“วันเอกโลก” เพราะว่า “ดนตรี คน เมือง” คือสิ่งที่เอกเป็น

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

4 สิงหาคม 2566 เอกชัย เทพรักษา หรือ “เอก แซ็กป่า” เดินทางไกลอย่างไม่มีวันหวนกลับมา แต่สิ่งที่ยังคงลอยละล่องอยู่กลางหัวใจของผู้คนยังคงอยู่

ในช่วงชีวิต เอกพร้อมด้วยแซกโซโฟนที่เป็นดั่งกายหยาบชิ้นที่ 33 ต่างหอบหิ้วกันและกันไปในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าที่ใด ไม่สนว่าเป็นใครหน้าไหน ไร้ซึ่งกำแพงชนชั้น เสียงของแซกจากเอกแซ็กป่าก็เปล่งเสียงประสานสำเนียง

“เอกอยากเล่นดนตรีให้ทุกคนได้ฟัง มันชอบมานั่งเป่าแซ็กตรงคูเมืองยามดึกให้กับหลาย ๆ คนฟัง โดยไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องมีชื่อเสียงอะไรก็ตามแต่ วันนี้เราก็เลยชวนเพื่อนๆ ที่เอกเคยทำงานด้วย เคยเล่นดนตรีด้วยกัน มาเล่นดนตรีให้ทุกคนฟัง วันนี้เรามาอยู่ด้วยกันเพราะเสียงดนตรี อยากให้รู้ว่าดนตรีในเชียงใหม่มีวันนี้ได้ เอกเป็นอีกหนึ่งแรงที่คอยขับเคลื่อนตลอดมา”

ถ้อยคำของ สุพิชา เทศดรุณ หรือ ชา ฮาโม ที่พูดถึงเอกในปาร์ตี้ขับกล่อมดนตรี 100 วันของการจากไปเมื่อปลายปีที่ยังคงทำงาน จวบจนการมาถึงของประโยคสั้น ๆ ได้ใจความที่บันทึกอยู่ในสมุดของเอกที่ว่า “ปัจจุบัน มีคุณค่า” และจะมีคุณค่ามากกว่านั้นถ้าเสียงของดนตรียังคงดำเนินไป

จังหวะเวลาเวียนมาจนครบขวบปี 4 สิงหาคม 2567 กับวันที่เพื่อนพ้องนักดนตรีและคนที่รักเอกจะเรียกมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “วันเอกโลก” วันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันแสดงดนตรีในแบบที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด ส่วนคนฟังก็พร้อมที่จะเปิดใจรับ ความน่าสนใจของวันเอกโลกครั้งนี้มันมีความมหัศจรรย์ที่ว่าศิลปินหลายคนอาจไม่มีความสัมพันธ์ทางตรงกับเอก แต่พอรู้ว่าจะมีการจัดวันเอกโลก ทุกคนก็พร้อมลงใจมาร่วมทันที คราวนี้จึงอุดมไปด้วยทั้งเพื่อนพี่น้องมิตรสหายที่พอจัดคิวลงเวลาแล้วกลายเป็นงานรวมหมู่ที่มัดรวมกันเล่นวงละสองเพลงสามเพลง เพื่อให้ทุกคนได้เล่นตามเวลาที่เหมาะสม จนกลายเป็นเทศกาลดนตรีบนพื้นที่สาธารณะที่ฟรี เข้าถึงทุกคน กับศิลปินเกือบร้อยชีวิตทั้ง ณรงค์ ดอกไม้เพลง, ลุงลังแบน, ใบเดี่ยว, กก, เต้ย, Pooky Panlapa, กวีเมียหน่าย, ผีบ้า พระคงฤาษี, DI Jazz, มะนาลี-Manali, จิตปรุงแต่ง, กรกฏา, Para Siptation, The Mute One Eye, POd, North Beans, เอ้ รงค์สุภารัตน์, Croissant Band, WSR (WORTHLESS BOY, วงสมปอง , Rocket Mellow), SIRIMONGKOL และเพื่อนเอกชัยแบนด์ (เรืองฤทธิ์ บุญรอด, สุขเสมอ , KLEE BHO, Mr.cat and friends., Helicopter Secondhand , SUTHEP BAND : คณะสุเทพฯ , ธนากอน Thanakon , H8U , สายกลาง , สุภาพร สันติ, Verandaa, Northwind flute ขลุ่ยลมเหนือ ฯลฯ)

เหตุที่เกิด มันชวนให้เราคิด เอกมีคุณูปการอะไรที่ยึดโยงผู้คนมากมายขนาดนี้?

“ตั้งแต่เอกเสีย เราก็เริ่มรวมตัวกันในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่งานศพเอก เรื่อยมาจนมาถึงงานร้อยวัน และยาวมาเรื่อย ๆ ในความรู้สึกของเรานะ เฮ้ย! การที่เมือง ๆ หนึ่ง มันมีนักดนตรีคนหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนในเมืองเข้าหากันได้ หลากหลายอาชีพ หลากหลายแนวดนตรี แล้วมันทำให้เมืองมีการเคลื่อนไหว มีการขับเคลื่อนไปในทางที่บวก มันก็เลยมีส่วนผลักดันให้เราหลาย ๆ คนอยากจะผลักดันเรื่องนี้กันต่อ โดยเฉพาะเรื่องที่เราสามารถทำได้เลยอย่างดนตรี”

เราพูดคุยกับ ชา ฮาโมในปีนี้อีกครั้งถึงความยึดโยงนี้ ชาออกตัวก่อนเลยว่าวันเอกโลกเขาไม่ใช่โต้โผขนาดนั้น แค่มีหน้าที่เอื้ออำนวยนิด ๆ หน่อย ๆ เพราะแค่บอกว่าจะจัดงานให้เอก เพื่อนพ้องทุกคนก็ยื่นมือมาช่วยอยู่แล้ว

จากปากคำของชา หลังการจากไปของเอก นักดนตรีเชียงใหม่มารวมตัวกันที่งานศพของเอก เกิดการพูดคุยกันจนเกิดเป็น Movement โดยนักดนตรีมากมาย เช่น กลุ่มชาวดนตรีเชียงใหม่ ที่มาสุมหัวพูดคุยในหลายหัวข้อที่เกี่ยวกับดนตรีในท้องถิ่น หรือการขับเคลื่อนของ Chiangmai OriginaLive ที่เปิด Music space ที่ยังคงเส้นคงวาในการเปิดพื้นที่ดนตรี Original อยู่

“เอกเป็นมือแซกโซโฟนที่ยืนอยู่ได้ทุกที่ใต้เท้าของเขา ภูเขา ทะเล โรงแรม บาร์แจ๊ส ในม็อบหรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะ เอกจะมายืนเป่าแซ็กอยู่คนเดียวโดยที่ไม่ต้องมีใครฟังก็ได้ เป่าให้คนจรฟัง เป่าให้เสาไฟฟ้าก็ทำมาแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าใครจะต้องมาเห็นเขา”

ชาให้คำนิยามว่า “ดนตรี คน เมือง” คือสิ่งที่เอกเป็น และเป็นมาโดยตลอด ถ้าคำสามัญของคนเชียงใหม่ คำว่าคนเมือง มันจะหมายถึงคนเหนือ คนล้านนา คนเชียงใหม่ แต่พอมีคิดเพิ่มคิดต่อมันก็ไปได้ไกลและน่าสนใจว่า การที่คนสักคนมันจะสัมพันธ์กับเมืองมันจะเป็นยังไง

“เราว่าเอกมันคือคน ๆ นั้น มันเป็นแบบนี้มาโดยตลอด เราเลยรู้สึกว่าเสียงดนตรีของเอกมันสามารถ Connect เมืองทั้งเมืองได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ มันคือความพิเศษของเอกเลยนะ มันไม่ใช่ว่าใครก็จะทำแบบเอกได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากเอกได้ ว่าความเป็นคนอย่างเขาเนี่ยมันช่วยให้ภาพรวมของเมืองมันแข็งแรง ก่อนเอกเสียอาจจะไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ แต่มันก็ยังมีนะ ความพิเศษของงานวันนี้มันคือการมารวมกันของความหลากหลายนะ รุ่นใหม่รุ่นใหญ่ คนละแนวเพลงคนละแนวทาง มันเลยว่ามันมีความน่าสนใจอยู่ พอพูดถึงดนตรีทุกคนมา แบบวันนี้เลย วันเอกโลก”

ถ้าให้นิยามความหมายที่ชาพูดถึงดนตรี คน เมือง มันชวนให้นึกถึงคำว่า “Music City” เท่าที่รู้ มันคือคำจำกัดความของเมืองที่มีดนตรีเป็นส่วนในการขยับระบบเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์ไปกับอุตสาหกรรมดนตรีในท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และรัฐ แต่กับประเทศไทยหรือแม้แต่เชียงใหม่เองบทบาทของรัฐยังคงเบาบางและมองเป็นเพียงแค่อีเว้นท์ แต่สำหรับนักดนตรีแล้ว นี่คือข้อท้าทายที่ทุกคนกำลังก่อร่างสร้างเมือง

สุพิชา เทศดรุณ หรือ ชา ฮาโม

“วันนี้ทุกคนเล่นเพลง Original เล่นเพลงของตัวเอง ไม่เล่นเพลงคัฟเวอร์เหมือนในผับในบาร์ ทำให้เราเห็นว่ามันก็ไม่ได้ยากนี่หว่าที่เราจะสร้างเมืองนี้ให้มันเจ๋งด้วยดนตรีในแบบของพวกเรา และมีคนที่พร้อมจะมาฟังมาสนุก มาพูดคุยกัน มาแลกเปลี่ยนกัน ร้อยวันพันปีมันไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ถ้ามองยาว ๆ นะ เชียงใหม่เมืองดนตรีมันต้องเป็นเหตุผลที่คนจะมาเที่ยวที่เมืองนี้ ทุกคนต้องมาเชียงใหม่ นักฟังเพลงในประเทศหรือต่างประเทศจะต้องรู้สึกว่าอยากจะมาเที่ยวที่เมืองนี้ทั้งปีเพราะเสียงดนตรี ไม่ต้องรอลมหนาว นักดนตรีที่นี่มีศักยภาพ มีดนตรีให้ฟังหลายแนว ดนตรีจะต้องเคลื่อนเมืองนี้”

แม้วันเอกโลก พยากรณ์อากาศจะบอกว่ามีฝนตกร้อยละ 70 เตรียมตัวเตรียมใจเปียกปอน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคของศิลปินและคนดู ก่อนที่ฝนจะสาดกระเซ็นมาในเวลาสองทุ่มกว่า ๆ โชคดีที่ทีมจัดเตรียมเต็นท์มาเพื่อรองรับเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ทุกคนเต็มที่กับวันนี้ให้ได้มาก และน่าจดจำที่สุด แม้จะมีการหยุดชะงักบ้าง

ก่อนที่จะจบการพูดคุยกับชา เพื่อไปสนุกกับเสียงดนตรี เราคิดถึงประโยคที่เอกเขียนไว้ในสมุดบันทึก “ชีวิตมีคุณค่า” ที่คุณค่าในความหมายของชีวิตยังคงอบอวลในแบบที่เอกเป็น เราถามชาว่าถ้าบอกอะไรกับเอกได้ อยากบอกอะไร

“กูจะบอกให้มึงรู้ว่า เมื่อก่อนเอกจะเป็นคนที่อยู่ข้างพี่มาโดยตลอด เวลาพี่จะทำอะไรไม่ทำอะไร เวลาพี่เหนื่อยมันจะมาปลอบ แต่เวลาพี่จะบอกว่าไม่ทำ มันก็จะมาพูดละว่าถ้าพี่ชาไม่ทำแล้วใครจะทำ วันนี้กูอยากจะบอกมึงว่า ไม่ต้องพี่มันก็มีคนอื่นมาช่วยกันทำแล้ว อยากให้มึงรับรู้ ทุกคนทำ หลังจากเอกจากไป ทุกคนก็มาคุยกัน ตอนนี้เรากำลังช่วยกันทำ  เชื่อว่าในเวลาไม่ช้าหรอกมันจะเกิดสิ่งที่ดีกับเมืองนี้แน่”

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง