“เพราะเฮี้ยน จึงถูกอำพราง” หินตั้ง หินใหญ่ในศาสนาผี

เรื่อง: สมหมาย ควายธนู

ภาพ: หินตั้งกับใบเสมาหินที่ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ภาพจาก กฤษฎา นิลพัฒน์

‘หินตั้ง’ ที่พูดถึงในที่นี้ อาจไม่ได้หมายถึง ก้อนหินที่วางประดับอยู่ในสวน ซึ่งทำหน้าที่ตกแต่งสเปซให้ดูกลมกลืนและสามารถนั่งพักอิงหลับได้อย่างสบายเท่านั้น แต่เป็น ‘หินตั้ง’ ในวัฒนธรรมหินใหญ่ (Megalith) ทั้งที่เป็นก้อนเดี่ยว ๆ ในธรรมชาติ หรือเป็นแผ่นหินมีลักษณะเป็นโลงสี่เหลี่ยมที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และแบบที่เป็นหินหลาย ๆ ก้อนจัดวางเป็นเนินหินรูปวงกลม ฯลฯ  ที่เราอาจเคยได้มองผ่าน ๆ หรือไม่ทันสังเกตว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอำนาจทางศาสนาได้เลย

อาจสงสัยว่าหน้าตาและกิจกรรมของคนที่เกี่ยวกับ megalith เป็นอย่างไร ในหนังสือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เล่าว่า Megalith เป็นวัฒนธรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่นำหินมาก่อสร้าง เป็นที่รู้จักกันอย่าง แท่นหินสโตนเฮนจ์ในอังกฤษ ทุ่งไหหินในลาว หรือใบเสมาหินที่ปักอยู่รอบอุโบสถ ฯลฯ โดยหินตั้ง หินใหญ่แบบต่าง ๆ มีการทำสืบเนื่องในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งพื้นทวีปและหมู่เกาะในอุษาคเนย์ สำหรับเป็นพื้นที่ชุมนุมของผู้คนในชุมชนนั้น ๆ บางแห่งมีการใช้เป็นสัญลักษณ์ของหลุมฝังศพหัวหน้าชุมชน และบางแห่งก็ใช้เป็นพื้นที่หรือลานพิธีกรรมบูชาผีบรรพชนที่เชื่อมต่อระหว่างคนตายกับคนเป็น (ให้เข้าทรงผ่านร่าง) มีฤทธิ์อำนาจดลบันดาลทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในฟ้าฝน สำหรับเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่า หินตั้ง หินใหญ่เกี่ยวกับพิธีกรรมในศาสนาผีที่เป็นการจัดระเบียบสังคมในอดีตอย่างมหาศาล

ภาพ: โลงหิน บ้านวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ที่สันนิษฐานว่ามีการใช้เป็นที่พักร่างของศพ ก่อนนำไปทำพิธีกรรมอีกครั้ง

จนเมื่อติดต่อกับอารยธรรมใหญ่อย่างอินเดีย นำมาสู่การเดินทางของพ่อค้า นักบวช พร้อมกับการขยายตัวของการค้าทองแดง โลหะต่าง ๆ และของป่า รวมไปถึงการเข้ามาของศาสนาอย่างพุทธและพราหมณ์ในดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งต้องต่อรองกับคนพื้นเมืองเพื่อปกครอง จึงมีเรื่องเล่าและพิธีกรรมหลงเหลืออยู่ ทั้งเรื่องพระทองที่เป็นเจ้าชายจากภายนอก เข้ามาปราบนางนาคที่เป็นผู้หญิงพื้นเมืองหัวหน้าชุมชน จนกระทั่งแต่งงานกันในตำนานเกี่ยวกับการสร้างรัฐใหญ่ ๆ ในอุษาคเนย์ เช่น เขมร

ขณะเดียวกันการเข้าไปเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา มีการเรียกผู้ชายก่อนอุปสมบทว่า ‘นาค’ คำว่า ‘นาค’ มีนักวิชาการอธิบายว่ารากศัพท์มาจากภาษาอินโด – ยุโรป หมายถึง คนเปลือย/แก้ผ้า หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง คนพื้นเมืองที่มีสถานะต่ำกว่าในทางวัฒนธรรมในสายตาของกลุ่มคนที่นับถือพุทธหรือพราหมณ์ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในแนวทางศาสนาพุทธได้ส่งผ่านชนชั้นนำไปจนถึงชาวบ้านต่าง ๆ ทำให้ผู้คนที่หลากหลายเชื่อในเรื่องเดียวกัน และเข้าใจว่าสังคมสมัยในอดีต หากเชื่อในสิ่งเดียวกันก็จะสามารถติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมืองด้วยกันได้  (คำอธิบายเรื่อง ‘นาค’ และเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับการต่อรองของคนพื้นเมืองกับอารยธรรมใหญ่อย่างอินเดีย สามารถดูเพิ่มเติมใน นาคมาจากไหน ? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ)

ภาพ: วัดพระธาตุผาเงา เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

กลับมาที่เรื่องของหินตั้ง หินใหญ่ หลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้เดินทางไปวัดพระธาตุผาเงา เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็เกือบไม่ทันสังเกตว่าวัดแห่งนี้มีเจดีย์ที่ก่อสร้างอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังของวัด ด้วยความซนก็เลยชวนเพื่อนไปด่อม ๆ มองๆ จึงมั่นใจ ว่าคงเป็น Megalith ที่คนในอดีตบูชามาก่อน แถมยังเป็นจุดแลนมาร์กสำคัญของคนนานาชาติพันธุ์ใกล้กับแม่น้ำโขง ซึ่งเมืองเชียงแสนเองก็มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคมาช่วยสร้างเมืองด้วย (อาจเป็นคนพื้นเมืองที่มีอำนาจอยู่ก่อน)  ทำให้รู้สึกถึงร่องรอยการปะทะกันของศาสนาพุทธจากภายนอกกับศาสนาผีพื้นเมืองที่อยู่ในแถบนี้ทันที เพราะที่นี่เล่นจับบวชผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พื้นเมืองด้วยการสร้างเจดีย์ทับไว้ เพื่อให้คนพื้นเมืองยังเชื่ออยู่ และเป็นตัวแทนว่า ได้ไหว้พระพุทธเจ้าไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับการปรับเปลี่ยนความเชื่อพื้นเมืองให้กลายเป็นพุทธศาสนา-พราหมณ์ในอุษาคเนย์ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการด้านโบราณคดี – ประวัติศาสตร์ศิลปะเคยเล่าไว้ในบทความ “หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพระนอนและพุทธประวัติตอนปรินิพพาน” ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหินตั้งในอดีตว่า คล้ายเป็นร่างเสมือนของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (บรรพชน) หมายถึงส่วนที่เป็นขวัญ และการเป็นอำนาจแห่งชีวิตที่เชื่อมประชาชนกับชนชั้นนำในเวลาก่อนศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามา จากนั้นเมื่อรสนิยมของชนชั้นนำเปลี่ยนไปนับถืออย่างอื่น จึงมีการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เคยศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองให้เข้ากับศาสนาใหม่ อาทิ การนับถือศิวลึงค์ที่ทำจากหิน การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ในพิธีกรรมเทวราชาของราชสำนักเขมรที่ต้องใช้พราหมณ์พื้นเมืองและเกี่ยวข้องกับขวัญ

ภาพ: ชาวบ้านกำลังไหว้เจ้าที่ภูสะงืด ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

ในภาคเหนืออีกแห่งที่ผมไปเจอหินตั้ง ที่ดอยภูสะงืด จังหวัดน่าน ยามเช้านั้น ชาวบ้านในตำบลบ่อสวก ทยอยเดินขึ้นดอยสูงไปสักการะพระธาตุในงานผ้าป่าประจำปี (หลายปีพอ ๆ กัน ก่อนพระสงฆ์จะเข้าไปพัฒนาเป็นวัดหรือสำนักสงฆ์แบบในปัจจุบัน) ด้วยความไม่รู้ ผมก็ไปไหว้เจดีย์กับพระองค์ใหญ่ ๆ บนดอยด้วย แต่เกิดความสงสัยเมื่อเห็นว่า ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่ไหว้กองหิน ? ก็เลยเดินไปถาม เขาจึงตอบว่าเป็นเจ้าที่ภูสะงืดแท้ ๆ เฮี้ยน อยู่มาก่อนตุ๊เจ้าจะแปงวัด ขออะไร ขอได้เลยศักดิ์สิทธิ์ พลันคิดได้ว่า บริเวณแถบตำบลบ่อสวก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์และอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยรุ่น ๆ ล้านนา ภูสะงืดน่าจะสัมพันธ์กับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสังคมขยายตัวเป็นรัฐแล้วมาก่อนอย่างแน่นอน และในปัจจุบันก็ยังหลงเหลือร่องรอยความเชื่อถึงความเฮี้ยน ความศักดิ์สิทธิ์ไว้ในความทรงจำของชาวบ้านด้วย

จะเห็นได้ว่าการนำความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่เข้าไปสวมทับในศาสนาเดิมกลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างบ่อยครั้ง หินตั้ง หินใหญ่อาจจะอยู่ในจุดที่ขับรถผ่านเมื่อสักครู่นี้ หรือกราบไหว้ในฐานะเจดีย์ไปแล้วก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเพราะพุทธศาสนาอย่างเดียวด้วยนะครับที่อำพรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองไว้อย่างแนบเนียน ในฐานะหลักฐานโบราณคดี หินตั้ง หินใหญ่ก็ถูกอำพรางด้วยเหมือนกัน เพราะไม่แสดงออกถึงความเป็นไทย ที่รัฐไทยจะสามารถจัดวางไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ได้ (ยังมีอีกรอบ ๆ ตัวท่าน) แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องราวของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ช่วยทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นนั้น ๆ  ได้อีกด้วย

เต้นหน้าร้านชำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง