13 มิถุนายน 2567 พชร คำชำนาญ กองเลขานุการ (พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ยุติการคุกคามไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่เชียงราย 3 (แม่เจดีย์ใหม่) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จัดเวทีประชุมในชุมชนห้วยหินลาดใน เพื่อชี้แจงกระบวนการในการตรวจสอบแปลงทำกินในพื้นที่ กรณีเจ้าหน้าที่ชุดดำบุกรุกเข้าทำลายทรัพย์สินในไร่หมุนเวียนของชุมชนห้วยหินลาดใน และในช่วงบ่าย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลจากทางชุมชน
เมื่อ 13 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. พชร คำชำนาญ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เดินทางไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จตุพร บุรุษพัฒน์ เพื่อเรียกร้องให้ให้ยุติการปฏิบัติการคุกคามไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และขอเข้าพบเพื่อพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเร่งด่วน ซึ่งมีผู้ช่วยรัฐมนตรี ทส. ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร และรองปลัด ทส. กุศล โชติรัตน์ เป็นผู้รับหนังสือและพูดคุยกับตัวแทนพีมูฟ
หนังสือระบุว่า ตามที่เกิดสถานการณ์เร่งด่วนที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าคุกคามชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นสมาชิกของพีมูฟ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรในรูปแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น ในความดูแลของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่งกายด้วยชุดดำ ใช้ผ้าปิดคลุมใบหน้าทั้งหมด และสะพายปืน บุกรุกเข้าไปในชุมชนและดำเนินการทำลายข้าวของในไร่หมุนเวียน อาทิ ถ้วย ชาม กาน้ำ จอบ เสียม ถังสำรองน้ำ รวมถึงสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ นอกจากนั้นยังพบว่าบริเวณเนินเขาที่เป็นจุดตั้งถังสำรองน้ำเพื่อใช้ในการดับไฟตามเส้นแนวกันไฟของชุมชน ก็มีการปล่อยน้ำออกจากถังสำรองน้ำจนหมด
โดยในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ณ ชุมชนกะเหรี่ยง บ้านขุนอ้อนพัฒนา หมู่ที่ 8 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ในสังกัดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 3 (ลำปาง) โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปในพื้นที่ แสดงแผนที่อ้างว่าพบแปลงบุกรุกจำนวน 22 แปลงอยู่ในพื้นที่การจัดการทรัพยากรของชุมชน ซึ่งภายหลังพีมูฟได้สอบถามไปยังชุมชน พบว่าแปลงที่ดินทั้งหมดเป็นพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนทั้งสิ้น
หวั่น จนท. อ้างนโยบายพิทักษ์ป่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน
พีมูฟยังระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย นั้น ชาวบ้านได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ซึ่งตัวแทนของสำนักฯ ได้ชี้แจงว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกรมป่าไม้ โดยอ้างอิงจากรายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2566 ที่พบว่าพื้นที่ป่าของประเทศไทยเสื่อมสภาพไปประมาณ 3 แสนไร่ นำมาสู่การใช้ภาพถ่ายทางอากาศตรวจจับพื้นที่บุกรุก และมีคำสั่งมายังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ
“นโยบายเช่นนี้นับว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากจะกระทบโดยตรงต่อรูปแบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนซึ่งต้องมีการพักฟื้นและแผ้วถางพื้นที่ หากเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการไม่เข้าใจความแตกต่างทางวิถีวัฒนธรรมและการทำกินเช่นนี้อาจตีขลุม เหมารวม ว่าชาวบ้านได้ตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่พื้นที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมที่ชาวบ้านทำกินมาหลายสิบ หลายร้อยปี” พีมูฟกล่าว
เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้สร้างผลกระทบอย่างมาหศาลต่อชุมชน กล่าวคือ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจว่าจะยังสามารถดำรงชีวิตด้วยวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมได้อีกหรือไม่ หากไม่สามารถทำกินได้จะสร้างผลกระทบต่อความมั่นทางอาหารของครัวเรือน และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือการตรวจยึดพื้นที่ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ภายใต้ปฏิบัติการอันเข้มข้นของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้นยังเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงนั้นไม่เคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งอาจกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. พ.ศ. 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม และ ส่งเสริมรูปแบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เป็นต้น
ผู้แทน ทส. รับเร่งเปิดประชุมคณะทำงานแก้ปัญหา หารือแนวทางร่วม ‘กรมป่าไม้’
สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วนของพีมูฟ ได้แก่
1. ให้สั่งการไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ และ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ที่มีพื้นที่ของพีมูฟอยู่ ให้ชะลอการดำเนินการตามแผนพิทักษ์ป่าเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย และ ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา จ.ลำปาง ขอให้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ยุติการดำเนินการโดยทันที
2. ขอให้รัฐมนตรี พร้อมด้วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดการเจรจาเร่งด่วนกับพีมูฟเพื่อหารือแนวทางการชะลอการดำเนินการใดๆ อันจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ขอให้เร่งเปิดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในเดือน มิ.ย. 2567 เพื่อเร่งสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการรายภูมิภาค และเร่งหาแนวทางอื่นๆ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในระดับพื้นที่ ตลอดจนเดินหน้าการแก้ไขปัญหาทางนโยบายต่อไป ทั้งนี้เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือนแล้วหลังการประชุมคณะทำงานครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 แต่ขณะนี้เกิดกรณีเร่งด่วนขึ้นในระดับพื้นที่มากมาย ซึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการผู้รับสนองนโยบายจากส่วนกลาง
กุศล โชติรัตน์ รองปลัด ทส. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับ ทส. รับปากจะเร่งเดินหน้าเปิดประชุมคณะทำงานดังกล่าวตามที่เรียกร้อง ส่วนในกรณีเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่นั้นจะประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ต่อไป
ชาวห้วยหินลาดใน ถาม “ทำได้เพียงขอโทษหรือ?” หลัง “สำนักป่าไม้ที่ 2 เชียงราย” เข้าตรวจสอบพื้นที่มีคำสั่ง “ตั้งจนท.ป่าไม้เป็นคกก.ตรวจสอบ” ด้านชุมชน เผยไม่ไว้วางใจ “ป่าไม้ตรวจสอบกันเอง”
โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 คงศักดิ์ สร้อยเสนา หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่เชียงราย 3 (แม่เจดีย์ใหม่) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่จัดเวทีประชุมในชุมชนห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อชี้แจงกระบวนการในการตรวจสอบแปลงทำกินในพื้นที่ หลังกรณีเจ้าหน้าที่ชุดดำบุกรุกเข้าทำลายทรัพย์สินในไร่หมุนเวียนของชุมชนห้วยหินลาดใน และในช่วงบ่าย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลจากทางชุมชน
การจัดเวทีประชุมเพื่อชี้แจงขั้นตอนและกระบวนการในการตรวจสอบแปลงทำกินในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการยื่นหนังสือของชุมชนห้วยหินลาดในถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา หลังมีเจ้าหน้าที่ชุดดำบุกรุกเข้าทำลายทรัพย์สินในไร่หมุนเวียนของชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบทั้งทางทรัพย์สิน และความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งข้อเรียกร้องของทางชุมชนมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสามข้อ คือ 1) หน่วยงานป่าไม้ต้องตรวจสอบและจัดเวทีชี้แจงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนอย่างเร่งด่วน 2) ให้ตั้งคณะทำงานสอบระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เท่ากัน และ 3) ให้เร่งหามาตรการในการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการนัดหมายเวทีประชุมเป็นช่วงเช้าของวันที่ 12 มิถุนายน แต่ทางชุมชนแจ้งว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา จีระ ทรงพุฒิ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่โดยไม่ได้แจ้งให้ทางชุมชนทราบก่อน เมื่อมาถึงแล้วได้พูดคุยกับทางผู้นำชุมชนด้วยท่าทีที่พยายามโน้มน้าวให้กรณีพิพาทยุติในระดับพื้นที่ และทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ได้ลงบันทึกข้อความในสมุดเยี่ยมชุมชนโดยระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า “การพูดคุยและให้คำปรึกษากรณีข้อพิพาทดังกล่าวลุล่วงและผ่านไปด้วยดี” ทั้งที่เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับผู้นำชุมชนเพียงเท่านั้น
“หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ชร.3” เข้าชี้แจงขั้นตอนการตรวจสอบแปลงทำกิน พร้อมขอโทษต่อกรณีพิพาท ด้านชุมชน ย้ำ “หน่วยงานต้องรับผิดชอบมากกว่าการขอโทษ”
เวลา 09.00 น. ก่อนการเริ่มประชุม นิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในได้อ่านแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว โดยมีเนื้อหาในเชิงตำหนิการกระทำของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ที่ยังมีลักษณะพฤติกรรมในการลงมาในชุมชนคล้ายเดิม คือ ไม่แจ้งให้ทางชุมชนทราบล่วงหน้าว่าทางหน่วยงานจะเข้ามาในพื้นที่ แม้จะมีการรับปากกับทางชุมชนแล้วก็ตามว่าทางหน่วยงานจะแจ้งผู้นำชุมชนทุกครั้งที่มีการเข้ามาในพื้นที่ ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ได้ยืนยันถึงข้อเรียกร้องของทางชุมชน และกล่าวย้ำว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นชุมชนใด พื้นที่ใดในประเทศไทยก็ตาม
คงศักดิ์ สร้อยเสนา หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่เชียงราย 3 (แม่เจดีย์ใหม่) ได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อตรวจสอบของหน่วยงานว่า เป็นไปตามภารกิจของกรมป่าไม้ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า ซึ่งมีคำสั่งมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 และต้องตรวจสอบเพื่อบันทึกข้อมูลใน “ระบบพิทักษ์ไพร” ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม นี้ โดยขั้นตอนในการตรวจสอบแปลงทำกินในพื้นที่จะพิจารณาควบคู่กับการตรวจสอบข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง 3 ช่วงปี คือ ปี 2544-2546 ปี 2561 และปี 2566 ที่ผ่านมา หากพบว่ามีกรณีแปลงที่เป็นปัญหาหรือเข้าข่ายการบุกรุก ทางหน่วยงานต้องลงมาตรวจสอบในพื้นที่ว่า เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมหรือเป็นพื้นที่บุกรุกเพิ่ม หากทางคณะกรรมการชุมชนสามารถรับรองได้ว่าเป็นแปลงทำกินเดิม หน่วยงานก็จะยืนยันข้อมูลในระบบว่าไม่ได้เป็นแปลงบุกรุก
สำหรับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คงศักดิ์ยอมรับว่าอาจเกิดจากที่เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจในวิถีของทางชุมชน ประกอบกับภาระงานที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้การเข้ามาในพื้นที่เป็นไปด้วยความเร่งรีบ จึงอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสามนายกระทำผิดจริง ทางหน่วยงานจะดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งยืนยันว่าในการเข้ามาในพื้นที่หลังจากนี้จะประสานผู้นำชุมชนเพื่อแจ้งให้ทราบก่อน แต่ถ้ามีข้อมูลชัดเจนว่าเป็นแปลงบุกรุกจริง ทางหน่วยงานจำเป็นต้องบุกเข้าในพื้นที่เพื่อตรวจสอบโดยทันที
“ขอน้อมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะทำงานให้รัดกุมมากขึ้น ขอให้ชุมชนเชื่อมั่นว่าถ้าเป็นที่ทำกินเดิมตามวิถีของชุมชน ทางชุมชนไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหนี เวลาที่เจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบในพื้นที่ โดยปกติทางหน่วยงานไม่ได้มีกระบวนการคืนข้อมูลให้ชุมชนหลังการตรวจสอบ แต่ยืนยันว่าชุมชนสามารถขอตรวจสอบได้หากต้องการยืนยันข้อมูล เป็นข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ ไม่ได้เป็นความลับทางราชการ” คงศักดิ์กล่าว
นิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน กล่าวย้ำว่า การที่ทางหน่วยงานชี้แจงว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในพื้นที่เป็นไปตามคำสั่งจากทางกรมป่าไม้ แต่การทำลายทรัพย์สินของชุมชนไม่ได้เป็นคำสั่ง ทางชุมชนไม่ได้ต้องการเพียงคำขอโทษจากหน่วยงาน แต่ต้องการเห็นการแสดงความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เหมาะสมมากกว่าการขอโทษ เพราะหลังจากนี้ทางหน่วยงานก็ต้องเข้ามาตรวจสอบในพื้นที่ทุกปี ชุมชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก รวมถึงกระบวนการป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำเดิมอีก
“สุดท้ายแล้วการที่บอกว่าหน่วยงานไม่ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มาทำลายข้าวของของชุมชน แต่ในเมื่อเหตุมันเกิดจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดพวกท่าน ฝั่งหน่วยงานก็ควรมีคำตอบและแนวทางที่ยืนยันกับชุมชนได้ว่า หลังจากนี้จะไม่มีเหตุการณ์ขึ้นอีก จริง ๆ สิ่งนี้มันสะท้อนคุณภาพของคนทำงานของพวกหน่วยงาน พวกคุณรับคนแบบไหนเข้ามาทำงาน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพื้นฐานกฎหมาย สิทธิมนุษยชนไหม” นิราพรกล่าว
“สำนักป่าไม้ที่ 2 เชียงราย” ตั้ง “ป่าไม้เป็นคกก.ตรวจสอบภายใน” เหตุการณ์จนท.ป่าไม้ทำลายข้าวของไร่หมุนเวียน
ด้านชุมชน ย้ำ “คกก.ต้องมีสัดส่วนจากชุมชน” ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เวลา 14.00 น. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพิพาท ตามคำสั่งแต่งตั้งโดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงานจำนวน 3 ราย คือ นิวัติ มีวรรณสุขกุล, เสือ ปรุงธัญญพฤกษ์ และทองคำ ธรรมสละ พร้อมคณะอีกกว่า 20 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้เชิญตัวแทนชุมชนจำนวน 3 ราย คือ ดวงดี ศิริ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7), ประสิทธิ์ ศิริ (ผู้เห็นเหตุการ และผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ความเสียหาย) และนิราพร จะพอ (ตัวแทนผู้เห็นเหตุการณ์) มาให้ถ้อยคำและข้อมูลประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริง
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ชี้แจงกระบวนการในการสอบสวนตัวแทนชุมชนเพื่อบันทึกถ้อยคำและข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วจะสอบสวนแยกเป็นรายบุคคล แต่ในกรณีนี้ เมื่อทางชุมชนยืนยันว่าให้ชาวบ้านและผู้ร่วมสังเกตการณ์ ได้สังเกตการณ์กระบวนการสอบสวนในครั้งนี้ด้วย ทางคณะกรรมการฯ ก็ยินดีที่จะเปิดเผยกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด
ก่อนเริ่มกระบวนการตรวจสอบ ทางตัวแทนชุมชนได้ยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในที่ทางหน่วยงานราชการต้องทำตามหน้าที่อยู่แล้ว ไม่นับว่าเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ต้องมีสัดส่วนของชุมชน ซึ่งทางชุมชนย้ำว่าจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบภายนอกร่วมด้วย
กระบวนการสอบสวนและบันทึกข้อมูลจากตัวแทนชุมชนใช้ระยะเวลาถึงสามชั่วโมง โดยภาพรวมเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งทางคณะกรรมการได้ให้ตัวแทนชุมชนตรวจสอบบันทึกถ้อยคำของทุกคนอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม มีบางคำถามที่ทางชุมชนไม่สะดวกให้คำตอบ เช่น การให้ระบุว่าผู้ใดเป็นเจ้าของแปลงกรณีเกิดเหตุ ทางชุมชนได้อธิบายว่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของแปลงทำกินในลักษณะกรรมสิทธิ์รายปัจเจก เนื่องจากเป็นแปลงทำกินรวม เป็นกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่ หากระบุว่าผู้ใดเข้าทำกินในปีนี้ ทางชุมชนกังวลว่า จากความขัดแย้งระดับชุมชนกับหน่วยงาน อาจกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับหน่วยงาน แม้คณะกรรมการพยายามถามย้ำหลายครั้งว่าสะดวกให้คำตอบหรือไม่ แต่ทางชุมชนก็ยืนยันว่าไม่สะดวกใจ
หลังจากการบันทึกถ้อยคำและข้อมูลจากตัวแทนชุมชน คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ไปยังแปลงทำกินและจุดที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบความเสียหายในแต่ละจุดที่เกิดเหตุ และบันทึกภาพเป็นหลักฐานว่า ได้มีการลงพื้นที่มาตรวจสอบตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว
“กระบวนการตรวจสอบนี้คาดว่าใช้เวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นการสอบสวนทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั้งสามราย เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนตามกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะทำบันทึกรายงานไปยังหน่วยงานระดับกรมและกระทรวงต่อไป และจะส่งบันทึกรายงานมาให้ทางชุมชนด้วยเช่นกัน” ตัวแทนคณะกรรมการฯ ชี้แจง
ด้านตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในกล่าวถึง ข้อเรียกร้องเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดที่ต้องมีสัดส่วนของชุมชนร่วมด้วยว่า ยังไม่มีความคืบหน้าจากทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) แม้มีการเสนอจากทางอำเภอเวียงป่าเป้าตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองในท้องที่ว่า ควรเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับอำเภอ แต่ทางชุมชนเห็นว่า ด้วยภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ครั้งนี้เป็นคำสั่งจากระดับกรมป่าไม้ อย่างน้อยคณะกรรมการชุดนี้ควรเป็นการแต่งตั้งโดยระดับจังหวัดเป็นอย่างน้อย ส่วนกระบวนการตรวจสอบในครั้งนี้ เป็นเพียงการตรวจสอบภายในกันเองของหน่วยงานป่าไม้ ซึ่งทางชุมชนไม่ได้ไว้วางใจว่า การตรวจสอบครั้งนี้จะนำมาสู่ข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมได้
“ทางชุมชนรู้สึกยินดีที่ทางอำเภอมีความประสงค์ในการช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้กรณีนี้จบลงโดยเร็ว เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข แต่พวกเราเห็นว่า คำสั่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องระดับนโยบาย อาจจะอยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจในระดับอำเภอ เพราะฉะนั้นอย่างน้อย ๆ ควรเป็นระดับจังหวัดที่แสดงความรับผิดชอบ แต่ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าในระดับจังหวัด ทางชุมชนก็ยืนยันว่าจะร้องเรียนเรื่องให้ไปถึงระดับรัฐบาล ระดับกระทรวงต่อไป” ตัวแทนชุมชนกล่าว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...