สกน.ลำปาง ชุมนุมหน้าศาลากลาง ยื่นผู้ว่าฯ – จี้ป่าไม้ ‘ยุติการตรวจสอบแปลงไร่หมุนเวียน’

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 13.30 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดลำปางนัดหมายรวมตัวกัน ณ ปั๊มปตท. ข้างศาลากลางจังหวัดลำปาง สืบเนื่องจากวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่หน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งที่ 6 จ.ลำปาง เข้าตรวจสอบแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) โดยไม่แจ้งหรือนัดหมายให้ทางชุมชนทราบล่วงหน้า และยังไม่สามารถชี้แจงจุดประสงค์และรายละเอียดในการลงพื้นที่ครั้งนั้นได้อย่างชัดเจน ซ้ำเจ้าหน้าที่ยังมีท่าทีข่มขู่ว่าจะยึดแปลงทำกินซึ่งเป็นแปลงไร่หมุนเวียนเดิมที่พักฟื้นสภาพดินตามรอบการหมุนเวียน ซึ่งสร้างความกังวลใจให้แก่ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา และชุมชนอื่น ๆ ที่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในเขตป่าเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคำสั่งให้ลงพื้นที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าเป็นนโยบายจากทางกรมป่าไม้ที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

เวลา 14.00 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้เดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดลำปาง โดยในขบวนมีตัวแทนชุมชนผลัดกันปราศรัยสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ จากกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย ตั้งแต่กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ (คทช.) จนกระทั่งคำสั่งล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567 นี้ คือ ‘ปฏิบัติการพิทักษ์ไพร’ ที่มีคำสั่งตามหนังสือกรมป่าไม้ ด่วนที่สุด ที่ ทส.1605.35/6424 ลงวันที่ 8 เมษายน 2567 เรื่อง การตรวจสอบข้อมูลเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่า ปีพ.ศ.2566 ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า หากพบว่าเป็นการบุกรุกให้ดำเนินการยึดพื้นที่คืน เพื่อนำไปดำเนินการปลูกป่าต่อไป ซึ่งแปลงทำกินที่เป็น ‘ไร่หมุนเวียน’ ของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เป็นหนึ่งในประเภทที่ดินที่ถูกเพ่งเล็งจากทางหน่วยงานป่าไม้

“เราเชื่อว่ากระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานอะไรก็ตามแต่ รับรู้ถึงการมีอยู่ของไร่หมุนเวียน ทำไมถึงยังมีคำสั่งอะไรแบบนี้อยู่อีก เราอยู่อาศัย เราทำกินตามวิถีมาสามสี่ร้อยปี ป่าก็ยังเป็นป่าจนถึงทุกวันนี้ แค่นี้มันก็พิสูน์ได้ชัดเจนแล้วว่าคนอยู่กับป่า รักษาป่า ไม่ใช่ทำลาย ไม่ได้บุกรุก วันนี้เราอยู่ในบ้านโดยไม่ปกติสุข เราเดือดร้อน ผู้ว่าฯต้องรับรู้ว่า ประชาชนในพื้นที่ที่ท่านดูแลกำลังเผชิญกับอะไร” ถาวร หลักแหลม ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวขณะปราศรัย

เวลา 14.30 น. ชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, สุรชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง และประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ได้เข้ามายังบริเวณด้านหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อรอรับหนังสือจากทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดลำปาง โดยทางผู้ชุมนุมเจรจาให้เปิดห้องประชุมเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แต่ทางชนาธิป รองผู้ว่าฯ ได้ปฏิเสธและให้เหตุผลว่า ศาลากลางไม่มีห้องประชุมที่สามารถรองรับคนจำนวนกว่า 300 คนได้ และยืนยันให้เจรจากันบริเวณบันไดหน้าอาคารศาลากลาง ซึ่งระหว่างการเจรจามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปางทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย ตรึงกำลังในบริเวณนั้นด้วย

เธียรชัย สกุลกระวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนขุนอ้อนพัฒนา อ.งาว จ.ลำปาง ได้ชี้แจงเนื้อหาในหนังสือที่จะยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ที่ทำให้คนในชุมชนเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจว่า จะยังสามารถดำรงชีวิตด้วยวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมได้อีกหรือไม่ และข้อกังวลในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือการตรวจยึดพื้นที่ภายใต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งในเบื้องต้นทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการตามนโยบายพิทักษ์ไพรของกรมป่าไม้ในทุกพื้นที่สมาชิกพีมูฟโดยทันที โดยทางสกน.มีข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดังนี้

1. ให้ประสานงานไปยังผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง, ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 3 ลำปาง และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ให้ยุติการดำเนินการตรวจสอบที่อาจนำไปสู่การตรวจยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนของประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดลำปางโดย จนกว่าจะเกิดการเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วกับชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา หมู่ที่ 8 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ขอให้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ยุติการดำเนินการโดยทันที และผลการตรวจสอบทั้งหมดที่ดำเนินการไปแล้ว ชุมชนไม่ยอมรับ ให้ถือเป็นโมฆะทั้งหมด

2. ให้ประสานงานหน่วยงานทั้งหมดตามข้อ 1 มาชี้แจงกระบวนการตรวจสอบแปลงที่ดินทำกินเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ณ ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา เนื่องจาก สกน. เห็นว่า กระบวนการไม่มีความชอบธรรม อาจขัดต่อระเบียบในทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ นอกจากนั้นให้ทุกหน่วยเปิดเผยข้อมูลตามแผนปฏิบัติการพิทักษ์ไพรทั้งหมดต่อ สกน. จังหวัดลำปาง ได้แก่ คำสั่งกรมป่าไม้, ข้อมูลตามโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า, หลักเกณฑ์การพิจารณาว่าแปลงใดเป็นแปลงบุกรุก และข้อมูลพิกัดรายแปลงที่จะลงตรวจสอบ รวมถึงทุกครั้งที่มีการตรวจสอบพื้นที่แล้วให้ลงพื้นที่คืนข้อมูลแก่ชุมชนว่าผลการตรวจสอบเป็นไปตามที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะมีความผิดตามกฎหมาย

3. พื้นที่สมาชิกขปส.ในจังหวัดลำปาง ขอยืนแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน และขอยืนยันปฏิเสธแนวทางโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และปฏิเสธการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ฉะนั้นชุมชนไม่ยินยอมให้มีการกดดันหรือบีบบังคับจากหน่วยงานใดให้ชุมชนต้องยอมรับแนวทาง คทช. เป็นอันขาด ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จังหวัดลำปาง ต้องกรุณารับรู้และช่วยยืนยันเจตนารมณ์ของชุมชนด้วย

ประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง (สจป.3 ลำปาง) ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบกรณีแปลงบุกรุกที่ถูกยึดหรือถูกดำเนินคดีจากนโยบายปฏิบัติการพิทักษ์ไพรในพื้นที่อำเภองาวและอำเภอแม่เมาะ ซึ่งไม่พบการยึดพื้นที่หรือการดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยทางสจป.3 ลำปางจะมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการในพื้นที่ตามข้อเรียกร้องของทางสกน. ไปก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งทางนโยบายจากระดับกรมและกระทรวง ในฐานะหน่วยงานระดับจังหวัดไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งได้ มิฉะนั้นอาจมีความผิดทางอาญามาตรา 157 โทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงอยากให้ทางชุมชนเข้าใจในส่วนนี้ด้วย

“การตรวจสอบว่าเป็นแปลงบุกรุกหรือที่ทำกินดั้งเดิม เรามีกระบวนการที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ถ้าทางชุมชนหรือผู้นำชุมชนสามารถรับรองได้ว่าเป็นพื้นที่ทำกินเดิมจริง ก็โอเค เราไม่มีการเข้าไปแบบกองโจร เราอยากให้ท่าทีระหว่างชาวบ้านกับป่าไม้มีความเป็นมิตรด้วยซ้ำ ในเบื้องต้น เราจะชะลอการตรวจสอบไปก่อนตามที่ท่านบอกว่าจะรอคำตอบจากทางกระทรวงทรัพยากรฯ” ประสิทธิ์กล่าว

ชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นประเด็นที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายมิติ ดังนั้น ควรมีการประชุมหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ ทั้งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องที่ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการดำเนินการร่วมกัน จึงอยากให้ชุมชนอดทนรอคอยกระบวนการหารือในระดับนโยบาย อย่างกรณีการทำไร่หมุนเวียน ถ้าชุมชนยืนยันว่าเป็นที่ทำกินดั้งเดิม ก็ต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดเจน

“อยากให้ทางพี่น้องใจเย็น และอดทนรอสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องจากคำสั่งในระดับนโยบาย ส่วนข้อร้องเรียนของพี่น้องในวันนี้จะเสนอไปยังผู้ว่าฯ และรายงานไปยังกระทรวงทรัพยากรฯ รวมถึงคณะทำงานแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนด้วย เอาให้ครอบคลุมหลาย ๆ ทาง” ชนาธิปกล่าว

จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้สอบถามถึงประเด็นชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนาที่ขณะนี้ชุมชนมีความกังวลใจว่า แปลงไร่หมุนเวียนที่เตรียมจะหยอดข้าวในฤดูกาลนี้ จะยังสามารถทำกินได้ตามปกติหรือไม่ ทางประสิทธิ์ ผอ.สจป.3 ลำปาง ชี้แจงว่า ภายในวันพรุ่งนี้จะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหารือถึงแนวทางในการปฏิบัติการในพื้นที่ หากได้รูปแบบแนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมแล้ว จะให้ทางหน่วยงานเข้าไปชี้แจงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจร่วมกันต่อไป

ผลการเจรจาในครั้งนี้ ทางสกน.ชี้แจงว่า ยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้เท่าไรนัก หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ อาจกล่าวได้ว่ามีเพียงข้อเรียกร้องข้อแรกที่เสนอให้ยุติการดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ที่ทางผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ชี้แจงได้ในระดับหนึ่งว่จะมีคำสั่งในระดับจังหวัดให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ซึ่งก็ยังไม่เป็นไปตามความประสงค์ของชุมชนที่ต้องการให้ยุติการดำเนินการ ไม่ใช่เพียงแค่การชะลอเท่านั้น ส่วนข้อเรียกร้องที่เหลือทางสกน.เห็นว่า ยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยืนยันจากทางหน่วยงานแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะมีแผนการยกระดับการเคลื่อนไหวจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับประเทศ เพื่อกดดันให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งการเปิดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

ช่วงท้ายของกิจกรรม ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดลำปาง ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ผ่านการอ่านแถลงการณ์ประกาศยืนหยัดปกป้อง ‘ไร่หมุนเวียน’ จากการแย่งยึดที่ดินอันป่าเถื่อนของรัฐไทย ซึ่งมีเนื้อหาในแถลงการณ์ดังนี้

ณ ห้วงเวลานี้ ชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งคงหยอดข้าว ปลูกเมล็ดพันธุ์ในไร่หมุนเวียนจนแล้วเสร็จ ผ่านพ้นช่วงเวลาหาแพะรับบาปจากมาตรการห้ามเผาที่ตีตรา โจมตี และจ้องทำลายล้างระบบการทำกินดั้งเดิม ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน แม้วิถีทำกินของเรานั้นจะดำรงอยู่ท่ามกลางความสมดุลของดิน น้ำ ป่า ที่พวกเราต่างพยายามปกป้องมาหลายชั่วอายุคน

แต่ไม่ใช่ทุกชุมชน ทุกชาติพันธุ์ที่จะสามารถดำรงวิถีเช่นนี้ให้คงอยู่อย่างปกติได้ หลายชุมชนไร่หมุนเวียนเป็นประวัติศาสตร์ กลายเป็นเพียงอดีตชุมชนที่เคยทำไร่หมุนเวียนเท่านั้น หลายชุมชนกำลังเผชิญเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมาย กระแสมายาคติ อคติทางสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตทั้งโดยสมัครใจ ทั้งโดยความจำเป็น หรือด้วยความจำยอม ภัยคุกคามระลอกใหญ่ในขณะนี้คือผลพวงจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และแผนปฏิบัติ ‘พิทักษ์ไพร’ จากกรมป่าไม้ในขณะนี้กำลังมุ่งโจมตี แย่งยึดที่ดินทำกินของเราไปปลูกป่า ล่าสุดคือเหตุการณ์ ณ ชุมชนสมาชิกของเรา บ้านขุนอ้อนพัฒนา ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินการอันไร้มนุษยธรรมเข้าตรวจสอบ ขู่ตรวจยึด กล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผืนดิน ผืนป่า สายน้ำในหมู่บ้านเรานั้นก็เป็นประจักษ์พยานว่าเราคือผู้ดูแลรักษา มิใช่ผู้ทำลาย

แม้เผชิญสถานการณ์อันโหดร้ายนี้ แต่พวกเรายืนยันว่า มีอีกหลายชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตบนระบบไร่หมุนเวียน อันหมายถึงการปกป้องสมดุลนิเวศเพื่อผู้คนในสังคม ปกป้องจิตวิญญาณ ความเป็นชุมชน ปกป้องผืนป่าที่สืบสานจากบรรพชน ท่ามกลางสังคมทุนนิยมที่คอยแต่จะแปรเปลี่ยนดิน น้ำ ป่า อากาศให้เป็นทรัพย์สิน เป็นสินค้าเพื่อการครอบครอง ค้ากำไร

วันนี้ พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า ก็เพราะวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาป่าและดูแลป่าให้เหลือรอดเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนปรารถนาต้องการ หรือหลายคนต้องการเพียงผืนป่า สัตว์ป่าโดยปราศจากผู้คน ชุมชนดั้งเดิมอย่างพวกเรา และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ มลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส อยากให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าสีเขียว แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่ธรรม ตอกย้ำอคติ มายาคติทางสังคม กดทับให้พวกเรากลายเป็นอื่นอยู่ทุกยุคสมัย แล้วใช้ทุกข้อกล่าวหานั้นสร้างความชอบธรรมยึดที่พวกเรา

วันนี้ ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง พวกเราได้แบกชีวิตนับพัน จิตวิญญาณที่ส่งต่อจากบรรพชน และอนาคตที่มืดมนของลูกหลาน มาแสดงตัวต่อสังคมและผู้กุมอำนาจรัฐ ว่าเราไม่อาจจำยอมต่อทุกการกดขี่หลังจากนี้อีกต่อไป เราขอเรียกร้องให้ทุกผู้คน ทุกฝ่าย เร่งปกป้องระบบไร่หมุนเวียนของพวกเราจากปฏิบัติการอันป่าเถื่อนของเจ้าหน้าที่รัฐโดยทันที โดยการปฏิบัติการตรวจสอบ ตรวจยึดไร่หมุนเวียนในทุกพื้นที่ต้องหยุด เพื่อเปิดทางให้พวกเราได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายต่อไป ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ ในนามประชาชนคนไทยเหมือนกัน ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนเฉกเช่นประชาชนทุกคน เราขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันขจัดอคติ มายาคติทางชาติพันธุ์ ปกป้อง ส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมบนผืนป่าของพวกเราในฐานะหนึ่งในวิถีการอนุรักษ์ที่หลากหลาย การอนุรักษ์ที่มีชีวิตของชุมชนบนวิถีไร่หมุนเวียนอย่างที่เรากำลังพยายามส่งเสียงในวันนี้

และเราขอประกาศต่อสาธารณชน ว่าหากเรายังถูกคุกคามทำลายอยู่เช่นนี้ เราจะเดินหน้ามุ่งสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหม่ ณ ทำเนียบรัฐบาลในเร็ววัน ไปหารัฐบาลและเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์ คือความจำเป็นอันหมายถึงชีวิตทั้งชีวิต ชุมชนทั้งชุมชน และอนาคตทั้งหมดของลูกหลานของเรา

เครือข่ายนักศึกษาและประชาชน ได้แถลงการณ์ยืนยันการสนับสนุนเคียงข้างขบวนการเคลื่อนไหวของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในกรณีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแปลงบุกรุกภายใต้ ‘ปฏิบัติการพิทักษ์ไพร’ คำสั่งโดยตรงจากกรมป่าไม้ โดยมีเนื้อหาในแถลงการณ์ดังนี้

จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ชุดดำบุกรุกทำลายข้าวของใน ไร่หมุนเวียน ชุมชนห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย ถึง กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกเข้าตรวจสอบไร่หมุนเวียนชุมชนขุนอ้อนพัฒนา จ.ลำปาง อ้าง ‘ตรวจสอบแปลงบุกรุก’ ภายใต้ ปฏิบัติการพิทักษ์ไพร คำสั่งโดยตรงจากกรมป่าไม้ ทั้งยังแสดงพฤติกรรม ข่มขู่คุกคาม จะยึดไร่หมุนเวียนของชุมชนไปปลูกป่าตามนโยบายของกรมป่าไม้ที่ไร้ซึ่งความเข้าใจต่อวิถีคนอยู่กับป่ากำลังรุกคืบเข้าไปยังพื้นที่ทำกินดั้งเดิมอย่างไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และสร้างความไม่มั่นคงในการทำกินตามวิถีดั้งเดิมของชุมชน

พวกเราในนามนักศึกษาประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรมทุกรูปแบบ เราไม่เห็นด้วยเหตุการที่เกิดขึ้นและให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว พฤติกรรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คำสั่งจากผู้มีอำนาจ และ นโยบายของรัฐ กฎหมายต่างๆที่ออกโดยผู้ที่ไม่เข้าใจหรือแม้แต่จะคำนึงถึงบริบทและวิถีชีวิตของชุมชนเลยแม้แต่นิด

เราขอยืนยันว่า กฎหมายหรือนโยบายที่เป็นธรรมต้องเข้าใจถึงปัญหา รับฟังเสียงของชุมชนและประชาชนเท่านั้น อย่าอ้างเพียงว่าเพื่อพัฒนาประเทศหรือประโยชน์ส่วนรวม 9 เดือนผ่านมาแล้วที่เรามีรัฐบาล ที่อ้างตัวเองว่ามาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่กลับไม่มาสนใจใยดีกับประชาชนเลย เฉกเช่นรัฐเผด็จการ

เราขออยู่เคียงข้าง ร่วมต่อสู้ และสนับสนุนกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องทรัพยากร ส่งต่อวิถีถึงลูกหลาน ที่เกิดขึ้นจากสำนึกความเป็นมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง