ซีรี่ย์ ‘จะได้ไหมขนส่งของคนต่างจังหวัด’ รายงานพิเศษ 3 ตอน โดย วิชชากร นวลฝั้น นักศึกษาฝึกงานสำนักข่าว Lanner ที่จะพาไปสำรวจตรวจขนส่งของคนต่างจังหวัดโดยเริ่มจากประวัติศาสตร์ขนส่งของจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงความหวังของขนส่งเอกชน จากเชียงใหม่ไปยังปลายทางความฝันที่จะมีขนส่งสาธารณะที่ดีในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ
ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือคนที่สัญจรไปมาในเขตเมืองเชียงใหม่ อาจพบเห็นรถเมล์คันใหญ่บนท้องถนนหรือตามจุดรับ-ส่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเชียงใหม่ สถานีขนส่งอาเขต หรือแม้กระทั้งสถานีรถไฟ ซึ่งรถเมล์ดังกล่าวได้ติดป้ายชื่อว่า “Chiang Mai City Bus” หรือนี่อาจเป็นความหวังใหม่ของการยกระดับขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่
รายงานในตอนนี้จะนำพาเจาะประเด็นการให้บริการรถเมล์เชียงใหม่ หรือ RTC Chiang Mai City Bus ที่เข้ามาพัฒนาขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ผ่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ย้อนรอยรถเมล์เชียงใหม่ RTC
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 บริษัทรีเจียนนอลทรานซิสท์ โคเปอร์เรชั่น จำกัด ได้เปิดตัวรถขนส่งมวลชนสาธารณะสมาร์ทบัสประจำทาง หรือ RTC Chiang Mai City Bus เพื่อยกระดับระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรถเมล์ให้บริการจำนวน 11 คัน วิ่งผ่านเส้นทางทั้งหมด 4 สาย ได้แก่
– สาย R1 สวนสัตว์เชียงใหม่-เซ็นทรัลเฟสติวัล
– สาย R2 ประตูท่าแพ-หนองหอย-ห้างพรอมเมนาดา
– สาย R3 (สายสีแดง) สนามบิน-นิมมานฯ-ประตูท่าแพ
– สาย R3 (สายสีเหลือง) สนามบิน-วัวลาย-ประตูท่าแพ
แต่หลังจากให้บริการมาได้ 2 ปี RTC กลับหยุดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภายหลังพบว่ารถเมล์เหล่านี้ถูกประกาศขายในราคาคันละ 2.5 ล้านบาท ซึ่ง RTC ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะกลับมาให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป
สำนักข่าวประชาไท รายงานผลจากการดำเนินกิจการรถเมล์ RTC ของบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิสท์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ในไตรมาส 2 ของปี 2561 โดยรายว่ามีผู้โดยสารใช้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เฉลี่ยที่ 950 คน/วัน และวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยที่ 1,100 คน/วัน ปริมาณผู้โดยสารมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยสาย R1 และ R3 มีผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่างกันมาก สำหรับสาย R2 มีผู้โดยสารน้อยมากเฉลี่ยที่วันละ 60 คน จนเมื่อเดือน กรกฎาคม 2561 จำนวนผู้โดยสารมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 70 โดยเฉลี่ยอัตราการบรรทุกอยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้บริการรถเมล์ RTC มีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนหยุดให้บริการเมื่อปี 2563
RTC คืนชีพอีกครั้ง
หลังจากที่หยุดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รถเมล์ RTC ได้มีท่าทีในการให้บริการที่เปลี่ยนไป โดยได้เปลี่ยนขนาดรถที่ให้บริการจากรถบัสขนาดใหญ่กลายเป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็ก 20 ที่นั่งและใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงแทนเพื่อลดต้นทุนในการให้บริการ และแล้วรถเมล์เชียงใหม่ RTC ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยเปิดให้บริการเส้นทางทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ 24A 24B และ 24C รถจะเริ่มจากจุดจอดต้นทางที่สนามบินเชียงใหม่เหมือนกันทุกสาย โดยสายแดง 24A ให้บริการพื้นที่โซนตะวันออกของเนื้อเมือง เช่น โรงเรียนยุพราช ประตูท่าแพ ขนส่งช้างเผือก ตลาดวโรรส ไนท์บาซาร์ สายเหลือง 24B บริการโซนตะวันตกของเนื้อเมือง เช่น วัดพระสิงห์ สถานีขนส่งช้างเผือก วันนิมมาน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสายเขียว 24C สายหลักของโครงข่ายการเชื่อมต่อโหมดการเดินทางหลักเมืองเชียงใหม่ นับจากสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง 2-3 อาเขต โดยค่าบริการในขณะนี้อยู่ที่ราคา 50 บาท สามารถขึ้นได้ทุกสาย และทุกรอบตลอดทั้งวัน หากซื้อตั๋วจากร้านค้าพันธมิตรสามารถซื้อได้ในราคา 40 บาท นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ราคา 20 บาท สำหรับผู้พิการและพระสามารถใช้บริการได้ฟรี
ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ RTC Chiang Mai Bus เปิดเผยกับ Lanner ว่า การดำเนินกิจการในช่วงที่ผ่านมา โดยรวมถือว่าดี แม้ว่าจะมีผู้โดยสารลดลงไปบ้างในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จากเดิมในเดือนมกราคมมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณวันละ 120 คน พอเข้าสู่ช่วงสถานการณ์ฝุ่นเหลือผู้โดยสารเพียงประมาณวันละ 40 คน แต่ทาง RTC พยายามปรับโมเดลธุรกิจของตัวเองให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และจะไม่หยุดให้บริการหากไม่วิกฤตจริง ๆ โดยจากการให้บริการจนเกือบครบ 6 เดือน ขณะนี้ RTC ขาดทุนไปแล้ว 1.8 ล้านบาท รถที่เคยเตรียมให้บริการทั้งหมด 5 คัน ตอนนี้ให้บริการจริงเพียง 3 คัน ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงรวมกันวันละ 5,000 บาท แต่รายรับต่อวันได้เพียงประมาณวันละ 2,800 บาท อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่ารถ และค่าใช้จ่ายสำนักงาน ทำให้บริษัทต้องนำงบประมาณที่มีอยู่มาสนับสนุน แม้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ต้องการหยุดให้บริการ เพราะจะทำให้เชียงใหม่ไม่มีรถประจำทางให้บริการ
“ที่เรายอมขาดทุนเพราะว่า RTC ไม่ต้องการหยุดบริการ เพราะถ้าเราหยุดเชียงใหม่จะไม่มีขนส่งประจำทางให้บริการเลย ซึ่งเราไม่อยากผลักภาระให้ผู้โดยสาร เราจึงพยายามดูแลตัวเองและทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งตอนนี้ขาดทุนเดือนละประมาณ 3 แสนบาท แต่เราก็พยายามปรับโมเดลธุรกิจให้ดำเนินการต่อไปได้”
ปรับตัวไม่ให้หยุดบริการ
ฐาปนา อธิบายการปรับตัวของ RTC ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา RTC ได้มีการปรับลดเส้นทางการให้บริการ ลดความถี่ของการจอดรอตามป้าย จอดเฉพาะป้ายที่มีผู้โดยสารขึ้นและเพิ่มบริการโทรนัดล่วงหน้าเพื่อนัดหมายจุดและเวลาขึ้นได้เลยเพื่อไม่พลาดการใช้บริการ อีกทั้งยังลดจำนวนรอบการให้บริการจากเดิมให้บริการวันละ 24 เที่ยว เหลือเพียงวันละ 18 เที่ยว
“เดิมทีส่วนใหญ่ผู้โดยสารที่ขึ้นจะมาจากจากสนามบิน แต่พอเราปรับกลยุทธ์เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีผู้โดยสารขึ้นจากในเมืองมากขึ้น ตอนนี้เราให้ผู้โดยสารที่รอที่ป้ายหรือตามเส้นทางที่รถเราผ่านสามารถโทรนัดกับเราได้เลย เพราะรถทุกคันของเรามีวิทยุสามารถประสานบอกกันได้ตลอดทันที เช่น ตอนนี้อยู่วัดพระสิงห์จะขึ้นรถเพื่อไปสนามบินประมาณ 14.00 น. จากนั้นนายท่าก็จะบอกเวลาที่รถเมล์น่าจะไปถึงเพื่อให้ผู้โดยสารตัดสินใจ หากตกลงนัดแนะเสร็จเรียบร้อยนายท่าก็จะประสานพนักงานขับรถเพื่อแวะรับผู้โดยสาร อาจจะมีช้าบ้างเร็วบ้างตามสภาพการจราจร หากรถใกล้ถึงนายท่าจะโทรบอกลูกค้าเพื่อเตรียมขึ้นรถตามจุดนัดหมาย ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปริมาณรถมีน้อย ความถี่น้อย แต่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง”
อุปสรรคการพัฒนาของ RTC
ทั้งนี้ฐาปนาได้เปิดใจกับ Lanner ถึงการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเพียง 2 หน่วยงาน คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และสำนักงานขนส่งเชียงใหม่ โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จัดจุดจอดเพื่อให้ RTC ทำหน้าที่เชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างสนามบินไปยังสถานีขนส่ง ส่วนสำนักงานขนส่งเชียงใหม่ให้ RTC สัมปทานเส้นทางเดินรถและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ กลับกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ RTC ทำจุดจอดไม่ได้ให้การตอบรับใด ๆ กลับมา แม้จะขออนุญาตไปแล้วหลายครั้ง มีเพียงเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการทำจุดจอดเป็นอย่างดี
“หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเราตอนนี้มี 2 หน่วยคือ 1.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยจัดจุดจอดให้เราเลย 2.สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ โดยการให้เราสัมปทานเส้นทางเดินรถและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากนี้ยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกับเรา แม้ว่าจะส่งหนังสือไปหลายครั้งแล้วก็ตาม จนกระทั้งบัดนี้ RTC ยังไม่ได้รับอนุญาตให้วางป้ายในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจุดที่เราจอดอยู่ตอนนี้เหมือนกับป้ายโลกเสมือน พูดง่าย ๆ คือรู้กันเองตามการประชาสัมพันธ์ว่ารถจะมาจอด แต่ก็มีบางสถานที่ที่เราทำเองได้ เช่น เซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ตที่อนุญาตให้เราทำป้ายจุดจอด และล่าสุดเราได้ไปปักป้ายที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนั่งรอที่ล็อบบี้ของโรงพยาบาลได้ จะเห็นได้ว่ากับภาคเอกชน RTC ทำงานได้สะดวกมาก” ฐาปนา กล่าว
ฐาปนา อธิบายเพิ่มเติมว่า ขนส่งมวลชนไม่เพียงแค่ให้บริการแล้วจะมีคนใช้บริการ แต่ยังต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของขนส่งมวลชน กล่าวคือต้องประกอบด้วยป้ายรอรถ ศาลาพักผู้โดยสาร ทางลาดสำหรับวิวแชร์ผู้พิการ หลอดไฟให้ความสว่างในเวลากลางคืน มีอุปกรณ์ยึดจับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เอกชนต้องทำ แต่เป็นเมืองที่ต้องลงทุนให้ ซึ่งที่ผ่านมา RTC ยอมลงทุนเองทั้งหมด แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไม่อนุญาต อีกทั้งยังโดนขับไล่ในการรับ-ส่งผู้โดยสารจากผู้ให้บริการขนส่งประเภทอื่นตามสถานีขนส่งต่างๆ เพราะกลัว RTC มาแย่งลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นภายหลังยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาไล่ด้วย ฐาปนายังอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐต้องลงทุนการเดินทางที่เชื่อมต่อสถานีขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ซึ่งจากสถิติการใช้รถเมล์ RTC พบว่าผู้โดยสารที่ขึ้นจากสนามบินจะมีอย่างน้อย 5 คนที่ลงสถานีขนส่งช้างเผือก และมีอย่างน้อย 7-8 คนลงที่สถานีขนส่งอาเขต ดังนั้นขนส่งมวลชนจึงสามารถเป็นทางเลือกของการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังสถานีขนส่งต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่
การแข่งขันขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นธรรม
ฐาปนา กล่าวถึงขนส่งผ่านแอพพลิเคชั่นว่า รถประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดของสำนักงานขนส่ง ในจังหวัดเชียงใหม่มีรถที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่จดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งเพียง 200 คัน แต่ให้บริการจริง ๆ ถึง 3,000 คัน ซึ่งรถเหล่านี้ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำในการแข่งขันด้านขนส่ง เพราะรถเหล่านี้ไม่ต้องวิ่งตามเส้นทางประจำ ไม่มียูนิฟอร์มของบริษัท ไม่มีการตรวจมาตรฐานความปลอดภัย ไม่สอบใบขับขี่สาธารณะ ไม่จดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง และไม่สามารถควบคุมปริมาณรถได้ ทำให้ฐาปนาตั้งคำถามกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า “นี่คือการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่” อีกทั้งยังเรียกร้องให้รถที่บริการผ่านแอพพลิเคชั่นจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างและต้องเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน
“เราถูกภาวะความเลื่อมล้ำด้านคมนาคมขนส่ง โดยขนส่งของเราต้องวิ่งตามเส้นทาง ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจดยากมาก ต้องสอบผ่านกิจการที่ดูแลเรื่องสุขภาพ อนามัยและความปลอดภัย พนักงานขับรถต้องแต่งชุดหรือยูนิฟอร์มของบริษัท พนักงานมีเวลาทำงานชัดเจน รถที่ใช้มีมาตรฐานทุกอย่าง แต่กลับกันมีรถอยู่ประเภทหนึ่งที่โหลดแอพพลิเคชั่นมา วิ่งมาจากต่างจังหวัด แต่สามารถรับผู้โดยสารในเชียงใหม่ได้ ซึ่งรถประเภทนี้ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดเลย ซ้ำร้ายในจังหวัดเชียงใหม่มีรถบริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่จดทะเบียนกับขนส่งเชียงใหม่ไม่ถึง 200 คัน แต่วิ่งอยู่จริง ๆ ถึง 3,000 คัน นี่คือการแข่งขันที่เป็นธรรมมั้ย? ถ้าให้รถระบบพวกนี้มีมากโดยที่รัฐไม่ควบคุมเลยสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนจะไม่ใช้ระบบขนส่งมวลชน พอคนไม่ใช้ระบบขนส่งมวลชน รัฐจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ เพราะรถยนต์ส่วนบุคคลจะเต็มท้องถนนไปหมด ซึ่งนี่คือปัญหาของเชียงใหม่ เราถูกควบคุมถูกบังคับให้จ่ายค่าต่าง ๆ ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่าอีกบริการหนึ่งกลับไม่ต้องแต่ชุดก็ได้ เขากำหนดรถให้มากกว่า 1,500 cc แต่คุณกลับเอารถ 1,200 cc ไปรับลูกค้า เขาบังคับให้เฉพาะคนไทยขับเท่านั้นแต่ตอนนี้กลับมีต่างชาติมาขับรับกันเองเต็มไปหมดเลย แล้วรถที่เขาจดทะเบียนอย่างถูกต้องกลับลำบากหมดเลย ซึ่งที่เราเรียกร้องเราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน แต่ขอให้รถที่ให้บริการจดทะเบียนให้เท่าเทียมกับเรา และรถขนส่งสาธารณะต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เพื่อให้สังคมเห็นว่ารถที่วิ่งอยู่บนถนนคันนี้เป็นรถขนส่งสาธารณะ และเป็นการควบคุมปริมาณไม่ให้รถบนท้องถนนมีมากเกินไป” ฐาปนา กล่าว
สุดท้าย ฐาปนา แสดงความคิดเห็นว่า หากเชียงใหม่จัดบริการให้นักเรียนใช้รถประจำทางในช่วงเช้ากับเย็นได้ จะช่วยลดปัญหาการจราจรตามบริเวณเส้นทางที่มีโรงเรียนตั้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ได้รู้จักการเสียสละ แบ่งปัน และยังได้สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการที่ RTC ได้ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในการให้บริการรถเมล์ RTC กับเด็กนักเรียน โดยอำนวยความสะดวกและจัดจุดจอดภายในโรงเรียน ฐาปนา ยังเสนอว่ายินดี หากภาครัฐหรือเอกชนจะเข้ามาร่วมลงทุน เพราะจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการให้บริการมากขึ้น
ปัญหาขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่
ปฐวี กันแก้ว ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว สส. เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายปัญหาของขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันว่า เกิดจากเมืองโตกระจุกและโตตามถนนวงแหวนหรือถนนเส้นใหญ่ เมื่อเมืองโตขึ้นสิ่งที่แก้ปัญหารถติดแบบเชียงใหม่คือการขยายถนน สร้างไฮเวย์ หรือทำถนนเพิ่ม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น อีกทั้งด้านกฎหมายของขนส่งสาธารณะ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้คณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัดมีอำนาจจัดทำเส้นทาง แต่สำนักงานขนส่งจังหวัดทำได้เพียงแค่การเปิดสัมปทานเดินรถของภาคเอกชน ไม่สามารถควบคุมการจดทะเบียนของรถสาธารณะได้ สุดท้าย “ปล่อยให้แข่งขันกันเองและตายกันเอง”
ปฐวี กล่าวถึงปัญหาที่ RTC เผชิญอยู่ตอนนี้คือการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำจุดจอดหรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการ RTC ซึ่งต้องขออนุญาตหลายฝ่าย หลายขั้นตอน อีกทั้งปัญหาการขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ
“พอภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทกับขนส่งสาธารณะ จะต้องพบเจอกับการประสานงานหน่วยงานรัฐในระดับต่าง ๆ ด่านแรก ขอสัมปทานกับขนส่งจังหวัด ด่านสอง จะติดตั้งป้าย จุดจอด ต้องเจอกับการประสานงานว่าถนน/ฟุตบาท ของหน่วยงานใด ด่านสาม เมื่อพบเจอหน่วยงานเจ้าของพื้นที่แล้ว ใครเป็นคนรับผิดชอบงบประมาณ เพราะหน่วยงานรัฐมักจะติดกับดักที่ว่า มักจะไม่ออกงบให้เอกชนทำ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความในเชิงเอื้อผลประโยชน์” ปฐวี กล่าว
ปฐวี ได้แสดงกรอบงบประมาณการลงทุนของ อบจ.เชียงใหม่ พบว่ามีเพียง 17% จากทั้งหมด ซึ่งอยู่ในแผนงานอุตสาหกรรมและการโยธาตามกฎหมาย ทำให้เห็นว่าสุดท้ายแม้ อบจ. จะมีอำนาจเต็ม ๆ ในการทำ แต่ไม่มีเงินพอที่จะมาทำขนส่งสาธารณะ ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ได้งบลงทุนเพียงแค่ 11% เมื่อเทศบาลนครเชียงใหม่จัดทำขนส่งสาธารณะจึงเจอกับสภาพการขาดทุนทุกปี
ปฐวี ยังได้ตั้งคำถามและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ควรเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นสวัสดิการ? คำถามนี้คือสิ่งที่รัฐต้องตอบให้ได้ ซึ่งทางด้านนโยบายการแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่สองทางคือ 1.การแข่งขันกันเองแบบเดิม แต่ภาครัฐจัดซื้อรถเมล์โดยสาร และขอเปิดสัมปทานแข่งขันกับผู้เล่นเดิมในตลาดขนส่งสาธารณะ 2.แสวงหาความร่วมมือกับผู้เล่นในปัจจุบัน โดยดึงรถสองแถวและรถเมล์เข้าสู่ระบบ และจัดการโดยภาครัฐ
อนาคตรถเมล์เชียงใหม่ RTC
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รถเมล์เชียงใหม่ RTC ได้ร่วมประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น และทำ MOU รถสาธารณะร่วมกับ 8 องค์กร ณ สำนักงานสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด โดยมีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่
1. รถผ่านแอพพลิเคชั่นต้องเป็นรถที่จดทะเบียน จ.เชียงใหม่ เท่านั้น
2. รถที่นำมาวิ่งต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก (ป้ายเหลือง)
3. ใบอนุญาตขับขี่ต้องเป็นรถสาธารณะ
4. ประกัน พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ ไม่น้อยกว่าประเภทที่ 3
5. กำหนดอายุรถที่นำมาจดทะเบียน ไม่เกิน 2 ปี ไมล์ไม่เกิน 50,000 กิโลเมตร
6. กำหนด CC เครื่องยนต์ให้ชัดเจน
7. ติดสติ๊กเกอร์บริษัทแอพพลิเคชั่นให้ชัดเจน
8. กำหนดสีให้ชัดเจน
9. กำหนดจำนวนรถ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจทำให้การแข่งขันของขนส่งธารณะเกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น อย่างที่ ฐาปนา บุณยประวิตร ได้เสนอไว้ข้างต้น ภาครัฐเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ควรปล่อยให้แข่งขันกันแบบนี้ หรือควรทำเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างที่ ปฐวี กันแก้ว ได้ตั้งคำถาม เพื่อทำให้ความหวังของภาคเอกชนในการพัฒนาขนส่งสาธารณะอย่าง “รถเมล์เชียงใหม่ RTC” กลายเป็นขนส่งที่เชื่อมต่อกับทุกคนทุกพื้นที่และเพื่อเป็นความหวังใหม่ของประชาชนในการได้ใช้ขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น
อ้างอิง
- ประชาไท, (2561), รถเมล์ RTC เชียงใหม่ สรุปการเดินรถไตรมาส 2 ปี 2561 มีผู้โดยสารต่ำกว่าเป้า 70%, เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2018/07/77933
- กรุงเทพธุรกิจ, (2561), ดีเดย์เดินรถ ‘สมาร์ทบัส’ วิ่งสนามบิน-นิมมาน-เมืองเก่า, เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/797910
- ผู้จัดการออนไลน์, (2566), รถเมล์RTCกลับมาแล้ว!เปิดบริการเส้นทางเริ่มจากสนามบินเชียงใหม่ เก็บ30บาทตลอดสาย, เข้าถึงจาก https://mgronline.com/local/detail/9660000116948
- มติชนออนไลน์, (2567), 8 รถรับจ้างเชียงใหม่ รับคนใช้น้อย ‘ทำตัวเอง’ เสนอรบ.ให้เรียกผ่านแอพพ์ได้ ถ้าไม่แก้จ่อเปลี่ยนเป็น ‘รถส้ม’, เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/region/news_4575102
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น