‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสันกำแพง กับ 9 ข้อเสนอขยายแนวร่วมสันกำแพง One Stop Service

27 สิงหาคม 2567 วาระเชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพงและเครือข่ายวิจัยในระดับพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และมหาวิทยาลัยพายัพ ร่วมจัดเวที “วาระเชียงใหม่: วาระสันกำแพง” ณ ที่ว่าการอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 08.30 – 12.00 น.

เวทีเริ่มด้วยตัวแทนนักวิจัยและคณาจารย์ผู้ทำวิจัยและวิชาการพื้นที่อำเภอสันกำแพง ร่วมนำเสนอผลการวิจัย และแผนการขับเคลื่อนในอนาคต นำโดย ดร.ฐิติ ฐิติจำเจริญพร ผู้อำนวนการวิจัย มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวถึงสิ่งที่ทำมาโดยตลอดคืองานบริการด้านวิชาการควบคู่กับงานวิจัย เช่น โครงการศิลปะบำบัดสำหรับผู้สูงอายุที่ตำบลต้นเปา ที่ดำเนินการโดยคณะพยาบาลศาสตร์ โครงการทำการตลาดบนช่องทาง Facebook และเขียนแผนธุรกิจชุมชน ดำเนินการโดยคณะบริหารธุรกิจ ปัจจุบันมีพื้นที่ตำบลต้นเปาและตำบลสันกลางที่เป็นพื้นที่ความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยพายัพ โดยขับเคลื่อนในประเด็นพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ และประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว

ดร.ฐิติ ฐิติจำเจริญพร

รศ.ไพบูลย์ หล้าสมศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีการทำ MOU ร่วมกับเทศบาลตำบลต้นเปาโดยเน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ร่ม ซึ่งทางคณะมีความเชี่ยวชาญในการทำบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างดี อีกทั้งในส่วนของคณะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ ทางมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะร่วมมือกับชุมชน

รศ.ไพบูลย์ หล้าสมศรี

ดร.ชลระดา หนันติ๊ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากความนิยมในการเลี้ยงแมวหรือสุนัขเป็นเสมือนลูก ซึ่งความยั่งยืนในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์คืออะไรก็ได้ ที่ขายได้ก็จะเกิดความยั่งยืน จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงของวิสาหกิจชุมชนบ้านก๋างโต้งที่ผลิตภายในชุมชนและชุมชนสามารถขายได้ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมภายในชุมชนตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนไปถึงการทำการตลาด ซึ่งตอนนี้ชุมชนสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง ส่วนแผนการดำเนินการในอนาคตจะมีการสร้างเครื่องหมายทางการค้าเพื่อให้เป็นที่จดจำในตลาด และควรหาผลิตภัณฑ์ภายในอำเภอสันกำแพงเพื่อสร้างเป็นสินค้าให้มากขึ้น

ดร.ชลระดา หนันติ๊

ดร.ศศิพัชร์ ชัยสิริบดินทร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่ทางคณะได้ร่วมทำโครงการกับชุมชนเทศบาลตำบลต้นเปา เป็นการขยายขยายเครือข่ายนักท่องเที่ยวสู่ชุมชน และได้เปิดพื้นที่ใหม่ในการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน ในการชูของดีในพื้นที่เพื่อสร้างเป็นฐานกิจกรรมให้ท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ผลจากการทดลองเปิดพื้นที่พบว่าทำให้ชุมชนมีเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนแผนพัฒนาในอนาคตจะเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการในชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้น และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

ดร.ศศิพัชร์ ชัยสิริบดินทร์

ผศ.รณวีร์ สุวรรณทะมาลี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการการออกแบบผังแม่บทการพัฒนาชุมชนโหล่งฮิมคาวมีเป้าหมายเพื่ออย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือการดูแลเศรษฐกิจด้วยตนเองได้ มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้และจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรกายภาพสำหรับพื้นที่ต่อขยาย ในการทำงานร่วมกับชุมชนในครั้งนี้ยังได้รับความรู้จากชุมชนเพิ่มมากขึ้น หลายบทเรียนที่ชุมชนยังเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัย ส่วนแผนงานในอนาคตจะเป็นการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำคาวให้มีความยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

ผศ.รณวีร์ สุวรรณทะมาลี

ระดมความคิดผลิตข้อเสนอ “สันกำแพงเมืองหัตถกรรมและการท่องเที่ยว” 

จากการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนจากประชาชนสันกำแพงที่มาร่วมในเวที ได้ข้อเสนอทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้

1.รวบรวมข้อมูลในเรื่องของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว (Digital Mapping) เพื่อให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มตลาดจนนำสู่การวิเคราะห์และออกแบบแผนที่ตอบโจทย์และตรงเป้าหมาย

2.สร้างกลไก One Stop Service เครือข่ายความร่วมมือเพื่อจัดทำแผนและปฏิบัติการร่วมกันกับชุมชน วิชาการ และท้องถิ่น

3.การสร้างแผนท้องถิ่นหรือสร้างโปรแกรมโครงการฟื้นฟู ส่งต่อ และสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการพบปะและเชื่อมโยงคนสันกำแพง อีกทั้งยังมีการร่วมคิด วางแผน และจัดการร่วมกันภายในพื้นที่ เช่น การจัดการดูแลและสนับสนุนแหล่งต้นทุนหัตถกรรมและการท่องเที่ยวทั้งภายในพื้นที่และสามารถบูรณาการข้ามท้องถิ่นได้ การเรียนรู้ สืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น

4.ประสานและติดต่อระหว่างชุมชนกับทีมนักวิจัยในด้านวิชาการ

5.เพิ่มการรับรู้ของคนสันกำแพงในการพัฒนาตามแนวคิด หรือทิศทางการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น

6.การรู้จักตัวเองและศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพ ว่าดีแค่ไหน ระดับไหน แล้วต้องการส่งเสริมอย่างไร

7.การสร้างตัวตน หรือชื่อใหม่ ๆ 1 เพื่อให้รู้จักตัวเอง และสื่อสารสู่คนภายนอก

8.การนำเสนองานวิจัยที่นำมาสู่การปฏิบัติที่เห็นผลลัพธ์ และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจริง ๆ

9.การเลือกเครือข่ายภายนอกที่มีพลังสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาอำเภอสันกำแพง

ก่อนปิดเวที ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว กล่าวปิดท้ายว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมพูดคุยกัน ถือว่าเป็นข้อตกลงสันกำแพงว่าเราจะทำงานร่วมกัน ร่วมกันพัฒนาสันกำแพงให้ยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในอนาคต

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง