‘ป่า’ แปลว่าอะไร ด้วยความคุ้นชินทางความรู้สึกของบางใคร คงบอกว่าบริเวณที่มีต้นไม้เขียว ๆ นั้นล่ะ ป่า !
คลำ ๆ หาศัพท์เก่า ๆ ในพจนานุกรมภาษาไทยอย่างอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ดู ได้ให้ความหมายของ ‘ป่า’ ‘ดง’ ‘ไพร’ ร่วมกันในความหมายที่ 1 ที่เป็นดงหญ้าคือ ป่า ความหมายที่ 2 ในสมัยอยุธยาบริเวณสถานที่ขายของเป็นแห่ง ๆ รวมกันในระดับย่าน/ตำบล ก็เรียกว่า ‘ป่า’ เหมือนกันเช่น ป่าผ้าเหลืองที่ขายจีวร
อย่างไรก็ตามความน่ารื่นรมย์ของคำว่า ‘ป่า’ ผู้รู้นักค้นคว้าเรื่องภาษาจากหลักฐานโบราณคดี วรรณคดี วรรณกรรมท้องถิ่น มีคำอธิบายถึง ‘ป่า’ ว่าเป็นของคู่กันกับ ‘ดง’ ในอดีตมีการใช้คำว่า ‘ป่าดง’ เรียกกลุ่มคนเขมรป่าดง และคำว่า ‘ป่า’ เป็นชื่อเรียกของต้นไม้ที่เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสามารถขึ้นด้วยกันได้เรียกตามต้นไม้ที่เป็นพันธุ์หลัก เช่น ป่าเต็ง ป่าไผ่ ส่วนคำว่า ‘ดง’ เป็นบริเวณกว้างใหญ่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ขึ้นรวมกันและมากด้วยสัตว์ป่านานาชนิดด้วย และชุมชนบางแห่งมีชื่อเกี่ยวข้องกับ ‘ดง’ เช่น ดงพญากลาง ดงพญาไฟ หนองกลางดง
แต่เวลาผ่านไปคำว่า ‘ป่าดง’ แบบที่เราได้ยินกันก็มีพลวัตของคำที่เปลี่ยนความหมายไปพร้อมกับคน ส่วนใหญ่เหลือเพียงคำว่า ‘ป่า’ แบบที่เห็นกันเป็นทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน ป่าชุมชน ด้วยเหตุว่าเมื่อการปฏิรูประบบราชการสมัยใหม่มาถึง ทำให้เกิดการสำรวจและเปิดให้บริษัททั้งต่างประเทศและในประเทศได้สัมปทานป่าไม้ จนนำมาซึ่งการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการป่าไม้อย่างเป็นระบบ ตามมาด้วยการประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้แนวคิด “มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การทำลายธรรมชาติก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายตัวมนุษย์เอง” (ก่อนหน้านี้เปิดให้สัมปทานไปพอสมควร)
แนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่าได้ขยายไปทั่วประเทศแบบที่ต้องเลือกว่ามีประโยชน์อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับสงวนรักษา และสร้างความรื่นรมย์ไว้ให้คนมีเวลาว่างได้พักผ่อน ไม่เป็นที่ดินของในการดูแลขององค์กรของรัฐด้วยกัน ทำให้เกิดการคุ้มครองป่าแบบต่าง ๆ และ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีคุณในการคุ้มครองให้พืชพรรณสัตว์ป่าหายากได้เจริญเติบโตไร้การรบกวนจากคนจำนวนมาก ๆ
ขณะเดียวกันการประกาศ พ.ร.บ.นำมาสู่การจัดการขอบเขตของป่าไม้ กระทบที่ดินทำกินสร้างข้อพิพาทกับผู้ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ก่อนประกาศจัดตั้งเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ หลายชุมชนต้องถูกบังคับย้าย ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เคยทำมาหากิน และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการได้สร้างสำนึกแบบเป็นเจ้านายและเจ้าของทรัพยากรดังกล่าวโดยอำนาจทางกฎหมาย และได้ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันที่เกิดกับชาวบ้านพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย และชาวบ้านในจังหวัดเชียงรายและลำปางที่เพิ่งถูกบุกรุกทำลายข้าวของในพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูกในไร่หมุนเวียน และเจ้าหน้าที่รัฐบุกรุกเข้าที่ดินทำกินของชาวบ้านอ้างว่าตรวจสอบแปลงไร่หมุนเวียน โดยไม่มีการแจ้งหรือประสานงานกับชุมชนใดๆในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ในงาน “The Rise of Cheap Nature” ของนักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่าง Jason W. Moore แห่งมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน อธิบายกระบวนการทำให้ป่าสามารถเข้าถึงได้ในราคาถูก และที่มาของทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์สินในการครอบครองของรัฐโดยปราศจากคน เกิดขึ้นมาจากระบอบทุนนิยมและความคิดความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ที่มองคนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมในช่วงลัทธิจักรวรรดินิยม (ล่าอาณานิคม) ที่มาพร้อมกับการมีอำนาจและความต้องการผลิตแบบอุตสาหกรรมนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกทำให้คนเป็นเจ้านาย จึงได้ปรับเปลี่ยนชาวนาหรือกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองให้กลายมาเป็นแรงงานสมัยใหม่แบบที่เป็นทาสและใช้แรงงานแบบไม่ได้รับค่าจ้างในเมือง แยกขาดจากการเข้าถึงที่ดินทำกินเดิมที่เคยใช้เพาะปลูก ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนพวกเขาให้กลายมาเป็นสินค้าหรือทรัพย์สินของเจ้านายนั้นเอง แต่ทว่า Moore ก็ยังมองว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์ในแบบที่เป็นของคู่กัน (binary) ไม่ใช่ วัฒนธรรม (คน) กับธรรมชาติเป็นขั้วตรงข้ามและในป่าต้องปราศจากคน
การเปลี่ยนป่าให้ไร้คนที่เป็นผลมาจากทุนนิยมในช่วงล่าอาณานิคมนี้ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของรัฐสยามท่ามกลางการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขยายตัวของคนจีนในแหล่งค้าขายและแหล่งผลิตอุตสาหกรรมทั้งดีบุก เหล็กและน้ำตาล ทำให้ระบบการค้าภายในแต่เดิมที่เน้นพึ่งตนเองกลายเป็นต้องเร่งผลิตพืชพรรณต่าง ๆ และการรวบรวมสินค้าของป่าที่กระจายตัวอยู่ตามป่าเขาห้วยหุบดงส่งไปยังตลาดจีนและป้อนตลาดโลก จนเกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งของจากต่างประเทศในผู้มีอันจะกินอย่างชนชั้นสูง ขุนนาง และคนจีนที่ทำมาค้าขาย เช่น ถ้วยชามกระเบื้อง ผ้าเนื้อดี ฯลฯ กับของที่มีอยู่ในพื้นเมืองอย่างของป่าและพืชผลทางการเกษตรของคนทั่วไปในระบบไพร่ (คนไทย เขมร ลาว มอญ ฯลฯ)
ทางด้านในป่าแถบเมืองสุพรรณบุรีและอุทัยธานี พวกข้าราชการจึงเร่งรัดขูดรีด ฝ้าย พริกไทย และกระวานจากกะเหรี่ยงเพื่อส่งไปเป็นส่วย และบางพื้นที่อย่างเมืองตากได้ตั้งกะเหรี่ยงมีบรรดาศักดิ์ทำหน้าที่ในการเก็บทรัพยากรในป่าทั้งพืชต่าง ๆ และรัฐสยามก็ตีเมืองต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อนำมาบังคับใช้เป็นแรงงานเลก ทั้งลาวพุงขาว ลาวพุงดำ ให้นายกองเมืองสรรคบุรี เมืองกำแพงเพชรควบคุมเก็บผลเร่ว 5 คนต่อ 1 หาบ ให้เพียงพอต่อความต้องการของรัฐ ไม่อย่างนั้นข้าราชการก็ต้องส่งเป็นเงิน
ซึ่ง ‘เร่ว’ กับ ‘กระวาน’ เป็นพืชในตระกูลขิง มักขึ้นในที่ชุ่มชื้น เหมาะสำหรับให้กลิ่นหอมในอาหารต่าง ๆ เข้าใจรัฐสยามว่าเลือกเก็บในส่วนที่เป็นผลเพื่อนำไปขาย ในเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 4 ระบุหลักฐานตำบลที่รัฐสยามให้คนไปเก็บกระวานอยู่เป็นประจำอย่างน้อยก็ 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 1855 – 1865 ที่เมืองสุพรรณบุรี ว่า “ขุนพิทักษ์ภูผานายกองคุมเอาผลกระวานเก็บในตำบล เขาคำฆา ห้วยคช กโกปัตทอง ขาแข้ง ปลายคลองห้วยคช 5 ตำบล”
สำหรับเมืองอุทัยธานีก็มีตำบลสำหรับเก็บกระวานเหมือนกัน “แต่งให้ขุนหมื่นแลไพร่ในกองอาทมาตไปเก็บผลกระวาน คอกควาย ระบำ อุมรุต กลมท่อ เก็บสิ้นเชิงทั้ง 4 ตำบลได้ชั่งตรวจดูได้ผลกระวานหนัก 2 หาบ” ตำบลกระวานของเมืองอุทัยธานีดูจะตรงกันกับแผนที่ในหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาที่มีทั้งทางน้ำ ภูเขา ป่ากระวาน และหมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่ใกล้กัน การที่ผู้เขียนแผนที่ระบุบ้านคน (กะเหรี่ยง) และที่อยู่ของทรัพยากรที่เอาไปขายได้เสียอย่างนี้ต้องมีเลศนัย !
เทียบเล่น ๆ ดู ปัจจุบันพิกัดในแผนที่เหล่านี้คงอยู่ในผืนป่าตะวันตก ตั้งแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รอยต่อแถบสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ตาก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ป่าแถบนี้ถ้าดูจากแผนที่และเปิดจดหมายเหตุหรือบันทึกต่าง ๆ จะเห็นว่ามีคนตั้งบ้านเรือนและเคลื่อนไหวอยู่เต็มไปหมด เข้าใจว่ารัฐสยามคงจับตามองอยู่ และนอกสายตาก็คงมีด้วย
ส่วนทรัพยากรอย่างกระวานก็ระบุไว้พร้อมกับตัวเลข น่าจะต้องเอาไปคำนวณทำธุรกิจบางอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดแผนที่ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐสยามในขณะนั้น ยังไม่มีมีความคิดแยกคนกับป่าออกจากกัน (หมายถึงห้ามอยู่ สั่งย้ายออก ป่าแบบที่ไม่มีคน)
ในจดหมายเหตุจึงเล่าเรื่องคู่ค้าสำคัญอย่าง ‘นายสลูปกำปั่นต่างประเทศ’ ที่ดูเหมือนถูกบันทึกไว้ในเอกสารราชการอยู่บ่อยๆ ว่าต้องการสินค้าอย่างกระวานที่ได้ไปจากเมืองอุทัยธานีแถบ ๆ ป่าห้วยขาแข้ง ป่าระบำ (อำเภอห้วยคต ลานสัก บ้านไร่ในปัจจุบัน)
“หนังสือพระยาจักรี มาถึงพระยาอุทัยธานี ให้หมื่นพิทักษ์กองอาทมาตคุมเอาผลกระวานปีมะโรงลงไปส่งนั้น ได้เอาหนังสือบอกกราบทูลพระกรุณาแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า ผลกระวานเป็นต้นสินค้าตอบแทนนายสลูปกำปั่นลูกค้าต่างประเทศเสมออยู่ทุกปี พระยาอุทัยธานีกรมการให้ขุนหมื่นนายกองปลัดกองคุมไพร่ผลกระวานส่งลงไป ได้ผลกระวานน้อยหาสมควรกับตำบลกระวาน ถ้านายกองปลัดกองคุมไพร่ออกไปผลกระวานได้น้อยไม่ครบจำนวน ก็ให้หาเงินตามราคากระวานลงไปส่ง”
ต้องอธิบายต่อกับคำว่า ‘สลูป’ หรือ ‘สลุบ’ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นพ่อค้าหรือเรือของ ‘แขก’ เท่านั้น เมื่อตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยอย่างสนธิสัญญาเบอร์นีย์ที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1826 ในข้อ 9 อธิบายว่า
“ถ้าลูกค้าข้างอังกฤษจะใคร่มาค้าขาย ณ เมืองของไทยที่ยังไม่เคยไปมาค้าขาย ให้ลูกค้าเข้าหาพระยาผู้ครองเมืองก่อน ถ้าเมืองไหนไม่มีสินค้า พระยาผู้ครองเมืองก็จะบอก ว่าสลุบกำปั่นจะมาค้าขายหามีสินค้าไม่ ถ้าเมืองไหนมีสินค้าก็จะรับสลุบกำปั่นได้ พระยาผู้ครองเมืองก็จะให้สลุบกำปั่นเข้ามาค้าขาย”
และมีสัญญาฉบับหนึ่งทำขึ้นคู่กันกับสนธิสัญญาเบอร์นีย์ชื่อว่า ‘สัญญาสลุบกำปั่นเข้ามาค้าขายระหว่างกรุงสยาม – กรุงอังกฤษ’ ทำให้น่าเชื่อว่า สลูป หรือ ‘สลุบ’ ที่มีการส่งของป่าไปค้าขายทุกปีนั้นคงเป็น ‘อังกฤษ’ ล่วงไปหลายปีจนเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ได้ทำสนธิสัญญากับสยามใน ค.ศ. 1855 (เป็นต้นแบบในการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับชาติอื่นๆตามกับรัฐสยาม) มีการกำหนดพิกัดของสินค้าภาษีชั้นในว่าแต่เดิมไม่ต้องเสีย แต่เมื่อบรรทุกของหรือสินค้าลงเรือกำปั่นหรือสลูปกำปั่นต้องเสียภาษีตามราคาที่กำหนด สำหรับเรือของอังกฤษ อัตราราคาของกระวานหาบละ 3 ตำลึง 2 บาท และเร่ว หาบละ 1 ตำลึง 2 บาทด้วย
ในปากไก่และใบเรือของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ปรมาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ เล่าถึงสลุบกำปั่นว่าเป็นเรือของฝรั่งและอาณานิคมของฝรั่งซึ่งควบคุมน่านน้ำในแถบอุษาคเนย์สามารถบรรทุกสินค้าที่มีระวางบรรทุกสูง (วางของได้มาก) มีค่าขนส่งถูกกว่าสำเภาจีนหลายเท่าตัวทำให้สามารถบรรทุกข้าว น้ำตาล และของป่าที่เคยส่งขายตั้งแต่สมัยอยุธยาที่กินระวางบรรทุกสูงได้ สอดคล้องกับความต้องการของรัฐสยามที่ต้องการส่งสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลกได้ จึงทำให้การค้าของรัฐสยามเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานั้น
จะเห็นว่าป่าในยามที่มีคนเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจส่งออกในตลาดโลกมากขนาดไหน ส่วนรัฐไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าแบบสากลที่เห็นคนเท่าเทียมกัน หรือกำลังเดินถอยหลังแบบเจ้าขุนมูลนาย ต้องพิจารณา !
เต้นหน้าร้านชำ