เรื่อง: กองบรรณาธิการ
7 สิงหาคม 2567 ภายหลังคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติ 9 ต่อ 0 มติ ที่ผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดี กกต. ร้องศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)
โดยผู้พิพากษาคดียุบพรรคก้าวไกล ในครั้งนี้คือ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คน ดังนี้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, สุเมธ รอยกุลเจริญ, ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุณห์ แสงเทียน, จิรนิติ หะวานนท์, อุดม รัฐอมฤต, นภดล เทพพิทักษ์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรค ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 (เป็นกรรมการบริหารระหว่างที่เกิดการกระทำผิด) ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ทั้งหมด 11 คน จะไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิอื่นๆ อย่างการจดทะเบียนพรรคการเมือง หรือเข้าไปเป็นกรรมการบริหาร ได้แก่
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ
2.ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ
3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล
5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.เขต 1 พิษณุโลก (ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรม)
6.สมชาย ฝั่งชลจิตร
7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
8.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ
9.อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ
10.สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ
11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์
หลังจากนี้ สส. ในพรรคก้าวไกล จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน ทำให้จำนวน สส.ของพรรคก้าวไกลจะเหลือ 143 คน จาก 148 คน จะต้องย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน มิเช่นนั้นจะสิ้นสมาชิกภาพ จัดการเลือกตั้ง สส.เขต 1 พิษณุโลก ภายใน 45 วัน เลือกรองประธาน สภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ และตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ใหม่ จากพรรคที่มี สส.มากที่สุด
ทั้งนี้การยุบพรรคก้าวไกลนั้นเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกนั้นได้จับตามองเป็นอย่างมาก มองว่าการสั่งยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 นั้น เป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย และรักษาอำนาจเก่าของฝ่ายอนุรักษนิยม ได้มีองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมายออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวอย่างมากมาย อาทิ โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย UK in Thailand, กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา, Amnesty International, องค์กรฮิวแมนไรท์วอตช์ และกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
คนเหนือไม่เห็นด้วยหลังศาล รธน. ยุบพรรคก้าวไกล
นอกจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ออกมาแสดงความกังวลต่อระบบประชาธิปไตยในไทย มีประชาชนในภาคเหนือออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อย่าง กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดกิจกรรมแสดงออกบริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการพูดคุยถกเถียงถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญ มีการอ่านบทกวี และมีการเปิดเวทีปราศรัยถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
วัชรภัทร ธรรมจักร ขึ้นกล่าวถ้อยคำปราศรัยว่า คำถามที่เกิดขึ้นในใจนักกฎหมายหลายคนนั้นก็คือเหตุใด เหตุการณ์ทั้งหมดถึงมาถึงขั้นนี้ และไม่ได้เกิดเหตุการณ์ในรูปแบบนี้เพียงครั้งเดียวแต่เกิดมาแล้วบ่อยครั้ง ในฐานะนักกฎหมายจะมีหน้าไปตอบคำถามคนที่มาปรึกษากฎหมายได้ยังไง ในขณะที่อาจารย์ที่สอนกฎหมายเป็น 9 คนที่นั่งอยู่ข้างบนศาลและตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ยังมี ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ นามพรรคก้าวไกล, นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้, สุริยา แสงแก้วฝั้น นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการและสิทธิทางการเมือง และ บุตรีรัตน์ สุริยะเสถียร อดีตสหายที่เคยเข้าป่าร่วมกับคอมมิวนิสต์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกล่าวคำปราศรัย
ทั้งนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีการเขียนป้ายผ้าแสดงการแสดงออกต่อเหตุการณ์ยุบพรรคก้าวไกล บริเวณหอนาฬิกา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลานประตูท่าแพ
ในจังหวัดลำปาง สมาชิกพรรคก้าวไกลจังหวัดลำปางและประชาชนในจังหวัดลำปาง ได้เดินทางร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ณ ลานข่วงละกอน ห้าแยกหอนาฬิกาลำปาง แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรคก้าวไกล
มุ่งมั่น ศรัทธา ประชาชน
ล่าสุดวันนี้ (8 สิงหาคม 2567) ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคก้าวไกล ผ่านเพจเฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
“ถึง “ก้าวไกล”: ขอแสดงความเคารพต่อทุกท่าน ผมเชื่อว่าสังคมไทยรับรู้ถึงความเจ็บปวดทุกอย่างที่พวกคุณได้รับ และเชื่อว่าเราทั้งหมดรับรู้ว่าความเจ็บปวดของพวกคุณมาจากการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมไทยให้งดงามและดีกว่าเดิมให้กับพวกเรา”
“อยากจะบอกคุณว่าเราเจ็บปวดไปด้วยกันทั้งสังคมครับ น้ำตาที่รื้นในดวงตาของพวกคุณคือน้ำตาที่หลั่งไหลของพี่น้องคนไทยครับ ถึงวันนี้ ทางเดินข้างหน้าของพวกคุณจะมี “พวกเรา” อีกมากมายมหาศาลจะเดินร่วมไปกับพวกคุณ”
“พวกเราจะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไปพร้อมๆ กันครับ ศรัทธาในความมุ่งหวัง”
ด้าน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ Land Watch Thai ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับข้อครหาทำลายประชาธิปไตย กรณียุบพรรคก้าวไกล มองว่าคำวินิจฉัยนี้สวนทางกับความรู้สึกของสังคมโดยรวม สุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำตัดสินเช่นนี้เป็นการทำลายพรรคการเมืองหนึ่งพรรค และทำลายเสียงของประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ทำลายความหวังและเจตจำนงของประชาชนจำนวนมหาศาลที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงหลังต้องทุกข์ทนกับระบอบการเมืองหลังรัฐประหารร่วม 10 ปี
“หลายนโยบายของพรรคก้าวไกลนั้นเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนห่างหายไปจากสังคมไทยมาอย่างยาวนานภายใต้การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ แน่นอนว่า 14 ล้านเสียงนั้นคือเสียงสะท้อนว่าประชาชนมิอาจยอมจำนน และคูหาเลือกตั้งคือสถานที่ต้นทางที่สุดที่พวกเขาจะมีอำนาจสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยมือและจิตใจอันแน่วแน่ของตนได้ เราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำการอันขัดต่อความปรารถนาของคนไทยที่มีต่ออนาคตของเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“เราขอย้ำเตือนว่า การยุบพรรคการเมืองครั้งนี้จะไม่เป็นคุณต่อใคร โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเอง ขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่าหากการเมืองไทยไม่สามารถขยับต่อไปข้างหน้าได้ ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการกระทำของท่าน และแน่นอนว่าไม่มีใครอาจฉุดรั้งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้อีกต่อไป อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”
ทั้งนี้ เริงฤทธิ์ ละออกิจ สมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นต่อการยุบพรรคก้าวไกลว่า การยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้สะท้อนถึงการเมืองภาคประชาชนที่อ่อนแอ และไม่มีสถาบันการเมืองที่เป็นของประชาชนเองที่มีกำลังพอจะคัดง้างกับสถาบันการเมืองอื่น ๆ ที่มีในสังคม
เริงฤทธิ์ เสริมว่าประชาชนไม่มีขบวนการนักศึกษา/ปัญญาชนที่เข้มแข็งมาเป็นหัวหอก ไม่มีขบวนการชาวนาชาวไร่ที่ได้รับการจัดตั้งร่วมกันทั้งประเทศ หรือแม้แต่ขบวนการแรงงานเองก็ต่างอยู่กันอย่างกระจัดกระจายไร้พลัง ไม่มีประเทศประชาธิปไตยไหนในโลกที่คงสถานะความเป็นประชาธิปไตยได้โดยไม่มีสถาบันการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
“เวลามันจะอยู่ข้างเราหากเราลงมือกระทำการแต่หากเรารอให้เวลาไหลผ่านตัวโดยไม่ลงมือกระทำการใดๆเลยมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เริงฤทธิ์ กล่าว
เริงฤทธิ์ ส่งท้ายไว้ว่า ประเด็นสำคัญและหนึ่งในพันธกิจหลักในนามพรรคใหม่คือการจัดตั้งมวลชนที่ไม่ใช่แฟนคลับแต่เป็นมวลชนที่รับรู้ได้ถึงพลังของตัวเองผ่านการรวมกลุ่มทางชนชั้น มวลชนที่กล้าจะเถียงและคัดง้างกับพรรคเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางชนชั้น จนท้ายที่สุดการจัดตั้งมวลชนที่สามารถคัดง้าง/รื้อถอน/ทุบทำลายโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของสังคมได้โดยไม่ต้องมีพรรคการเมืองใดหรือสถาบันทางการเมืองไหนมาเป็นตัวแทนและเป็นผู้กำหนดทิศให้แก่มวลชน ดั่งคำที่ว่า “ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือการต่อสู้ทางชนชั้น”
ยักไหล่ไปต่อ อดีต สส.ก้าวไกล สมัครพรรคใหม่ 100%
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ อดีต สส.พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ที่ลานกิจกรรม พรรคก้าวไกล ว่า นอกจากไทยจะประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ยังเป็นประเทศที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ถูกตัดสินให้ยุบพรรคเพียงแค่หาเสียงเพื่อแก้ไขกฎหมายมาตราเดียวเพียงเท่านั้น และสิ่งหนึ่งที่พรรคก้าวไกลทำไม่สำเร็จคือการหยุดวงจรอุบาทว์ยุบพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน
“ให้ผู้อำนาจให้เห็นด้วยตาของพวกเขาว่า คำพิพากษาเดียวที่ตัดสินพวกเราได้ คือคำพิพากษาของประชาชน” ภัทรพงษ์ กล่าว
ซึ่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอดีตพรรคก้าวไกล ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ผู้แทนราษฎรอดีตพรรคก้าวไกลได้สมัครสมาชิกพรรคใหม่ครบทั้ง 143 คน โดยในวันพรุ่งนี้ (9 สิงหาคม 2567) สส. ทั้ง 143 คน จะมีการกำหนดผู้บริหารและทิศทางการทำงานของพรรค พร้อมแถลงเปิดตัวพรรค และกรรมการบริหารชุดใหม่อย่างเป็นทางการ ที่ อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรี
และในวันที่ 10 สิงหาคม 2567 จะมีการจัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ พร้อมพบปะ สส. – สก. และผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ที่ Stadium One ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...