ไม่ใช่แค่ความพร้อม แต่ต้องกระจายอำนาจ สำรวจความเห็น ‘เชียงรายเมืองศิลปะ’ หลังจบเบียนนาเล่

“เชียงรายเมืองแห่งศิลปะ”

หลายคนคงคุ้นหูมาบ้างหากได้แวะเวียนมาที่นี่ ทั้งประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานในการเป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสนนครหลวงก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา และภูมิศาสตร์ที่ผู้คนเคลื่อนย้ายข้ามแม่น้ำไปมาหาสู่กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบริเวณรอยต่อประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทำให้พื้นที่นี่มีความไหลเวียนของวัฒนธรรมอยู่เสมอ รวมไปถึงเหล่าศิลปินที่มีอิทธิพลในวงการศิลปะไทย ปัจจัยเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างให้จังหวัดเชียงรายเป็น ‘เมืองแห่งศิลปะ’ ได้ง่าย ๆ ซึ่งอีกหนึ่งเครื่องย้ำเตือนความเป็นเมืองแห่งศิลปะนั้นคือการที่ ยูเนสโก ได้ประกาศผลการรับรองเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 55 เมืองทั่วโลก โดยจังหวัดเชียงรายได้รับรองจากยูเนสโกว่าเป็น เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) ในเดือน พฤศจิกายน 2566

โดย สุดาวรรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เมื่อปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 46,774 ล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดเชียงรายถึง 6,147,860 คน ซึ่งอาจจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเม็ดเงินจากการมาเยือนจังหวัดเชียงรายเพื่อรับชมศิลปะแห่งนี้ได้ทั้งหมด แต่จากการจัดงานมหกรรมศิลปะสุดยิ่งใหญ่ไปอย่าง ‘ไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023’ เมื่อปลายปี 2566 และท้ายเดือนเมษายนปี 2567 ที่ผ่านมา นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เผยว่า มหกรรมดังกล่าวได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดเชียงรายและกลุ่มภาคเหนือตอนบนกว่า 24,000 ล้านบาท 

ต้นทุนทางศิลปะในจังหวัดเชียงราย 

ปฏิเสธไม่ได้ที่จังหวัดเชียงรายนั้นประกอบร่างสร้างตัวจนทำเป็นเมืองแห่งศิลปะได้นั้นมีปัจจัยหลักคือการมี ‘เครือข่ายศิลปิน’ ที่เชื่อมกันอย่างกลมเกลียว การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีชื่อเสียงหลายคนในการผลักดันพื้นที่ทางศิลปะในระดับโลก อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ ถวัลย์ ดัชนี 2 ศิลปินแห่งชาติที่เป็น​​เรี่ยวแรงสำคัญ และยังมีศิลปินอีกหลายคนที่มีบทบาทในการสร้างนิเวศน์ศิลปะในจังหวัดเชียงรายเติบโตตั้งแต่อดีต

เครือข่ายศิลปินนี้ได้สร้างที่ทางในการสร้างรายได้และมีผลงานศิลปะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าง วัดร่องขุ่น วัดชื่อดังที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่เฉลิมชัยเข้ามาสานต่อการสร้างหวังให้เป็น “งานศิลป์เพื่อแผ่นดิน” โดยในช่วงแรกของการบูรณะ เฉลิมชัยได้ออกเงินของตนในการบูรณะและซื้อที่ดินเพิ่มเติมในการก่อสร้างวัด และมี วันชัย วิชญชาคร นักธุรกิจจากกรุงเทพฯ ได้ซื้อที่ดินบริจาควัดร่องขุ่นเพิ่มเติม จนปัจจุบันวัดร่องขุ่นมีพื้นที่จำนวน 10 ไร่ 100 ตารางวา และถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงราย หรือพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ที่สร้างขึ้นโดยถวัลย์ บนพื้นทีกว่า 100 ไร่ และสถาปัตยกรรมแบบกาแลกว่า 40 หลังรูปทรงแปลกตา

ภาพ: กลุ่มคนรักอาจารย์เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์

หรือการรวมตัวกันของศิลปินเชียงรายในการเรียกร้องการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยบนเกาะกลางแม่น้ำกก ผ่านการจัดตั้ง ‘สมาคมศิลปินเชียงราย’ ในปี 2547 เพื่อดำเนินการทางศิลปะภายในจังหวัด มีการก่อตั้งกองทุนศิลปินเชียงรายขึ้น โดยในเดือนเมษายน ปี 2555 อาจารย์เฉลิมชัยมอบเงินทุนตั้งต้น 500,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของศิลปินและการศึกษาของนักศึกษาศิลปะในจังหวัดเชียงราย จนเกิดเป็น ‘ขัวศิลปะ’ และมีการก่อตั้งกลุ่มเป็น ‘สมาคมขัวศิลปะ’ ในเวลาต่อมาต่อมาผ่านการหารายได้และเงินทุนสนับสนุนจากเหล่าศิลปินและผู้ที่รักในศิลปะในการทำกิจกรรมทางศิลปะมาจนถึงปัจจุบัน โดยขัวศิลปะถือว่าเป็นหอศิลป์ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปะที่จัดแสดงผลงานทางศิลปะของเหล่าศิลปินรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค รวมไปถึงศิลปินต่างชาติ

ภาพ: Thailand Biennale,Chiang Rai 2023

อีกทั้งการเกิดขึ้นของ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) พื้นที่ทางศิลปะที่ก่อตั้งโดย เฉลิมชัย และสมาคมขัวศิลปะเชียงราย เพื่อเป็นหมุดหมายให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปะ โดยเป็นสถานที่เปิดตัว และเป็นสถานที่หลักในการจัดแสดงผลงานศิลปะของ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 17 ไร่ ได้รับบริจาคพื้นที่จาก ทวีชัย อร่ามรัศมีกุล มีพื้นที่ใช้สอยในการทำงานศิลปะราว 3,000 ตารางเมตร สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และมีแผนที่จะก่อสร้าง ‘หมู่บ้านศิลปิน’ เป็นสตูดิโอสำหรับศิลปินในการผลิตผลงานทางศิลปะบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมีเกณฑ์การคัดสรรค์ศิลปินในการสร้างบ้านในหมู่บ้านศิลปะคือ 1.ต้องเป็นศิลปินแห่งชาติ 2.ต้องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม และ 3.ต้องเป็นศิลปินมืออาชีพและมีชื่อเสียง ซึ่งถือว่าเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ยากมากสำหรับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหมู่บ้านดังกล่าว

นอกจากเครือข่ายศิลปินที่ทำงานอย่างขันแข็ง ภาครัฐ อย่างกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ก็ร่วมสนับสนุนศิลปะในจังหวัดเชียงรายมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเปิดบ้านศิลปินในจังหวัดเชียงราย ที่มีการทำงานร่วมกันกับ สมาคมขัวศิลปะ และศิลปินเชียงราย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและส่งเสริมศิลปะในจังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นในปี 2562 ที่มีการเปิดบ้านศิลปินในจังหวัดเชียงราย กว่า 30 หลัง โดยมีเส้นทางในการรับชมบ้านศิลปิน ใน 3 เส้นทาง เส้นทางอำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 10 หลัง, เส้นทางสายเหนือ + ตะวันออก อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเมือง อำเภอเวียงชัย จำนวน 10 หลัง และเส้นทางสายใต้+ตะวันตก อำเภอแม่ลาว อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอพาน จำนวน 10 หลัง พร้อมกับการเปิดหอศิลปะและวัฒนธรรมอำเภอพาน กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปี 2563 โดยโครงการดังกล่าวมีการทำหนังสือไกด์บุ๊คที่รวมบ้านที่จัดแสดงผลงานศิลปินในจังหวัดเชียงราย อย่าง บ้านศิลปินเชียงราย ที่ให้ผู้ที่สนใจสามารถดูแผนที่ก่อนเดินทางไปยังสถานที่จริง รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพในงานเบียนนาเล่ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ที่สนับสนุนทั้งงบประมาณและสถานที่ในการจัดมหกรรมดังกล่าว

จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าทั้งเครือข่ายศิลปินในจังหวัดเชียงราย ภาคธุรกิจที่ให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนนั้นมีความ ‘ฮอมแฮงฮอมใจ’ ที่ต้องการจะสร้างระบบนิเวศน์ทางศิลปะเพื่อทำให้วงการศิลปะเชียงรายเติบโต จึงทำให้จังหวัดเชียงรายพร้อมที่จะเป็นเมืองแห่งศิลปะอย่างไม่ต้องสงสัย

ไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023

“เชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปะ” คำโปรยที่แทรกอยู่ในโปสเตอร์ของมหกรรมศิลปะถูกกระจายไปทั่วทั้งตัวเมืองจังหวัดเชียงราย “ไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงราย 2023” ที่เพิ่งจบเทศกาลไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 เทศกาลที่เป็นการรวมตัวของเครือข่ายศิลปินตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงนานาชาติที่ต้องการสร้างการตระหนักรู้ต่อประเด็นศิลปะวัฒนธรรมในสังคมร่วมสมัยอันนับว่าเป็นการประกาศให้สังคมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยการจัดงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาตินี้มีลักษณะจัดเวียนไปตามจังหวัดนำร่องที่มีศักยภาพในการเป็น “เมืองศิลปะ” ของกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้จัดครั้งแรกที่กระบี่ และครั้งที่ 2 ที่โคราช

เทศกาลในครั้งที่ 3 นี้มาในธีม “เปิดโลก” (The Open World) มี ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ร่วมกับกฤติยา กาวีวงศ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ พร้อมด้วยภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ และมนุพร เหลืองอร่าม จุดเริ่มต้นของตีมเปิดโลกมาจาก วัดป่าสัก ในอำเภอเชียงแสน ที่สร้างขึ้นในปี 1838 โดย พญาแสนภู หลานของพญามังราย ในสมัยของการบูรณะเมืองเชียงแสน โดยในวัดป่าสักนี้เองมีพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำที่หมายถึงการเปิดให้เห็นถึงโลกทั้ง 3 (เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก) ในความเชื่อศาสนาพุทธมีนัยยะเป็นการเปิดให้เห็นถึงกันและกันทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีนัยยะที่สื่อถือความต้องเปิดถึงความรับรู้ศิลปะของผู้คนโดยโยงกับประวัติศาสตร์ศิลปะท้องถิ่นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังหมายถึงโลกไร้พรมแดนที่มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนและบรรษัทข้ามชาติหลังสงครามเย็น และเป็นเหมือนโลกของเกมโอเพ่นเวิลด์ที่จะพาทุกคนไปเดินทางแบบไร้เส้นตรงเหมือนที่มาของเทศกาลเบียนนาเล่ในครั้งนี้

มหกรรมดังกล่าวนอกจากจะเสริมสร้างนิเวศน์ทางศิลปะแล้ว ยังสร้างรายได้และทำให้ผู้คนจากต่างเมืองหลั่งไหลเข้ามาในจังหวัดเชียงราย โดยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เผยว่า การจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ได้มีการสรุปผลการดำเนินงานจากการเก็บข้อมูล ของ สศร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุปยอดผู้เข้าชมงาน จัดแสดงจำนวน 2,790,964 คน และจากการประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยว่า มหกรรมฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดเชียงรายและกลุ่มภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

มหกรรมนี้มีศิลปินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 23 ประเทศทั่วโลกร่วมจัดแสดงผลงาน โดยมีศิลปินที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงรายทั้งหมด 6 คนจาก 60 คน นอกจากศิลปิน 60 คนในมหกรรมเชียงรายเบียนนาเล่ยังมีเหล่า ‘สล่า’ หรือช่าง ที่มาช่วยแต่งเติมและช่วยผลิตผลงานทางศิลปะของศิลปินต่างประเทศหลายท่าน อาทิ งานของ Tayeba Begum Lipi ศิลปินจาก Dhaka ประเทศบังกลาเทศ ในผลงาน รูปราชรถ ผ้าปักผ้าไหมขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเยี่ยมชมพื้นที่ (Site Visit) ของศิลปิน ที่ทำงานร่วมกับ นิธี สุธรรมรักษ ศิลปินปักผ้าในท้องถิ่น ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปัก บ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย และเหล่านักโทษชายจากเรือนจำกลางเชียงราย เนื่องจากตัวศิลปินไม่สามารถพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงรายเป็นเวลานาน

เมืองแห่งศิลปะกับการเชื่อมร้อยโยงใยคนในพื้นที่

จังหวัดเชียงรายนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจโตมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องด้วยเป็นประเทศที่อยู่ติดชายแดนทั้งประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว ทำให้มีการส่งออกและเคลื่อนย้ายของแรงงานอยู่ตลอด ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดเชียงราย เผยว่า จำนวนประชากรในจังหวัดเชียงรายในปี 2565 มีจำนวน 1,299,636 คน ผนวกกับข้อมูลจากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่า จังหวัดเชียงรายมี GDP ในปี 2563 อยู่ที่ 101,221 ล้านบาท มีรายได้ประชากรต่อหัว 88,281 บาทต่อคนต่อปี และมีรายได้ขั้นต่ำในปี 2567 อยู่ที่ 345 บาทต่อวัน พึ่งพารายได้จากภาคการเกษตร 25% การค้า 16% และการศึกษา 11%

“คนเชียงรายหรือคนในพื้นที่จะมาไหมก็มาบ้างแต่มาน้อยอาจจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วยแหละ ถึงแม้งานส่วนใหญ่จะรับชมฟรี แต่จะเป็นเรื่องเวลาและเรื่องปากท้อง คนท้องที่มองว่าไม่จำเป็นต้องสละเวลาหรือเงินมาเสพงานเหล่านี้เพราะยังไม่พ้นจากเรื่องรายได้” กฤษตธมล สุตะวงศ์ อาสาสมัครนำชมผลงานในมหกรรมเบียนนาเล่เชียงราย กล่าวกับเราถึงคนที่มารับชมงานศิลปะในมหกรรมดังกล่าว

กฤษตธมล สุตะวงศ์

กฤษตธมล เล่าถึงผู้ชมที่เข้ามารับชมผลงานส่วนใหญ่นั้นคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่หรือคนที่เคยไปงานเที่ยวในงานเบียนนาเล่ที่จังหวัดโคราชและจังหวัดกระบี่ และเป็นชาวต่างชาติที่สนใจเสพงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายที่พานักเรียนมาเยี่ยมชมก็มีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะมาตามรายวิชาศิลปะ แต่ก็มีกลุ่มเยาวชนที่สนใจงานศิลปะเข้ามารับชมผลงานแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย

พงศธร นาใจ และ กอบพงษ์ ขันทพันธ์ สมาชิก ‘ฮอมจ๊อยซ์’

ด้าน พงศธร นาใจ และ กอบพงษ์ ขันทพันธ์ สมาชิกจาก ‘ฮอมจ๊อยซ์’ กลุ่มปฏิบัติการศิลปะ ที่เป็นการรวมตัวกันของศิลปินรุ่นใหม่ กล่าวว่า ฮอมจ๊อยซ์ มีโอกาสเข้าร่วมงานกับมหกรรมเบียนนาเล่เชียงรายในหลายกิจกรรม และมีการเขียนโครงการเพื่อขอทุนจาก Thailand Biennale แต่ไม่ได้รับเนื่องจากในตอนนั้นมีศิลปินหลายกลุ่มที่สนใจทุนดังกล่าว สมาชิกกลุ่มฮอมจ๊อยซ์ เสริมว่าตนได้ฟังจากมุมของศิลปินบางส่วนที่เล่าว่ามหกรรมเบียนนาเล่เชียงรายนั้น ศิลปินในจังหวัดเชียงรายไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าที่ควร มองว่าการเอาศิลปินเชียงรายไปเป็นผู้ช่วยศิลปินระดับโลกเป็นการให้พื้นที่แสดงผลงานที่ยังไม่เพียงพอ ต้องเปิดพื้นที่ให้ศิลปินในท้องถิ่นในการแสดงผลงานทางศิลปะมากกว่าที่เป็นอยู่

สมาชิกฮอมจ๊อยซ์ ยังเล่าถึงการที่คนในพื้นที่หรือชาวเชียงรายนั้นอาจจะยังไม่ได้สนใจหรือเข้าถึงผลงานศิลปะมากพอ สมาชิกกลุ่มฮอมจ๊อยซ์กล่าวว่า คนในพื้นที่ไม่ทราบถึงการเกิดขึ้นของมหกรรมเชียงรายเบียนนาเล่เลย เนื่องจากคนในพื้นที่ยังต้องทำงานและไม่มีเวลาเข้ามารับชมงานศิลปะ รู้จักแต่งานที่ภาครัฐเข้ามาจัดเนื่องจากตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในพื้นที่มากกว่า

ด้าน อธิคม มุกดาประกร ศิลปินและภัณฑารักษ์ที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงราย เล่าถึงจุดแข็งของจังหวัดเชียงรายนั้นก็คือจำนวนศิลปินที่มีมากกว่า 400 คนที่มีการลงทะเบียนกับสมาคมขัวศิลปะ รวมไปถึงหากมีเทศกาลศิลปะขนาดใหญ่อย่างงานเบียนนาเล่ที่ผ่านมา ก็จะมีการร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการช่วยผลักดัน ซึ่งทำให้เห็นว่าศิลปะสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ไหนได้บ้าง รวมไปถึงความสนใจของผู้คนทั้งการเป็นอาสาสมัครนำชมผลงานและผู้ชมผลงาน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่จังหวัดเชียงรายมีมาตลอดนั้นก็คือการก่อตั้งขัวศิลปะเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจจากภาคศิลปินและประชาชน

อธิคม มุกดาประกร

อธิคม ยังเผยอีกว่าการเข้ามาของเบียนนาเล่นั้นได้สร้างความตื่นตัวทางศิลปะให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีศิลปินแห่งชาติที่มีความเป็นพ่องานคอยหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์กับคนในเมืองกับศิลปะเอาไว้ แต่คนที่มีเวลาว่างในการไปรับชมผลงานศิลปะนั้นอาจจะมีจำนวนน้อย แต่ที่น่าสนใจคือคนที่เป็นอาสาสมัครนำชมผลงานที่เป็นคนในพื้นที่มีความตื่นตัวเป็นอย่างสูง อาทิ อำเภอเชียงแสน อาสาสมัครมีความตื่นตัวในการนำชมผลงานรวมไปถึงการชักชวนให้คนไปดูผลงาน 

แล้วพร้อมไหมถ้าเชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปะ?

“พร้อมค่ะ” กฤษตธมล ตอบทันควันถึงความพร้อมของจังหวัดเชียงรายในการเป็นเมืองแห่งศิลปะ โดยกฤษตธมล กล่าวว่า ศิลปินในจังหวัดเชียงรายมีความหลากหลายที่สูง มีทั้งกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่มีการเคลื่อนไหวทางศิลปะ อาทิ กลุ่มศิลปินแม่ญิง ที่ทำงานศิลปะบริเวณขัวศิลปะ หรือหากมีการทำงานเครือข่ายก็จะมีกลุ่มศิลปินที่หลากหลายที่ร่วมมือร่วมแรงกันในการจัดกิจกรรมทางศิลปะ อาทิ ศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการคราฟท์ เป็นต้น

กฤษตธมล เสริมว่านอกจากศิลปินที่ทำงานอยู่ก่อนหน้าแล้ว ยังมีเหล่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจในศิลปะและมีพร้อมในการทำงานศิลปะแฝงตัวอยู่อีกมาก กฤษตธมล เล่าว่าการเข้ามาของมหกรรมเบียนนาเล่เชียงราย นั้นมีความเปิดกว้าง ทั้งในเชิงพื้นที่และการแสดงออก อย่างพิธีเปิดตัวของมหกรรม ก็มีขบวนพาเหรดของแต่ละอำเภอในจังหวัดเชียงรายที่มีการแสดงที่เปิดกว้างหลากหลาย รวมถึงการให้ประชาชนที่เข้าไปเสพงานศิลป์สามารถแสดงออกได้อย่างเสรีตลอดทั้งเทศกาล อาทิ งานของ Museo Aero Solar ของ โทมัส ซาราเซโน ที่ให้ผู้ชมผลงานสามารถเขียนอะไรก็ได้ในโคมลอยขนาดยักษ์

แต่การที่จะเป็นเมืองแห่งศิลปะที่มีศักยภาพและครบวงจรได้นั้น กฤษตธมลเสริมว่า ยังมีหลาย ๆ เรื่องที่ต้องมีการส่งเสริมและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เนื่องจากยังมีทักษะบางอย่างที่จังหวัดเชียงรายขาดแคลน จากการจัดงานเบียนนาเล่เชียงรายที่ผ่านมา มีปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนนั้นก็คือยังขาดคนที่ทำงานติดตั้งเนื่องจากไม่มีงานที่มีการติดตั้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายบ่อยมากนัก รวมไปถึงเรื่องเครื่องเสียงหรือ Event Organizer ก็ยังขาดแคลน ปัญหาหนึ่งที่ กฤษตธมล มองเห็นคือเรื่องของมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะโดยตรง ศิลปินในจังหวัดเชียงรายที่เป็นคนรุ่นใหม่ส่วนมากก็จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือบางคนก็ต้องเข้าไปเป็นลูกมือของศิลปินชื่อดังเพื่อหาที่ทางและสร้างตัวตนในการทำงานศิลปะ

ด้านสมาชิกกลุ่มฮอมจ๊อยซ์ มองว่าจังหวัดเชียงรายนั้นยังมีความหวังและเห็นถึงแรงกระเพื่อมในการจะเป็นเมืองแห่งศิลปะ อาทิ การที่อำเภอนอกเมืองนั้นเริ่มมีแกลเลอรี่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะ รวมไปถึงภาครัฐก็ให้การสนับสนุนมาตลอดอย่างโครงการเยี่ยมบ้านศิลปิน แต่ปัญหาหลักของการเป็นศิลปินจังหวัดเชียงรายนั้นคือเรื่องปัญหาทางการเงินที่ยังกระจายไม่ทั่วถึงศิลปินที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียง อีกปัญหาหนึ่งที่สมาชิกกลุ่มฮอมจ๊อยซ์มองนั้นก็คือ ศิลปะหรือทรัพยากรกระจุกอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง การพัฒนาการสัญจรยังไม่ตอบโจทย์มากพอการเดินทางข้ามอำเภอเพื่อไปรับชมหรือร่วมงานศิลปะมีความลำบาก เนื่องจากขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์นั้นไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ ความต่อเนื่องในการทำโครงการหรือการสนับสนุนของภาครัฐ 

“แต่ก็นั้นแหละมันไม่เคยมีแกลลอรี่ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมที่มันสร้างกำไรได้อยู่แล้วในประเทศไทย ในต่างประเทศหน้าที่เหล่านี้มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่นำเงินเข้ามาสนับสนุนในการทำให้กิจกรรมทางศิลปะให้มันเดินหน้าต่อไป ซึ่งในไทยยังมีไม่มากนัก มันทำให้ความตื่นตัวของประชาชนลดลงไปพร้อมๆ กับการที่ศิลปะมีความสัมพันธ์กับชีวิตของประชาชนน้อยลงไปด้วย” อธิคม กล่าว

คำถามที่ว่า เชียงรายจะเป็นเมืองแห่งศิลปะไหม อธิคม ได้ย้อนถามกลับว่า “การเป็นเมืองแห่งศิลปะมันเป็นเมืองแห่งศิลปะของใคร” อธิคมเสริมว่า ไม่มีเมืองไหนในโลกที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเมืองอะไร แต่เป็นคำที่คนอื่นเรียกเมืองนั้นเอง การที่จะเป็นเมืองแห่งศิลปะตัวเมืองนั้นจะต้องมีปฎิสัมพันธ์กับโลก ว่าโลกมองเห็นว่าที่นี่ศิลปะมันมีความก้าวหน้าเติบโตยังไง เมืองต้องมีพลวัตของมันเอง 

อธิคม กล่าวว่าการจะทำให้เกิดพลวัตทางศิลปะในเมืองนั้น ไม่ต่างจากการเกิดพลวัตในวงการอื่น ๆ ที่จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่าง 1.ผู้ผลิต 2.ผู้บริโภค และ 3.ความรู้ หากย้อนดูเมืองแห่งศิลปะระดับโลกจะมีองค์ประกอบ คือ การมีแกลเลอรี่ การมีสถาบันความรู้และสถาบันทางศิลปะ การมีตลาดนักสะสม และการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ชมงานศิลปะ ซึ่งหากนำ 3 สิ่งนี้ย้อนกลับมามองดูในประเทศไทยจะเห็นได้ชัดว่า “มันไม่มีที่ไหนในไทย ที่ตอนนี้พร้อมเป็นเมืองแห่งศิลปะทั้งสิ้น” 

ไม่ใช่แค่ความพร้อมทางศิลปะ แต่ต้องกระจายอำนาจ

“ต้องมีการกระจายอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่การปกครองหรือเศรษฐกิจ แต่มันคือการกระจายอำนาจทางวัฒนธรรม” อธิคม ย้ำ

อธิคม กล่าวว่า สังคมไทยขาดความรู้ในการทำให้ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน อาทิ การรู้จักตัวเอง การมีพื้นที่ทางความรู้อย่างห้องสมุด รวมไปถึงการรู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ทำให้คนท้องถิ่นได้เรียนรู้เรื่องราวตัวเอง ได้ศึกษาโบราณคดีของพื้นที่ตัวเอง และทำให้สิ่งนี้เป็นความรู้ที่หลอมรวมไปกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติด้วย แม้มันจะขัดแย้งหรือสอดคล้องยังไงก็ตาม ถ้าไม่มีศิลปะที่เติบโตจากคนในพื้นที่ คนที่เข้ามาก็ไม่รู้ว่ามันเป็นศิลปะแบบไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะปฎิสัมพันธ์ยังไง

จากคำพูดของ อธิคม ทำให้นึกถึงการรวมตัวกันของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจในชื่อ Pootorn Connect : ภูธรคอนเนค เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายศิลปินภูธรในประเทศไทย เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะร่วมกันระหว่างศิลปินท้องถิ่น ที่เปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย ผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ​โดย Pootorn Connect : ภูธรคอนเนค ได้จัดนิทรรศการในชื่อ OPEN WORD: เปิดคำ Announcement Exhibition for “Pootorn Connect” Decentralized Autonomous Art Operation Network. โดยมีศิลปินร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการกว่า 25 ชีวิต ในวันที่ 23 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ผนวกกับ บทความหนึ่งของ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เคยเขียนไว้ในบทความ อำนาจทางวัฒนธรรม ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น ในเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ ที่พูดถึงการกระจายอำนาจทางวัฒนธรรมสู่ท้องถิ่นนั้น มีการตรากฎหมายไว้เมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่โอนภารกิจของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ให้ อปท. ดูแลโบราณสถานโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมไปถึงประเพณีและภูมิปัญญาในท้องถิ่น 

แต่กฎหมายดังกล่าวกลับไม่คืบหน้า ซึ่งหากมาย้อนดูว่าเหตุใดไม่คืบหน้า สุจิตต์ ได้ยกเรื่อง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ในปัจจุบันถึงแม้ในท้องถิ่นหลาย ๆ ที่จะมีการสร้างอาคารไว้รองรับแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ สุจิตต์จำแนกไว้ 3 เหตุผล นั้นก็คือ 1.ยังไม่คิดจะทำ และไม่รู้ว่าจะเริ่มทำยังไง ถึงแม้จะมีอาคารไว้แล้วก็ตาม 2.มีอาคารพร้อมแผนการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่แผนดังกล่าวเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร ที่มีแต่ของเก่าแต่ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่น และ 3.เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรบอกว่า อปท. ว่าจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่กลับไม่มีความคืบหน้า

จากปัญหาดังกล่าว สุจิตต์ เสนอว่า อปท. ต้องผลักดันในการจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับจังหวัด 

“ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็เท่ากับโกดังเก็บของเก่าที่วางบนเฟอร์นิเจอร์สวยงามเท่านั้น” สุจิตต์ย้ำ

จากข้อมูลที่ยกมา รวมไปถึงเสียงของเหล่าผู้คนและศิลปินในจังหวัดเชียงราย จะเห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในหลายมิติของจังหวัดเชียงรายที่จะสามารถเป็นเมืองแห่งศิลปะได้ แต่อาจจะต้องคิดไปไกลกว่าการที่จะมองว่าเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งศิลปะได้ยังไง หรือจะพัฒนาจังหวัดเชียงรายให้กลายเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงศิลปะหรือไม่ บางทีการย้อนมองดูตัวเองว่าศิลปะที่เป็นอยู่นั้นยึดโยงกับคนในพื้นที่มากน้อยเพียงใด หรืออาจจะต้องไปใกล้ถึงการกระจายอำนาจที่มีมิติความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในการก้าวต่อไปของเมืองแห่งศิลปะที่อาจจะเป็นโจทย์สำคัญของเหล่าศิลปิน ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชน ได้คิดต่อเพื่อที่ศิลปะจะได้ทำหน้าที่ของศิลปะได้อย่างแท้จริง

อ้างอิง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง