23 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00-18.00 น. วาระเชียงใหม่และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงาน “วาระเชียงใหม่: วาระชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ณ โครงการตลาดจริงใจมาร์เก็ต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนเริ่มงานได้มีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและมีการแสดงดนตรีและวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง ถ่ายทอดวิถีชีวิตผ่านบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน การรักษาน้ำ การรักษาป่า มีการกล่าวเปิดงานโดย ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมเพราะต้องการเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งนี้กลิ่นอายชนเผ่าพื้นเมืองยังส่งมาสู่พื้นที่เชียงใหม่และถือว่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่กลางในการจะแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมือง นำวาระของชนเผ่าพื้นเมืองมาสู่วาระเชียงใหม่ รวมไปถึงการร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง
‘ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง’: ประวัติศาสตร์ ตัวตน และ สถานการณ์ปัจจุบัน
เสวนาในประเด็น ‘ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จังหวัดเชียงใหม่’ (ประวัติศาสตร์ ตัวตน และ สถานการณ์ปัจจุบัน) โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สุมิตร วอพะพอ นักพัฒนาสังคมชาวปกาเกอะญอ และปิ่นสุดา นามแก้ว แกนนำเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ดำเนินรายการโดย ลิขิต พิมานพนา ชาติพันธุ์ปลดแอก
ขวัญชีวัน ได้เริ่มต้นวงเสวนาด้วย ‘เรื่องความไม่รู้’ ทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ โดยได้ชวนทบทวนงานวิจัยที่เคยมีการวิจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ความรู้เกิดขึ้นและมีเรื่องที่ไม่รู้อีกจำนวนมากเกี่ยวกับชาติพันธุ์ รวมไปถึงความไม่รู้อาจจะส่งผลให้เกิดอคติเกี่ยวกับชาติพันธุ์ส่งผลในการร่วมผลักดันกฎหมาย สำหรับประเทศไทยอาจจะมาช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เขาได้มีการศึกษามานานหลายปี แต่ไทยพึ่งศึกษามาไม่กี่ปีสิบปีที่ผ่านมา
พัฒนาการในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยแบ่งออกเป็น 3 ยุค งานวิจัยสำหรับยุคแรกก่อนสงครามเย็นอาจจะเป็นเรื่องความสนใจส่วนตัว อาจจะเอามาขยายความต่ออย่างไม่ถูกต้องหรือนำไปสู่นิยายในชุมชนแต่อาจจะไม่เป็นเรื่องจริง ต่อมาในยุคสองคือยุคสงครามเย็น ชาวเขาได้กลายเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหา มักถูกมองว่าเป็น คอมมิวนิสต์ ทำลายป่า และปลูกฝิ่น มีการตั้งศูนย์วิจัยชาวเขาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่รัฐไทยมองใน 3 รูปแบบที่กล่าวมา งานศึกษาในยุคนี้จึงมีการศึกษาแบบเฉพาะกลุ่มว่าควรจะพัฒนาไปในทางไหน ซึ่งยังตอกย้ำว่าชาวเขามีปัญหา ไม่ได้มองว่าชาวเขามีศักยภาพยังไง
ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ได้มีแนวคิดแบบใหม่ ๆ คือ การมองถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ความสัมพันธ์หลายระดับขึ้น แต่ก็ยังมีการส่งต่อความรู้หรือชุดคิดบางอย่างจากยุคสงครามเย็นที่จะเห็นได้ในการทำงานของภาครัฐ อาทิ การจำกัดความคำว่าชาวเขาที่จำกัดอยู่แค่ไม่กี่ชนเผ่า มองว่าพื้นที่สูงมีการใช้สารเคมีในการผลิตอย่างไม่เหมาะสมเนื่องจากกลุ่มชาวเขาไม่มีความรู้ในการจัดการ พื้นที่ทำกินเสื่อมโทรมเนื่องจากพื้นที่ลาดเททำให้เกิดการพังทลายหน้าดิน โดยเฉพาะการทำเกษตร แบบตัดและเผาหรือคำว่า ‘ไร่เรื่อนลอย’ และการบุกรุกเพื่อหาพื้นที่ทำกินใหม่ การเพิ่มขึ้นของประชากรในครัวเรือน และการอพยพเข้ามาจากนอกประเทศ เป็นต้น
สุมิตร ได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของเขาในฐานะชาวปกาเกอะญ ที่มีการพยายามพูดและสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด แต่ยังมีหลายกลุ่มที่ไม่รับรู้เรื่องราว สุมิตรเสริมว่าตนเป็นชาวปกาเกอะญอไม่ได้อพยพมาจากที่ไหนและอยู่ในประเทศไทยมาตลอด แม้ในอดีตจะไม่มีสถานะบุคคลหรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่มีการสำรวจประชากรในรัชกาลที่ 5 ซึ่งสำหรับพี่น้องชนเผ่ามีนโยบายชัดเจนตั้งแต่ปี 2512 ได้ออกเหรียญชาวเขาเพื่อให้พี่น้องรู้จักตัวตนของตนเองและกำหนดการทำงานกับพี่น้องชนเผ่าตามจำนวนประชากรเพื่อง่ายต่อการจัดการโดยรัฐ ที่ผ่านมาเริ่มต้นได้มีการสำรวจของ กอ.รมน. และกรมประชาสงเคราะห์ตั้งแต่ปี 2528 ได้สำรวจและระบุจำนวนประชากรและแบ่งกลุ่มชาวเขาตามชาติพันธุ์ดั้งเดิมและอื่น ๆ ปัจจุบันการสำรวจพบว่ามีพี่น้องชนเผ่า 20 จังหวัด และมากกว่า 400,000 คน ทั้งที่มีและไม่มีสถานะบุคคล
แม้ตามนโยบายของรัฐที่ผ่านมาเราเคยมีตัวตนในประเทศไทยอย่างชัดเจนใน 20 จังหวัด แต่พี่น้องชนเผ่าต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน เช่น ที่ดินทำกิน สัญชาติ สุขภาพ และการทำมาหากิน ปัญหาหลักคือการไม่มีสัญชาติซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างมาก เราต้องการขจัดความไร้รัฐและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และเราจะสู้ต่อไปจนกว่าปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขเพื่อให้เราได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ
ปิ่นสุดา ปัญหาเรื่องสถานบุคคลเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เป็นการขวางให้เยาวชนเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ยากมาก ซึ่งเป็นกับดักที่ทำให้การจะดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ซึ่งเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง มีการก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 9 กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสื่อสารประเด็นวัฒนธรรม และปัญหาที่เหล่าเยาวชนต้องการจะแก้ไข ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากประเด็นปัญหาที่เหล่าเยาวชนต้องเผชิญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ การกระจายอำนาจ ความเจริญ ในพื้นที่ยังไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ในหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่เช่นกันที่ัยังไม่แปลงเปลี่ยน
บทบาทของ เยาวชนต้นกล้าฯ คือการรวมตัวกันพูดคุย สะท้อนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งตัวปัจเจกรวมไปถึงในชุมชน และสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นปัญหาร่วมกันในหลากหลายกลุ่มและหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งมีข้อท้าท้ายของกลุ่มเยาวชนที่พบเจอคือไม่มีความภาคภูมิใจจึงมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความภาคภูมิใจและมีคุณค่าพร้อมส่งต่อความภาคภูมิใจดังกล่าวไปยังกลุ่มอื่น ๆ ผ่านการผลักดันให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน
กฎหมาย-นโยบาย-ท้องถิ่นกับการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง
ต่อมาได้มีการพูดคุยในประเด็น กฎหมาย-นโยบาย-ท้องถิ่นกับการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง (ความคืบหน้าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ…./ เติมเต็มข้อเสนอเชิงนโยบายและการพัฒนาที่ยั่งยืนของชนเผ่าพื้นเมือง จังหวัดเชียงใหม่/ การกระจายอำนาจและบทบาทท้องถิ่นกับการจัดการตนเอง) โดยวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ดังนี้ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ที่ปรึกษา กมธ. (สัดส่วนคณะรัฐมนตรี), ว่าที่ร้อยตรีหญิงอรพรรณ จันตาเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เขต 6 จ.เชียงใหม่) และ ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สมาชิกวุฒิสภา ดำเนินรายการโดย นิตยา เอียการนา ผู้แทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ กมธ. (สัดส่วนภาคประชาชน)
อรพรรณ เผยว่า กล่าวว่าในพื้นที่การทำงานของตน (เขต 6) นั้น เกิน 80% เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเกี่ยวโยงกันคือ พี่น้องชาติพันธุ์นั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาอย่างยาวนานแต่ไม่มีการแก้ไข หรือไม่มีสิทธิ ถึงแม้จะมีการอยู่มาก่อนก็ตาม ซึ่ง การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็น พ.ร.บ แรกที่มาจากทุกภาคส่วน สภาชนเผาฯ ครม. และพรรคการเมือง ทั้งหมด 5 ร่าง ซึ่ง พ.ร.บ.
ซึ่งตลอดการทำงานที่ผ่านมาของตน เห็นว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น ถนน น้ำประปา เป็นต้น ท้องถิ่นต้องการจะทำประโยชน์ให้กับพี่น้องที่อยู่กับป่า แต่ไม่สามารถจัดการได้เนื่องจากติดกับกฎหมายป่าไม้ อาทิ การทำถนนก็ไม่สามารถทำได้ ขออนุญาติทำน้ำประปาก็ไม่ได้ นำไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ก็ไม่ได้ อำนาจการตัดสินใจในการพัฒนาอยู่ที่อธิบดีกรมป่าไม้เพียงคนเดียว รวมไปถึงการเข้าไปทำงานหรือประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐคือการมองว่ากลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์นั้นเป็นพลเมืองชั้นสอง ถึงแม้จะมีการโปรโมทโดยภาครัฐอย่างกระทรวงท่องเที่ยวฯ ในเรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ แต่ก็ยังไม่มีการสิทธิแก่พี่น้องชาติพันธุ์อยู่ดี
สุวิชาน กฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ ต้องการให้เกิดนิเวศน์และการเมืองที่เปลี่ยน ที่เอื้อต่อการจัดการตัวเองที่จะอยู่ ไม่ใช่เป็นการจัดการตัวที่แข็งตัวและจำกัดอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่หลากหลายจะต้องมีการใช้องค์ความรู้และปัญญาในการจัดการปัญหาเพื่อความอยู่รอด และความแตกต่างหลากหลายด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งชาติพันธุ์ในสภาชนเผ่าฯมีกว่า 60 กว่าชนเผ่า ก็ต้องมีการจัดการให้สามารถอยู่ร่วมและอยู่รอดได้ สุวิชานกล่าวว่า การปกป้องต้อง ปกป้อง 3 สิ่ง คือ 1.ปกป้องคน 2.ปกป้องพื้นที่ และ 3.ปกป้ององค์ความรู้ภูมิปัญหา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เป็นฐานที่สำคัญ จะนำไปสู่การปกป้องความมั่นคงของชาติ
ซึ่งจะมีกฎหมายเฉพาะที่รองรับความเท่าเทียมเท่ากับคนอื่น เพื่อรองรับการอยู่ร่วมกัน เพื่อเอื้อต่อความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งจำเป็นระบบกลไกที่จะรองรับสิทธิ เพื่อที่จะเป็นพื้นที่ในการแสวงหาจุดร่วมและเรียนรู้จุดต่าง
“ความหลากหลายคือความมั่นคง” สุวิชาน กล่าว
ประหยัด เผยว่า กฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของ การต่อสู้ของประชาชน ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจ เพื่อให้เกิดความสมดุลกัน เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ ซึ่งการจะเคลื่อนต่อไปก็ต้องมีการขับเคลื่อนใน 3 ฝ่าย คือในระดับรัฐสภาและนโยบาย ระดับการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ และการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
กระบวนการนี้เป็นการลดทอนอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งอิงตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชนชาติพันธุ์ ซึ่งหลักกระจายอำนาจที่กระทั้ง ทรัพยากรและงบประมาณ ประหยัด เผยอีกว่า ในหมวด 5 หมวดทั่วไปที่พูดถึงเรื่องสิทธิ ต้องมีการพูดหรือระบุเพิ่มเติมว่าชุมชนชาติพันธุ์จะต้องมีการเข้าถึงงบประมาณแผ่นดินในการส่งเสริมเรื่องของการคุ้มครองและการจัดการตนเอง รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน
หยุดสร้างความแตกแยก ยุติการนำเสนอข่าวที่มีอคติทางชาติพันธุ์และตีตราเหมารวม
ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) และภาคีองค์กรและเครือข่าย เรื่อง “ขอให้สื่อยุติการนำเสนอข่าวที่มีอคติทางชาติพันธุ์และตีตราเหมารวม ต่อกรณีที่มีการรายงานข่าวกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในทางเสียหาย หยุดสร้างความแตกแยกในสังคมไทยและสังคมกะเหรี่ยงโลก” โดยมีเนื้อหาดังนี้
จากกรณีที่มีสื่อมวลชนหลายสำนัก ได้นำเสนอรายงานข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดในลักษณะตีตราเหมารวมสร้างอคติทางชาติพันธุ์ และอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือความขัดแย้งระหว่างของกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันกันในสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทยได้ ด้วยการนำเสนอข่าวว่า “กะเหรี่ยง” ปากเสีย ไลฟ์ชวนล่าสาวไทยหนุ่มกะเหรี่ยงไลฟ์ชวนมีสัมพันธ์สาวไทย” หรือ “หนุ่มกะเหรี่ยง” ไลฟ์ชวนเพื่อนมีสัมพันธ์สาวไทย (ข่าวเที่ยงช่องวัน) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นที่ตลาดบางบอน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านโชเชียลมีเตียและช่องทางสือต่าง ๆ ที่มีลักษณะของการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและสร้างความเกลียดชังต่อพี่น้องประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการรายงานข่าวลักษณะเช่นนี้ยังสร้างความกังวลใจให้กับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงทั่วโลกและชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย
ถึงแม้ในข่าวแจ้งว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหามาสอบสวนดำเนินคดี และผู้กระทำผิดเองได้ขอโทษและขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ตาม ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพบว่า การรายงานพาดหัวข่าวหรือนำเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้ เข้าข่ายการนำเสนอข้อมูลที่มีอคติทางชาติพันธุ์ เป็นการตีตราเหมารวม และเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นการเน้นสร้างความสนใจในข่าวที่เสนอ โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา สะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำทางจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อมวลชนบางคนและบางสำนักด้วย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขอประณามผู้ที่นำเสนอข่าวที่มีการตีตราเหมารวมและสร้างอคติทางชาติพันธุ์ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้รายงานและนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง ปราศจากอคติทางชาติพันธุ์ ไม่ตีตราเหมารวม และร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติด้วย พร้อมทั้งขอชี้แจงต่อสาธารณชน ดังนี้
1.กระทำของคนที่เป็นข่าวดังกล่าว เป็นการดำเนินการในลักษณะบุคคล ไม่ควรนำเสนอข่าวแบบตีตราเหมารวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด
2.ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้ตระหนักถึงผลกระทบในภาพรวมเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าว ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด
3.ประเทศไทยได้ลงนามตามกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีข้อผูกพันกับรัฐไทยด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 มาแล้ว ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามด้วย
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศ ไทย (คชท.) และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้อง ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้ด้วย และหวังเป็นอย่างว่า จากนี้ไปสื่อมวลชนจะมีการนำเสนอข่าวหรือการพาดหัวข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง ปราศจากอคติทางชาติพันธุ์ ไม่ตีตราเหมารวม และร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติให้หมดสิ้นจากสังคมไทย ไปด้วยกัน พร้อมทั้งขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาเร่งผลักดันและพิจารณาให้ร่างพระราชบัญญัติขจัด การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ให้เป็นกฎหมายมาบังคับใช้โดยเร็ว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...