ประติมากรรมยักษ์วัดอุโมงค์ กับคำถาม “อำนาจ” ใน “หลักวิชาการอนุรักษ์” ที่ยังฉงนคำตอบ ?

“ยืนยันว่าการบูรณะเป็นไปตามหลักวิชาการ”

คำตอบเช่นนี้ได้ยินเสมอจากหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ดูแลแหล่งมรดกวัฒนธรรม

ปรากฏการณ์สำคัญในวงการศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในดินแดนเชียงใหม่ เมื่อเกิดกรณีการบูรณะประติมากรรมยักษ์จำนวน 2 ตนภายในวัดอุโมงค์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนต่างรู้จักกันอย่างดี

เหตุการณ์ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ผศ.ดร. สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกมาร้องเรียนถึงประเด็นที่เกิดขึ้น เมื่อพบว่าประติมากรรมยักษ์ภายในวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่อายุเก่าแก่และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม[1]  ได้ถูกบูรณะไปจนมีสภาพใหม่อย่างปัจจุบัน ทำให้เกิดการร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้อย่างไร

นำมาสู่คำตอบที่ว่าเจ้าอาวาสวัดอุโมงค์ ในฐานะผู้แลพื้นที่ศาสนสถานที่เป็นโบราณสถานไม่ได้เป็นผู้บูรณะเองแต่อย่างใด แต่ผู้ที่ออกคำสั่งดังกล่าวคือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้เดินทางมาชมวัดอุโมงค์ เห็นสภาพของประติมากรรมดังกล่าวชำรุดและเห็นนักท่องเที่ยววิจารณ์กันว่าทำไมไม่มีคนดูแลรักษาซ่อมแซม จึงได้ประสานงานกับกรมศิลปากรเป็นผู้บูรณะซึ่งมีหน่วยงานย่อยอย่างสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการจัดการ โดยเลือกใช้แนวคิดวิธีการอนุรักษ์โดยการฟื้นคืนสภาพตามหลักการอนุรักษ์ในพื้นที่โบราณสถานที่ยังใช้ประกอบศาสนกิจอยู่และถ้าอนุรักษ์ไว้ตามสภาพเดิมนั้นก็จะชำรุดพังทลายไปได้

ดังนั้น ยักษ์วัดอุโมงค์จึงถูกบูรณะขึ้นมาทันที เมื่อแขนขาหักหายไป ก็ต้องต่อเติมขึ้นมาให้สมบูรณ์แบบ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ก็ยืนยันว่าตนเองเชื่อมั่นในฝืมือของกรมศิลปากร จึงไม่ได้ติดตามรายละเอียดและการดำเนินงานของกรมศิลปากรนั้นถูกต้องแล้ว ในขนาดที่กรมศิลปากร ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และระดับสูงสุดอย่างอธิบดีกรมศิลปากรก็ออกมายืนยันว่าทำถูกต้องแล้ว เพราะนี่คือการบูรณะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ท้ายที่สุดของเรื่อง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวของกรมศิลปากรไม่ถูกต้อง ควรแสดงหลักฐานทางวิชาการและรายชื่อคณะกรรมการในที่ประชุมที่ให้มีมติเห็นชอบ ให้กับสังคมได้รับรู้ว่ามีการพิจารณาที่รอบคอบจริงตามที่อ้างหรือไม่ อย่างไร และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ควรปัดความรับผิดชอบ เพราะเป็นบุคคล “ต้นความคิด”

แล้วเรื่องปรากฏการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมก็จบลงหายเงียบไป จนกว่าจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ให้ได้ขึ้นมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งไปเรื่อย ๆ ไปวัฏจักรสงสารของแวดวงศิลปวัฒนธรรมที่ผู้คุ้นเคยต่างก็ทราบกันเป็นอย่างดี

คำถามที่ยังฉงนคำตอบในเรื่องนี้ คือ นี่คือการอนุรักษ์ที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

ในเมื่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้กล่าวย้ำแล้วย้ำอีกว่านี่คือการทำตามหลักวิชาการ แล้วในสังคมไทยจะไม่เชื่อมั่นในหลักวิชาการของหน่วยงานที่ดูแลศิลปวัฒนธรรมได้อย่างไร ในเมื่อเขามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้านนี้โดยตรง ?

แต่นักเรียนในโลกวิชาการศิลปวัฒนธรรมต่างก็ทราบกันอย่างดี ต่อหน้าการเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบว่า ๆ ไม่มีการอนุรักษ์อะไรที่ถูกต้องตรงตัวแท้จริงอย่างร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด

นิยามของการอนุรักษ์อย่างที่นักเรียนต่างเข้าใจกันดี คือ การดูแล รักษาเพื่อคงคุณค่าคง “ความจริงแท้” หรือความ “สภาพดั้งเดิม” (authenticity) เอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและทำความเข้าใจคุณค่า คติ วัสดุ รูปแบบ ฯลฯ ของหลักฐานนั้น ๆ  อันเป็นแนวคิดโลกวิชาการแบบสังคมสมัยใหม่  

ดังนั้น 2 ตัวเลือกคลาสสิก อย่างการบูรณะโดยการอนุรักษ์รักษาสภาพ (การดูแลรักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป) หรือบูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพ (การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา แต่จะต้องลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิมและสิ่งที่ทำขึ้นใหม่) หรือตัวเลือกอื่น ๆ มากหลายร้อยข้อ ทุกครั้งที่เลือกต้องใช้วิธีการที่คิดว่าดีที่สุดและยังต้องถกเถียงกันต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุดในโลกวิชาการ

แต่ในโลกนอกห้องเรียนอย่างโลกรัฐราชการมันเป็นอย่างนี้จริงหรือ 

และ “อำนาจ” ใน “หลักวิชาการอนุรักษ์” มันอยู่ที่ใครกันแน่

หลักการวิชาการเป็น “วิชาการบริสุทธิ์” หรือเป็น “เครื่องมือ-อำนาจ” ในการทำงานของรัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานราชการที่ชอบเน้นย้ำในการทำงานตามหลักวิชาการ และพร้อมเสมอที่จะต่อสู้ต่อรองหรืออวดเบ่งกับคนอื่น ๆ ด้วยข้อมูลทางวิชาการ เพราะตนเองคือหน่วยงานหนึ่งเดียวที่ดูแลด้านนี้และมีแหล่งกำเนิดมาจากหนึ่งเดียวที่เป็นสายตรง เสมือนว่าในโลกใบนี้จะหาผู้เชี่ยวชาญเท่ากับพวกเราเหล่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

เครื่องมืออำนาจทางวิชาการจึงเป็นพลังอำนาจของพวกเขา 

เพราะมันไม่สิ่งอื่นที่เขาจะใช้ให้เป็นแล้วแต่นี่คือสมบัติติดตัวมาจากสถาบันการศึกษาที่เขาคิดว่าเขามีอยู่เพียงคนเดียว

ถ้าคิดอย่างสมมติขึ้นมา ถ้าเรื่องดังกล่าวมีต้นตอก่อเหตุมาจากเหลืองดงขมิ้นผู้ดูแลพื้นที่ไม่ใช่อำนาจความเห็นจากรัฐราชการด้วยกันเองแล้ว ปมของเรื่องนี้จะซับซ้อนแบบนี้หรือไม่ หรือจบลงด้วยพล็อตเดิม ๆ ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์” และตนเองในฐานะเจ้าของ “อำนาจ” ทาง “หลักวิชาการ” ที่มากกว่าจึงมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการต่อไปเหมือนกับกรณีหลายครั้ง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังเช่น กรณีเจ้าอาวาสบูรณะซ่อมแซมวิหารของวัดหมื่นล้านเมื่อมิถุนายน 2563

แต่ความเป็นจริงของเรื่องนี้ ดันจากคำสั่งจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าที่สั่งการมายังผู้ที่ใช้อำนาจทางวิชาการแล้วผู้มีอำนาจทางวิชาการก็นำไปปฏิบัติ โดยไม่แย้งทางวิชาการกลับไปต่อรองใส่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อนำไปสู่การจัดสรรปันส่วนในโลกวิชาการ-โลกอำนาจที่ลงตัว

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานราชการที่ดูแลศิลปวัฒนธรรมไม่สามารถมีสิทธิ์สามารถผูกขาดอำนาจไว้ได้แค่ฝ่ายเดียว จากทั้งอำนาจทางกฎหมายและอำนาจจากหลักการทางวิชาการ เนื่องจากการมีสถาบันทางการศึกษาและภาคประชาสังคมท้องถิ่นที่เข้มแข็งตนเองและยืนหยัดใช้อำนาจหลักการทางวิชาการในการคานอำนาจเหล่านี้ได้ 

การปะทะสังสรรค์ ต่อสู้ ต่อรอง ในปรากฏการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นเสมอ

เป็นที่น่าเสียดายว่าทุกพื้นที่ภาคส่วนของสังคมไทย ไม่ได้เป็นเช่นนี้ ถ้าทุกพื้นที่เป็นได้อย่างเหมือนเชียงใหม่ก็คงจะดี 

กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง คือ การบูรณะปฏิสังขรณ์บูรณะพระพุทธรูปในวัดวรเชษฐาราม (ในเกาะเมือง) จังหวัดอยุธยา เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 – ต้นปี 2567 ที่หน่วยงานราชการที่ดูแลศิลปวัฒนธรรมแสนจะเข้มงวดกวดขันนักหนาในเรื่องวิชาการอนุรักษ์ แต่ยินยอมให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปประธานสมัยอยุธยาจนมีสภาพที่ผิดเพี้ยนแตกต่างไปจากเดิมจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทุกคนต่างยืนยันพ้องเสียงกันว่ามันไม่เหมือนเดิมและทำไม่ถูกต้อง

แต่ไม่มีใครคัดค้านอะไร เพราะเจ้าของโครงการต้นความคิดคือพระระดับ “สมเด็จพระราชาคณะ” และมีจุดประสงค์ “เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ในองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า” 

ก็ในเมื่อเรียนมาโดยตลอดว่าหลักวิชาการไม่มีถูก ไม่มีผิด 

แล้วจะกลัวผิดไปทำไม ในเมื่อสู้ด้วยหลักวิชาการ

ปรากฏการณ์ประติมากรรมยักษ์วัดอุโมงค์จึงไม่ควรที่จะหยุดอยู่ที่วัดอุโมงค์ แต่น่าจะเป็นอุโมงค์ที่ไปสู่ปลายทางใหม่ของโลกศิลปวัฒนธรรม ที่ทำให้โลกวิชาการและโลกอำนาจมาจัดสรรปันส่วนกันได้อย่างพอดีจริง ๆ

[1]มีข้อถกเถียงกันทางวิชาการว่าประติมากรรมยักษ์จะมีอายุเก่าถึง 400 ปีจริงหรือไม่ หรืออายุเก่าเพียงแค่ 100 ปีเท่าไหร่ แต่อย่างไรตาม สารัตถะสำคัญคือประติมากรรมดังล่าวมีคุณค่าในฐานะหลักฐานทางโบราณคดี-ศิลปกรรม-วัฒนธรรมอย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่วัตถุที่สร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่วนการกำหนดอายุที่แน่นอนเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยที่ต้องพิจารณากันในแวดวงวิชาการต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง