เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน
เชียงใหม่เป็นเมืองแบบไหนสำหรับคุณ?
สำหรับหลายคนแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจุดหมายปลายทางในฝัน เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา อันเต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงามทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมเก่าแก่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา
หากมองเผิน ๆ เชียงใหม่น่าจะเป็นจังหวัดที่เหมาะกับการทำธุรกิจ ทว่ามีธุรกิจเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร การท่องเที่ยวและการบริการ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ต่างปิดตัว ม้วนเสื่อกลับบ้านกันมาแล้วหลายราย จนเป็นที่ร่ำลือกันหนาหูว่าการทำธุรกิจที่เชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองปราบเซียน’
เชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวบนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในพื้นที่
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจเชียงใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของไทยมาอย่างยาวนาน
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5-6 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเชียงใหม่เองก็ได้เปิดรับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดกิจการเฉพาะบางรูปแบบ เช่น กิจการโรงแรม กิจการรถทัวร์ ร้านอาหาร ร้านค้า และย่านธุรกิจหัตถกรรมรอบเมือง เกิดการขยายตัวของเมืองเป็นบริเวณกว้าง จนปัจจุบัน เชียงใหม่ถือเป็นเมืองหลักของภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวมีการขยายตัวหลังปี 2555 เป็นต้นมา (The Urbanis, 2564) โดยพึ่งพาเศรษฐกิจภาคบริการ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวสูงมากในปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 69.4 รองลงมาคือ ภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 19.6 และภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 11.0 ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมตั้งแต่ปี 2555 – 2563 อยู่ที่ราว 250,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยร้อยละ 4.46 ต่อปี
ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 2,173,887.59 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 100.44 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่มีรายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 750,150.60 ล้านบาท ภูเก็ต 388,017.18 ล้านบาท ชลบุรี 233,681.11 ล้านบาท เชียงใหม่ 89,193.79 ล้านบาท และสุราษฎร์ธานี 86,557.91 ล้านบาท ตามลำดับ
“จริง ๆ มันก็คือเมืองน่าเที่ยว แต่คนไม่มาเที่ยว มันไม่มีเหตุผลที่คนรอบ ๆ จังหวัดจะมาเที่ยวเชียงใหม่ เพราะมีภูเขาหรือป่าเหมือนกัน แต่ว่ามันก็มีนักท่องเที่ยวจากภาคกลางมา นักท่องเที่ยวจากต่างชาติมา ซึ่งเรามองว่า Local ก็ไม่ได้มีกำลังจะมาจับจ่ายใช้สอยเยอะขนาดนั้น ดังนั้น ถามว่าเซียนไม่เซียน เรารู้สึกว่า ไม่เกี่ยวกับเซียนละ เกี่ยวกับว่ามีตังเยอะแค่ไหน” ด๋อง (นามสมมุติ) คนที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อพิจารณารายจังหวัดพบว่า กรุงเทพฯ มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 162,728.02 ล้านบาท และชาวต่างชาติ 587,422.58 ล้านบาท ภูเก็ตมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 22,190.66 ล้านบาท และชาวต่างชาติ 365,826.52 ล้านบาท ชลบุรีมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 85,565.99 ล้านบาท และชาวต่างชาติ 148,115.12 สุราษฎร์ธานีมีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 28,375.3 ล้านบาท และชาวต่างชาติ 58,182.61 ในขณะที่เชียงใหม่มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 57,663.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65 และผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ 31,530.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วจังหวัดเชียงใหม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
“ถ้าเรามองดูแล้วมาตรฐานความเหลื่อมล้ำเนี่ยมันกว้าง เพราะภาคธุรกิจท่องเที่ยวมันอยู่แค่อำเภอเมือง ส่วนพวกแม่ริม แม่กำปองอาจจะมีบ้าง สำหรับเรามันเป็นจังหวัดที่ไม่มีงานให้ทำ อย่างน้อยไปลำพูนก็ยังมีนิคมแต่มาเชียงใหม่ มันแทบจะไม่มีนิคมเลย รายได้เลยกระจุกอยู่ที่กลุ่มที่มีฐานะ”
อย่างไรก็ตาม การพึ่งนักท่องเที่ยวเป็นหลักยังมีความเสี่ยง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยเพียง 2 วัน โดยนิยมท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่น้อยลง อีกทั้ง การท่องเที่ยวยังมีการกระจุกตัวสูง นักท่องเที่ยวมักไปเยี่ยมเยือนในสถานที่ท่องเที่ยวเฉพาะจุด โดยกระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก รวมถึงมีช่องว่างของการท่องเที่ยว ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) สูง ซึ่งช่วงฤดูหนาวถือเป็น High Season ของภาคเหนือ โดยปัจจุบันมีเพียง 3-4 เดือน ได้แก่ ปลายเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคมและมกราคม หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเข้าสู่ฤดูฝุ่นที่ PM2.5 ฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่ภาคเหนือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตรวมไปถึงการท่องเที่ยว
“พูดกันตามตรง ร้านนี้เงินก็ไม่ได้สะพัดขนาดนั้น คนไม่เยอะ ก็ต้องมีเงินจากส่วนอื่นมาช่วย ร้านนี้ถือเป็นความชอบครับ เป็นความฝันวัยเด็กด้วยและยุคนี้ถ้าทำอย่างเดียวไม่รอดครับ ต้องทำหลายอย่าง ก็พยายามเปลี่ยน ปรับตัวเรื่อย ๆ ผู้บริโภคเราก็เปลี่ยนทุกวัน มีร้านเปิดใหม่ทุกวัน ไม่เหมือนเดิม ตอนนี้ก็พยายามเพิ่ม Special Drinks ให้มันเพิ่มมากขึ้น เราก็ต้องปรับตัว การรักษาลูกค้าเก่าไว้คือเรื่องที่ดีที่สุดเพราะร้านพี่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ”
กิตติธร ปะละศรี หรือแผน เจ้าของร้านกาแฟ LUBE ย่านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงความท้าทายในการทำธุรกิจในเชียงใหม่ ซึ่งเขาใช้เวลาปลุกปั้นร้านหลืบ ร้านกาแฟลับ ๆ ที่อยากให้คนมาเยอะ ๆ เป็นเวลาหลายปีตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากเชียงใหม่จะขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว เชียงใหม่ยังได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองปราบเซียน’ ของเหล่าผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ขนาดเล็ก ซึ่งเปลี่ยนผ่านหมุนเวียน ร้านเก่าไปใหม่เข้ามาอยากหลากหลายและรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจแบบไร้ทิศทางและยากที่จะคาดการณ์
“เรามีเป้าหมายเหมือนคนทำธุรกิจทั่วไปก็อยากให้มีลูกค้าเยอะ ๆ ครับ แต่การทำธุรกิจในเชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายและโจทย์ยากของร้านนี้อีกอย่างเลย คือทำเลด้วย ต้องอัดการตลาดหนักมาก ๆ เพราะมันอยู่ในหลืบ ไม่ใช่ทางผ่าน คนต้องตั้งใจมา”
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้
แม้ว่าเชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจหลักมาจากภาคบริการ อย่างไรก็ตาม จังหวัดกลับมีมูลค่าเศรษฐกิจต่อหัว (GPP per Capita) ต่ำกว่าอีก 2 จังหวัดในภาคเหนือ อย่างลำพูนและกำแพงเพชร โดย GPP per Capita จะเป็นรายได้คาดการณ์ที่คน 1 คนจะทำรายได้ให้จังหวัด ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงระดับรายได้ที่ประชาชนได้รับ เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดที่มี GPP มากที่สุดในภาค กลับมี GPP per Capita น้อยกว่าจังหวัดที่มีมูลค่า GPP ต่ำกว่า
สาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจาก 2 จังหวัดทั้งลำพูนและกำแพงเพชร เน้นการทำอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูง ทำให้ศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับจังหวัดโดยรวมอยู่ในระดับมาก ถึงแม้ในจังหวัดจะมีจำนวนประชากรที่น้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งไม่มีอุตสาหกรรม หรือแหล่งเงินที่จะทำให้คนท้องถิ่นสามารถจับจ่ายใช้สอยหรือออกมาใช้ชีวิต และท่องเที่ยวในจังหวัด
นอกจากนั้น ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2565 สูงที่สุดในภาคเหนือ โดยใช้จ่าย 21,141.90 บาทต่อเดือน และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน 22,963.48 บาทต่อเดือน ในขณะที่แบกหนี้สินอยู่ที่ราว 180,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่กู้ยืมเพื่อใช้ซื้อหรือเช่าซื้อบ้าน เฉลี่ยครัวเรือนละ 85,585.49 บาท รองลงมาเป็นใช้จ่ายในครัวเรือน 46,294.02 เพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร 28,073.38 บาท เพื่อใช้ทำการเกษตร 16,609.41 บาท และเพื่อใช้ในการศึกษา 3,214.35 บาท
จากตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เศรษฐกิจของเชียงใหม่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 350 บาท ต่อวัน (สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่, 2567)
ไปต่อไม่ได้ก็เซ้งร้าน
ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจในเชียงใหม่ทยอยกันปิดร้านกันหลายแห่ง เมื่อขับรถผ่านจะเห็นป้ายเซ้งร้านขึ้นอยู่ตามสองข้างทาง รวมทั้งใน Facebook Group กลุ่ม เซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ มีคนออกมาโพสต์ประกาศเซ้งร้านเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 ร้าน บางร้านเป็นร้านที่ดังมาก ๆ และเปิดมานาน บางร้านก็พึ่งเปิดตัวได้ไม่กี่เดือน แต่ก็ปิดกิจการอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ผ่านไปทางไหน ก็เจอร้านเดิม ๆ ปลิวหาย แล้วก็ขึ้นป้ายให้เช่าแทนร้านเดิม
จากการนับโพสต์ปล่อยเซ้งร้านภายใน กลุ่ม เซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีจำนวนกว่า 194 ร้าน ที่มีการปล่อยเซ้ง โดยสาเหตุหลักคือ ไม่มีเวลาดูแลร้าน ไปทำงานต่างประเทศ มีปัญหาสุขภาพ ย้ายสถานที่ และขยายกิจการ โดยมีข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือร้านค้าส่วนใหญ่ที่ปล่อยเซ้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของนักท่องเที่ยว อาทิ ย่านนิมมานเหมินทร์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนท่าแพ ย่านช้างม่อย ย่านเจ็ดยอด เป็นต้น
โดยแบ่งประเภททั้งหมดดังนี้
ซึ่งอาจจะต้องมองภาพให้กว้างกว่าตัวเลขร้านที่ปล่อยเซ้ง 194 ร้าน เนื่องจากจำนวน 194 ร้าน นั้นนับแค่ 1 เดือน และจาก 1 กลุ่มเฟสบุ๊ค ซึ่งยังมี Facebook Group เซ้งร้านอีกหลายกลุ่ม รวมไปถึงการปล่อยเซ้งร้านบนพื้นที่ Offline ที่ยังมีอีกหลายร้านที่ไม่ได้มีการนับจำนวน อาจจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวล หากอิงตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุล่าสุดเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ทั้ง 17 จังหวัดทั่วภาคเหนือได้มีการจดทะเบียนเลิกกิจการไปแล้ว 190 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 285.51 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือมีการปิดตัวกิจการไปแล้ว 926 ราย แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 487 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 438 ราย ห้างหุ้นส่วนสามัญ 1 ราย โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีการปิดกิจการมากที่สุดในภาคเหนือ 362 ราย แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 232 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 129 ราย และห้างหุ้นส่วนสามัญ 1 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567)
“หม่าล่ามาก็จบ จบก็เซ้ง เซ้งไป ๆ มา ๆ ร้านกาแฟมันก็อยู่ 3 เดือน 6 เดือน ก็ไป พี่ว่าปัญหามันอยู่ที่แลนด์ลอร์ดมันขึ้นค่าเช่าตลอดเวลา ซึ่งก็คือคนเก่าแก่คนเชียงใหม่ที่ไปอยู่แม่ริม อยู่สันผีเสื้อ แล้วเขาก็ปล่อยเช่า เดือน 20,000 30,000 40,000 50,000 โดยไม่สนใจอยู่แล้วว่าคุณจะรอดหรือไม่รอด”
จากการพูดคุยกับผู้ที่ประกอบธุรกิจในเชียงใหม่ ได้ความคิดเห็นว่าต่อให้ทำร้านดี ลูกค้าเยอะ หรือยอดขายมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายชะตากรรมก็อยู่ที่แลนด์ลอร์ดหรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่หรือเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ เพราะถ้าแลนด์ลอร์ดขึ้นค่าเช่าแบบพรวดพราด ธุรกิจก็สามารถปิดตัวไปได้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจหลายคนกำลังประสบพบเจออยู่ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้หลายร้านจะทยอยปิดกิจการของตัวเองไป แต่กลับมีร้านอยู่ประเภทหนึ่งที่ทยอยเปิดสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งก็คือร้านอาหารจีน ในบทความสัญญาณแห่งอนาคตจังหวัดเชียงใหม่ 2023 ระบุว่านักลงทุนจีนเข้ามาครอบครองธุรกิจจำนวนมากในเชียงใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม-ที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีข้อมูลตัวอย่างว่านักลงทุนจีนรวมตัวกัน 5-6 คน ลงขันราว 240-280 ล้านบาทเพื่อมาซื้อกิจการโรงแรมที่ย่านถนนท่าแพ รวมทั้งสร้างโรงแรมขนาดเล็ก ทั้งนี้ การเปิดกว้างให้ตลาดผู้ซื้อชาวจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบันอาจมีความเสี่ยงในอนาคต เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดการกระจุกตัวของรายได้จากการใช้จ่ายของคนจีนไปที่ธุรกิจที่ยึดครองโดยคนจีนเอง
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาถดถอยอย่างต่อเนื่อง (โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น การปิดตัวของธนาคารใหญ่ในต่างประเทศ ความซบเซาของตลาดทุนและสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำและบิทคอยน์) ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนและรักษากำไร รวมทั้ง ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงแบบก้าวกระโดด จนมาถึงของผู้ค้าอย่างประเทศจีน ที่ทำให้แข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก
แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ใช่แค่เชียงใหม่ที่เป็นเมืองปราบเซียน หรือปราบเพียงผู้ประกอบการรายย่อย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันอาจกำลังปราบทุกคน..
อ้างอิง
- กระแสลมเศรษฐกิจไทยปี 66 ในโลกที่ไม่แน่นอน
- แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวนปี พ.ศ. 2567
- พลวัติเมืองเชียงใหม่: ช่วงเวลาของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมือง
- สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศ รายจังหวัด ปี 2566 (Domestic Tourism Statistics ( Classify by region and province 2023)
- สถิติรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน
- สัญญาณแห่งอนาคตของจังหวัดเชียงใหม่ 2023
นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน