ศิลปินพื้นบ้านล้วนผ่านการอบรมสั่งสอนให้คอยสั่งสมประสบการณ์ให้แฝงฝังไว้ในตน ตลอดจนควรมีความมุ่งมั่นฝึกฝนจนเกิดความชำนิชำนาญด้านสติปัญญาและความสามารถทั้งการขับร้องท่องลำนำแนวเพลงปฏิพาทย์[1] ทั้งเพลงหมอลำในภาคอีสาน เพลงอีแซวในภาคกลางหรือเพลงบอกในภาคใต้ ในขณะที่คนภาคเหนือหรือคนเมืองล้านนา[2]ก็มี “เพลงซอ” ที่ถูกขับขานผ่านเสียงของ “ช่างซอ” ซึ่งมีความหมายในทำนองของการเป็นผู้ชำนาญการถ่ายทอดเนื้อหาสาระผ่านโครงสร้างท่วงทำนองดนตรีที่ตายตัวแต่ต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของทำนองพื้นบ้าน ดังนั้น “ซอ” นั้น ก็มิใช่เครื่องดนตรีประเภท “สี” ที่มีอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไปในภูมิภาคอื่นๆหรือในภาษิตที่รู้จักกันดีอย่าง “สีซอให้ควายฟัง”แบบคนภาคกลาง มากไปกว่านั้น “ซอ” หรือ “เพลงซอ” ยังคือ “ดนตรี” ที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีหน้าที่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมในฐานะศิลปะการแสดง การขับร้องเพื่อความบันเทิง การร้องร่ำพรรณนาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งยังเกี่ยวข้องพื้นที่ของพิธีกรรม งานหรือเทศกาลของชาวบ้านร้านรวงซึ่งมักจะมีช่างซอเข้ามาสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้มาร่วมงานเสมอ ผู้เขียนอยากเรียกขานและตอกย้ำกับศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ด้วยซำไปว่านี่คือ “วัฒนธรรมประชาล้านนานิยม” ที่แม้เป็นคำในเชิงยั่วล้อแต่มีความหมายที่ต่างจากวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ของผู้คนในดินแดนล้านนา ทว่าหากนึกถึง “ชาวบ้านสามัญชั้นธรรมดา” ขึ้นมาเพลงซอก็คงจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งซึ่งยังคงมีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งในนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรมนั้น ๆ
แม้ถูกจัดวางไว้เป็นเพียงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน หากแต่ความลออละเอียดและละเมียดละไมยังคงดำรงอยู่ ศิลปินช่างซอยังคงผูกพันกับหลักความเชื่อที่ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานผ่านการนับถือ “ครู” โดยมีความเชื่อในเรื่องการเซ่นไหว้บอกกล่าวแก่ครูอาจารย์ที่ทั้งยังดำรงชีพและหมดชีพสิ้นไปแล้วที่เรียกกันว่ “ครูเก๊า ครูปล๋าย ครูต๋าย ครูยัง” ครูในความหมายที่กล่าวมาจึงมีความแตกต่างไปทางครูในระบบการศึกษาสมัยใหม่ซึ่งได้เข้ามาทดแทนกลไกทางสังคมที่มีมาแต่ดั้งเดิม (หมายถึง วัด หรือศาสนา) ระบบการเรียนรู้อันทำหน้าที่สืบสานและธำรงความเป็นชุมชนจึงได้ถูกสั่นคลอนและแทบเรียกได้ว่าเกือบสูญสลายท่ามกลางสภาพการณ์ดังกล่าว สิ่งเหล่านี้มีส่วนต่อการท้าทายความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างสำหรับคนเฉพาะกลุ่มอย่าง “ช่างซอ”และพิธีไหว้ครูของพวกเขายังคงสามารถแทรกตัวและมีพื้นที่ยืนอยู่ได้ในสังคมนี้
ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงของเดือน 9 (เหนือ) ตามความเชื่อของชาวล้านนาซึ่งมีระยะเวลาเร็วกว่าเดือนในภาคกลางประมาณ 2 เดือนอันมีมูลเหตุเนื่องมาจากตำนานพื้นถิ่นล้านนาที่ว่าด้วย “การเลื่อนเดือน” ให้เคลื่อนไปข้างหน้าของพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งนครหริภูญชัย (ลำพูน) ให้เกิดเป็นกุศโลบายทางการเมืองโดยกล่าวกันว่า พระนางผู้ซึ่งเป็นธิดาของกษัตริย์รัฐละโว้เมืองใต้นั้น ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเษกสมรสร่วมกับขุนหลวงวิลังคะผู้เป็นเจ้าแผ่นดินถิ่นพิงครัฐผู้ถูกมองว่าเป็นอารยชนคนมิลักขะแถบนี้ที่ยังไม่รู้จักระบบปฏิทินไว้นับวันเดือนปี[3] เดือน 9 (เหนือ) จึงเป็นช่วงเวลาของการทำพิธีเลี้ยงพลีกรรมแด่เหล่าบรรดาสาระพัด “ผี” ที่ยังคงมีปรากฏอยู่ในความเชื่อและการยึดถือของผู้คนบนดินแดนแถบนี้สืบเนื่องมาช้านาน
ประเพณีเลี้ยงผีเดือน 9 (เหนือ) ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาของการเฉลิมฉลอง “Happy Ghost Month” ที่มีต่อเนื่องหรือควบคู่ไปกับ “Happy Pride Month” ด้วยซ้ำไปเลยก็ว่าได้เพราะช่วงเวลาถัดจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เราบรรดาผีต่างๆต้องหยุดพักเข้าพรรษาพร้อมกับเหล่าบรรดามนามนุษย์เพื่อไปจอดหยุดพำนัก ถือศีลกินเจ ณ ถ้ำเชียงดาวอันเป็นที่สิงสถิตขององค์ประธานแห่งผีผู้เป็นอารักษ์ใหญ่ในดินแดนล้านนาซึ่งคือเจ้าหลวงคำแดงนั่นเอง จึงทำให้เราพบเห็นงานปาร์ตี้อันเป็นเทศกาลเลี้ยงส่งท้าย “ผี” ก่อนการมาถึงของฤดูกาลเข้าพรรษาโดยผีที่ว่านี้หาใช่ผีไร้ญาติขาดมิตรหรือเป็นดวงวิญญาณที่ล่องลอยคอยหลอกหลอนผู้คนแต่อย่างใด หากเป็นผีในระดับผู้ดีหรือผีในระดับบน (ครึ่งผีครึ่งเทวดาอะไรต่อมิอะไรในทำนองนั้น) ซึ่งก็มีทั้งผีบ้านผีเมืองผีผีบรรพชน ผีขุนน้ำลำห้วยและผีครู เป็นต้น เพื่อเป็นการตอบแทนคุณที่ผีทั้งหลายได้ปกปักษ์รักษาคนในครอบครัวมาตลอดโดยผีที่ว่ามานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาตินี้มักเกิดขึ้นจากความกลัวของมนุษย์ ความกลัวนี้จะฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก อันเป็นผลมาจากการได้รับการอบรม พร่ำสอนจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรกลัว มีความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาจากคนเก่าคนแก่ว่าอย่างไรเป็นสิ่งที่ดีและไม่ดีเป็นเหตุให้เกิดผลดีผลร้ายเช่นไร สิ่งที่เล่าต่อกันมานั้นจึงกลายเป็นเหตุผลของความกลัวโดยปริยายนับเป็นความกลัวที่สั่งสมมาแต่วัยเยาว์ โดยผู้ที่เชื่ออาจไม่เคยประสบด้วยตนเองมาก่อนในชีวิตก็ได้เพียงแต่เกิดความกลัวด้วยจินตนาการตามคำบอกเล่าของผู้อื่น
การเลี้ยงครูหรือที่เรียกกันในหมู่ศิลปินช่างซอว่าเป็นการเลี้ยงผีครูจึงเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมในการปฏิบัติบูชาอันแสดงออกถึงซึ่งความศรัทธาของศิษย์ที่มีต่อครู เป็นงานที่ผู้ทำมีความภาคภูมิใจและผู้ที่รับรับการคารวะบูชาก็มีความอิ่มใจด้วย การกำหนดจำนวนเครื่องพลีกรรมและเครื่องสังเวย รวมทั้งขั้นตอนต่าง ๆ อีกทั้งระบบความเชื่อเรื่องการไหว้ครูนั้น ในแต่ละครูช่างแต่ละสาขาก็แตกต่างกันออกไป และแต่ว่าจะได้รับแบบครูเค้า (อ่านว่าครูเก๊า แปลว่า ครูของครู) มาอย่างไร ทั้งนี้ การเลี้ยงครูซอ เดือนเก้า(เหนือ) ล้านนายังถือเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำถึงปริมณฑลเฉพาะสำหรับการ “สืบทอดระบบองค์ความรู้และภูมิปัญญา” จากครูทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้วเพื่อแสดงการรำลึกถึงพระคุณของครูและแสดงความขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ที่ฝึกสอนซอมาตั้งแต่อดีตการเลี้ยงครูยังเป็นกลไกเพื่อการรักษาการเรียนรู้เพื่อสืบทอด/ส่งผ่านความเป็นช่างซอ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เหล่านี้คอยหล่อหลอมและจัดให้เป็นระบบองค์ความรู้และภูมิปัญญาในชุดภาษาของ “ปราชญ์ชาวบ้าน” เพราะความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ นั้นมีอยู่ในชุมชนแบบดั้งเดิมนั้น ซึ่งถูกสร้างและสั่งสมมา และปรับเปลี่ยนอย่างสอดคล้องและสมดุลกับสภาพพื้นที่ที่มีรหัสทางวัฒนธรรม (Cultural Code) ไว้เป็นร่องรอยไว้เพื่อให้สืบเสาะหาและทำความเข้าในต่อระบบการศึกษาของชุมชนเอง ที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายทอดทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มช่างซอให้ขยายไปสู่การรับรู้ของคนทั่วไปที่มีสนใจ เช่นเดียวกันกับการนับถือ “ครูซอ” ของเหล่าบรรดาศิลปิน ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนให้ช่างซอมีความรักในการซอ และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างขวัญและกำลังใจให้สามารถซอได้ดี และครูซอยังเป็นต้นแบบของศิษย์ ฉะนั้น ศิษย์คนใดได้ครูซอดี ก็มักจะมีเทคนิคและความภาคภูมิใจให้กับตนเองอีกด้วย เช่นกันหากศิษย์คนใดสร้างชื่อเสียงให้กับวงการซอ ครูซอท่านนั้นก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวศิษย์และจะได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไป เมื่อเวลาศิษย์ขึ้นผามซอมักจะฮ่ำว่าตนเป็นลูกศิษย์ของครูท่านใด เพื่อให้ผู้คนได้ทราบว่าช่างซอคนนี้มากจากสำนักใด เป็นลูกศิษย์ใคร นับถือครูซอท่านใดอยู่ จะเห็นได้ว่าการไหว้ครูเป็นสัญลักษณ์ของความนอบน้อมของผู้ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนต่อผู้ที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ ความเชื่อที่เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวกันมาว่าความเป็นสิริมงคลจะเป็นผลพลอยได้จากการไหว้ครู การร้องขอโดยการอธิษฐานให้ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ตนมีสวัสดิภาพปราศจากอันตรายทั้งปวง หรือการขอขมาลาโทษในสิ่งที่เป็นการลบหลู่ครูอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์แฝง ซึ่งสะท้อนถึงเหตุแห่งความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการในการอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์
การนับถือผีครูซอของเหล่าบรรดาช่างซอนี้มีความเคร่งครัด ทั้งในด้านการเซ่นไหว้หรือบวงสรวงกันเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งหรือศิลปินซอท่านใดก็ตามที่ได้ไปทำการแสดงเพื่อขับซอตามงานต่างๆ ก็ควรต้องมีเครื่องสังเวยหรือที่เรียกว่า “ขันตั้ง” สำหรับการไหว้ผีครูซอทุกครั้งจะขาดเสียมิได้และเมื่อช่างซอคนใด ไม่ว่าหญิงหรือชายซึ่งมีความชำนาญในการขับซอและพออายุมากขึ้นแล้ว มีความปรารถนาจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการขับซอให้แก่ศิษย์รุ่นต่อๆ ก็ต้องอาศัยผีครูซอไปช่วยปกปักรักษาศิษย์ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพช่างซอซึ่งล้วนเป็นความเชื่อทางด้านจิตหรือวิญญาณแล้ว พิธีการนี้ยังเป็นการช่วยให้ศิษย์หรือช่างซอคนใหม่ได้มั่นใจในการแสดงของตนเองยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประกาศให้คนทั่วไปทราบว่าได้มีช่างซอที่มีความสามารถที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นอีกคนหนึ่ง สำหรับการเลี้ยงผีครูซอในช่วงของเดือนมิถุนายนนี้หากพินิจพิเคราะห์ในเชิงลึกแล้วในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมนั้นอาชีพหลักของศิลปินช่างซอซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาต้องรีบหว่านไถเพาะปลูกช่างซอก็จะถือโอกาสและช่วงเวลานี้เลี้ยงส่งตัวเองทิ้งท้ายก่อนการหยุดพักผ่อนระยะยาว “เข้าป๊อด” เป็นเวลานานกว่า 3 เดือนซึ่งเป็นช่วงของการเข้าพรรษาและฤดูการทำนาอันจะมาถึง
แม้ในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีความคิดหรือกฎหมายใดๆ อันเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ที่มาควบคุมการแสดงความเป็นเจ้าของในผลงานศิลปกรรมทางด้านดนตรี แต่ด้วยภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่ประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์อันเป็นหนึ่งในคุณธรรมของคนไทยที่สืบทอดส่งต่อกันมาจากบรรพชน การแสดงความเคารพต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้นำมาถูกบรรจุไว้ในพิธีกรรมเช่น การไหว้ครูก่อนแสดงหรือการยกขันตั้งนี้เอง เป็นต้น เพลงซอและช่างซอพื้นเมืองล้านนาสามารถใช้ประโยชน์ผ่านการนำเอาไปใช้เพื่อสร้างผลงาน เรื่องเล่าและเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดรายได้และได้รับการยอมรับนับถือจากผู้ที่อยู่ในสังคม เช่น ช่างซอที่มีชื่อเสียง มักได้รับการยอมรับ ตลอดจนเรียกขานนามนำหน้าว่า “พ่อครู” “แม่ครู” หมายถึงผู้ซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์เป็นผู้รู้ อาชีพช่างซอจึงเป็นที่นิยมและการเกิดการสืบทอดความรู้ใน คนผู้สนใจกลุ่มหนึ่ง สืบต่อกันจากรุ่นหนึ่งไปรุ่นหนึ่ง การสืบทอดความรู้ด้านการซอมิใช่เพียงแต่การสอนต่อ ๆ กันไปอย่างง่าย ๆ ด้วยเหตุที่แต่ละบุคคลมีคติธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการซอที่แตกต่างกัน พิธีกรรมหรือแม้กระทั่ง “ขันครูซอ” จึงเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่พวกเขาเคารพนับถือ
กล่าวโดยสรุปคือ คนเมืองล้านนามีวิถีชีวิตที่ควบคู่ไปกับความเชื่อ ทั้งที่มาจากความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อที่เกิดจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา หรือเกิดจากการผสมผสานความเชื่อทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตหรือแม้ในยามชีวิตตกอยู่ในห้วงทุกข์ ชาวล้านนาก็มีกุศโลบายในการประยุกต์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ผลทางด้านจิตใจ การเรียนรู้ การศึกษาก็เป็นสิ่งที่ชาวล้านนาให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าด้านอื่นๆ ชาวล้านนาตระหนักว่า คนเราเกิดมานั้นระดับสติปัญญา การเรียนรู้ของคนนั้นแตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้นก็มีการคิดค้นวิธีการทางจิตวิทยาเพื่อช่วยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพไปด้วย ซึ่งพิธีกรรมเกี่ยวกับซอล้วนแล้วแต่เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อ ความศรัทธา ความกตัญญูรู้คุณ การมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างช่างซอด้วยกัน เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นพิธีกรรมที่แฝงด้วยคุณค่าที่น่าศึกษาเรียนรู้ยิ่ง
อ้างอิง
[1] เพลงที่ชายหญิงใช้ร้องโต้ตอบกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเกี้ยวพาราสีซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่โวหารและการชิงไหวชิงพริบ
[2] คนล้านนาที่ไม่ได้จำกัดความหมายแต่เพียงผู้คนที่อยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน หากแต่เป็นทุกๆอาณาบริเวณทางวัฒนธรรมที่ “อู้กำเมือง กิ๋นลาบและฟังซอ” ตลอดจนล่วงเลยเข้าไปในบางพื้นที่ของภาคกลางตอนบนและข้ามพรมแดนไปยังบางพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน
[3] เกร็ดเก่าเล่าตำนานที่ว่านี้ ยังสื่อและแทรกความระหว่างบรรทัดให้สามารถตีความได้ถึงยุคสมัยในการแผ่กระจายเข้ามาของภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับระบบการนับวันเดือนปีแบบจันทรคติจากอารยธรรมมอญ-ขะแมร์แห่งรัฐละโว้แห่งพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาที่เคลื่อนเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มลำน้ำปิงแถบนี้ได้เป็นอย่างดี
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า