ภาพ: iLaw
ตามรายงานของเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ซึ่งระบุว่า มีการคาดการณ์ว่าจะมีการประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่เดิมทีจากวันที่ 3 กรกฎาคม เป็นโดยเร็วที่สุดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ถือมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นนอกจากที่จะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้เสียงของ สว. เห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 67 คนจากทั้งหมด 200 คน การเลือก สว. ครั้งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดว่าจะมี สว. ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นไปได้ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญประชาชน’ ดังนั้น การประกาศผลการเลือกตั้ง สว. ในวันที่ 7 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญ เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองและอนาคตของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญในช่วงแรกที่ สว. ชุดใหม่จะต้องดำเนินการคือ (1) เคาะชื่อ 12 คณะกรรมการองค์กรอิสระ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งใน 4 องค์กร ได้แก่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการ ป.ป.ช. (2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 (3) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อย่างน้อย 8 ฉบับ และ (4) ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล
กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังการเลือกตั้ง สว. นั้น หลังจากสนามการเลือก สว. ผ่านพ้นไป กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็จะเข้าสู่ในช่วงที่เรียกว่า “ประชามติครั้งที่ศูนย์” เพื่อถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเดิม ‘ไม่จำเป็นต้องทำ’ อย่างไรก็ดี แม้ขั้นตอนนี้จะไม่ได้เป็นขั้นตอนภาคบังคับ แต่สภาก็ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำหรือไม่ ซึ่งศาลได้ส่งเรื่องกลับมายังสภาเพื่อตัดสินใจเอง
ประชามติครั้งที่ศูนย์นี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 21 สิงหาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 และเป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงต่อสาธารณะว่าจะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 จึงเห็นสมควรกำหนดคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ด้วยกรอบงบประมาณราว 3,200 ล้านบาท ต่อการทำประชามติในแต่ละครั้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ลงมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของ คกก. เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ แล้ว ณ วันที่ 23 เมษายน 2567 และอยู่ในระหว่างการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ คกก. เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและ กกต. ยกร่างแก้ไข พรบ.ประชามติ ซึ่งสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อยู่ระหว่างวาระ 2 ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฯ โดยมีการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยในการประชุมกำหนดกรอบเวลาเบื้องต้นไว้ 45 วัน
สำรวจท่าทีจุดยืน 3 ฝ่าย รัฐบาล-ประชาชน-สว. เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือ ยกเว้นหมวด 1-2?
หากอ้างอิงจากนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่ซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นของ คกก. เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะนี้ สะท้อนท่าทีของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเด็นแนวคำถามประชามติที่ยังคงย้ำชัดถึงจุดยืนของรัฐบาลที่จะ ‘ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับบททั่วไปและพระมหากษัตริย์’ โดยคงรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 และ 2566
อย่างไรก็ดี สิ่งที่หายไปจากจุดยืนของรัฐบาลคือ ‘การไม่กล่าวถึงที่มาของ สสร. ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ ทั้งที่เคยประกาศจุดยืนไว้ในนโยบายว่าจะให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน เมื่อย้อนดูนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ ก็ระบุชัดเจนให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่แนวทางของรัฐบาลในปัจจุบันกลับไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ และไม่มีคำอธิบายใด ๆ เพิ่มเติม การที่รัฐบาลไม่กล่าวถึงประเด็นเรื่อง สสร. ในครั้งนี้จึงเป็นที่น่าสังเกตและทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความตั้งใจในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแท้จริง
“รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะแก้ไขไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ได้สำคัญจนถึงขนาดต้องยกไว้และแตะต้องมันไม่ได้เลย”
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitutional Advocacy Alliance: CALL) พูดในวงเสวนาวิกฤตประชาธิปไตยไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา ภัสราวลีชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะแก้ไขได้ และไม่ควรยกไว้เหนือการแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ อีกทั้งยังเน้นย้ำด้วยว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือที่ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
“คำถามไม่ได้เถียงกันตรงที่ว่า ประชาชนอยากแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือเปล่า แต่มันเถียงกันตรงที่ว่า ทำไมต้องห้อยท้าย ทำไมต้องถาม 2 เรื่องในคำถามเดียวกัน คำถามพ่วง แล้วคนตอบจะตอบอะไร ในเมื่อมันเป็นคำถามที่อยู่ในวรรคเดียวกันแล้วให้กาช่องเดียวว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แล้วคนตอบจะตอบอะไร ซึ่งคำถามถามว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ปัญหาคือจะตอบอย่างไรต่อ สมมติว่ามายด์เป็นคนที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมายด์ก็เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1 หมวด 2 แล้วมายด์จะไปกาอะไร ไม่ประสงค์ลงคะแนน สุดท้ายการทำประชามตินี้จะไม่ได้ข้อยุติ ไม่ได้ตอบความต้องการของประชาชนอยู่ดี ไม่ได้ถามอยู่ดีว่าต้องการอย่างไร สังคมเห็นไปในทิศทางไหน และทำประชามติทำไม” ภัสราวลีกล่าว
เช่นเดียวกันกับมุมมองของภัสราวลี ซึ่งได้วิเคราะห์และให้ความเห็นต่อแนวคำถามประชามติข้างต้นที่เสนอโดยรัฐบาล โดยเฉพาะข้อถกเถียงสำคัญที่ว่า ‘ทำไมต้องรวมคำถาม 2 ประเด็นไว้ในคำถามเดียวกัน’ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการตอบคำถาม และอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทำให้ผู้ลงประชามติไม่สามารถแสดงความเห็นต่อแต่ละประเด็นได้อย่างอิสระหากเห็นชอบแค่เพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
ทั้งนี้ การให้กาช่องเดียวเพื่อตอบคำถามทั้ง 2 ประเด็น ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการตีความผลการลงประชามติ หากเสียงส่วนใหญ่เลือก ‘เห็นชอบ’ จะไม่สามารถระบุได้ว่าเห็นชอบกับประเด็นใด หรือเห็นชอบทั้ง 2 ประเด็น นอกจากนี้ การกา ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ ก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด หรือไม่เห็นด้วยทั้งสองประเด็น สุดท้ายแล้วผลของการทำประชามติก็จะไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้อย่างครบถ้วน
ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ผลการทำประชามติไม่สามารถนำไปใช้เป็นข้อยุติหรือเป็นแนวทางการดำเนินการในก้าวต่อไปของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ได้รับการรับฟัง และไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ท่าทีของภาคประชาชน โดยเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ อ้างอิงจาก ‘แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญคำถามประชามติตั้งแง่ “บังคับ” ประชาชนสถาบันฯ’ ซึ่งแถลงไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ภายหลังการประกาศมติครม. เพียงแค่ 1 วัน ก็ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในทิศทางเดียวกันกับภัสราวลี โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การประกาศจุดยืนปฏิเสธที่จะลงประชามติ ‘เห็นชอบ’ หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้น และย้ำถึงเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ทั้งฉบับ’ โดยไม่มีเนื้อหาของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง อีกทั้งเรียกร้องต่อความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อผลลัพธ์ที่ตามมาจากการทำประชามติ โดยระบุว่า “หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป”
จากประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคประชาชนต้องการกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากกระบวนการอันชอบธรรม คำถามประชามติต้องไม่เป็นการชี้นำหรือบังคับให้ประชาชนยอมรับเนื้อหาที่ไม่เป็นธรรม โดยมีกระบวนการที่เปิดกว้าง โปร่งใส เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแท้จริง และรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อผลของการทำประชามติและดำเนินการตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน แถลงการณ์นี้จึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลว่า ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะไม่ยอมรับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกันกับว่าที่สมาชิก สว. ที่มีอำนาจในการลงมติว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกสำหรับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มาแทนที่ฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ จากจำนวนว่าที่สมาชิก สว. ทั้ง 24 คน ที่มาแสดงความคิดเห็นบน Senate67 มีจำนวน 19 คนที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ดังนี้
1. วีระพันธ์ สุวรรณนามัย กลุ่มสาธารณสุข จากจังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก
2. ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ กลุ่มการศึกษา จากจังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร
3. ปิยพัฒน์ สุภาวรรณ กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน จากจังหวัดนนทบุรี อำเภอบางกรวย
4. แล ดิลกวิทยรัตน์ กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน จากกรุงเทพฯ เขตพระนคร
5. เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน จากจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมืองสมุทรปราการ
6. นรเศรษฐ์ ปรัชญากร กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จากกรุงเทพฯ เขตคันนายาว
7. มานะ มหาสุวีระชัย กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากจังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ
8. ประทุม วงศ์สวัสดิ์ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม จากจังหวัดชลบุรี เขตบางละมุง
9. วุฒิพงษ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากจังหวัดปทุมธานี อำเภอสามโคก
10. เอกชัย เรืองรัตน์ กลุ่มอื่นๆ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า
11. สุนทร พฤกษพิพัฒน์ กลุ่มอาชีพอิสระ จากจังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด
12. เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน จากจังหวัดสมุทรสงคราม อำเภออัมพวา
13. นันทนา นันทวโรภาส กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน จากกรุงเทพฯ อำเภอพระนคร
14. ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล กลุ่มประชาสังคม จากจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่วาง
15. อังคณา นีละไพรจิตร กลุ่มประชาสังคม จากกรุงเทพฯ เขตธนบุรี
16. ประภาส ปิ่นตบแต่ง กลุ่มประชาสังคม จากจังหวัดนครปฐม อำเภอนครชัยศรี
17. ชวพล วัฒนพรมงคล กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา จากจังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร
18. ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น จากจังหวัดจันทบุรี อำเภอนายายอาม
19. นิคม มากรุ่งแจ้ง กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น จากจังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร
แม้จะมีว่าที่สมาชิก สว. บางส่วนที่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่จำนวน สว. ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังคงมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเสียงที่จำเป็นในการแก้ไข (67 จาก 200 เสียง) ซึ่งหากมาเทียบกับจำนวน สว. ที่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวนน้อย มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน และอาจทำให้การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากการที่ สว. ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เพียงพอ ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงัก และมีความล่าช้าในการดำเนินการออกไป ที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลต่อกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่ สว. ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเช่นกัน
ดังนั้น การที่ สว. ยังคงเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยอยู่ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นการจัดทำ ‘ประชามติครั้งที่หนึ่ง’ เพื่อรับการแก้ไขม. 256 การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อให้ สสร. เป็นผู้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และการจัดทำ ‘ประชามติครั้งที่สอง’ ซึ่งจะเป็นการทำประชามติครั้งสุดท้าย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ร่างขึ้น ซึ่งถ้าหากประชามติครั้งนี้ผ่าน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
นอกจากมุมมองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ว่าที่สมาชิก สว. อย่าง เทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าที่ สว. กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมในแง่ของการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบผู้สมัคร สว. คำถามประชามติ และการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ไว้ว่า อยากที่จะให้ทั้งประชาชนและที่ สว. ทั้ง 24 คนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงชื่อเพื่อขอให้ ครม. ทบทวนคำถามประชามติในระหว่างที่ยังมีกระบวนการในการแก้ไขพรบ.ประชามติอยู่ ให้คลายล็อกหมวด 1 หมวด 2 หรือให้ปรับเปลี่ยนเป็นคำถามแบบ ‘แพ็คเกจคำถาม’ 3 ข้อ คือ (1) เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2) เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และ (3) เห็นชอบหรือไม่ที่กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 100% ซึ่งจะเป็นการคลายล็อกคำถามประชามติแบบเดิมที่มีการล็อกหมวด 1 และ 2 เอาไว้ ซึ่งทำให้ประชาชนประสบกับ ‘สภาวะไร้ทางออก’
นอกจากนี้ ในกระบวนการที่มีการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้มติมีความเสียเปล่าก็คือ ‘มติไม่เป็นที่สิ้นสุด’ หรือ ‘มติไม่มีข้อยุติ’ จากการโหวตในช่องไม่แสดงความคิดเห็น ดังนั้น เทวฤทธิ์จึงเสนอให้มีวรรค 2 ในมาตราที่ 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ว่าถ้าหากเป็นคำถามสำคัญ รัฐบาลจะต้องเร่งเอาคำถามนั้นไปแก้ใหม่ หรือเอาไปหาทางออกของมตินั้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นว่า ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลเองก็จะใช้การทำประชามติแบบคำถามล็อก กลายเป็น ‘คำถามของรัฐบาล โดยรัฐบาล เพื่อรัฐบาล’
อ้างอิง
- https://www.ilaw.or.th/articles/30081
- https://www.ilaw.or.th/articles/39210
- https://www.ilaw.or.th/articles/39599
- https://senate67.com/national-candidates/
- https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/282300
- https://ptp.or.th/นโยบายหลักพรรคเพื่อไทย/political-polic
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂