป็นระบบ แต่มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่สะท้อนว่าปฏิบัติการของรัฐและชนชั้นนำประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย เช่น การบริจาคภาษีให้แก่พรรคก้าวไกล กล่าวคือ บุคคลที่มีรายได้สุทธิเกินปีละ 150,000 บาทขึ้นไปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บริจาคภาษีให้แก่พรรคก้าวไกล เคยมีบางคนวิเคราะห์ว่าคนจำนวนมากไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองอะไรดี จึงอยากลองเลือกก้าวไกลดูบ้าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะถ้าดูจากการบริจาคภาษี ก็จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้บริจาคภาษีให้แก่พรรคก้าวไกลมีมากกว่าราว 4 เท่าของผู้บริจาคภาษีให้แก่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่อ้างอิงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมทุกๆ พรรครวมกัน ดังนั้นแล้วการบริจาคภาษีจึงสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนมากได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ (ทั้งในมิติความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึก)   เพราะการบริจาคภาษีไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันเดียวเหมือนกับการหย่อนบัตรเลือกตั้ง หากแต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

ถ้าพิจารณาประเด็นหรือนโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง (เช่น การลดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ การผลักดันการปฏิรูปกองทัพ การเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ฯลฯ) ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าคน 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง พ.ศ.2566 เห็นด้วย หรือสามารถยอมรับในประเด็นเหล่านั้นได้ 

วิทยานิพนธ์ของอรวรรณ จ่ากุญชร (2567) เรื่อง “ผู้หญิงเสื้อแดง’ ในหมู่บ้านชานเมืองจังหวัดอุดรธานี: การศึกษาประวัติชีวิต ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง พ.ศ.2548 – 2564” แสดงให้เห็นว่า “ผู้หญิงเสื้อแดง” ที่อุดรธานี แม้ว่าจะเข้าไปทำงานในฐานะ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดขึ้น แต่จำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เนื่องจากยังมีความเจ็บปวดทางอารมณ์ความรู้สึก (emotional suffering) จากความไม่เสมอภาคในความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แม้ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและเกียรติยศศักดิ์ศรีในชุมชนที่ดีขึ้นและทำงาน “จิตอาสา” มากขึ้นก็ตาม

สังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันแปรและผันผวน ผู้คนมีความแตกต่างหลากหลายในการใช้ทรัพยากร มีการระบาดของโควิด-19 มีการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา มีการทำสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง ฯลฯ ทำให้เราอยู่ในสังคมที่ความเสี่ยงสูงขึ้นมาก   ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมก็เปลี่ยนแปลงมาก ทำให้ความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง สำนึกปัจเจกชนนิยมสูงขึ้น มีการปฏิเสธ “จิตใจแบบไทย” (เช่น การรู้ที่ต่ำ-ที่สูง หรือการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น ตลอดจนการยึดถือคุณธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบไทย) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เห็นได้ชัดหากพิจารณาประเด็นผู้หญิงซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้หญิงไทยได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก มากกว่าผู้ชาย และออกไปทำงานนอกบ้านในตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารสั่งการ มีประสบการณ์ในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ จึงต้องการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค หรือต้องการมีเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมทั้งความเท่าเทียมกับผู้ชาย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นรากฐานประการหนึ่งของความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมไทย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย

นอกจากนี้ “การปกครองแบบไทย” (พ่อปกครองลูก/พ่อขุนอุปถัมภ์ /รัฐไทยที่เมตตา) ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่ขยายตัวขึ้น โดยประชาชนเห็นว่าเป็นสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐเพราะเป็นผู้เสียภาษี ไม่ได้ต้องการพึ่งพา “พ่อ” หรือผู้นำที่เมตตาเอื้ออาทรเหมือนในอดีตอีกต่อไป 

เมื่อถึงวันนี้  อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจึงไม่สอดคล้องกับชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไปมากแล้ว   และยังรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าอดีตไม่ได้ดีงามตามความทรงจำที่รัฐปลูกฝัง จึงอาจกล่าวได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการกลับไปสู่อดีต หากแต่ต้องการก้าวไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรม มีการปฏิรูปด้านต่างๆ รวมทั้งปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมที่ผันแปรและผันผวนได้โดยมีความเสี่ยงน้อยลง ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถบรรลุ “ความปรารถนาในระบบทุนนิยม” ได้สะดวกขึ้น 

สายชลกล่าวปิดท้ายว่า ไม่ว่ารัฐและชนชั้นนำจะพยายามปลูกฝังมากแค่ไหน ผ่านกิจกรรม ผ่านโครงการมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ตอบโจทย์ มันไม่มีคำอธิบายที่ทำให้คนรู้สึกว่าน่าเชื่อถืออีกต่อไป  ไม่ใช่เพียงเพราะเราไม่มีปัญญาชนเก่ง ๆ อย่างเช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พระยาอนุมานราขธน ฯลฯ ดังในอดีตที่ผ่านมา หากแต่เป็นเพราะสังคมและเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไปมากเสียจนไม่มีใครสามารถทำให้คนในสังคมเชื่อไปในทิศทางเดียวกันได้อีกต่อไป สิ่งที่สังคมต้องการคือบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยน สังคมจึงต้องการปัญญาชนอนุรักษ์นิยมที่สามารถเข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงโดยเคารพความคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่าง ไม่ใช้กฎหมายและความรุนแรงอื่น ๆ มาปิดกั้นหรือทำลายโอกาสของคนอื่น ๆ ที่จะเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่คนไทยและสังคมไทย

เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง