เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา
ภาพปก: ศรายุทธ นาคมณี
23 สิงหาคม 2567 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา ‘ฉากทัศน์การเมืองไทย’ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งและคำวินิจฉัยสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญสองฉบับ โดยมุ่งเน้นการสำรวจความหมายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการมองอนาคตการเมืองไทยภายหลังการยุบพรรคก้าวไกลและการถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน จากการเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมพูดคุยประเด็นสำคัญ อื่น ๆ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ธนาพล อิ๋วสกุล ภัควดี วีระภาสพงษ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพ: iLaw
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นำเสนอ 4 ฉากทัศน์ของการเมืองไทย โดยอ้างอิงจากงานของดันแคน แม็กคาร์โก (Duncan McCargo) จากหนังสือ “อนาคตใหม่: การผงาดขึ้นและล้อมลงของพรรคการเมืองไทยพรรคหนึ่ง” (Future Forward: The Rise and Fall of a Thai Political Party) โดยฉากทัศน์ที่ 1 คือ ‘ก้าวไปข้างหน้า’ ในฉากทัศน์นี้ ประเด็นและวาระของอนาคตใหม่จะมีอิทธิพลและยึดกุมสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ฉากทัศน์ที่ 2 ‘ย่ำอยู่กับที่’ เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน พรรคก้าวไกลอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบหรือไม่ก็ได้ แต่กลุ่มนักกิจกรรมยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่องและได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ฉากทัศน์ที่ 3 ‘เคราะห์ซ้ำกรรมซัด’ การแบ่งขั้วทางการเมืองทวีความเข้มแข็งขึ้น กลุ่มนิยมทหารพากันแตกแยก ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับคณะก้าวหน้าจัดแฟลชม็อบและประท้วงมากขึ้น บรรดาอดีตผู้นำอนาคตใหม่ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปราม คนรุ่นใหม่เริ่มลุกขึ้นต่อต้านผู้มีอำนาจ ท้าทายอำนาจเดิม ส่งผลให้ประเทศมุ่งหน้าไปสู่การพังทลาย ทั้งในแง่ความเป็นอารยะและความสงบ และฉากทัศน์ที่ 4 ‘ถอยหลังเข้าคลอง’ สถาบันอำนาจไทยยึดกุมอำนาจอย่างมั่นคง รัฐสภากลายเป็นเพียงตรายาง พรรคก้าวไกลถูกยุบและพรรคการเมืองอื่น ๆ ถูกดึงเข้าสู่ระบบอำนาจนิยม ซึ่งหาวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นในการจำกัดการถกเถียงและควบคุมความเห็นต่างทางสื่อออนไลน์ หลังจากนั้นการเจรจาต่อรองกับกลุ่มอำนาจใหม่จึงจะเริ่มขึ้น
ธนาพล กล่าวถึง ‘4 ฉากทัศน์’ โดยมองว่า ฉากทัศน์ที่ 1 ที่เรียกว่า ‘ความก้าวหน้า’ ที่เคยดูเป็นไปไม่ได้ในอดีต กลับมีความเป็นไปได้หลังการเลือกตั้ง แม้จะผันผวนอีกครั้งหลังจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยชี้ว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในตอนนั้น แทบไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะกลับมาได้ ในทางตรงกันข้าม การยุบพรรคก้าวไกลกลับทำให้ผู้คนมองไปยังการเลือกตั้งครั้งหน้า และต้องการใช้คูหาเลือกตั้งเป็นพื้นที่แสดงพลังทางการเมือง ซึ่งเป็นความแตกต่างที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต
การเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกลทำให้เกิดคำถามว่า ‘กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม หรือ ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม (เลย) กาก้าวไกล’ ปัญหาคือคนรู้ว่าการเมืองมีปัญหา แต่ไม่เชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใดสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง จนกระทั่งก้าวไกลปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ และมีพรรคที่เป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ การมาบรรจบกันของปัจจัยทั้งสองนี้คือ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการมีผู้นำความเปลี่ยนแปลง (agents of change) นำไปสู่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย
ขณะเดียวกัน ธนาพลมีความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกลเนื่องจากเชื่อว่าพรรคมีเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดยใช้เหตุผลว่ากษัตริย์และชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน และพรรคก้าวไกลพยายามแบ่งแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากประชาชน นอกจากนี้ ธนาพลยังมองว่าการที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ค่าไฟฟ้า ระบบราชการ และกองทัพ เป็นเพียงเหตุผลรองที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนการยุบพรรคเท่านั้น
“ฉากทัศน์การเมืองไทย เราไม่รู้หรอกฉากทัศน์การเมืองไทยเป็นยังไงข้างหน้า มันเปลี่ยนได้ แต่สำหรับผมเวลาที่จะมองฉากทัศน์ไปข้างหน้าอาจจะต้องมองย้อนหลังไปไกล ๆ และมองแบบ critical หน่อย มองอดีตไปไกล ๆ อาจจะเห็นอนาคตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ภัควดี วีระภาสพงษ์ ตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา โดยมองว่า ระบอบรัฐสภาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญหรือคำตอบทั้งหมดในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ความสำคัญอยู่ที่ประชาชนต้องมีความเข้มแข็งและมีบทบาทเป็นพลเมืองที่มีอำนาจ หากไม่มีสิ่งนี้ พรรคการเมืองและรัฐสภาจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
การยุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเตือนประชาชน แต่ยังบอกกับพรรคการเมืองด้วยว่าหลังจากได้รับการเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน สิ่งสำคัญคือการตอบสนองต่ออำนาจเบื้องบน เช่น กองทัพ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชการ และตุลาการเท่านั้น
ในช่วงหลังนี้ การเมืองไทยและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนมีลักษณะที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง การไม่มีความรับผิดชอบนี้นำไปสู่การกระทำที่ไร้จรรยาบรรณและขาดมารยาท วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดมีมากขึ้น เนื่องจากรัฐไทยไม่ตอบสนองต่อประชาชนหลังการเลือกตั้ง รัฐไทยในปัจจุบันเป็นรัฐที่แยกตัวออกจากประชาชน และไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชนอีกต่อไป
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่ประชาชนไม่มีอำนาจในการกดดันรัฐบาล และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสนใจความต้องการของประชาชน ประชาชนยังขาดความเข้มแข็งและมักจะยึดโยงกับพรรคการเมืองมากกว่าที่จะยึดโยงกันเอง ซึ่งทำให้ไม่สามารถกดดันผู้มีอำนาจได้ การเกิดขึ้นของกลุ่มการเมืองอย่างเสื้อแดงและเสื้อส้ม แสดงถึงการยึดโยงกับพรรคการเมือง แต่ขาดการยึดโยงระหว่างประชาชนกันเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะยังคงอยู่ต่อไป
ภัควดีเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบอบรัฐสภาเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของประชาชนในการสร้างการยึดโยงกันเอง สร้างพลังที่สามารถถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง และชนชั้นนำ หากทำได้ รัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น แต่หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ฉากทัศน์การเมืองไทยก็จะยังคงอยู่ในสภาพอึมครึมเช่นนี้ต่อไป
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มองว่าการเมืองไทยกำลังเข้าสู่ ‘วิกฤตทางสังคมการเมือง’ อย่างชัดเจนขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) แบบเดิมกำลังหมดพลังอธิบายและจรรโลงตัวเองในการควบคุมสังคม ชนชั้นนำตระหนักถึงปัญหานี้ และตอบสนองด้วยการรวมศูนย์อำนาจและควบคุมความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และดึงกลุ่มต่าง ๆ เช่น ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจเข้ามาเสริมโครงสร้างอำนาจเดิม โดยพยายามทำให้การเมืองประชาธิปไตยอ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังมีการต่อสู้ทางความคิดและการครอบงำทางความคิดอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของรัฐและการผลิตเชิงพาณิชย์ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ สำนึกเชิงปัจเจกชนที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดคำถามถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจเดิมอย่างรุนแรงขึ้น
จากสถานการณ์ปัจจุบัน อรรถจักร์คาดการณ์ 3 ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ได้แก่ 1.ความปรารถนาของชนชั้นนำ ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการควบรวมอำนาจ ควบคุมกลไกต่าง ๆ ทัังรัฐ กลุ่มทุน และพรรคการเมือง และสามารถกดทับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ทำให้ ‘พลเมืองผู้กระตือรือร้น’ กลายเป็น ‘ผู้สยบยอม’ 2.วัฏจักรรัฐประหาร หากการควบรวมอำนาจล้มเหลว ความขัดแย้งภายในอาจนำไปสู่รัฐประหารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และ 3.การต่อสู้ของผู้อยู่ใต้อำนาจ กระแสเรียกร้องความเสมอภาคในสังคมทวีความรุนแรงขึ้น และหนุนพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการนี้ อาจทำให้ชนชั้นนำถอยกลับ หรือหากชนชั้นนำไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการนี้ได้ ความรุนแรงก็อาจเกิดขึ้น
ทั้งสามฉากทัศน์นี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือสลับกันไปในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ที่ชัดเจนคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเดิมกำลังล่มสลาย และไม่สามารถจรรโลงสถานะเดิมได้อีกต่อไป โดยอรรถจักร์เห็นว่าสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่กระจายอยู่ในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็น ‘เมื่อมันไม่จบที่รุ่นเรา’ โดยอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ซึ่งสะท้อนถึงความปรารถนาและความหวังของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษ 2560 อย่างไรก็ตาม สมชายมองว่า สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันอาจไม่จบที่รุ่นนี้ เนื่องจากรัฐมีการปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ยุทธวิธีที่ทันสมัยขึ้น เพื่อตอบโต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สมชายอธิบายถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ ‘ตุลาการธิปไตย’ (Juristocracy) ที่เพิ่มบทบาทของสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระในการควบคุมทิศทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีที่ชนชั้นนำไม่สามารถกำกับสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งได้ การปรับใช้ยุทธวิธี ‘ตอบโต้แบบกด/ปราบ’ (Smart Repression) แทนการใช้ความรุนแรงโดยตรง ทำให้เกิดการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ท้ายที่สุด สมชายยังได้กล่าวถึงปัญหาความอ่อนแอของการจัดตั้งองค์กรทางสังคมในไทย โดยเฉพาะในชนชั้นกลาง ที่แม้จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เป็น active citizen แต่การรวมตัวเป็นองค์กรทางสังคมกลับยังไม่แข็งแรง ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งพาพรรคการเมืองมากกว่าการยึดโยงกับกลุ่มอื่น ๆ และยังมองว่าการเมืองไทยในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีหลายปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ การเลือกตั้ง 2570 การนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวิกฤตเศรษฐกิจ
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂