เลยมา 3 เดือน ‘สวนสาธารณะตลาดต้นลำไย’ สร้างไม่ทันตามสัญญา งบ 7,477,000 บาท รัฐไร้คำตอบ

23 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าว Lanner ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่กาดหลวงจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณ ‘สวนสาธารณะตลาดต้นลำไย’ พื้นที่ที่มีการผลักดันของประชาชนชาวเชียงใหม่ในช่วงปี 2562-2564 ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ จากการสำรวจพื้นที่พบว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการการก่อสร้างและยังไม่แล้วเสร็จ พบป้ายประกาศของเทศบาลนครเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในนาม ‘โครงการก่อสร้างสวนสุขภาพบริเวณตรงข้ามตลาดดอกไม้ (สวนน้ำปิง)’ โดยมี บริษัท เพชรไชยา แคปปิตอล จำกัด เลขที่ 34/4 หมู่ที่ 1 ตำบล โมถ่าย อำเภอ ไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง 

จากข้อมูลของป้ายประกาศเผยว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 7,477,000 บาทสัญญาในการก่อสร้างเริ่มต้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 6 เมษายน 2567 ซึ่งปัจจุบัน (23 กรกฎาคม 2567) จะพบว่าสัญญาในการก่อสร้างนั้นผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือน 

โดยในอดีตพื้นที่ดังกล่าวได้มีประชาชนชาวเชียงใหม่ และภาคประชาสังคมได้ออกมาผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะหากย้อนกลับไปช่วงปี 2562-2564 ประชาชนชาวเชียงใหม่ และภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการด้านเมือง ได้ออกมาผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ อาทิ Public Space Skatepark ได้มีการหารือและผลักดันร่วมกันกับเทศบาลนครเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง 

ภาพ: เชียงใหม่นิวส์

ยกตัวอย่างในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 กลุ่มเชียงใหม่ดวงใจสเก็ตบอร์ด ได้จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ พัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะ บริเวณด้านข้างตลาดดอกไม้ ซึ่งอยู่ติดบริเวณลำน้ำปิง (สวนสาธารณะตลาดต้นลำไย) ให้เป็นพื้นที่ใช้สอยในการเล่นกีฬาสเก็ตบอร์ด รวมไปถึงเพื่อการใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากในตอนนั้นพื้นที่ดังกล่าวมีความเสื่อมโทรม ภายหลังการเรียกร้อง ในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 พลโท ภาณุ โรจนวสุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในขณะนั้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ มีการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มเชียงใหม่ดวงใจสเก็ตบอร์ด เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เครือข่ายย่านถนนช้างม่อยและสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอ เพื่อหารือในการปรับปรุงสวนสาธารณะตลาดต้นลำไยให้เป็นสวนสาธารณะในรูปแบบ Skatepark

หรือในปี 2564 ก็มีการผลักดันพื้นที่ดังกล่าวจากภาคประชาชน เทศมนตรีนครเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ นครแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน”อย่างในวันที่ 8 กันยายน 2564 อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยทีมงานออกแบบ อาทิ ตัวแทน Chiang Mai Learning City และตัวแทน ใจบ้านสตูดิโอ ได้มีการแถลงข่าวและบอกเล่าแนวทางพัฒนาสวนสาธารณะตลาดต้นลำไย เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ สร้างให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมืองที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ และเกิดพื้นที่/กิจกรรมการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้เกิดนิเวศของนครเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) อย่างเป็นรูปธรรม

ภาพ: เทศบาลนครเชียงใหม่

ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ก็ได้มีการแถลงข่าวความก้าวหน้าการพัฒนาสวนสาธารณะตลาดต้นลำไยอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ จิโรจน์ โรจนเสาวภาคย์ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่เล็งเห็นว่าพื้นที่นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวเชียงใหม่และเป็นปอดแห่งใหม่ที่ดีที่สุด เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อออกแบบงานก่อสร้างออกมาสมบูรณ์แล้ว ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ก็จะนำเข้าสู่แผนงบประมาณปี 2565 ซึ่งตั้งงบฯไว้ประมาณ 4 ล้านกว่าบาท และรออีกประมาณ 3 เดือนก็จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

พื้นที่สวนสาธารณะตลาดต้นลำไยในปัจจุบัน (23 กรกฎาคม 2567)

แต่ในปี 2567 พื้นที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความงุนงงให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ผนวกกับข้อมูลที่ยกมานั้นชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนชาวเชียงใหม่เรียกร้องให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างแท้จริง โดยมีเทศบาลให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่จากกรณีที่ป้ายประกาศดังกล่าวระบุไว้ว้า โครงการดังกล่าว สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 6 เมษายน 2567 ที่ถือว่าล้าช้ามานานกว่า 3 เดือน นั้นอาจจะสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนที่เรียกร้อง ว่าเกิดอะไรขึ้น? โครงการล้มเลิกหรือไม่? จะมีการดำเนินโครงการต่อไหม? หรือกำลังแผนผังให้ดีขึ้น?

นี่อาจจะเป็นคำถามต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าว ที่ควรจะออกมาตอบคำถามต่อกรณีดังกล่าวเพื่อเคลียร์ความชัดเจนว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ต่อประชาชนชาวเชียงใหม่ที่รอคอยในการจะใช้พื้นที่ดังกล่าวอย่างใจจดใจจ่อและมีความหวัง…

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง