เรื่องและภาพ: ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์
‘BEING’ คือชื่อของนิทรรศการภาพถ่าย ”ผู้หญิงข้ามเพศ (Transwomen) ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกที่ Siam Center กรุงเทพฯ ไปเมื่อต้นปี 2567 และในขณะนี้กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Sol bar ChiangMai ถนนรถไฟ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2567 โดยเปิดให้เข้าชมฟรีได้ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
กานต์ ทัศนภักดิ์ ศิลปินและช่างภาพเจ้าของผลงาน ‘BEING’ เริ่มต้นชีวิตนักกิจกรรมเมื่ออายุ 16 ปี หลังจากได้เข้าร่วมการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2535 โดยบังเอิญ กิจกรรมส่วนใหญ่กิจกรรมที่เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวจะอยู่ในประเด็นสิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชน ในด้านการถ่ายภาพ กานต์เป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพสารคดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และภาพมลพิษสิ่งแวดล้อมจากอุตสหกรรมเช่น เหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทย การลักลอบทิ้งสารเคมี เพลิงไหม้ โรงงานอุตสาหกรรม
โดยผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ งานนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำ “GRAY Red Shrits” ซึ่งเป็นการบันทึกภาพการชุมนุมครั้งใหญ่ของ “คนเสื้อแดง” ตั้งแต่เดือนมีนาคม – ต้นเดือนพฤษภาคม 2553 ในงานชุดนี้ กานต์บอกว่าจงใจใช้ภาพ “ขาวดำ” ทวงถามถึง “หัวใจ”และมนุษยธรรมของสังคมไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและอคติจากสีเสื้อ โดยเรียกร้องให้กลับมามองที่ “ความเป็นมนุษย์” งานชุดนี้จัดแสดงรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง (2553-2554) ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้
สำหรับนิทรรศการ “BEING” กานต์เล่าว่า เป็นครั้งแรกหลังจากตั้งใจมานานว่าจะทำงานเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในรูปแบบที่ตนเองถนัด เพื่อร่วมผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งในด้านสิทธิและศักดิ์ศรี ทั้งเพราะมองว่า สังคมไทยยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้มากพอ ปัญหาการกดทับสิทธิเสรีภาพ การดูแคลนต่างๆ ต่อเพศอื่นๆ นอกจากชายหญิงตามเพศกำเนิดยังคงมีอยู่มาก และขณะเดียวกันตัวเองซึ่งเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Transman) ก็รับรู้ความเจ็บปวดของคนข้ามเพศ (Transgendered person) ว่าหนักหน่วงเพียงใด จึงต้องการร่วมผลักดัน
BEING
เป็นภาพถ่ายขาวดำในลักษณะ Low-key Photography (พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพจะเป็นโซนมืด) เพื่อสื่อถึงสภาพการดำรงอยู่ของผู้ที่มีเพศสภาพเพศวิถีแตกต่างจากเพศที่สังคมทั่วไปที่นิยามว่า “ปกติ” ไม่ว่าทางกายหรือในด้านของชีวิตจิตใจ โดยนางแบบที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ หรือที่สังคมไทยมักเรียกติดปากว่า “สาวสอง” ทั้งหมด 17 คน ภาพทั้ง 60 ภาพเป็นถ่ายในขณะเปลือยกาย ในสีหน้าท่าทางต่างๆ เพื่อสื่อและขับเน้นความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกเพศ
“LGBTQ+ มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ หรือต่อให้เราไม่ชอบในตัวเราเอง เราก็เกิดมาเป็นแบบนี้แล้ว ดังนั้นเราอยากเห็นความเท่าเทียม ทั้งด้านสิทธิและศักดิ์ศรี ”
ในด้านกฎหมาย กานต์บอกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม” กำลังจะประกาศใช้ ถือเป็นก้าวสำคัญ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องผลักดันต่อ รวมทั้ง พ.ร.บ. “คำนำหน้านามตามสมัครใจ” ที่ถูกสภาฯ ปัดตกไปเมื่อช่วงต้นปี
“บางคนบอกว่ามันเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนแค่กลุ่มเดียว จากที่ผมทำงานเคลื่อนไหวมา กฎหมายใดๆ ก็ให้เฉพาะกลุ่มทั้งนั้น กฎหมายเพื่อชาวนา เพื่อเกษตรกร เพื่อชาวประมง ผมไม่ได้เป็น ชาวนาชาวประมง ผมก็ยินดีอยากให้มีกฎหมายที่ให้ประโยชน์พวกเขา ในเมื่อมันไม่ได้กระทบสิทธิคนอื่น ถ้าถามว่าสังคมได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายเพื่อ LGBTQ+ ผมมองว่าเมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น รู้สึกถึงการกดขี่น้อยลง ศักยภาพที่มีในตัวเขาจะออกมามากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น แล้วพวกเขาคือทรัพยากรบุคคล สังคมได้ประโยชน์แน่นอน”
เมื่อถามถึงผลตอบรับและก้าวต่อๆ ไปของ BEING การตอบว่า มีหลายที่ติดต่อเข้ามาให้นำงานไปแสดง เช่น เชียงราย ลำปาง แต่เขายังหนักใจเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากงานนี้ลงทุนไปกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่แทบไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาเลยเนื่องจากโซเชียลมีเดียถูกผิดกั้นในหลายแพลทฟอร์มทำให้งานไม่เป็นที่รับรู้ หากจะไปต่อก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย
“งานทั้งหมดถ่ายในสตูดิโอห้องมืด เพราะต้องการควบคุมแสง ค่าใช้จ่ายครั้งหนึ่งๆ รวมแล้วอยู่ราว 30,000 – 50,000 บาท ซึ่งเอาจริงไม่มากสำหรับงานโปรดักชั่น และไม่มีค่าตัวผม ไม่มีค่าตัว อ.ภาส (ผศ. ดร.ภาสกร อินทุมาร) แต่เราถ้าเกือบ 20 คิว ยังไม่นับกระบวนการโพสต์-โปรดักชั่น และค่าใช้จ่ายในการจัดงาน มันทะลุล้านตั้งแต่จัดแสดงครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนต้นปีแล้ว ตอนนี้ผมยังเป็นหนี้จากงานนี้อยู่ 7-8 แสนบาท
“ในทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าผมล้มเหลว แต่ถ้าถามผลตอบรับ โดยเฉพาะจาก LGBTQ+ และคนที่เข้าใจ ต้องบอกว่าดีมาก ผู้หญิงข้ามเพศหลายคนบอกว่างานนี้ทำให้เธอรู้สึกภูมิใจในความเป็นผู้หญิงของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสำหรับผม ถ้ามันทำให้คนมีความสุขได้ มันทำสำเร็จในส่วนสำคัญอันหนึ่งแล้ว”
ร่วมสนับสนุนนิทรรศการ #BEING ผ่านทางพร้อมเพย์ 063-595-3642 (กานต์ ทัศนภักดิ์)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...