เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
การปฏิรูประบบราชการแผ่นดินจากดินแดนประเทศราชล้านนามาสู่การปกครองในรูปแบบมณฑลพายัพของรัฐบาลสยาม ดำเนินการผ่านการรวมศูนย์อำนาจและลดทอนอำนาจจากเหล่าบรรดาเจ้านายท้องถิ่นในล้านนาตามขนบของรัฐจารีตแบบดั้งเดิมเพื่อดำเนินการจัดการปกครองตามขนบของรัฐสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ โดยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านภาษีในรูปแบบใหม่ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลายวาระในเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อบังคับและพระราชบัญญัติที่ประกาศออกมานับแต่ปี พ.ศ.2427
สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนทั่วไปในสังคมล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาวนา” ที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อแบกรับภาระในด้านภาษีที่มีมากเกินกว่ากำลัง สำหรับชนชั้นนำในสังคมล้านนานั้นก็ถือได้ว่ามีสถานะเป็นผู้กอบโกยผลประโยชน์จากแรงงานและและผลผลิตส่วนเกินในรูปของภาษีอากร นั่นจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญด้านเศรษฐกิจที่มากำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ในมุมมองแบบซ้าย ๆ ให้ชนชั้นผู้ทำการผลิตอย่างเช่น พวกชาวนาและชนชั้นผู้ปกครองอย่างพวกเจ้านาย กลายมาเป็นเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหลายพื้นที่โดยชาวนาได้มีปฏิกิริยาต่อต้านผ่านรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ต่อนโยบายด้านภาษีที่ออกเป็นกฎหมายจากผู้ปกครองจากส่วนกลางและรัฐบาลสยามที่สร้างผลกระทบมาสู่สังคมท้องถิ่นล้านนาโดยสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากสังคมดั้งเดิมแบบชาวนาที่เน้นการผลิตเพื่อขายให้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบการค้าและเงินตราผ่านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในช่วงเวลาต่อมา
นโยบายด้านภาษีรูปแบบใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในสังคมท้องถิ่นล้านนาเกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนการเก็บภาษีจากผลผลิตเป็นเก็บเป็นเงินที่ใช้ระบบผูกขาดและจัดเก็บโดยเจ้าภาษีนายอากรซึ่งการให้อำนาจผูกขาดแก่เจ้าภาษีนั้นได้มีผลทำให้ชาวนาต้องรับภาระหลายด้าน เช่น การหาตัวเงินมาเสียภาษีแล้วยังถูกเจ้าภาษีนายอากรขูดรีดต่ออย่างหนักอีกเพื่อชดเชยกับการที่ได้สูญเสียเงินค่าประมูลจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังได้มีการเพิ่มประเภทภาษีและเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บมากขึ้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาการต่อต้านจากเหล่าผู้คนในสังคมชาวนาที่ได้มีการต่อต้านขัดขวางด้วยรูปแบบวิธีการหลายอย่าง ตลอดจน มีการพูดคุยในเชิงที่ไม่พอใจดังปรากฏหลักฐานในคำกราบทูลของเจ้าบุรีรัตน์ว่า
“ภาษีต้นพลูนั้น ราษฎรปลูกพลูยังไม่ทันเก็บใบได้ เจ้าภาษีก็เรียกเก็บภาษีทุกต้นไม่เว้น แต่ภาษีสุรายาฝิ่นนั้น เจ้าภาษีคิดอุบายลอบเอาสุราสาโทและยาฝิ่นไปซุกซ่อนที่ใต้ถุนเรือนและยุ้งข้าวของราษฎร แล้วเจ้าภาษีก็ได้จับราษฎร ราษฎรกลัวก็ยอมเสียเงินค่าสินบนคนละ 50 แถบ และข้าเสียเงินค่าปรับไหมให้เจ้าภาษี แต่ภาษีสุกรนั้น ราษฎรมีกิจธุระจะฆ่าสุกรเช่นที่ในเวลาวันนั้นเป็นการเร็ว ครั้นราษฎรจะไปบอกเจ้าภาษีระยะทางก็ไกล ไปบอกหาทันไม่ เจ้าภาษีก็จับปรับไหมเป็นเงินค่าสินบน 50 แถบ และเสียค่าปรับไหมขึ้นภาษีเป็นจำนวนสิ่งของ 3 ต่อกับเสียเงินค่าธรรมเนียมอีก 6 แถบ ภาษีต้นยาที่ราษฎรปลูกต้นยานั้น เห็นว่าต้นยาต้นใด ไม่งามสมบูรณ์ถอนทิ้งเสีย เจ้าภาษีก็จับปรับไหมตามจำนวนยาที่ถอนทิ้ง ต้นหนึ่งเป็นเงิน 50-60 แถบ ถึง 100 แถบ ก็มี ราษฎรไม่มีเงินจะเสีย ก็จะต้องขายบุตรภรรยาและกู้ยืม เสียค่าปรับไหมแก่เจ้าภาษี ภาษีนานั้นเจ้าภาษีเอาเชือกรางวัดที่นาราษฎรทำอ้อมป่าไม้ที่ดอน จอมปลวกหรือตอไม้ใหญ่ ๆ เจ้าภาษีก็ไม่คิดหักเนื้อที่นาให้คิดเอาเนื้อที่ตามเส้นเชือก ที่รางวัดไร่ละสลึงเฟื่อง พอราษฎรไม่มีเงินเสีย เจ้าภาษีก็เอาตัวไปจำนำทำโทษต่าง ๆ แต่ภาษีขอออกนั้นราษฎรจะเอาสินค้าต่าง ๆ เป็นต้นว่า ใบเมี่ยงและหมากพูลก็ดี ออกจากเมืองนครเชียงใหม่ไปรับพระราชทานหรือไปขายในเมืองอื่นที่อยู่ในพระราชอาณาเขตหรือเอาสิ่งของที่หัวเมืองในพระราชอาณาเขตเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เจ้าภาษีก็เรียกเก็บภาษี เช่น ภาษีเข้า-ออกทุกอย่าง” เอกสารจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ 5 ค.14.4/1 หนังสือเจ้าบุรีรัตน์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 29 มีนาคม รศ.108
การออกพระราชบัญญัติให้มีการเก็บเงินคนละ 4 บาทจากราษฎรในอัตราที่เท่ากันหมดทั่วท้องถิ่นล้านนา โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางฐานะและชนชั้นทางสังคมในโครงสร้างอย่างดั้งเดิมนั้นจึงเป็นกฏเกณฑ์ที่ส่งผลให้ราษฏรไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันท่วงที ในทางกลับกับได้ส่งผลให้ราษฎรจำนวนมากต้องประสบความเดือดร้อนในการหาเงินมาเสียแทนการเกณฑ์แรงงานบางรายปรากฏว่าเมื่อเสียเงินแล้วยังถูกเกณฑ์แรงงานอีกโดยได้หลักการและหลักเกณฑ์อันควรจะมีอย่างแน่นอนจากเจ้าภาษีทำให้การถูกเกณฑ์ไปทำถนนหรือสร้างสะพานเกิดขึ้นโดยไร้ค่าตอบแทนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ
มิหนำซ้ำขั้นตอนการเก็บภาษีที่มีขึ้นยังส่งผลให้ราษฎรต้องคอยพานพบกับปฏิกิริยาการแสดงอาการดูถูก ดูหมิ่นและเหยียดหยามของเจ้าหน้าที่กรมการแขวงที่ทำการเก็บภาษีที่มีการดำเนินการเป็นไปอย่างเข้มงวดกวดขันและไม่ผ่อนปรนใด ๆ ความตึงเครียดระหว่างนโยบายด้านภาษีที่มาพร้อมกับการก่อตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่นี้จึงเป็นที่มาของความตึงเครียดและความเกลียดชังของราษฎรที่มีต่อเจ้าหน้ารัฐตลอดจน สั่งสมบ่มเพาะให้กลายเป็นความไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลสยามส่วนกลางมากขึ้น ผู้คนในสังคมล้านนาโดยเฉพาะที่เป็นชาวนามีปฏิกิริยาไม่พอใจต่อนโยบายภาษีขูดรีดของรัฐบาลส่วนกลาง พยายาม หลบเลี่ยงภาษีหยุดเพาะปลูกผลผลิต หรือปลูกน้อยลง เรียกร้องความเป็นธรรม ต่อด้าน คัดค้าน กระทั่งจับอาวุธต่อสู้เป็นกบฏต่อรัฐบาลเพราะสาเหตุมาจากนโยบายภาษีทำให้ การผลิตเพื่อขายไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีในช่วงปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ ทำให้การผลิตเพื่อยังชีพหรือการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ของชาวนา ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อขาย และทำให้ชาวนาภาคเหนือเข้าสู่ระบบการค้าในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาขั้นต่ำสุดและมีทั่วไปในหมู่ชาวนากลับกลายเป็นคือ มีเสียงบ่นและกร่นด่าที่มีอยู่ทั่วไปผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นลูกหลานชาวนาดั้งเดิมในพื้นที่ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังวา ปู่ของแกเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านเล่าให้แกฟังอีกทีหนึ่งว่าสมัยก่อนหน้าย้อนกลับไปตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่ของเขานั้น มีคนจีนมาทำหน้าที่เก็บภาษีแต่พอมาถึงรุ่นปู่ของเขาที่เป็นผู้ใหญ่บ้านการเก็บภาษีเริ่มมีการปรับตัวให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้นมีแล้วภาษีที่กระทบกระเทือน ทั้งนี้ได้เปลี่ยนกลายมาเป็นให้ประชาชนทั่วไปเสียเงิน 4 บาท (ผู้เขียนเข้าใจว่า คือ เงินรัชชูปการ ) เงินจำนวนนี้หากคนที่มีก็ไม่ถือว่าเดือดร้อน แต่สำหรับคนที่ไม่มีก็คงรู้สึกลำบากเดือดร้อนเพราะนอกเหนือไปจากภาษีรัชชูปการแล้วยังต้องเสียภาษีนา ภาษีปลูกยาสูบถึงราคาไร่ละ 4 บาท ตลอดจนต้องต้องหาเงินไปเสียภาษีหลายอย่างให้หลวง
ขณะที่ระบบเจ้าภาษีนายอากรปรากฏให้เห็นว่าบ่อยครั้งคราวว่าเจ้าภาษีนายอากรมักใช้อำนาจกดขี่ขูดรีดราษฎรในหลากหลายกรณีจนเป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นที่ส่วนหนึ่งได้เลือกใช้วิธีการร้องเรียนต่อทางการว่าเจ้าภาษีนายอาการส่วนหนึ่งนั้นได้แสวงหาประโยชน์ทับซ้อนผ่านการให้เจ้าภาษีนาเก็บภาษีนาเกินพิกัดเท่าตัว คือ เก็บไร่ละสองสลึงซึ่งแต่เดิมเก็บไร่ละหนึ่งสลึง ประเด็นนี้ได้มีผู้ร้องเรียนต่อเจ้าบุรีรัตน์ ผู้รับผิดชอบกรมนาแห่งพระนครเชียงใหม่ ขณะที่นครลำปางพบเอกสารหลักฐานคำร้องทุกข์ถึงเจ้าหลวงนรนันทไชชวลิตถึงความทุกข์ร้อนในหมู่ราษฎรว่าไม่มีเงินเสียภาษีที่ยังค้างอยู่ก็มี ผู้คนกินกลอยและกล้วยแทนข้าวอยู่ในทุกวันนี้ เงินที่จะซื้อข้าวมากินก็บ่มี
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลส่วนกลางจึงได้ส่งพระยาทรงสุรเดชขึ้นมาจัดการหัวเมืองล้านนาโดยมีจุดมุ่งหมายในการรักษาผลประโยชน์ที่สูญเสียไปในมือของเจ้านายท้องถิ่นและเจ้าภาษีที่ร่วมกันฉวยใช้ประโยชน์จากภาษีอากร แม้การร้องเรียนบางปัญหาจากท้องถิ่นไปยังส่วนกลางไม่ประสบผลสำเร็จมากนักหลังจากได้ร้องเรียนแล้วแต่กลับพบว่า ทางการไม่ได้สนใจปัญหา ก็จึงได้มีการเลิกปลูกผลผลิตนับแต่นั้นมาปฏิกิริยาร้องเรียนต่อทางการนับเป็นการต่อสู้เปิดเผยในระดับที่เหมาะสมซึ่งหากปัญหาอันเนื่องมาจากนโยบายด้านภาษีมีมากขึ้น “การอพยพ” โยกย้ายถิ่นฐาน ก็คงเป็นอีกทางออกหนึ่งของผู้คนสังคมชาวนาของล้านนา ณ ห้วงเวลาขณะนั้น ซึ่งหากเมื่อมีเหตุการณ์จำเป็นและบีบบังคับ การอพยพของผู้คนก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น การเก็บภาษีขูดรีดของเจ้านายท้องถิ่นหรือข้าราชการสยามที่เข้ามาใหม่ได้มีผลทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งไม่ยอมเสียภาษีและไม่ยอมถูกเกณฑ์แรงงานบางหมู่บ้านจะมีชาวนาใช้วิธีหลบหนีซ่อนตัวอยู่ในป่า ขณะที่บางรายเลือกที่จะตั้งหลักแหล่งอยู่ในป่าไม่ยอม กลับเข้าหมู่บ้านอีกเลย และมีผู้คนส่วนหนึ่งซึ่งได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งในเขตประเทศเมียนมาในปัจจุบัน
ขณะที่การเรียกร้องสิทธิ์หรือมาตรการด้านภาษีที่ดีกว่าอาจมีความรุนแรงถึงชั้นประท้วงและเสียเลือดเนื้อยกตัวอย่างเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2443 ที่รัฐบาลสยามได้ประกาศยกเลิกการเกณฑ์แรงงานและให้เก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ปีละ 4 บาทนั้น แต่รัฐบาลก็มีสิทธิ์ในการเกณฑ์แรงงานเพื่อทำงานสาธารณะ เช่น สร้างถนน ขุดคลอง ซ่อมแซมรักษาเสาโทรเลขและรับส่งสิ่งของทางราชการ โดยรัฐมีนโยบายว่าการเกณฑ์แรงงานต้องพยายามไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการประกอบอาชีพและต้องจัดหาเสบียงอาหารให้แก่ราษฎร ถ้าเกณฑ์แรงงานเพื่อทำงานในต่างตำบลกับภูมิลำเนาเดิม แต่ถ้าตำบลเดียวกันไม่ต้องจัดเสบียงอาหาร การเกณฑ์แรงงานทุกครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมักรายงานว่า ประชาชนทำงานสาธารณะด้วยความเต็มใจ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งชาวนาก็ขัดขืนไม่ยอมทำงานสาธารณะโดยอ้างว่าเสียเงินค่าแรงแทนเกณฑ์แล้วจึงไม่ต้องทำอะไรอีก ช่วงเวลาดังกล่าวชาวนาในเมืองลำปางหลายร้อยคนได้ก่อการประท้วงต่อการเกณฑ์แรงงานถึงระดับขั้นรุนแรงมากจนมีการนองเลือดและเสียชีวิตเช่นใน พ.ศ.2445
ขณะที่ชาวนาแขวงแม่งัด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ก็ได้ขัดขืนการเกณฑ์แรงงานทำถนน พระยาเพ็ชร ผู้มีตำแหน่งเป็นนายแขวงแม่งัดจึงเรียกชาวนาผู้ขัดขืนเหล่านั้นไปพบ เป็นเหตุให้พ่อแคว่น (กำนัน) แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ได้นำชาวนาจำนวนประมาณ 600 คนเศษเดินทางไปพบตามคำสั่งของนายแขวง โดยที่ นายแขวงก็มีความโกรธเคืองอย่างมากที่กำนันไม่นำชาวนามาปฏิบัติงานทำถนนตามคำสั่ง “จึงได้เอารองเท้าตบหน้านายแคว่น จึงชลมุนเกิดความวุ่นวายกันขึ้น” พระยาเพ็ชรจึงได้สั่งให้ตำรวจยิงผู้มาชุมนุมก่อการประท้วง ปรากฏว่ามีคนถูกยิงตายจำนวน 5 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 คน (เอกสารหอจดหมายเหตุ ร.5 ม.58/21 ราษฎรขัดขืนไม่ยอมทำตามคำสั่งทางราชการ) การประท้วงการเกณฑ์แรงงานนั้นได้มีผู้นำชักชวนให้ชาวนาทำการต่อต้านคำสั่งของรัฐบาล
ต่อมาในปีเดียวกันกับการเกิดการเจรจาที่แขวงแม่งัดนั้น ชาวนาในแขวงแม่ลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน มี นายคำบาง นายบัน นายนวม เป็นผู้ชักนำชาวนาไม่ให้ไปรักษาการณ์ที่แขวงแม่กก เมืองเชียงราย ซึ่งทำให้พระพลอาไศรย นายแขวงแม่ลาว สั่งให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านนำบุคคลทั้ง 3 คนมาที่ที่ทำการแขวง ซึ่งหัวหน้าทั้ง 3 คน พร้อมด้วยชาวนาเป็นจำนวนมาก ได้มีอาวุธครบมือ จึงได้มาที่แขวงตามคำสั่ง นายแขวงได้สั่งให้ชาวนาปลดอาวุธ แต่ชาวนาไม่ยอม นายแขวงจึงไม่ยอมเจรจาแล้วจึงสั่งให้ชาวนากลับไปท่ามกลางเสียงให้ร้องของกลุ่มผู้ประท้วง (เอกสารหอจดหมายเหตุ ร.5 ม.58/21 ราษฎรขัดขืนไม่ยอมทำตามคำสั่งทางราชการ)
ข้อมูลที่ผู้เขียนได้ประมวลมาข้างต้นนี้มีที่มาหลายแหล่ง ทั้งงานวิจัย วิทยานิพนธ์และเอกสารชั้นต้นที่ได้จากการสืบค้นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นความไม่ลงรอยระหว่างนโยบายทางด้านภาษีที่มาพร้อมกับการก่อร่างสร้างรูปรัชสมัยใหม่และวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมแบบเกษตรกรรมของผู้คนในสังคมล้านนาความไม่ลงรอยที่ว่านี้ได้ส่งผลให้กลายมาเป็นความขัดแย้งและการต่อต้านของผู้คนที่เกิดขึ้นมาในทั่วทุกหัวระแหง บางเรื่องเล่าไม่ได้อยู่ในความทรงจำว่าด้วยการต่อต้านกระแสหลักอย่างกบฏเงี้ยวหรือกบฏพญาผาบ อย่างเช่นกบฏชาวนาที่มีขึ้นในหลายๆพื้นที่ทั้งแขวงเมืองเถิน นครลำปางแขวงแม่งัด นครเชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งในแขวงแม่ลาว เมืองเวียงป่าเป้าที่ขึ้นตรงกับหัวเมืองเชียงราย ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงการปฏิเสธการเข้ามาครองอำนาจรัฐสมัยใหม่จากผู้คนในท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งการกบฏเป็นปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดของชาวนา
ทั้งนี้เรื่องราวกบฏชาวนาในภาคเหนือล้วนมีแกนเรื่องอยู่ที่การต่อต้านระบบการเก็บภาษีอากรของรัฐบาลหรือเจ้านายท้องถิ่นผู้ทารุณต่อชาวนาผู้ไม่มีเงินเสียภาษี แม้ว่าชาวนาจะถูกควบคุมอย่างเหนียวแน่นทางด้านวัฒนธรรมและกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง แต่บางครั้งการแบกภาระอันหนักอึ้งเกินไปนั้นเป็นผลทำให้ชาวนาไม่สามารถที่จะทนแบกภาระต่อไปได้ การลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจชนชั้นผู้ปกครองบางครั้งก็ประสบชัยชนะ บางครั้งก็ถูกปราบปรามได้อย่างราบคาบ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปกติวิสัยในประวัติศาสตร์ชาวนาเรื่อยมาซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะหยิบยกเอาเรื่องราวของเหตุการณ์กบฏพญาผาบ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ของอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2432 สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2413 – 2430) เป็นเจ้าผู้ครองนคร เชียงใหม่ ซึ่งตรงกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฏมูลเหตุจากตัวละครแรกผู้มีชื่อว่า “น้อยวงษ์” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าภาษีต้นหมาก มะพร้าว พลู ในแขวงเมืองนครเชียงใหม่ โดยราษฎรซึ่งปลูกพืชดังกล่าวต้องจ่ายเงินให้แก่น้อยวงศ์ เจ้าภาษีทุกคน ส่วนราษฎรบางคนก็ไม่มีเงินเสียให้เจ้าภาษีจะจ่ายให้เป็นทรัพย์สมบัติอย่างอื่นแทนเงิน แต่พวกเจ้าภาษีก็ไม่ยินยอม โดยในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2432 พวกเจ้าภาษีตัวแทนของน้อยวงษ์ ซึ่งประกอบด้วยน้อยจู น้อยจันต๊ะ น้อยโปทา และหนานมหาวัน ได้ไปจัดเก็บภาษี หมาก พลูและมะพร้าว ที่แคว้นหนองจ๊อม แต่อ้ายตั๋น อ้ายกองแก้ว อ้ายคำและย่าหล้าไม่มีเงินเสียภาษี พวกเจ้าภาษีจึงจับกุมบุคคลทั้ง 4 จองจำแล้วใส่ขื่อไว้ที่มือและเท้าไว้ ที่บ้านนายแคว้นหนองจ๊อมจนต้องทนทุกข์ตากแดดตากฝนประมาณ 4-5 วัน
การกระทำอันเป็นไปอย่างทารุณของพวกเจ้าภาษีครั้งนี้ทำให้ชาวนาในหมู่บ้านโกรธแค้นมากและได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษา “พญาผาบ” ผู้นำชาวนาผู้ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือในหมู่บ้านสันป่าสัก ซึ่งอายุประมาณ 50 ปี พญาผาบก็รับอาสาที่จะเป็นหัวหน้าในการกำจัดเจ้าภาษีครั้งนี้ ซึ่งในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2432 พญาผาบได้ประชุมชาวนาประมาณ 300 คนเศษ เพื่อต่อต้านเจ้าภาษีและได้สั่งให้หนานปัญญา ขุนเมือง คุมกำลังคน 50 คน ไปถอดถอนเครื่องจองจำของทั้งอ้ายคำ อ้ายกองแก้ว อ้ายต้นและย่าหล้า จากนั้นก็ได้รวบรวมชาวนาไว้ต่อต้านเจ้าภาษี เพราะเจ้าภาษีโกรธแค้นในการกระทำของชาวนากลุ่มพญาผาบมากและได้ข่มขู่ว่าจะนำกำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ที่ต่อต้านและชาวนาคนอื่น ๆ ผู้ซึ่งไม่มีเงินเสียภาษี ด้วยความหวาดกลัวชาวนา จึงได้มารวมตัวกันมากขึ้นประมาณกำลังทั้งหมดราว ๆ 2,000 คนและได้มีบุคคลระดับหัวหน้าแคว้น (ตำบล) เข้าร่วมด้วย ได้แก่พระยารัตนคูหา พระยาชมภู พระยาจินใจ
ในวันที่ 15 กันยายน ขุนนางไทยในเมืองเชียงใหม่ได้ส่งขุนนางพื้นเมืองเพื่อมาเจรจากับพญาผาบ แต่พญาผาบหายินยอมไม่ โดยในวันที่ 19 กันยายนปีเดียวกันนั้น ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ก็ได้สั่งระดมพลเครียมพร้อม ได้กำลังคนประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาจากลำพูนและลำปาง โดยเมืองเชียงใหม่ได้วางกำลังเหล่านี้ไว้นอกกำแพงเมืองทางตะวันออก ขณะที่กองทัพชาวนาของพญาผาบก็เตรียมพร้อมเช่นเดียวกันและประมาณการณ์ว่าไม่เกินย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2432 จะยกกองกำลังเข้ายึดนครเชียงใหม่ ต่อจากนั้นก็ให้พระวัดบ้านแพะและพระวัดบ้านหนองไคร้ เข้ามาสืบข่าวในเมืองเชียงใหม่ครั้นได้ข่าวว่าเมืองเชียงใหม่เตรียมพร้อม พระยารัตนคูหา จึงตีฆ้องกลองขึ้นเพื่อเรียกชาวนามาประชุมที่บ้านพญาผาบ
แต่ชาวนามิได้เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันจึงไม่สามารถยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ ดังนั้นในวันที่ 21กันยายน พ.ศ. 2432 เจ้าพระยาพลเทพ ข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่จึงได้สั่งเจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน์ ยกพลออกไปจับกุมพญาผาบ แต่พญาผาบและครอบครัวหลบหนีไปได้ คงจับได้แต่พญารัตนคูหา พระยาจินใจและชาวนาที่ก่อการกับพญาผาบ โดยปราศจากการต่อสู้ขัดขวาง) ชาวนาระดับหัวหน้าถูกลง โทษประหารชีวิตและชั้นผู้น้อยได้รับโทษลดหลั่นกันลงมา ขณะที่ทรัพย์สินไร่นาของฝ่ายกบฏถูกหลวงริบจนหมดสิ้น มิหนำซ้ำญาติพี่น้องของพวกกบฏก็ถูกกวาดต้อนเข้าไปในเมือง เชียงใหม่ เพื่อเป็น “ขี้ข้า” เจ้านายและขุนนางในเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งเลิกทาสจึงได้รับการปลดปล่อยตัว แต่สำหรับชาวนาที่มิได้หลบหนีไปกับพญาผาบและถูกจับได้ก็ถูกส่งตัวพิจารณาโทษ กลุ่มหัวหน้าชาวนา เช่น พระยารัตนคูหา พระยาจินใจ และพรรคพวกทั้งหมดรวม 11 คน
“มีความผิดเป็นอุกฤษฏ์โทษ ให้ริบราชบาท ลงพระราชอาญาสามยกเก้าสิบที เอาตัวประจารตะเวนสามวันแล้วประหารชีวิตเสีย สำหรับพวกกบฏอื่น ๆ อีก 15 คน ถูกลงโทษโดยการเฆี่ยน 60 ที แล้วจำคุกไว้จนตายหรือจนกว่าจะเช็ดหลาบบ้าง”
ฝ่ายพญาผาบหลังจากที่ได้หลบหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ก็ได้มุ่งหน้าสู่เมืองเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงตุงได้ให้การอุปถัมภ์ค้ำชูเป็นอย่างดีโดยได้ให้เงิน ม้า ปืน เสบียงอาหาร ตลอดจนอนุญาตให้ชาวเมืองเชียงตุงเข้าร่วมเป็นพรรคพวกได้ แม้ว่ามีข่าวลือเกี่ยวกับพญาผาบในการหลบหนีไปอยู่อาศัยไกลถึงนครเชียงตุง ฝ่ายทางนครเชียงใหม่มีการทำหนังสือขึ้นไปสอบถามความก็ได้รับการปฏิเสธ ว่าทางเชียงตุงมิได้สมคบคิดกับกองกำลังของพญาผาบแต่ประการใด พญาผาบได้เข้ามายังเมืองเชียงตุงจริงแต่ก็ได้เดินทางออกไปแล้ว ขณะเดียวกันสงครามข่าวลือก็เริ่มทำหน้าที่ด้วยมีการโหมข่าวว่าพญาผาบจะเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่โดยจะยกกำลังไพร่พ้นจากมึงเชียงตุงมามากถึง 12,000 คน เพื่อกำจัดเจ้าภาษีและปลดปล่อยเมืองเชียงใหม่ให้เป็นอิสระจากกรุงเทพฯ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็มิได้เป็นความจริง เพราะพญาผาบมิได้มีกองกำลังจำนวนมากมายมหาศาลถึงเพียงนั้น อย่างไรก็ตามข่าวลือก็มิใช่ว่าจะไม่มีมูลความจริง ทั้งนี้เพราะหลังจากที่พญาผาบได้พักอยู่ที่เมืองเชียงตุงจนกระทั่งสามารถรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ 300 คน พร้อมด้วยเสบียงอาหารเรียบร้อยแล้วก็ยกพลออกจากเมืองเชียงตุง มุ่งมายังเมืองพร้าว โดยได้มีการปะทะกับกองกำลังของเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ที่มีจำนวนประมาณ 1,000 คน ผลของการปะทะที่บริเวณดอยกิ่วนก แขวงเมืองพร้าว ทำให้พญาผาบต้องพ่ายแพ้และหนีกลับไปยังเมืองเชียงตุงอีก โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงตุง ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองโกซึ่งอยู่ในความปกครองของเชียงตุงตราบสิ้นอายุขัย
ปฏิกิริยาต่อต้านนโยบายภาษีในช่วงปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพตามรูปแบบ วิธีการ ข้างต้นตั้งแต่ ขั้นเบาที่สุดจนกระทั่งขึ้นหนักที่สุดนี้ สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจของชาวนาในสังคมล้านนาที่มีต่อนโยบายภาษีที่ปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากเวลาผ่านมาแล้วถึงร้อยกว่าปีแล้ว การบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเวลานั้นอาจไม่ครบถ้วน ความเป็นจริงแล้วชาวนามีปฏิกิริยาคัดค้านการเก็บภาษีและการขูดรีดหลายครั้งและหลายวิธีการแต่การจดบันทึกไม่ดีพอหลักฐานที่ได้จากการเล่าเหตุการณ์ ตลอดจนประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เป็นบาดแผลระหว่างล้านนากับสยามที่ถูกบอกเล่ากันผ่านปากต่อปากมากกว่าในที่สุดก็เลือนหายไป
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า