เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา
จากการสำรวจข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ประมวลผลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม (สศช.) พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) มีประชากรในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวนมากถึง 4,298,300 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 37.93% ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนจน ซึ่งเทียบจากจำนวนและสัดส่วนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line)
ข้อมูลดังกล่าวเผยให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงปี 2561-2563 จาก 1,227,100 คน (10.74%) เหลือเพียงแค่ 774,100 คน (6.84%) และกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2564-2565 โดยสัดส่วนคนจนของภาคเหนือในปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 763,500 คน (6.80%) เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 763,000 คน (6.77%)
โดยในปี 2564 แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 24.59% รองลงมาคือ พะเยา 18.13% สุโขทัย 15.28% ตาก 13.04% อุตรดิตถ์ 10.08% แพร่ 9.79% ลำปาง 7.43% อุทัยธานี 6.52% เชียงราย 5.96% นครสวรรค์ 5.70% เชียงใหม่ 5.43% เพชรบูรณ์ 5.41% น่าน 5.15% กำแพงเพชร 2.13% ลำพูน 2.12% พิจิตร 1.48% และพิษณุโลก 0.64% ตามลำดับ
ส่วนในปี 2565 แม่ฮ่องสอนก็ยังคงเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากเป็นอันดับแรกถึง 24.64% รองลงมาคือ ตาก 21.73% สุโขทัย 11.75% พะเยา 11.41% เชียงราย 10.96% แพร่ 9.26% อุทัยธานี 8.87% อุตรดิตถ์ 8.07% น่าน 7.90% ลำปาง 7.49% ลำพูน 6.56% นครสวรรค์ 4.62% เพชรบูรณ์ 3.55% เชียงใหม่ 3.09% พิจิตร 1.27% พิษณุโลก 0.84% กำแพงเพชร 0.61% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนของคนจนในช่วงปี 2561-2565 จะเห็นได้ว่า จังหวัดที่มีความกระจุกตัวของสัดส่วนคนจนมากที่สุดคือ ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งยังคงเผชิญกับความยากจนมาอย่างยาวนาน โดยมีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดของภาคเหนือต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน และยังคงติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดในประเทศไทยที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดต่อเนื่องกันถึง 19 ปี (ปี 2545 อยู่ในอันดับที่ 9) รองลงมาคือ ‘ตาก’ ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากแม่ฮ่องสอน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในการเผชิญปัญหาความยากจนเรื้อรัง
รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 ได้ให้ข้อสังเกตต่อแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสัดส่วนคนจนของภาคเหนือส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือระดับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 เป็น 6.08% โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (6.92%) อาหารสด (6.81%) และพลังงาน (24.49%) สะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาพรวมประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ระดับเส้นความยากจนปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพโดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยสะท้อนได้จากเส้นความยากจนของภาคเหนือในทุกจังหวัดที่มีแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ในช่วงปี 2561-2565 มีค่าเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,414 บาท/คน/เดือน ในปี 2561 มาอยู่ที่ 2,678 บาท/คน/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 264 บาท/คน/เดือน ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนมีโอกาสที่จะกลายเป็นครัวเรือนยากจนได้มากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายสาขายังไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติอย่างเต็มที่และไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน อาทิ ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานลดลงจากปี 2564 ภาคการท่องเที่ยวซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู
ตารางแสดงข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปี 2564-2565 | ||
ปี | 2564 | 2565 |
เงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) | 1.23 | 6.08 |
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ | -0.13 | 6.92 |
อาหารสด | -1.00 | 6.81 |
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม | 2.12 | 5.51 |
พลังงาน | 11.88 | 24.49 |
เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) | 0.23 | 2.51 |
สอดคล้องกับข้อมูลจากบทความ “ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง” โดยทีมฟังเสียงประเทศไทย ไทยพีบีเอส ที่สะท้อนถึงสาเหตุของปัญหาความยากจนของคนภาคเหนือไว้ว่า ภาคเหนือมีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่สุดในประเทศและเติบโตช้า โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเหนือปี 2563 มีสัดส่วน 7.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ เทียบเท่ากับปี 2559 เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังไม่กระจายสู่ภาคเหนือมากนัก ภาคบริการมีบทบาทสำคัญที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 55.9% ในโครงสร้างเศรษฐกิจของภาค รองลงมาคือ ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วน 24.5% และ 19.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ภาคบริการด้านต่าง ๆ อาทิ บริการทางการแพทย์ การศึกษา การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือนั้นเริ่มสามารถที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้มากขึ้น ทว่ารายได้จากภาคบริการก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักเหมือนเดิม การกระจายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวยังมีน้อย อีกทั้งปัญหาฝุ่นควันเองก็เริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
คนเหนือเป็นหนี้อะไรกับมากที่สุด ?
ข้อมูลหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เป็นรายจังหวัด ประจำปี 2562 และ 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยให้เห็นถึงข้อมูลหนี้สินของครัวเรือนทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งสามารถระบุได้ ดังนี้
จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 112,076.60 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 47,180.43 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 179,776.65 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 67,700.05 บาท คิดเป็น 60.41% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 85,585.49 บาท
จังหวัดลำพูน ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 192,726.04 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 95,525.12 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 211,632.46 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 18,906.42 บาท คิดเป็น 9.81% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 79,081.20 บาท
จังหวัดลำปาง ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 153,687.98 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 64,142.84 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 144,054.22 บาท ลดลงจากปี 2562 9,633.76 บาท คิดเป็น -6.27% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 60,045.80 บาท
จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 184,058.54 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 78,182.16 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 301,878.02 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 117,819.48 บาท คิดเป็น 64.01% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 118,826.63 บาท
จังหวัดแพร่ ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 180,970.43 บาท โดยมีหนี้สิน ประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 88,829.93 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 178,028.58 บาท ลดลงจากปี 2562 2,941.85 บาท คิดเป็น -1.63% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 70,710.33 บาท
จังหวัดน่าน ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 179,748.13 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 65,367.13 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 236,497.34 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 56,749.21 บาท คิดเป็น 31.57% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 77,043.69 บาท
จังหวัดพะเยา ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 84,864.72 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 26,961.48 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 134,028.37 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 49,163.65 บาท คิดเป็น 57.93% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 43,332.09 บาท
จังหวัดเชียงราย ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 99,623.55 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 41,194.63 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 103,164.69 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 3,541.14 บาท คิดเป็น 3.55% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 38,196.12 บาท
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 74,586.47 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 36,907.88 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 123,698.07 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 49,111.60 บาท คิดเป็น 65.85% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 61,597.16 บาท
จังหวัดนครสวรรค์ ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 174,063.78 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 56,807.53 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 197,992.90 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 23,929.12 บาท คิดเป็น 13.75% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 72,888.26 บาท
จังหวัดอุทัยธานี ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 204,889.63 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 87,384.18 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 238,285.34 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 33,395.71 บาท คิดเป็น 16.30% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 96,597.96 บาท
จังหวัดกำแพงเพชร ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 179,776.13 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 115,526.15 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 218,179.54 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 38,403.41 คิดเป็น 21.36% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุดถึง 105,158.08 บาท
จังหวัดตาก ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 87,069.83 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน สูงที่สุดถึง 28,627.83 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 166,161.74 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 79,091.91 คิดเป็น 90.84% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน สูงที่สุดถึง 57,586.52 บาท
จังหวัดสุโขทัย ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 203,013.90 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 67,096.18 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 241,597.30 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 38,583.40 บาท คิดเป็น 19.01% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 80,629.92
จังหวัดพิษณุโลก ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 203,701.76 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน สูงที่สุดถึง 89,053.67 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 210,241.35 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 6,539.59 บาท คิดเป็น 3.21% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 118,240.97
จังหวัดพิจิตร ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 160,779.53 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 64,196.93 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 316,858.62 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 156,079.09 คิดเป็น 97.08% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 122,238.24
จังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2562 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 187,732.54 บาท โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน สูงที่สุดถึง 68,732.26 บาท ปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 309,179.98 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 121,447.44 คิดเป็น 64.69% โดยมีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร สูงที่สุดถึง 147,739.48
ปี 2562 จังหวัดในภาคเหนือ 12 จาก 17 จังหวัด มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นอันดับแรก โดยจังหวัดลำพูนมีหนี้สินเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นอันดับสูงที่สุดถึง 95,525.12 บาท รองลงมา ได้แก่ เชียงราย กำแพงเพชร สุโขทัย และพิจิตร มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุด และแม่ฮ่องสอน มีหนี้สิน ประเภทเพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน เป็นอันดับสูงที่สุด
ปี 2564 จังหวัดในภาคเหนือ 9 จาก 17 จังหวัด มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน โดยจังหวัดอุตรดิตถ์มีหนี้สินเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนป็นอันดับสูงที่สุดถึง 118,826.63 บาท รองลงมา ได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุด เชียงใหม่ และพะเยา มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน เป็นอันดับสูงที่สุด และน่าน มีหนี้สินประเภทเพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร เป็นอันดับสูงที่สุด
จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 และ 2564 วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ที่พบมากที่สุดใน 17 จังหวัดภาคเหนือคือ ‘เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน’ โดยมีจำนวนหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1,043,810.32 บาท ในปี 2562 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1,178,129.50 บาท ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นราว 134,319.18 บาท จึงอาจกล่าวได้ว่า หนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนถือเป็นวัตถุประสงค์การก่อหนี้ที่ครองอันดับ 1 ของทั้งปี 2562 และ 2564 ซึ่งสอดรับไปกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565 (6.08%) เมื่อเทียบกับปี 2564 (1.23%)
วังวนความจน: สาเหตุความจนของคนภาคเหนือ
รายงานรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 ได้สะท้อนปัญหาความยากจนเรื้อรังมาจากปัญหาหลายด้าน โดยส่วนหนึ่งคือ ช่องว่างด้านการดำเนินนโยบาย (policy gaps) ด้านการจัดสรรงบประมาณยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ด้านการกระจายทรัพยากรและ การพัฒนาไปยังพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ครอบคลุมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในทุกมิติ ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์การบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่ อาทิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด แต่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณต่ำที่สุด 5 อันดับแรก สะท้อนให้เห็นว่า เกณฑ์การจัดสรรงบประมาณยังไม่ได้ให้ความสำคัฐกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในจังหวัดเท่าที่ควร เนื่องจากเน้นไปที่องค์ประกอบด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จำนวนประชากร และขนาดพื้นที่ ทำให้จังหวัดขนาดใหญ่ได้รับงบประมาณสูง ส่งผลให้จังหวัดขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย ซึ่งหากจังหวัดที่มีปัญหาความยากจน ได้รับการกระจายทรัพยากรและการพัฒนาที่ตรงจุดจะมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดอยู่ในจังหวัดยากจนเรื้อรัง
ในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มาตรการทางการคลังถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐในการลดความยากจนและสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม ในช่วงระยะเวลา 20 ปี แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจาก 720,214 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 2,951,725 ล้านบาท ในปี 2564 แต่โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งในปี 2565 มีสัดส่วนอยู่ที่ 76.55% ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่ค่าใช้จ่ายลงทุนมีสัดส่วนเพียง 19.74% ซึ่งการลงทุนของรัฐครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์และการศึกษา ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น หากลงทุนได้อย่างเหมาะสม จะช่วยยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐเองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบของมาตรการหรือโครงการสวัสดิการสังคมเท่าที่ควร เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดสรรหรือโยกย้ายงบประมาณไปให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่า และ/หรือมีความคุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เน้นการติดตามปัจจัยนำเข้า (inputs) อาทิ จำนวนงบประมาณที่ใช้ จำนวนผู้ลงทะเบียน จำนวนผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ว่ามาตราหรือโครงการนั้น ๆ ช่วยลดความยากจน หรือนำไปสู่การกระจายรายได้ที่เท่าเทียมขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ และมาตรการหรือโครงการใดมีความคุ้มค่ากว่ากัน
ขณะเดียวกัน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เรื่อง “ภาพรวมความเหลื่อมล้ำไทย” เองก็ได้เผยหนึ่งในเหตุที่ความเหลื่อมล้ำไทยไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องด้วยสถาบันการเมืองไม่เชื่อมโยงกับความรับผิด (Accountability) ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกันและนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความยากจน อาทิ ปัญหาการขาดที่ดินทำกินของคนในภาคเหนือ โดยภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งผลิตข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ขณะที่ภาคเหนือตอนบนเน้นผลิตพืชผักและผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรทั้งสองภาคประสบปัญหาเรื่องสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าหรือให้เช่า
โครงสร้างประชากรของภาคเหนือที่ได้ก้าวเข้าสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2562 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงกว่า 21.79% สิ่งนี้ส่งผลให้วัยแรงงานต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในวัยทำงาน ทำให้เกิดภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความตื่นตัวในระดับชุมชนในการจัดสวัสดิการและดูแลผู้สูงอายุ แต่การเตรียมความพร้อมของรัฐในการรองรับสังคมผู้สูงอายุยังมีน้อยและไม่เพียงพอ
การศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่เท่าทัน และไม่ตอบสนองท้องถิ่น แม้ภาคเหนือจะมีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากถึง 29 แห่ง กระจายอยู่เกือบครบทุกจังหวัด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ห่างไกลยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ตอบสนองท้องถิ่น และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
ระบบสาธารณสุขเหลื่อมล้ำกระจุกตัวเมืองหลัก การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในภาคเหนือมีความครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากมีโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคกว่า 195 และ 2,227 แห่ง ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างพื้นที่ โดยจำนวนแพทย์ยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลัก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ โจทย์ปัญหาเรื้อรังในภาคเหนือ ซึ่งมีผลกระทบที่สำคัญจากการสูญเสียพื้นที่ป่า ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ ทำให้ฝุ่นควันสะสมและยากต่อการกระจายตัว อีกทั้งการขาดมาตรการจัดการที่ตอบโจทย์
ในระยะยาว หากสถานการณ์ความยากจนในภาคเหนือยังคงรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องและสร้างวงจรความยากจนข้ามรุ่นที่ยากจะหลุดพ้น ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา ทำให้คนจนในภาคเหนือถูกกีดกันจากโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและก้าวไปสู่สถานะทางสังคมที่ดีขึ้น
นโยบายแบบใดจะช่วยแก้วิกฤตความยากจน
หากมองดูภาพรวมนโยบายภาพกว้างในระดับประเทศแล้วนั้น นโยบายแบบใดจะช่วยแก้วิกฤตความยากจน? ทั้งนี้ ถ้าย้อนไปสำรวจนโยบายแก้จนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านโยบายแก้จนหลักในช่วงปี 2561-2565 คือ ‘โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ ‘บัตรคนจน’ ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมเรือธงที่เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ปี 2560 ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเน้นการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยให้พ้นจากความยากจน ในรูปแบบการให้ผู้ถือสิทธิตามบัตร สามารถใช้เพื่อลดหย่อนค่าสินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และค่าเดินทาง โดยให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับ 300 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับ 200 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังได้รับวงเงินสำหรับค่าโดยสารเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น กว่า 1,500 บาทต่อเดือน
จากข้อมูลปี 2561-2565 อ้างอิงจาก ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พบว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินโครงการนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รวมกว่า 267,815.80 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์เฉลี่ยทั่วประเทศราว 13-14 ล้านคนต่อปี ดังนี้
ปีงบประมาณ | ใช้งบประมาณ (ล้านบาท) | ผู้ได้รับสิทธิ์ (ล้านคน) |
2561 | 43,614.5 | 14.2 |
2562 | 93,155.4 | 14.6 |
2563 | 47,843.5 | 13.9 |
2564 | 48,216.0 | 13.5 |
2565 | 34,986.4 | 13.2 |
ข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า จำนวนผู้มีรายได้น้อยลดลงจริงหรือไม่ และผู้ที่ได้รับสิทธิ์นี้เป็นคนจนจริงหรือไม่ เนื่องจากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ยังคงสูงและใกล้เคียงกันทุกปี แม้จะมีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการช่วยเหลือ
อาจกล่าวได้ว่า แม้โครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้จริงในระยะสั้น แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากขาดการส่งเสริมการสร้างรายได้และอาชีพอย่างจริงจัง ระบบการคัดกรองยังมีช่องโหว่ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนหลุดออกระบบสวัสดิการของรัฐและไม่ได้รับสิทธิ์ ตกหล่นจากการลงทะเบียนถึงครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์เช่นกัน
สาเหตุที่คนจนตกหล่นจากการลงทะเบียนรับสวัสดิการของรัฐมีหลายประการ อาทิ กลุ่มเป้าหมายคนจนในกลุ่มที่เป็นผู้เปราะบางที่อยู่กับบ้าน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง อาจมาด้วยตนเองไม่ได้ หรือแรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม จึงเป็นเรื่องยากที่จะคัดกรองได้ว่าจนจริงหรือไม่ ที่ผ่านมา รัฐบาลให้มีการลงทะเบียนที่หน่วยรับลงทะเบียนทั้งธนาคาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเพิ่มการลงทะเบียนออนไลน์ แม้จะดีขึ้น แต่ก็อาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้มีรายได้น้อยบางกลุ่ม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) มองว่า มาตรการนี้บรรเทาได้ระยะสั้น แต่หากจะช่วยทำให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนได้จริง ต้องมีมาตรการระยะยาวควบคู่ซึ่งมาตรการที่ใช้มีหลายรูปแบบ อาทิ การเพิ่มทักษะ การอบรมความรู้ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเองก็ได้เผยไว้เช่นกันว่า การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งมิติการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น อาทิ การออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำใหม่ (Soft Loan) ประกอบกับการเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 70-75% จะช่วยขยับการลงทุนเอกชนในปีนี้ถึง 3.5% ได้จากคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.2% การยืดการชำระหนี้สินเชื่อบ้านให้ยาวขึ้นโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ บรรเทาหนี้ให้ประชาชนและเป็นการรักษาบ้านไม่ให้ถูกยึด หรือการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากขึ้น และมิติการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม การปฏิรูปที่ดินจัดรูปและจัดสรรที่ดินกันใหม่ การบังคับใช้ ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เพื่อทำให้เกิดการใช้ ‘ทรัพยากรที่ดิน’ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการกระจายการถือครองที่ดินใหม่ และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ การมีนโยบายทางด้านประชากรและนโยบายด้านแรงงานที่ตอบสนองต่อความท้าทายไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ใช่หลักประกันเพียงพอที่ทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว สำหรับไทยแล้ว การขจัดการแทรกแซงทางการเมืองด้วยอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนลงอย่างมาก ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงและตอบสนองต่อผลประโยชน์ประชาชนมีความสำคัญ เสถียรภาพของระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว
ส่องนโยบายรัฐบาลเศรษฐา คืบหน้าถึงไหน?
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลายด้าน แต่ความคืบหน้าและผลลัพธ์ยังแตกต่างกันไป โดยกลุ่มนโยายที่ทำแล้วเริ่มเห็นความคืบหน้า อาทิ นโยบายการแก้หนี้นอกระบบ รัฐบาลประกาศปัญหาหนี้นอกระบบเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการประเมินผล โดยมีลูกหนี้ลงทะเบียนกับมหาดไทย 153,400 ราย ไกล่เกลี่ยแล้ว 45,891 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จ 26,756 ราย มูลหนี้ลดลง 1,049.11 ล้านบาท โดยรัฐบาลคาดว่ามีหนี้นอกระบบ 5 หมื่นล้านบาท หรือการพักหนี้เกษตรกร หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระที่มี ต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว จำนวนกว่า 2.69 ล้านราย ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 เกษตรกรแจ้งความจำนง แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน หรือขอคำแนะนำที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา เพื่อทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้
อย่างไรก็ดี นโยบายทางด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ โดยค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 330-370 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 345 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับจังหวัด
ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการนโยบายโครงการฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 500,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 แต่รายละเอียดและความชัดเจนของนโยบายยังคงต้องรอการสรุปต่อไป
รัฐบาลเศรษฐามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ยังคงต้องตรวจการบ้านและจับตาความคืบหน้า ทิศทางและอุปสรรคในการดำเนินงานต่อไป เสถียรภาพทางการเมืองและการขจัดการแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้สำเร็จและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ หากรัฐบาลเศรษฐาไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในภาคเหนือ รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนเหนือก็อาจยังคงจะต้องติดอยู่ในวงจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ต่อไป กลายเป็น ‘วังวนที่หาทางออกไม่เจอ’
อ้างอิง
- เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570
- รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565
- ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2531 – 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม (สศช.)
- อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 ใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ ส่วนแนวโน้มปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน
- ความจริงภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง
- ข้อมูลหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม เป็นรายจังหวัด พ.ศ. 2547 – 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร
- ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564, BBC
- ของแพง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง หลังวิกฤตโควิด-19
- สศช.ชี้ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ไม่ช่วยแก้จน
- ‘บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- บทวิเคราะห์ : 6 ปี “บัตรสวัสดิการ” งบทะลุ 3.3 แสนล้าน ช่วย “คนจน” จริงไหม?
- นักวิชาการชี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 4% ได้ ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจสร้างฐานรายได้ใหม่
- https://policywatch.thaipbs.or.th/policies
- ส่องค่าแรงขั้นต่ำอาเซียน ล่าสุด “ไทย” อยู่อันดับที่เท่าไร ถูกหรือแพง
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂