“เพื่อนข้างบ้าน”

20/06/2022

เนื่องจากวันนี้ (20 มิถุนายน) ของทุกปี เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนและเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันผู้ลี้ภัยในชื่อ “เพื่อนข้างบ้าน” เสวนาโต๊ะกลม ณ ห้องประชุม International Sustainable Development Studies Institute (ISDSI) หรือ Rx Cafe จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 12.30-17.00 น. ที่ผ่านมา ​

เปิดงานด้วยการเกริ่นภาพรวมของสถานการณ์ ปัญหาและความเป็นมาของงานโดย ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาวิชาการสร้างสันติภาพ สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยกล่าวว่า การมองมุมมองหลาย ๆ มุมมองมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคงของชาติ สิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (moral dilemma) ​

จึงอยากเสนอว่า ไม่ควรนำมุมมองหลาย ๆ มุมมองไปมองปัญหาผู้ลี้ภัย โดยให้ทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ควรมองเลนซ์ที่ตัวเองมีอยู่ แล้วมาคุยกันเพื่อไปต่อ แล้วอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องคิดก็คือการมองภาพประเทศไทยเป็นประเทศแบบไหน โดยรัฐไทยต้องเปลี่ยนมุมไม่ใช่มุมมองต่อสังคมโลก แต่ว่าคือมุมมองต่อตัวเองยังไง สบายใจยังไง จะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินไปต่อ เพื่อที่จะได้ไม่ติดกับดักเดิม ๆ ที่เรายังวนเวียนอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่ายที่รัฐไทยนั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ​

ต่อมาเป็นการนำเสนอ วิดีโอ “Friends next door” โดยเนื้อหาของวิดีโอได้กล่าวถึง ปัญหาของผู้ลี้ภัยทางการเมืองและ IDPs หรือผู้พลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความใกล้เคียงหรือเหมือนกันโดยไม่สามารถแยกขาดจากกันได้​

ช่วงต่อมา มีการนำเสนอ ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการจัดการและให้ความคุ้มครองผู้หนีภัยสงครามให้ข้อคิดเห็นโดย สจ.ปัญญา ชาญชาติวีระ (สจ.ตาก) และ ซอ เฮโซ (Karen Peace Support Network) โดย สจ.ปัญญา ชาญชาติวีระ ได้กล่าวถึงปัญหาและข้อจำกัดของปัญหาและการแก้ปัญหาในพื้นที่ในจังหวัดตาก โดยในหลายอำเภอมี ปัญหา บริบท และการแก้ไขปัญหาต่างกัน อีกทั้งนโยบายของทางภาครัฐนั้นมีข้อจำกัดอย่างไร และควรจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่แรกรับในระยะเบื้องต้นหรือระยะเวลาชั่วคราวเพื่อที่สามารถกลับบ้านได้อีกครั้ง ​

ซอ เฮโซ เล่าถึงสถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยง เกิดปัญหาในเรื่องการขาดการสื่อสารของกันและกัน และปัญหาในเรื่องสุขภาพทางจิตใจของคนที่ลี้ภัยมา ทางออกเราคือต้องการกลไกในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย และควรมีการประสานงานระหว่างชุมชนในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา​

และเล่าถึงปัญหาในรัฐกระเหรี่ยงไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิด แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน โดยเล่าต่อไปว่าปัญหา 2021-2022 ว่ามีการใช้ความรุนแรงของภาครัฐพม่ายังไง อีกทั้งยังไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนส่วนข้อเสนอก็คือการประสานที่มันไม่ชัดเจน ถึงแม้จะมีองค์กรและสื่อที่พร้อมจะช่วยเหลือแต่รัฐไทยมีการปิดกั้นพื้นที่ และไม่ได้มีการประสานงานที่ชัดเจน ระหว่างภาครัฐ ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ​

รวีพร ดอกไม้ นักสิทธิมนุษยชนจากชุมชนแม่สอดกล่าวถึง บริบทพื้นที่อำเภอแม่สอด พบพระ แม่ละมาด ว่า 3 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีการจ้างงานของผู้ลี้ภัยแตกต่างกัน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ที่อพยพเข้ามานั้นมีการรองรับทางด้านกฎหมายและในการบริบทในการอพยพแตกต่างกัน โดยแยกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. แรงงานข้ามชาติ 2. ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัย 3. ผู้ประสบภัยทางการเมืองหรือบางคนมองว่าเป็นผู้ลี้ภัยในเมือง หรือบางคนมองว่าเป็น CDM 4. ผู้ประสบภัยตามแนวชายแดนหรือผู้ประสบภัยจากความไม่สงบทางการเมืองหรือเรียก IDPs ก็ได้ และกลุ่มที่ 5 คือ กลุ่มลักลอบเข้าเมือง และอาจจะรวมถึงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย โดย ทั้ง 5 กลุ่มนั้นมีการกรองและจัดการผู้ที่ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง ​

ในวงแลกเปลี่ยนมีข้อเสนอว่า ทางรัฐต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ เสนอมีการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองให้มีความละเอียดมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ลักลอบเข้ามานั้นมีความหลากหลาย เสนอให้องค์กรต่างประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน รัฐไทยไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยส่งตัวกลับ รัฐไทยต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจน จัดการพื้นที่ในการรองรับผู้ลี้ภัย และเกิดการจ้างงานชั่วคราว เสนอให้รัฐไทยเกิดการค้นคว้าวิจัยกับทางองค์กรระหว่างประเทศ และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่เข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน​

มากกว่านั้น ยังมีการเสนอว่าการจัดการที่ชัดเจนที่ดีขึ้นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะสูญเสียไป การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นได้​

ดําเนินการสนทนา โดยฐปณีย์ เอียดศรีไชย (The Reporters)​



เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว​
ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย ​

#วันผู้ลี้ภัยโลก​
#Lanner

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง