กว่า 23 ปี ที่ ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ หรือ ‘สกน’ ได้ก่อตั้งขึ้น ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน คนจน กลุ่มเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ในนาม เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่สมาชิกของเราเผชิญอย่างแสนสาหัสในระยะเฉพาะหน้า พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมไทยเพื่อส่งเสียงของอย่างเข้มแข็งที่เต็มไปด้วยความหวังให้ถึงสาธารณชนและผู้กุมอำนาจรัฐให้ได้เห็นตัวตนและการดำรงอยู่อย่างเจ็บปวด ตลอดเส้นทางการต่อสู้อันยาวนานนี้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายด้วยความคับแค้น ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินหลายผืนถูกแย่งยึด หลายชีวิตถูกยัดเยียดคดีความอันไม่เป็นธรรมจนต้องติดคุกตะรางสิ้นเนื้อประดาตัว และมีพี่น้อง ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์อันหนักแน่นว่า ‘ที่ดินคือชีวิต’ หาใช่สินค้าให้รัฐบาล หน่วยงานรัฐ และกลุ่มทุนมากอบโกยทำกำไร หลายชีวิตต้องถูกบีบบังคับให้ยากจนและถูกขับออกจากสังคมด้วยโครงสร้างอำนาจรัฐภายใต้การบริหารงานของหลายรัฐบาลซึ่งรัฐบาลเผด็จการหลังการรัฐประหารปี 2557 คือช่วงที่สาหัสที่สุด
จึงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่รัฐและทุนสผานรวมกันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายเปลี่ยนที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ควรเป็นปัจจัยการดำรงชีพของประชาชนให้กลายเป็นสินค้าเก็งกำไร ท่ามกลางการอ้างว่าจะให้สิทธิประชาชนได้เข้าถึงที่ดินทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับแฝงไปด้วยข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ที่ดินหลุดมือจากชาวบ้านที่สอดแทรกมาตรการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตฟอกเขียวให้ทุนใหญ่ผู้ทำลายโลก เกิดการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมทับบนที่ทำกินของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกลับกันรัฐบาลเป็นตัวหลักในการผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งเหมืองแร่และการจัดการน้ำที่สร้างความฉิบหายต่อประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงมากขึ้น
‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ (สกน.) ได้พยายามส่งเสียงเรียกร้องและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นแนวทางแห่งการนำประชาชนคนจนให้หลุดพ้นจากความเสี่ยงในการถูกแย่งยึดที่ดินโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ โดยที่ผ่านมามีการเสนอให้ มีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่เร่งจำกัดเพดานการถือครองที่ดินของเอกชน รวมถึงต้องการ ธนาคารที่ดินที่ตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และโฉนดชุมชนให้เป็นแนวทางหลักในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นรูปแบบการจัดการหน้าหมู่ที่ชาวบ้านมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนโดยไม่ให้ที่ดินหลุดมือ เพียงเท่านี้จึงจะลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่ให้ความสนใจด้วยอำนาจโครงสร้างรัฐที่บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องเข้าสู่การจัดการที่ดินตามกฎหมายของรัฐเท่านั้น
โดย วันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประสานงานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดประชุมสมัชชาประชาจำปีของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ครั้งแรกในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และประกาศอย่างเป็นทางการถึงพี่น้องประชาชนถึงสิ่งที่จะเป็นเข็มมุ่งในการขับเคลื่อนของ สกน. ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากนี้ ดังนี้
1. เราจะมุ่งทำงาน จัดตั้งสร้างความเข้มแข็งให้ฐานสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ทั้งในทางความคิด ฐานเศรษฐกิจ กำลังพล และพื้นที่รูปธรรมการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวต่อสู้อันเข้มข้นเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายภาคประชาชน ตลอดจนต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจรัฐและทุนที่กำลังกัดกินจิตวิญญาณของเราอยู่ขณะนี้
2. เราจะมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของกฎหมาย โดยการ ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ โฉนดชุมชน ซึ่งจะเป็นปราการทางกฎหมายชั้นแรกที่จะปกป้องชุมชนของพวกเราจากการถูกครอบงำ จำกัด และแย่งยึดที่ดินจากกฎหมายของรัฐ
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขอส่งเสียงถึงพี่น้องประชาชนคนจนผู้เดือดร้อนจากนโยบายและกฎหมายด้านป่าไม้-ที่ดินทั้งหลาย เรียกร้องให้ทุกคนคำนึงถึงสิทธิในที่ดินของตนเอง ไม่ถูกหลอกลวงให้เข้าสู่กรอบมาตรการการจัดการที่ดินของรัฐ และร่วมสนับสนุนแนวทางโฉนดชุมชนกับพวกเรา แม้อาจจะไม่ใช่ฐานสมาชิกโดยตรงของ สกน. แต่เรายินดีร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องทุกคน ทุกกลุ่ม ที่มีเจตจำนงและอุดมการณ์แน่วแน่ในแนวทางสิทธิชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้โฉนดชุมชนเกิดขึ้นให้ได้ใน 1 ปีหลังจากนี้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราจะทำให้ได้เพื่อปกป้องผืนดินผืนสุดท้ายของเราเพื่อตัวเราเองและลูกหลานในอนาคต
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...