เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว
จากกรณีของ “ถ้วยก๋าไก่” หรือ “ถ้วยตราไก่” ในจังหวัดลำปางได้รับผลกระทบจากการนำเข้าถ้วยจากประเทศจีนที่มีลักษณะคล้ายกับถ้วยตราไก่ในจังหวัดลำปาง ภายหลังที่ ปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการเซรามิคย้ำแย่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังจากที่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบสินค้าเซรามิคจากประเทศจีนที่หาซื้อได้ในออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่า สาเหตุมาจากการที่จีนไม่สามารถขายสินค้าในยุโรปได้จึงเข้ามาขายสินค้าในพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในไทย เนื่องจากรัฐบาลปล่อยให้สินค้าประเภทนี้เข้ามาโดยไม่มีการควบคุม โรงงานเซรามิคในจังหวัดลำปางมีทั้งหมด 328 โรงงาน แต่ช่วงปลายปีเหลือเพียง 89 โรงงาน เนื่องจากหยุดดำเนินกิจการและชะลอการเปิดตัวเพื่อดูสถานการณ์ของตลาด
นายกสมาคมฯ ยังกล่าวอีกว่าถ้วยตราไก่เป็นสินค้า GI (สินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง) ของจังหวัดลำปาง ที่ใช้แหล่งดินในจังหวัดลำปาง มีสัญลักษณ์รูปไก่ ต้นกล้วย ดอกโบตั๋น บ่งบอกถึงการเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ต้นทุนการผลิตถ้วยตราไก่ในลำปางอยู่ที่ 20 บาท แต่การเข้ามาของสินค้าจีนที่มีลักษณะคล้ายกันเข้ามาขายในออนไลน์เพียง 5 บาท เป็นการ Dumping ราคาสินค้า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ปัญหาการเข้ามาของสินค้าเซรามิคจีนที่ตัดราคาสินค้า ส่งผลกระทบต่อถ้วยตราไก่ในจังหวัดลำปางทำให้ผู้ประกอบการในระดับกลางและเล็กเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาแค่ในจังหวัดลำปางเพียงจุดเดียวเท่านั้น แต่อาจจะต้องมองให้เป็นปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบไปในทุกภาคส่วน ที่ตอกย้ำปัญหาของทุนจีนที่แทรกซึมไปทุก ๆ ด้าน
วิกฤตเซรามิคลำปางปัญหาเรื้อรังก่อนสินค้าจีนรุกคืบ
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเซรามิค ในหมวดการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเซรามิค จังหวัดลำปาง ในปี 2566 มีผู้ประกอบการทั้งหมด 150 ราย ลดลง 36 ราย จากปี 2564 ที่มีผู้ประกอบการ 186 ราย เกิดการจ้างงานในปี 2565 กว่า 1,903 คน และลดลงกว่า 206 คน 1,697 คน ในปี 2566 โดยข้อมูลล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 819,701,476 บาท
งานศึกษาของ รัชพล กิติ เรื่องความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจเซรามิคขนาดกลาง และขนาดย่อม กับการตอบสนองเชิงนโยบายจากภาครัฐ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เผยว่าปี 2563 ลำปางมี GPP ในภาคอุตสาหกรรม ถึง 24,797 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.03 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดลำปาง เซรามิคเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในจังหวัดลำปางที่มีความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ และค้าขายมานานกว่า 50 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นจังหวัดลำปาง ในด้านศิลปวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดลำปางเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยในปี 2564 มีข้อมูลการส่งออกสินค้ากลุ่มเซรามิคของธุรกิจ SMEs ไทยในระดับโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 185.08 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือกว่า 6,466.65 ล้านบาท
ในงานศึกษาได้ชี้ถึงปัญหาด้านการผลิตที่มีต้นทุนด้านวัตถุดิบ เช่น ดินขาว ดินดำ ดินเบา แร่เฟลด์สปาร์ แร่ควาสต์ หินปูน วัสดุเคมีภัณฑ์ สี สารเคลือบ ที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากการผูกขาดสัมปทานแร่ในจังหวัดลำปาง รวมไปถึงปริมาณทรัพยากรดินขาวมีจำนวนลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ยังมีเรื่องของแก๊ส LPG ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเผาเซรามิคให้เกิดการแข็งตัวขึ้น มีการปรับราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากอิงราคากับน้ำมันในตลาดโลกส่งผลให้มีราคาสูงขึ้นในทุกปี ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากปัจจัยด้านต้นทุนงานศึกษายังชี้ให้เห็นถึงปัญหาในอีกหลายปัจจัย อาทิ การแข่งขันทางการตลาดการค้าในประเทศและต่างประเทศ, การถูกตีตลาดจากสินค้าเซรามิคประเภทอื่นในช่วงของสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ปัญหาการขายสินค้าเซรามิคตัดราคากันเอง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลงสืบเนื่องจากการผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด รวมไปถึงคุณภาพที่ไม่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาอุปทานล้นเกินต่อปริมาณความต้องการเซรามิค บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงปี 2564 – 2565 ยังส่งผลให้เกิดการขายตัดราคาในตลาดเซรามิคอย่างรุนแรง เพื่อระบายสินค้าเซรามิคของผู้ประกอบการภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ประกอบการเซรามิคไม่มีพื้นที่ออกจำหน่ายได้
เสียงผู้ประกอบการเซรามิคในลำปาง
จักร (นามสมมุติ) ผู้ประกอบการเซรามิคในจังหวัดลำปาง เปิดเผยกับ Lanner ว่า ตลอดหลายปีมานี้ธุรกิจเซรามิคซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด จากปัจจัยต้นทุนด้านวัตถุดิบหลักที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ทั้ง ดินขาว สีเคลือบเซรามิค น้ำยามุก และแก๊ส LPG ทั้งยังไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าตามได้เนื่องจากการแข่งขันเรื่องราคา รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ค่อนข้างแย่มาหลายปี ทำให้คนใช้จ่ายกับสินค้าเซรามิคลดลงตาม สินค้าที่ผลิตมาจึงขายได้น้อยและค้างอยู่ในคลังเยอะ โดยปีนี้ยิ่งมีสินค้าค้างในคลังเยอะมากกว่าปกติ
นอกจากนี้จักรยังเผยอีกว่า ปกติหลายโรงงานจะหยุดทำการผลิตในช่วงฤดูฝนเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และเป็นช่วงที่ขายสินค้าได้น้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับทั้งปี โดยเฉพาะที่โรงงานของตนที่ผลิตสินค้าประเภทเครื่องสังฆภัณฑ์ มักจะขายได้น้อยในช่วงเข้าพรรษา
“สินค้าเซรามิคสามารถเก็บได้นานไม่เน่าบูด สามารถเก็บสินค้าไว้ขายในช่วงปลายปีได้ แต่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องการถือสินค้าไว้ในมือเพื่อรอรายรับในช่วงที่ขายได้ ทำให้หลายโรงงานที่ไม่สามารถแบบรับความเสี่ยงตรงนี้ได้จึงทยอยนำสินค้าของตนเองมาลดราคา ขายในราคาขาดทุนเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหมุนเวียน หลายโรงงานปิดยาวรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ และหลายโรงงานผันตัวจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้รับสินค้าเซรามิคมาขายต่อ”
จากการพูดคุยกับจักร ทำให้เห็นถึงความซบเซาของธุรกิจด้านเซรามิคที่ซบเซามาอย่างยาวนาน จากปัจจัยด้านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ต่อเนื่องนานหลายปี การตีตลาดของสินค้าจากประเทศจีนในไทยที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า เหมือนเป็นการตรอกย้ำความย่ำแย่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
“คนที่รับเซรามิคจากโรงงานเราไปขาย มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขายได้น้อยกว่าปกติมาก และจำเป็นต้องรับสินค้าที่มีราคาถูกกว่าไปขาย”
ลำปางปลายทางรถไฟสายเหนือ บ้านใหม่ของคนจีนโพ้นทะเล
ถ้วยตราไก่นั้นมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ในมณฑลกวางตุ้ง และเป็นสินค้าส่งออกไปยังชาวจีนโพ้นทะเล รวมไปถึงคนจีนแต้จิ๋วในไทย โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีผู้ผลิตในไทย แต่มีความต้องการสูงเนื่องจากคนจีนที่อพยพมาเป็นจำนวนมาก พ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ บริเวณถนนทรงวาดตลาดเก่า จึงมีการนำเข้าถ้วยตราไก่เข้ามา
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2480-2500 ได้มีการก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งรวมไปถึงถ้วยตราไก่ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมดินเผาสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ, โรงงานบุญอยู่พาณิชย์ ที่เชียงใหม่, โรงงานศิลามิตรที่เชียงใหม่ และโรงงานของนายทวี ผลเจริญ ที่วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี แต่ยังขาดดินคุณภาพดีจึงมีการย้ายถิ่นฐานการผลิตถ้วยตราไก่มาในจังหวัดลำปางเนื่องจากพบว่าดินขาวใน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางมีคุณภาพที่ดี จึงมีการตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกขึ้นเมื่อปี 2500 ชื่อว่า โรงงานร่วมสามัคคี
จากข้อมูลชุดดังกล่าวอาจจะชี้ให้เห็นว่าถ้วยตราไก่ของจีนแท้จริงแล้วมีการผลิตและนำเข้าสินค้าโดยชาวจีนโพ้นทะเลในที่นี้ซึ่งเป็น ‘ทุนจีนเก่า’ ที่มีโยกย้ายเข้ามาในไทยกว่า 100 ปี รวมไปถึงจังหวัดลำปาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เล่าว่า ช่วงปี 2443 ประเทศจีนมีปัจจัยผลักเนื่องจากความไม่สงบในประเทศส่งผลให้คนจีนอพยพออกจากประเทศจีนเยอะมาก สยามในช่วงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากจึงเกิดปัจจัยดึงให้คนจีนจึงอพยพเข้ามา ซึ่งในช่วงนั้นหัวเมืองใหญ่ส่วนใหญ่ถูกคนจีนแต้จิ๋วที่ค้าขายเก่งเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีคนจีนแต้จิ๋วเจ้ามาอยู่อาศัยคนจีนกลุ่มอื่นอย่างจีนใหหนําและจีนแคะจึงเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาลงหลักปักฐานในจังหวัดลำปาง อยู่ที่ บริเวณกองต้า ซึ่งจีนแคะมีบทบาทในจังหวัดลำปางในเรื่องของการค้าไม้ อย่าง เจ้าสัวฟอง ซึ่งดึงดูดให้คนจีนแคะเข้าสู่จังหวัดลำปาง ส่วนคนจีนใหหนำอพยพผ่านมาทางแม่น้ำวัง จึงเกิดการค้าขายทางน้ำเกิดขึ้น จะเห็นได้จากหลังบ้านในบริเวณกองต้าจะเห็นว่าหน้าบ้านของทุกหลังก็จะออกไปยังแม่น้ำ
นอกจากการย้ายเข้ามาของคนจีนผ่านทางน้ำ การเกิดขึ้นของสถานีรถไฟนครลำปาง ที่เปิดเดินรถครั้งแรก 1 เมษายน 2459 ซึ่งเส้นทางรถไฟสายเหนือมาสิ้นสุดที่จังหวัดลำปาง ก็ส่งผลให้กุลีที่ส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วเป็นกรรมกรที่สร้างทางรถไฟ เป็นอีกกลุ่มที่เริ่มเข้ามาลงหลักปักฐานในจังหวัดลำปาง เกิดชุมทางการค้าขึ้นมีสินค้าเกษตรส่งออก อย่าง หมาก พลู ก็จะถูกส่งไปขายยังกรุงเทพฯ จะเห็นได้ที่สบตุ๋ยจะพบว่าบ้านเรือนเป็นลักษณะของโกดังขนาดใหญ่ไว้เก็บสินค้าทางการเกษตร
“ลำปางมีคนจีนเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โรงเรียนจีนและชุมชนจีนค่อนข้างเข้มแข็งมาก จะเห็นได้จากโรงเรียนประชาวิทย์ ลำปาง ก็เป็นโรงเรียนอันดับต้น ๆ ของไทยที่ให้ความรู้ด้านภาษาจีน ที่เปิดตั้งแต่ปี 2470” กนกวรรณ กล่าว
กนกวรรณ ย้ำว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าของจังหวัดลำปางอย่างสิ้นเชิงที่มีการตัดพื้นที่น้ำและเพิ่มพื้นที่ทางบกจึงทำให้การค้าขายทางน้ำลดลงเปลี่ยนมาเป็นการค้าทางบกมายิงขึ้น สินค้าที่สำคัญในช่วงนั้นที่คนจีนใหหนำขายก็คือ หมู ที่มีการระดมมาจากจังหวัดเชียงรายผ่านรถบรรทุกมายังจังหวัดลำปาง และขึ้นรถไฟลงไปขายที่กรุงเทพฯ เห็นได้จาก ร้านกุนเชียง ร้านหมูหยอง ที่เห็นในจังหวัดลำปางนั้นเป็นผลพวงที่เกิดจากยุคนั้น หรือ ครั่ง ที่เป็นสินค้าส่งออกของจังหวัดลำปางก็มีมาตั้งแต่ยุคสงครามโลก ซึ่งในช่วงนั้นลำปางได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ส่งออกครั่งมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ส่วนอุตสาหกรรมเซรามิคในจังหวัดลำปาง กนกวรรณ ระบุว่าเกิดขึ้นภายหลังช่วงปี 2500 ผนวกกับในช่วงนั้นมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ที่เริ่มมีการวางแผนและนโยบายโดยรัฐบาลในการพัฒนาแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน ซึ่งจังหวัดลำปางมี แร่ดินขาวที่คุณภาพดี จึงเกิดโรงงานเซรามิคเยอะมากในช่วงนั้น
‘ทุนจีนใหม่’ การเข้ามาที่เปลี่ยนไป
ทุนจีนใหม่ที่เข้ามาในปัจจุบันนั้นมีความต่างกับทุนจีนในอดีตหรือจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาขายสินค้าในไทยอย่างถ้วยตราไก่ในอดีตนั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทุนจีนใหม่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มทุนที่มีเงินลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศโต และภายในประเทศจีนก็มีการแข่งขันที่สูงมาก แต่ทุนจีนในอดีตนั้นต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมือง ภัยพิบัติ ส่งผลให้ทุนจีนในอดีตมีความลำบากและยากจนกว่ามาก
กนกวรรณ เล่าว่า ลักษณะของทุนจีนใหม่ในจังหวัดลำปางนั้นมีความต่างทุนจีนเก่าในอดีต จะเป็นในรูปแบบ ‘ธุรกิจการศึกษา’ มีการเปิดวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดการศึกษามีการนำเข้านักเรียนจีนเข้ามาเรียน ถึงแม้จะมีการเปิดให้นักเรียนไทยเข้ามาเรียนแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับนักเรียนจีน ซึ่งเป็นเจ้าของคนเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเกริกที่มีการเทคโอเวอร์โดยกลุ่มทุนจีนใหม่
นอกจากนี้ทุนจีนใหม่ในปัจจุบันมีความสามารถในการลอกเลียนแบบสินค้า ซึ่งถ้วยตราไก่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะมองว่าถ้วยตราไก่เป็นสินค้าที่คนจีนโพ้นทะเลเป็นคนคิดค้นและผลิต แต่อยากให้มองถึงสินค้าชนิดอื่น อย่างกางเกงช้างที่มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขายดี ทุนจีนใหม่ก็ลอกเลียนแบบและขาย ต้องมองไปให้ไกลถึงการที่คนจีนมองว่าอะไรขายดีในไทยมักจะลอกเลียนแบบและนำไปขาย ซึ่งคนจีนนั้นมีกลยุทธ์ในการ ‘ทุบราคาสินค้า’ ที่ขายสินค้าในราคาถูกถึงแม้จะไม่สันทัดกับต้นทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์คือการตี ‘คู่แข่งทางการค้า’ ที่เป็น SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย จนเกิดการผูกขาดสินค้าในตลาดนั้น ๆ จะเห็นได้จากธุรกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่าง ไก่ทอด ไอศกรีม ที่เกิดขึ้นหลาย ๆ เจ้า นอกจากนี้ยังมีการขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
“การเข้ามาของสินค้าจีนที่มีลักษณะคล้ายกันเข้ามาขายในออนไลน์เพียง 5 บาท เป็นการ Dumping ราคาสินค้า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก” เสียงของของนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง
เผยว่าสินค้าเซรามิคในจังหวัดลำปาง ถูกทุบราคาสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากมามองที่การดำเนินนโยบายของประเทศจีนที่มีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมให้ธุรกิจ e-Commerce ของจีนเติบโต นั้นก็คือ ‘เส้นทางสายไหมใหม่ ’ หรือ Belt and Road Initiative (BRI) นโยบายการต่างประเทศของจีนที่ทำให้การค้าได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการพัฒนานโยบายดังกล่าวในการเปิดเส้นทางการค้าของจีนให้ครอบคลุมไปในหลายประเทศ นอกจากนี้นโยบายเส้นทางสายไหมใหม่นั้นยังมีนโยบายแยก ก็คือ นโยบายเส้นทางสายไหม Digital ในปี 2558 ก่อนจะถูกแยกออกมาเป็นนโยบายเดี่ยว โดย สี จิ้นผิง โดยแบ่งการลงทุนหลัก ประกอบด้วย การสื่อสารโทรคมนาคม 5G, Big Data, เทคโนโลยีการเงิน, Fintech และ e-Commerce
นอกจากนโยบายการส่งเสริมการส่งสินค้าออนไลน์ของจีนนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญแต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าออนไลน์ของจีนเติบโตเป็นผลมาจากการที่จีนมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการขายสินค้า e-Commerce อยู่ก่อนแล้ว อย่าง Alibaba บริษัทค้าปลีกออนไลน์ระดับโลก หรือล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัว ‘TEMU’ แอปฯ E-Commerce ของ PDD Holdings Inc. บริษัทจากประเทศจีน ผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์ราคาถูกที่ส่งออกสินค้าไปได้ทั่วโลก เป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศของจีนเติบโตขึ้น
ข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย เผยว่าเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้สรุปสาระสำคัญถึงส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าในอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง ผลจากประเทศจีนส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปี 67 หดตัว 1.8% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการรุกตลาด E-commerce สินค้าจีน
นอกจากนี้ กกร. ยังมีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 12% หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านตอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66% หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform E-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน
หากมองที่มาตรการแก้ไขการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนของรัฐบาลไทยถึงแม้ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ (ปัจจุบันรักษาการนายกรัฐมนตรี) ได้นัดหมาย 5 กระทรวงฯ ในการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าจีนที่บุกเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยภายหลังมีการเปิดตัวแอป TEMU แต่ด้วยการผันผวนของการเมืองไทย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ติดสินให้ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้คณะรัฐมนตรีที่มีการดำเนินมาตรการดังกล่าวทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และจะกลายเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องมาร่วมจับตาการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าจะมีการรับไม้ต่อในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่
กนกวรรณ เผยว่า ถึงแม้ในช่วงแรกผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากราคาที่ต่ำลงจากสินค้าจีน แต่หาก SMEs ปิดตัวลง ทุนจีนเหล่านี้ก็จะผูกขาดตลาดและสามารถกำหนดราคาสินค้าได้อย่างอิสระ ปัญหาถ้วยตราไก่ไม่ใช่ปัญหาระดับจังหวัดลำปาง รัฐบาลควรจะเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ในทุกกลุ่ม หากมองการดำเนินนโยบายปัจจุบันจะพบว่าแทบจะไม่เสียภาษีให้กับทุนจีนได้อย่างอิสระ อย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่งเปิดตัว ถึงแม้ผู้บริโภคจะมีหลายกลุ่มแต่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ ผู้ประกอบการไทย หรือ SMEs จะไม่สามารถขายสินค้าได้เลย
กนกวรรณ ย้ำว่า “ท้ายที่สุดมันเกิดผลเสียกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่ปัญหาระดับจังหวัด”
อ้างอิง
- https://www.tba.or.th/สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจ-12
- https://www.matichon.co.th/region/news_4733623
- https://www.smebigdata.com/home
- http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html
- https://www.ditp.go.th/contents_attach/168454/168454.pdf
- https://www.matichonweekly.com/column/article_765936
- https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1139220
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ